8 ไอเดียกระแทกใจ ที่ปล่อยออกมาเมื่อไร 'นักลงทุน' ก็ต้องมอง

ยอมรับว่าไอเดียดี ๆ แผนธุรกิจเจ๋ง ๆ คือ แต้มต่อของธุรกิจ Startup ในการจะเข้ามาขอทุนมาดำเนินธุรกิจต่อ แต่ก็ต้องยอมรับอีกว่า หาก Startup นั้น ๆ ขาดการนำเสนอที่ดี โอกาสหลุดลอยจากเป้าหมาย ก็มีสูงเช่นกัน

แล้วแบบไหน ถึงจะเรียกว่า 'นำเสนอได้ดี' ?

เวลาที่จะพูดถึงการนำเสนองานต่อนักลงทุน เหล่า Startup อาจจะคิดภาพการทำแผนธุรกิจที่มาพร้อมเอกสารหนา ๆ เข้าไปนำเสนอ หรือหนีบไลด์ที่สรุปเนื้อหาเข้าไปพูดคุยแบบแน่น ๆ

ถึงกระนั้นต่อให้ข้อมูลทุกอย่างพร้อม โซลูชั่น ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะหรูหรา แต่ถ้าการนำเสนอและการเรียบเรียงลำดับมีความเข้าใจยาก ก็อาจทำให้นักลงทุนไม่เข้าใจในแผนธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของคุณก็เป็นได้

ฉะนั้นเมื่อ Startup ได้รับโอกาสเข้าไปนำเสนอแผนธุรกิจ ควรเตรียมตัวสร้างเสน่ห์ให้มากพอที่จะยั่วยวนจนนักลงทุนอยากจ่ายและยกนิ้วว่าคุณคือ 'The Best' ให้ได้ก่อนแล้วทำอย่างไร?

.

ลองมาดู '8 ไอเดียพิชิตใจนักลงทุน' กันดู

1.) เริ่มเรื่องคุณต้องเล่าให้เห็นภาพปัญหาของตลาดที่พบเจอในปัจจุบัน จนทำให้ต้องมานำสู่การเสนอโซลูชั่นนี้ นี่แหละตัวเรียกแขกให้คนอยากมาลงทุนกับคุณได้ในระดับหนึ่ง เพราะสิ่งที่เรียกว่า 'ปัญหา' มักจะทำให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พฤติกรรมใหม่ของคนยุคนี้ได้ดีมาก ยิ่งปัญหานั้นเป็นปัญหาใหญ่ วงกว้าง แล้วถูกจัดการแก้ปัญหาได้ด้วยธุรกิจของคุณ โอกาสก็เรียกว่าเกินครึ่งที่เงินทุนจะไหลมาเลยทีเดียว

.

2.) โอกาสและขนาดของตลาด กลุ่มที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของ Startup ของคุณมีอยู่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี โดยปกติทั่วไปแล้ว เรามักจะอ้างอิงตัวเลขกว้าง ๆ ไว้ก่อน แต่ในความเป็นจริง เราควรจะต้องวิเคราะห์ตัวเลขหรือที่มาที่ไปของข้อมูลที่นำเสนอให้ได้โดยละเอียด เช่น ขนาดของตลาดที่ธุรกิจคุณจะเข้าไปจับ อาจไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิดแต่คุณก็ชัดเจนว่าไม่ได้คิดจะทำโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มตลาด Mass ทั้งหมด แต่เน้นการนำเสนอโซลูชั่นที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม (Niche Market) และแก้ปัญหาให้พวกเขาได้จริง ๆ ตรงนี้ก็มีโอกาสแจ้งเกิดได้เช่นกัน

.

3.) เปิดอกพูดกันตรง ๆ บอกไปเลยว่าการมาขอระดมทุนครั้งนี้ ต้องการนำเงินทุนดังกล่าวไปใช้พัฒนาหรือขยับขยายส่วนใดบ้าง และแผนกลยุทธ์และการเติบโตที่มีความเป็นไปได้จะเป็นอย่างไร เช่น ในช่วง 2 - 3 ปีข้างหน้า แผนการครองตลาดหลักในไทย จะมีกลยุทธ์แบบไหน จะเข้าถึง หรือทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจได้อย่างไร แล้วแผนในการขยายไปต่างประเทศมีไว้รองรับหรือไม่ ตรงนี้จะเรียกว่าขายฝัน ก็ไม่ผิด แต่ต้องเป็นฝันที่แตะต้องได้พอสมควรอย่างเป็นขั้นเป็นตอนกันเลยแหละ

.

