ก.กระทรวงดิจิทัลฯ กางข้อมูลมือโพสต์ข่าวปลอมอันดับ 1 ในรอบเกือบปีที่ผ่านมา พบกว่า 7.8 แสนคน แถมแชร์ต่ออีก 28 ล้านคน ส่วนแชมป์แชร์ข่าวเท็จ และปั้นข่าวลวงอยู่ในวัย 19-34 ปี สัดส่วน ชาย – หญิง สูสีครึ่งต่อครึ่ง
รายงานข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีดีเอส) ระบุว่าจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก รวบรวมระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 18 ธ.ค. 63 เกี่ยวกับพฤติกรรมการโพสต์และแชร์ข่าวปลอม ของชาวโซเชียลในไทย พบว่า มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 787,055 คน และผู้แชร์ข่าวปลอม 28,519,534 คน
ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า ประชาชนในช่วงอายุ 25-34 ปี มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการเผยแพร่ข่าวปลอมมากสุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 48.8% ส่วนกลุ่มอายุอันดับรองลงมา ได้แก่ 18-24 ปี, 35-44 ปี, 45-54 ปี และ 55-64 ปี ตามลำดับ โดยแบ่งกลุ่มตามเพศของพฤติกรรมเผยแพร่ข่าวปลอม มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ผู้ชาย 51.8% และผู้หญิง 48.2%
ขณะที่ อายุของผู้โพสต์ที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม กลุ่มอายุ 25-34 ปี ยังนำเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 48.9% ตามมาด้วย อายุ 18-24 ปี, 35-44 ปี , 45-54 ปี และ 55-64 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย 53.0% ขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 47.0%
ในด้านพฤติกรรมการแชร์ข่าวปลอม พบว่าอายุของผู้แชร์ที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม เกินครี่งหรือประมาณ 53.3% อยู่ใน18-24 ปี อันดับรองลงมา คือ อายุ 25-34 ปี คิดเป็น 41.7% ตามมาด้วย อายุ 45-54 ปี และอายุ 55-64 ปี โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่แชร์ข่าวปลอมเป็นผู้ชาย 49.4% ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 50.6%