‘พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา’ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ เสนอแนวคิดใช้โรงพยาบาลทหารในพื้นที่สีแดง เป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แยกจากโรงพยาบาลทั่วไป
ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าจะต้องมี 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงเพื่อรับการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 จาก รพ.หรือสถานพยาบาลทั่วไปในพื้นที่สีแดง ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.หรือสถานพยาบาลทั่วไป ยังคงขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ตามปกติ อย่าปล่อยให้ทุก รพ.ในพื้นที่สีแดงทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยทั้งโควิดและไม่โควิดครับ
เพราะจะทำให้ทุก รพ.บริหารทรัพยากรทั้งบุคคล อุปกรณ์ และสถานที่อย่างยากลำบาก สิ้นเปลืองทรัพยากรในขณะที่ขีดความสามารถทางการแพทย์กลับพร่องลง
ทั้งนี้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ในพื้นที่สีแดง ไม่จำเป็นต้องมีหลายแห่ง มีเพียงแค่ 1 แห่งก็พอ แต่ขอให้มีขีดความสามารถทางการแพทย์ในระดับทุติยภูมิที่ครบทุกสาขาหลัก(Major specialty) คือ สูตินรีเวช-ศัลยกรรม-อายุรกรรม-กุมารเวชกรรม โดย 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19'
ในพื้นที่สีแดงจะแปรสภาพมาจาก รพ.ทั่วไปในพื้นที่สีแดงตามแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคณะแพทย์ประจำจังหวัดพื้นที่สีแดงเห็นสมควร 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงจะไม่รักษาผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 นะครับ การแยกให้ชัดเจนเช่นนี้จะทำให้สามารถบริหารทรัพยากรทั้งบุคคล อุปกรณ์ และสถานที่อย่างมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการปฏิบัติ ในขณะที่ขีดความสามารถทางการแพทย์จะยังคงมีประสิทธิผล
ทั้งนี้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงจะต้องสมทบด้วย รพ.สนาม เพื่อเป็นหอผู้ป่วยสามัญรวมที่มีจำนวนเตียงมาก ๆ เพื่อการหมุนเตียง แบ่งเบาผู้ป่วยติดเชื้อที่อาการดีขึ้นแล้วออกจาก 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แต่ยังกลับบ้านไม่ได้เพื่อการกักกันจนกว่าจะปลอดเชื้อ และเพื่อให้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' สามารถดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการที่ต้องได้รับการ.รักษาอย่างใกล้ชิดไม่เป็นภาระงานจนเกินควร ...
โดยส่วนตัวผมเห็นว่า รพ.ทหาร มีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' อย่างไรก็ตามต้องสุดแล้วแต่การพิจารณาของคณะแพทย์ประจำจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงจะพิจารณานะครับ
ในกรณีที่พื้นที่สีแดงเป็นจังหวัดติดต่อกันหลายจังหวัดก็สามารถใช้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ประจำกลุ่มจังหวัดสีแดงที่ติดต่อกันร่วมกัน เพื่อการรวมศูนย์ก็สามารถทำได้...สำหรับเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร โดยส่วนตัวของผมแล้วเห็นว่า 'รพ.ทหารผ่านศีก' มีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเพิ่มเติมทรัพยากรกำลังพล เครื่องมือ...นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เป็นเพียงแบบจำลองเท่านั้น
สถานการณ์ระบาดระลอกใหม่นี้เปรียบเสมือนการรบประชิดที่ข้าศึกอยู่ในเมืองแล้ว ดังนั้น รพ.และสถานพยาบาลทุกแห่งโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ล้วนเผชิญหน้าข้าศึกที่จะพรั่งพรูดาหน้าคุกคามต่อเนื่องตลอดเวลา
สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ตั้งรับเพื่อประคับประคอง ลดอัตราการสูญเสียชีวิตให้มากที่สุด รอวัคซีน จากนั้นจึงรุกโต้ตอบด้วยการระดมฉีดวัคซีนจำนวนมาก (Mass immunization) แก่ประชาชนให้ได้มากกว่า 70%ของประชากรในพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันมวลชนหรือให้เกิด Herd Immunization ในการโต้ตอบโควิด-19 ครับ...สถานการณ์นี้ต้องตั้งรับประคับประคองเพื่อรอตีโต้ตอบครับ...ขอเป็นกำลังใจทุกท่าน สู้ไปด้วยกัน อย่าขวัญตกจิตฝ่อนะครับ
ที่มา Facebook : เหรียญทอง แน่นหนา