4.) การคิดค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร มีแผนการหารายได้อย่างไร บางธุรกิจอาจจะสร้างขึ้นมาด้วย 'ใจ' ล้วน ๆ ไอเดียดี คอนเซ็ปต์เริ่ด แต่ต้องยอมรับว่าอย่างหนึ่งว่า นักลงทุนไม่ใช่ 'เจ้าพ่อการกุศล' เขาหวังที่จะเห็นเม็ดเงิน 'อนาคต' เพื่อกลับมาเป็นกำไรที่งอกเงยจากการลงทุนของเขาเหมือนกัน ถ้าเราทำแล้วมีแผนที่จะต่อยอดรายได้ให้เห็น ถึงแม้ช่วงแรกจะฟรี เช่นเดียวกันกับที่ Facebook และ Google ที่กลายเป็นบริษัทโฆษณาระดับโลก โอกาสก็แค่เอื้อม

.

5.) วิเคราะห์ว่าปัจจุบันมีคู่แข่งรายใดอยู่บ้าง อะไรที่เป็นจุดเด่นของคุณและสามารถสร้างความแตกต่างและแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าผู้เล่นรายใหญ่มีทุนที่หนากว่า ทำโซลูชั่นคล้าย ๆ กัน Startup จะสู้กับผู้เล่นรายใหญ่นี้ได้อย่างไรบ้าง

.

6.) ถ้าคุณดำเนินธุรกิจมาสักระยะแล้ว ควรต้องแสดงให้เห็นถึงการตอบรับของตลาด หรือที่วงการ Startup เรียกกันว่า Traction เช่น มีจำนวนผู้ใช้กี่ราย มีลูกค้าทั้งหมดกี่ราย ถ้าทำธุรกิจประเภท Business-to-Business (B2B) การได้ลูกค้าองค์กรชั้นนำมาเป็นตราประทับยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณมากขึ้น ข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลที่ใช้พิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้นตอบโจทย์ตลาดได้จริงหรือไม่

.

7.) ทีมงานมีใครบ้าง ซึ่งบางคนอาจคิดว่าไม่สำคัญ แต่ในมุมของนักลงทุนกลุ่ม Startup โดยเฉพาะช่วง Early Stage (ช่วงเริ่มต้นนั้น) เขาดูถึงความสัมพันธ์ของผู้ร่วมก่อตั้ง ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ก่อนหน้านี้ทำอะไรมาก่อน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าคุณกำลังเริ่มทำ Startup ที่ต้องการแก้ปัญหาในภาคธุรกิจก่อสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ แน่นอนว่าถ้าคุณเคยมีประสบการณ์โดยตรงในภาคธุรกิจนี้มาก่อน จะทำให้นักลงทุนเชื่อถือในตัวคุณมากขึ้น ว่าคุณเข้าใจตลาด และปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจนี้จริง แต่ถ้าคุณเป็นคนหน้าใหม่ของวงการเลย และยิ่งเป็นภาคธุรกิจที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางมาก่อน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความเชื่อใจจากนักลงทุนได้

.

8.) ผลงานหรือข้อมูลอ้างอิงอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับตัวคุณหรือทีมงานของคุณ เช่น ผลงาน หรือคอนเนคชั่นกับคนมีชื่อเสียง คนที่มีเครดิตที่ทำให้คุณดูน่าเชื่อว่า ถ้านำข้อมูลส่วนนี้มาผสมได้ด้วยจะดีมาก ๆ

.

อย่างไรก็ตาม เทคนิคที่กล่าวมา อาจจะได้ใช้ทุกข้อ หรือบางข้อ ก็เป็นเรื่องที่ Startup จะนำไปพลิกแพลงตามเหตุการณ์ที่เหมาะสม แต่ถ้าอยากทราบวิธีนำเสนอนักลงทุน และ Pitching แบบของจริง จากเวทีจริง และ Startup ผู้มาคว้าโอกาสตัวจริง สามารถรับชม Live สด งาน 'Startup Connect' ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 นี้ได้


Start Up ของจริง ไม่ได้มีแต่ในซี่รี่ส์เกาหลี

>> รับชม Start Up Connect Live ถ่ายทอดสด Pitching เพื่อลงทุนจริง!!!

สดจาก ห้องประชุม ชั้น 22 เกษรทาวเวอร์

วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น.

Facebook Live >> https://www.facebook.com/thestatestimes

Website >> https://thestatestimes.com