กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จัดไทย เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ต้องเฝ้าติดตาม เหตุเสียเปรียบดุลการค้าให้ไทยกว่า 6 แสนล้านบาท ด้านธปท. ยันไม่แทรกแซงค่าเงินหนุนการค้า

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List หรือเป็นรายชื่อประเทศที่ต้องเฝ้าติดตาม จากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 6 แสนล้านบาท และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ โดยในรอบนี้ มีคู่ค้า 10 ประเทศที่จัดอยู่ในบัญชีนี้ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ไทย และอินเดีย

"การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่รายชื่อครั้งนี้ ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ และการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท. เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์"

นางจันทวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็น เพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไป ทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า และไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด