พลิกปูมตำนานชุดนักเรียนญี่ปุ่น เบื้องหลังแฟชั่นสุดคาวาอี้ ที่นักเรียนทั่วโลกใฝ่ฝัน
หากจะนึกถึงชุดนักเรียน ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ชุดนักเรียนญี่ปุ่นต้องติดโผเป็นต้นแบบชุดนักเรียนในฝันของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากมีความน่ารัก มุ้งมิ้ง คิขุ คาวาอี้ ที่แม้แต่คนวัยเกินเกณฑ์รั้วโรงเรียนเห็นแล้วยังอยากลองใส่ดูมั่ง ถ้าไม่เกรงใจโลก
แต่ทราบหรือไม่ว่า เบื้องหลังเรื่องราวของชุดนักเรียนญี่ปุ่น กว่าที่จะมาเป็นรูปแบบในปัจจุบันได้ ผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในญี่ปุ่นมาแล้วมากมาย
ตั้งแต่การปฏิรูปประเทศ ปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม สงครามโลก ขบถความคิดของเหล่าบุปผาชน ที่สะท้อนผ่านรูปแบบของชุดนักเรียนญี่ปุ่น จากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างน่าทึ่ง และวันนี้ เรามาพลิกปูมตำนานกว่า 150 ปี ของชุดนักเรียนญี่ปุ่นกันดีกว่า
ประวัติความเป็นมาของต้นกำเนิดชุดนักเรียนญี่ปุ่น สามารถย้อนไกลได้ถึงสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสนิยม หลังจากที่ญี่ปุ่นปิดประเทศนานถึง 220 ในสมัยเอโดะ ภายใต้การปกครองในระบอบโชกุนตระกูลโทกุกาวะ
ก่อนสมัยเมจิ ญี่ปุ่นไม่เคยมีกำหนดชุดเครื่องแบบนักเรียนมาก่อน และโอกาสด้านการศึกษาก็จะจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มราชสำนัก ขุนนางชั้นปกครอง ซามุไร ซึ่งในสมัยนั้น นักเรียนชายจะสวมชุดแบบญี่ปุ่น สวมกางเกงฮากามะ ที่เป็นเหมือนชุดจำลองของชนชั้นซามุไร ส่วนนักเรียนหญิงจะสวมกิโมโนไปโรงเรียน
แต่รูปแบบการแต่งกายของชนชั้นปกครองญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไป ตั้งแต่การมาถึงของเรือดำ ของกองทัพเรือสหรัฐที่นำโดย พลเรือจัตวา แมทธิว แพร์รี่ ในปี ค.ศ. 1854 ที่บังคับให้ญี่ปุ่นต้องยอมเปิดประเทศเพื่อติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก และนำไปสู่การปฏิรูปเมจิ รื้อถอนระบอบโชกุน ฟื้นฟูพระราชอำนาจให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิในปีค.ศ. 1868 ในเวลาต่อมา
.
และในยุคสมัยเมจินี่เอง ที่วัฒนธรรมของชาติตะวันตก หลั่งไหลเข้าไปในญี่ปุ่นอย่างมากมายราวทำนบแตก ที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายของข้าราชสำนัก และผู้นำชั้นปกครอง ที่เริ่มเปลี่ยนเครื่องแบบจากแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมกลายเป็นสไตล์ตะวันตก และยังส่งผลต่อแนวคิดการออกแบบชุดนักเรียนของญี่ปุ่น ที่เริ่มมีการกำหนดมาตรฐานของชุดนักเรียนเป็นครั้งแรกในสมัยนี้เช่นกัน
ซึ่งโรงเรียนนำร่องแห่งแรกที่มีข้อกำหนดให้ใช้ชุดนักเรียนแบบมาตรฐานคือ โรงเรียนกักคุชูอิน ที่เป็นโรงเรียนชั้นสูงสำหรับลูกหลานชาววัง และข้าราชการระดับสูง ในปี 1879
ชุดนักเรียนญี่ปุ่นในยุคแรก มีต้นแบบมาจากเครื่องแบบทหารตะวันตก ชุดนักเรียนชายจะเป็นเสื้อแขนยาวสีดำ ปกตั้ง ติดกระดุมหน้าทำด้วยโลหะ กางเกงขายาวสีดำ สวมหมวกแก๊บ ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า กะคุรัน (学ラン) ที่แปลว่าชุดนักเรียนแบบตะวันตก
ซึ่งชุดกะคุรัน เป็นชุดนักเรียนที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเครื่องแบบนักเรียนญี่ปุ่น และยังมีใช้ในบางโรงเรียนที่จีน และ เกาหลีใต้อีกด้วย
ส่วนนักเรียนหญิง ไม่ได้ใส่กะคุรัน แต่จะสวมเสื้อแบบกิโมโน แต่ทับด้วยกางเกงฮากามะ แบบผู้ชายแต่ปรับรูปแบบสีสันให้สวยงาม และสวมรองเท้าบูทหนัง ทั้งนี้เพราะมีการบรรจุวิชาพลศึกษา เป็นวิชาภาคบังคับทั้งชาย-หญิง และการสวมกางเกงก็ช่วยให้นักเรียนหญิงสามารถเรียนวิชาพละได้อย่างคล่องตัวกว่าชุดกิโมโนแบบเก่า
แต่ชุดนักเรียนสมัยแรกมีราคาแพงมาก ที่ครอบครัวชั้นสูง ที่มีฐานะดีเท่านั้น ถึงสามารถซื้อเครื่องแบบเหล่านี้ให้บุตรหลานได้โดยไม่เดือดร้อน
หลังจากสิ้นสุดยุคเมจิ เข้าสู่ยุคไทโช (ค.ศ.1912 - ค.ศ.1926) เป็นช่วงที่โลกเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 รูปแบบชุดนักเรียนญี่ปุ่นก็ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากชุดทหารตะวันตก และเริ่มมีหลักสูตรฝึกทหารสำหรับสตรีชาวญี่ปุ่น จึงมีการปรับเครื่องแบบนักเรียนหญิงให้เข้ากับยุคสมัยโดยใช้รูปแบบของชุดของทหารเรือมาใช้ ที่เรียกว่า "เซย์ฟุคุ" (制服)
.
