เปิดหน้าชกหนัก หลังรัฐหละหลวมจนโควิด-19 คัมแบ็ค โดย ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ออกมาซัดรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก หลังเคยเขียนบทความเตือนรัฐไปแล้วกว่า 8 เดือน เรื่องแรงงานต่างชาติ แต่รัฐยังละเลยจนโควิด-19 กลับมาลุกลาม

หลังจากโควิด-19 กลับมาอีกรอบ ทำให้ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องที่ตนนั้นพยายามพูดมาตลอด 8 เดือน ในเรื่องของแรงงานต่างชาติ โดยนายพิจารณ์ ได้ระบุว่า

“ก่อนหน้านี้เคยโพสต์และสื่อสารผ่านสื่อมวลชนถึงความเสี่ยงของกลุ่มชุมชนแรงงานต่างชาติในพื้นที่สมุทรสาคร โดยเปรียบเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ที่รัฐควรเข้าไปมีบทบาท ‘เชิงรุก’ ในการตรวจและค้นหาผู้ติดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่ล่าสุดอยู่ที่เกือบ 700 ราย สะท้อนถึงความละหลวม ปล่อยปะละเลยของรัฐมาโดยตลอด

“โควิดกระจอก คำกล่าวของผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านหนึ่ง ที่ได้ตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงความละเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความลุแก่อำนาจของผู้นำรัฐบาลกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อเนื่องอย่างยาวนาน ซึ่งดูจะสวนทางกับการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน และในท้ายที่สุด อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ได้

“ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา เป็นชัยชนะด้วยประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ชัยชนะที่ผ่านมาเป็น ความเสียสละของพี่น้องประชาชน ที่ต้องแลกมาด้วยการถูกให้ออกจากงาน การถูกลดเวลาการทำงาน และการหยุดกิจการของผู้ประกอบการหลายราย หาใช่ความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล

ในการป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว รอบนี้คงต้องถามดัง ๆ ถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ ต่อความล้มเหลวในการดูแลและป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

นอกจากนี้ พิจารณ์ ยังได้เขียนบทความเพื่อเตือนรัฐบาล ด้วยการยกกรณีของสิงค์โปร์เป็นตัวอย่าง ซึ่งบทความนี้ได้ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ของสิงค์โปร์ ที่กำลังควบคุมได้แต่ กลับต้องมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัด หากมีผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวในกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคมีมากขึ้น ทำให้เห็นว่าแรงงานต่างชาติเป็นกลุ่มที่รัฐไม่ควรมองข้าม ขณะเดียวกันเมื่อหันกลับมามองแรงงานต่างชาติในไทยก็พบว่า การรับมือของบ้านเรานั้นไม่ได้ต่างจากสิงค์โปร์

พิจารณ์ยังได้ระบุว่า “จากการไปเยี่ยมประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติมากถึง 2 แสนกว่าราย หรือเกือบเท่าจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์ ภายในชุมชน 43 แห่งในจังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีแนวทางและมาตราการที่ชัดเจนในการดูแลคนกลุ่มนี้ ภายใต้หลักคิดสำคัญในการกำหนดมาตรการคคือ (1) การช่วยเหลือดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บุคคลหนึ่งควรได้รับ (2) ในฐานะฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และ (3) บทพื้นฐานการควบคุมและป้องกันจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค”

จากการระบาดที่เกิดขึ้นนายพิจารณ์ จึงมีข้อเสนอเชิงมาตรการต่อเรื่องดังกล่าวอีก 6 ข้อ ได้แก่

1.) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองแก่แรงงานต่างชาติในภาษาที่หลากหลาย

2.) การสร้างเครือข่ายนายจ้างในการติดตามดูแลสุขภาพของลูกจ้างต่างชาติ

3.) การสนับสนุนเรื่องอาหารและความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่แรงงานต่างชาติที่ตกงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

4.) การสนับสนุนด้านสถานที่สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นในการกักตัวเอง

5.) การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการสุ่มตรวจหาเชื้อภายในชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติอาศัยจำนวนมาก

6.) การกำหนดมาตรการฉุกเฉินสำหรับการตรวจโรคและดูแลรักษาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบการรักษาและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจคนทุกกลุ่ม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นในอนาคต