ประเมินอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนปี 64 แข่งขันดุเดือด หลังรายได้ปี 63 ทรุดหนัก รายได้ทั้งอุตสาหกรรมช่วง 9 เดือนแรก ลดลงกว่า 14% กำไรหายไปกว่า 50% หลังลูกค้าที่มีศักยภาพและต่างชาติหดหาย

จากตัวเลขผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2563 ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้ลดลงที่ -14.2% (YoY) และกำไรสุทธิลดลงที่ -54.8% (YoY)

แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 2564 หากไทยไม่มีการระบาดรุนแรงซ้ำของโควิด-19 และทยอยให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการเมืองไทยไม่บานปลายรุนแรง

คาดว่า โรงพยาบาลเอกชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 1-4% (YoY) กำไรสุทธิโต 15-20% (YoY) โดยคาดว่าจะมีคนไข้ต่างชาติเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยราว 1.57-1.77 ล้านคน (ครั้ง) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวนราว 1.45 ล้านคน (ครั้ง) แต่การฟื้นตัวนี้ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด ในปี 2562

โดยปัจจัยด้านโควิด-19 จะยังกดดันการทำรายได้และกำไรของโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนสูง ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ชาวไทยกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ น่าจะยังพอไปได้หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชนใน Segment อื่น

ทั้งนี้ การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะยากและรุนแรงขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีจำนวนมากแต่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแย่งชิงตลาดคนไข้ในประเทศ ที่กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว

ดังนั้น ในระยะสั้น โรงพยาบาลเอกชนต้องมีการปรับตัวเพื่อประคองการเติบโต โดยควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ และเตรียมความพร้อมรองรับคนไข้ต่างชาติที่เริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการในไทย

ขณะที่ในระยะกลางถึงยาว ควรนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและอำนวยความสะดวก รวมถึงมองหารายได้ใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งธุรกิจกลุ่ม Non-hospital มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น อาทิ การดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์


ที่มา: Kreserch