และโรงเรียนที่ใช้ชุดนักเรียนทรงทหารเรือเป็นที่แรกของญี่ปุ่นคือ วิทยาลัยสตรีฟุกุโอกะ ต้นกำเนิดไอเดียเป็นของอลิซเบธ ลี ครูใหญ่ของโรงเรียน ที่เห็นว่าชุดนักเรียนหญิงแบบเก่าที่สวมกางเกงฮากามะทับกิโมโน ร้อนเกินไปสำหรับช่วงหน้าร้อน จึงออกแบบชุดใหม่ให้กับนักเรียนโดยใช้เครื่องแบบทหารเรือของราชนาวีอังกฤษเป็นต้นแบบ กับกระโปรงแบบตะวันตกเข้าชุดกัน
และก็ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก เนื่องจากชุดทรงทหารเรือ มีความน่ารัก เรียบร้อย ภูมิฐาน และตัดเย็บง่าย ราคาถูกกว่าชุดแบบดั้งเดิม เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอของญี่ปุ่นในยุคนี้ ที่ทำให้เครื่องแต่งกายมีราคาถูกลง ผู้คนจับต้องง่ายขึ้น
จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง นักเรียนจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานช่วยครอบครัว โดยเฉพาะนักเรียนหญิงที่ต้องรับหน้าที่มากขึ้น เครื่องแบบนักเรียนยุคนี้จึงต้องปรับเปลี่ยน อนุญาตให้นักเรียนหญิงสวมกางเกงขายาวแทนกระโปรงมาเรียนได้ ความน่ารักสดใสในเครื่องแบบอาจหายไป แต่ก็สะท้อนความยากเข็ญของสังคมในยุคสงครามได้เป็นอย่างดี
.
เมื่อหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปหลายสิบปี และเข้าสู่ยุคเสรีนิยมแบบตะวันตก ตามรูปแบบการปกครองแบบใหม่ที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาวางกรอบให้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวบนพื้นฐานการแข่งขันแบบทุนนิยม ที่เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น จึงเกิดการแพร่หลายของแนวคิดเสรีชน ต่อต้านกรอบสังคมแบบเก่าของกลุ่มบุปผาชนสายขบถในญี่ปุ่น ที่เรียกว่ากลุ่มสุเคบัน แยงกี้ ที่เป็นการรวมกลุ่มนักเรียนต่อต้านสังคม และแสดงออกด้วยการเอาชุดนักเรียนมาดัดแปลงตามใจฉัน สวมเสื้อสั้นเต่อ กระโปรงยาวลากพื้น หรือกางเกงทรงสุ่ม ย้อมสีผม เป็นเชิงสัญลักษณ์ของการแหกจารีตของสังคม
.
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าของโลก และมีมาตรฐานการศึกษาที่ดีเยี่ยม เข้าถึงทุกพื้นที่ ดังนั้นการแข่งขันจึงกลายเป็นระดับโรงเรียนด้วยกัน โดยการออกแบบชุดให้มีความทันสมัย จากชุดเสื้อกะลาสี ผูกโบว์แดง หรือกะคุรันแบบเก่า ก็เริ่มเป็นชุดเสื้อเชิ้ต ผูกเนคไทด์ สวมทับด้วยสูทแบบตะวันตก หรือชุดเอี๊ยมผูกโบว์ เพื่อดึงดูดนักเรียนให้เข้ามาสมัครเรียน เพราะชอบชุดก็มีไม่น้อย
.
จึงทำให้เกิดเป็นแฟชั่นชุดนักเรียน หลากหลายรูปแบบ สดใส คาวาอี้ ที่ทำให้เด็กนักเรียนทั่วโลกชื่นชอบในวัฒนธรรมชุดนักเรียนของญี่ปุ่น และนำมาแต่งเล่นเป็นชุดคอสเพลย์กันอย่างสนุกสนาน
และนี่ก็คือความเป็นมาของชุดนักเรียนญี่ปุ่น ที่อยู่คู่กับนักเรียนญี่ปุ่นมานานกว่า 150 ปี และยังคงอยู่ตลอดไป อย่างไม่จำกัดรูปแบบ และพร้อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
แหล่งข้อมูล
https://www.nippon.com/en/column/g00554/
https://learnjapanese123.com/japanese-school-uniforms/
https://seifuku.neocities.org/index_e.html
https://medium.com/@katier.jiang/development-and-evolution-of-japanese-school-uniform-12bf9c7856af
https://jpninfo.com/64959
https://medium.com/@katier.jiang/development-and-evolution-of-japanese-school-uniform-12bf9c7856af