สำนักงบประมาณ ยืนยัน รัฐบาลตุนงบประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งจากงบกลางและเงินกู้ เพียงพอสู้โควิดระบาดรอบใหม่ ระบุหากไม่พอโอนงบส่วนราชการมาใช้เพิ่มได้ไม่ต้องห่วง

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยมีวงเงินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท จากงบกลาง 2564 และจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ตนประเมินว่าวงเงินกว่า 6 แสนล้านบาท เพียงพอใช้ดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบนี้ เพราะเชื่อว่าประชาชนทุกภาคส่วนจะร่วมมือป้องกันการระบาด และการติดเชื้อต่อวันที่สูงกว่าปีที่แล้ว ทำให้ประชาชนระวังมากขึ้น เชื่อว่า ภายใน 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนนับจากนี้ เราน่าจะเห็นตัวเลขติดเชื้อลดลง

และหากสถานการณ์ยืดเยื้อและรัฐบาลจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มก็สามารถดึงงบประมาณจากส่วนราชการมาใช้ได้อีก ซึ่งเหมือนปี 2563 ที่เราบังคับโอนงบประมาณมาใช้ได้ 8 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนั้นเป็นช่วงยังไม่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่ขณะนี้มีวงเงินกู้ที่คงเหลือมากจึงเชื่อว่าจะเพียงพอและการบังคับโอนงบประมาณจากส่วนราชการเป็นทางเลือกสุดท้าย

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เตรียมงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีการทยอยอนุมัติต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบแรก และในปัจจุบันมีงบประมาณที่ใช้รับมือการระบาดรอบใหม่ได้มาจาก 2 ส่วน วงเงินรวม 6.11 แสนล้านบาท ได้แก่ 

1.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้เหลือวงเงิน 4.71 แสนล้านบาท 

2.งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2564 ซึ่งอยู่ในอำนาจการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท

สำหรับงบกลาง 2564 ที่มีวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท มาจากงบกลางปกติ 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางที่กันออกมาสำหรับโควิด 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบกลาง 2564 เพิ่งใช้ไปเพียง 1,000 ล้านบาทเศษ

ส่วนวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว 5.25 แสนล้านบาท ยังเหลือ 4.71 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ 

1.แผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติไป 2.5 พันล้านบาท คงเหลือ 4.24 หมื่นล้านบาท 

2.แผนงานช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้ประชาชนรวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 3.86 แสนล้านบาท คงเหลือ 1.68 แสนล้านบาท 

3.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4.4 แสนล้านบาท อนุมัติเงินไปแล้ว1.39 แสนล้านบาท คงเหลือ 2.6 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ได้ออกแบบไว้กรณีการระบาดโควิด-19 รอบใหม่จนต้องล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถโยกเงินแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแผนงานเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการได้