Monday, 20 May 2024
เซาท์ไทม์

ยะลา – แรงงานไทยติดค้างในมาเลเซียที่อยู่แบบผิดกฎหมายทยอยเดินทางกลับประเทศ ก่อนทางการขีดเส้นตายวันที่21 เม.ย.นี้

แรงงานไทยและคนไทยที่ติดค้างในประเทศมาเลเซียที่วีซ่าขาดหรืออยู่แบบผิดกฎหมายจำนวน30 คนทยอยเดินทางกลับประเทศทางด่านพรมแดนเบตง อ.เบตง จ.ยะลา โดยจะเปิดรับคนไทย 2 กลุ่มนี้  2 วันตั้งแต่วันที่19เม.ย.และวันที่ 21เม.ย.64 โดยจะมีการคัดกรองโควิดชั้นสูงสุดและผู้ที่เดินทางเข้ามาจะต้องกักตัว14วัน หลังจากที่มาเลเซียขีดเส้นตายให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศเกินระยะเวลาที่กำหนดต้องเดินทางออกจากประเทศมาเลเซียให้หมดภายในวันที่ 21 เมษายนนี้จากมาตรการป้องกันโควิด-19 ของประเทศมาเลเซีย

เมื่อเวลา 08.00น.วันที่ 19 เม.ย.64 ที่ด่านพรมแดนเบตง  อ.เบตง จ.ยะลา  ภายหลังเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศเปิดประตูด่านพรมแดนเพื่อเปิดรับกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียและวีซ่าขาดหรืออยู่เกินระยะเวลาที่กำหนดรวมถึงกรณีอาศัยแบบผิดกฏหมาย ทยอยเดินทางกลับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นวันแรกที่คนไทยกลุ่มนี้จำนวน 30 คน

โดยทางการทั้งสองประเทศจะเปิดให้เดินทางกลับประเทศ 2 วันคือ วันที่ 19 และวันที่ 21 เมษายน โดยเฉพาะวันนี้มีคนไทยเดินทางกลับจำนวน30 คน ผ่านพรมแดนเบตง ซึ่งมาจากที่ประเทศมาเลเซียจะทำการประกาศขีดเส้นตายให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศที่มีอายุเกินระยะเวลาที่กำหนดต้องเดินทางออกจากประเทศมาเลเซียให้หมดภายในวันที่ 21 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่มีผลพวงมาจากการระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซีย อย่างต่อเนื่องและก่อนหน้านี้ได้มีการผ่อนผันมาหลายครั้งและให้คนแจ้งความจำนงค์เดินทางกลับประเทศไทยก่อนที่จะทำการผลักดันคนไทยกลับประเทศภายในวันที่ 21 เมษายนนี้

สำหรับกลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซียทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองโควิด-19 จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาเลเซีย ส่วนกรณีกลุ่มเสี่ยงเป็นไข้จะถูกคัดแยกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทันทีซึ่งมีรถพยาบาลฉุกเฉินมาเตรียมพร้อมที่ด่าน  ส่วนอาการปกติก็จะส่งไปกักตัวที่ศูนย์กักกัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่รัฐจัดให้

สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียอย่างถูกต้อง  นอกเหนือจากกลุ่ม 2 นี้ ยังคงสามารถลงทะเบียนเดินทางกลับประเทศทางด่านพรมแดนเบตงได้สัปดาห์ละ3 วัน คือ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง  

สุราษฎร์ธานี - ‘ตม.สุราษฎร์ธานี’ขยายผลรวบหัวหน้าแก๊งลอบขนคนเข้าเมืองคาห้องนอน

“ตม.สุราษฎร์ธานี” สนองนโยบาย “ผบช.สตม.-ผบก.ตม.6” บูรณาการ “ตม.สมุทรสาคร-สืบ ตม.6-สืบภาค 8” ขยายผลรวบหัวหน้าแก๊งลอบขนคนเข้าเมืองคาห้องนอน สารภาพรับขนเมียนมาจาก “หาดใหญ่” ส่งสมุทรสาคร แลกค่าหัว

19 เมษายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สุเมธ เมฆขจร ผบก.ตม.6 , พ.ต.อ.ศุภฤกษ์ พันธ์โกศล ผกก.ตม.จว.สุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.จว.สุราษฎร์ธานี นำโดย พ.ต.ท.ชาตรี ชูแก้ว รอง ผกก.ตม.จว.สุราษฎร์ธานี , พ.ต.ท.ธีระวัฒน์ อำนาจเจริญยิ่ง สว.ตม.จว.สุราษฎร์ธานี , ร.ต.อ.สิริวัฒน์ สมหวัง รอง สว.ตม.จว.สุราษฎร์ธานี , ด.ต.พงษ์ศักดิ์ พัฒน์คง และ ด.ต.รังสรรค์ ศรีเมือง ผบ.หมู่ ตม.จว.สุราษฎร์ธานี ร่วมกันสืบสวนขยายผล กรณีจับกุมขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จนกระทั่งสามารถขออนุมัติศาลจังหวัดไชยาออกหมายจับ Mr.Kyaw Thet OO หรือนายจอเท็ทอู ในความผิดฐาน “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม โดยรู้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” ตามหมายจับศาลจังหวัดไชยา ที่ จ.24/2564 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564

ต่อมาจากการสืบสวนทราบเบาะแสว่าผู้ต้องหาหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จึงได้สนธิกำลังร่วมกับ ตม.จว.สมุทรสาคร, กก.สส.บก.ตม.6 และ บก.สส.ภ.8 ร่วมกันจับกุมตัวนายจอเท็ทอู อายุ 46 ปี สัญชาติเมียนมา ได้ภายในห้องนอนของบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่หมู่ 7 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 พร้อมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์ 2 เครื่อง และสมุดบัญชีธนาคาร 2 เล่ม และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ท่าฉาง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

จากการสอบสวนเบื้องต้น นายจอเท็ทอู รับสารภาพว่า เมื่อประมาณวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีนายโทน ไม่ทราบชื่อนามสกุลจริง สัญชาติเมียนมา มาหาตนเพื่อว่าจ้างให้ไปรับคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จากพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ไปส่งยังพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จำนวน 6 คน โดยตกลงค่าจ้างรายละ 5,000 บาท ตนจึงโทร.ไปหานายเดชา หรืออ๋า ให้ไปรับคนต่างด้าวจำนวน 6 คนดังกล่าว โดยตกลงให้ค่าจ้าง รายละ 5,000 บาท จนกระทั่งมาทราบว่านายเดชา พร้อมพวก และคนต่างด้าวถูกจับกุม

พ.ต.อ.ศุภฤกษ์ พันธ์โกศล ผกก.ตม.จว.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจับกุมกรณีดังกล่าวในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.สุเมธ เมฆขจร ผบก.ตม.6 โดยพฤติการณ์ผู้ต้องหา เป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการให้ที่พักพิง ช่วยเหลือคนต่างด้าวในการกระทำความผิด และแรงงานงานต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นภัยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ โดยจะต้องเร่งตรวจตราจับกุมเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป หากประชนพบเห็นหรือต้องการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด แจ้งได้ที่สายด่วน 1178 หรือที่ ตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ทุกจุดทันที

นราธิวาส - ผก.ฉก.นราธิวาส รุดลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วย และมอบนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในรอบ 6 เดือนหลัง พร้อมทั้งมอบสิ่งของบำรุงขวัญกำลังพล

พลตรี ไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วย และมอบนโยบาย ข้อสั่งการ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฎิบัติงานในรอบ 6 เดือนหลัง ของหน่วยในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 10  และ ชุดควบคุมป้องกันชายแดน โดยได้รับฟังบรรยายสรุปการชี้แจงการปฎิบัติที่สำคัญที่ผ่านมา และแผนการปฏิบัติงานที่สำคัญในช่วงต่อไป พร้อมทั้งแนวความคิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของหน่วย

โดยผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้มอบนโยบาย ข้อสั่งการ สอบถามข้อขัดข้องในการปฎิบัติงาน  เน้นย้ำผู้บังคับหน่วยต้องคำนึงถึงเรื่องสวัสดิการ สิทธิกำลังพล เป็นสำคัญ โดยการปฏิบัติงานของชุดปฎิบัติการจรยุทธ์ ต้องอยู่ในความไม่ประมาท ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ พร้อมทั้งมอบแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน การสังเกตุการณ์ และการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่  พร้อมกำชับให้กำลังพลปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า COVID19 อย่างเคร่งครัด  และที่สำคัญต้องห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้พบปะ ให้โอวาทกำลังพล โดยเน้นย้ำกำลังพล ถึงบทบาทหน้าที่ ความสำคัญ ของการเป็นทหาร ต้องเสียสละ อดทน ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด รักษาความปลอดภัยในพื้นที่สร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน โดยฝากความห่วงใยแก่กำลังพล ให้ดูแลตนเองและเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า COVID19 อย่างใกล้ชิด ตลอดจนมอบสิ่งของบำรุงขวัญ เพื่อเป็นกำลังใจในการปฎิบัติงานให้แก่กำลังพลต่อไป


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

พัทลุง - สุดทึ่ง...เด็ก 10 ขวบ ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอม ทำโรตีขาย ช่วยเหลือครอบครัว

เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับเด็กวัย 10 ขวบ ที่ชื่นชอบในการทำโรตี ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ลูกค้าที่พบเห็นต่างชื่นชมแห่อุดหนุน แม่ค้าวัย 10 ขวบ  มีชื่อเล่นว่าน้องไปร์  ด.ญ.รวิสรา คงเกื้อ  อายุ 10 ขวบ  เรียนอยู่ ชั้นประถมปีที่ 4  โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง  น้องไปร์เล่าให้ฟังว่าตนมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ตัวเองเป็นคนโต หลงใหลการทำโรตีมาตั้งแต่เล็ก เพราะเป็นธุรกิจของครอบครัว เริ่มหัดทำตั้งแต่อายุ 9 ขวบ

โดยมีอา นางสาวโฉมเฉลา คงเกื้อ เป็นคนถ่ายทอดวิชาให้  เริ่มตั้งแต่คอยเป็นลูกมือหัดห่อ หัดหัน  และ วิ่งเสิร์ฟ โรตี ให้กับลูกค้า จนกระทั้งหมั่นใจว่าหลานสาวชื่นชอบและตั้งใจจริง จึงได้หัดให้หลานสาวทุบแป้งโรตี จนชำนาญ และขั้นตอนสุดท้าย คือการทอดโรตี ซึ่งมีทั้งโรตีกรอบ และโรตี ใส่ไข่ ใส่นม ใส่กล้วย  1 ปี ผ่าน  ไม่น่าเชื่อว่า หลานสาววัย 10 ขวบ จะเรียนรู้จดจำ และพัฒนาสิ่งที่ชอบ จนทำโรตีขายเองได้อย่างน่าทึ่งของผู้พบเห็น  ลูกค้าแห่อุดหนุน กันล้นหลามทุกวัน

เมื่อถามว่าโตขึ้นมา น้องไปร์ อยากจะประกอบอาชีพอะไร น้องไปร์ตอบโดยไม่ต้องคิดว่า อยากเป็นแม่ค้าโรตี เพราะตัวเองเป็นคนชอบทำโรตี เลยอยากให้ลูกค้าได้กินโรตีอร่อย ๆ มือของตน  และ อีกอาชีพหนึ่งที่ชอบคือ ครูสอนภาษาไทย  เพราะอยากให้ลูกศิษย์ได้ซึมซับภาษาไทย

สำหรับลูกค้าที่ต้องความชิมความอร่อยรสชาดฝีมือของน้องไปร์ ได้ที่ร้าน โรตีดีไซน์  บายหญิงโฉม ในตลาดเรื่องเล่ากับข้าวยามเย็น  อ.เมืองพัทลุง  โทร 0936345456

นราธิวาส - ผู้ว่าฯนราธิวาส ประชุม ศบค. จังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ติดตามการดำเนินงาน พร้อมปรับมาตรการให้สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลกำหนด กำชับทุกอำเภอบริหารจัดการยับยั้งการระบาดอย่างทันท่วงที

วันนี้ (18 เม.ย. 64) ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนราธิวาส (ศบค.จังหวัด) โดยมีคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดนราธิวาส ปลัดจังหวัดนราธิวาส นายอำเภอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ออกข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 20 จึงต้องมีการปรับให้เข้ากับพื้นที่ โดยทุกส่วนราชการต้องร่วมกันระงับยับยั้งป้องกันโรค ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อปรับมาตรการให้สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลกำหนด

โดยคณะทำงาน ศบค. จังหวัดนราธิวาส ทั้ง 9 คณะ ได้นำเสนอการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้เน้นย้ำให้ทุกอำเภอต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาระงับยับยั้งได้ทันที เพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแนวทางที่กำหนด เมื่อมีผู้ที่ติดเชื้อขอให้บริหารจัดการในพื้นที่ทุกกรณี โดยรายงานด่วนมายังจังหวัดเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที

จากนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส เพื่อพิจารณาออกมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม ซึ่งในวาระแรกเป็นเรื่องมาตรการของจังหวัดนราธิวาสตามข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่บังคับใช้ในปัจจุบัน คือ การควบคุมตลาดและถนนคนเดิน , การให้ทุกคนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และคำสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน

สำหรับมาตรการที่จะต้องมีการปรับปรุงคำสั่ง คือ มาตรการควบคุมแต่ละพื้นที่ โดยกำหนดมาตรการพื้นที่ควบคุมให้ตรงกับข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 20 รวมทั้งจะมีการกำหนดมาตรการในเรื่องการห้ามการดำเนินการ หรือจัดกิจกรรม หรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งยังไม่ได้กำหนดมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้จะมีการกำหนดมาตรการในเรื่องการงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางให้ครอบคลุมทั้ง 18 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งการกำหนดมาตรการจัดกิจกรรมทางสังคม การดำเนินรูปแบบปฏิบัติงานที่เหมาะสม และในด้านมาตรการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ที่จะต้องมีข้อสั่งการเพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนราธิวาสเตรียมการในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ ในด้านมาตรการตามประกาศของจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 4/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 และมาตรการที่ออกตามข้อกำหนด ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและนำเสนอร่วมกัน โดยจะยึดตามประกาศจุฬาราชมนตรี และให้งดการออก “ดะวะห์” และ “โยร์” ซึ่งจะมีการออกคำสั่งจังหวัดและแจ้งมาตรการในพื้นที่ให้ถือปฏิบัติต่อไป

ในด้านการกักตัวสังเกตอาการแบบ Home Quarantine จะใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น โดยให้ทุกอำเภอควบคุมดูแลตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสยังได้เน้นย้ำให้หัวหน้าส่วนราชการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดดระโทก ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน

ยะลา - เบตง ยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางเข้าพื้นที่ อ.เบตง ณ ด่าน กม 23 หลังจากที่ขณะนี้ จ.ยะลา พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 5 ราย

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 ที่ด่าน กม.23 อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง  เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เข้าประชุมที่ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเบตง (ศปก.อ.เบตง) ในการกำหนดเพื่อยกระดับการคุมเข้มการป้องกันการแพร่ระบาด โรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ภาย หลังจังหวัดยะลา พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย อ.เมืองยะลา 2 ราย อ.เบตง 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 5 ราย โดยมี ตำรวจ ฉก.ตชด.44 ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ รพ.เบตง ผอ.รพ.สต. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกตำบล ท้องถิ่นอำเภอเบตง ผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วม

นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง กล่าวว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ควบคุมโรคอำเภอเบตง (ศปก.อ.เบตง) ในครั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมบูรณาการในหมู่บ้านเพื่อดำเนินการในการ ตั้งจุดตรวจ/จุดคัดกรอง ในการการเข้า-ออกหมู่บ้านโดย ให้ทุกฝ่ายจัดเตรียมความพร้อมสถานที่กักตัวสำรองเพื่อรองรับผู้เข้าสังเกตการณ์อาการเริ่มป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมใช้งานได้ทันที พร้อมเน้นย้ำศูนย์ปฏิบัติการตำบล (ศปก.ต.) ร่วมค้นหาและคัดกรองคนในหมู่บ้านที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเชิงรุก และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ มาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ยกระดับปฏิบัติการการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยกระดับการปฏิบัติคัดกรองผู้เดินทางเข้าพื้นที่อำเภอเบตง ณ ด่าน กม 23

โดยสถานการณ์ COVID19 ในจังหวัด ยะลา ระลอกเดือนเมษายน 2564 " (เริ่ม 1 เม.ย. 2564 วันที่ 18 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย โดยพบในพื้นที่ อ.เมืองยะลา 2 ราย และอำเภอเบตง 1 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต  โดยที่ประชาชนทุกคน ต้องให้ความร่วมมือ สวมหน้ากากอนามัย ร้านอาหาร ยังไม่ปิด แต่ให้มีการจัดการตามรูปแบบที่เคยปฏิบัติ มีแอลกอฮอล์ล้างมือ เว้นระยะห่างในการเข้าใช้บริการ ปิดสถานบริการ/สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ/อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID19 เป็นการชั่วคราวเวลา 14 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 – 23 เมษายน 2564 การจัดงานแต่งงาน ต้องจัดให้มีแอลกอฮอล์ล้างมือ/จุดล้างมือ เว้นระยะห่างในการนั่ง สวมแมส ตลอดยกเว้นช่วงทานอาหาร พร้อมขอให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการทางด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจล แอลกอฮอล์ ทำความสะอาดพื้นผิวและอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย เว้นระยะห่าง หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่น หลีกเลียงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ติดตั้งและสแกน Application "ไทยชนะ" หรือลงทะเบียนในการเข้าออกสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการปกป้องดูแลสุขอนามัย ของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคฯ และหากผู้ใดไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเมื่อออกนอกเคหสถานมีความผิดตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง

สงขลา - สีสัน..ไปดูภารกิจของสามเณรน้อยน้ำมนต์ วัย 5 ขวบ เริงร่าหลังบวชมา 8 วัน พรุ่งนี้ก็จะสึก เป็นที่รักของพระพี่เลี้ยงและสามเณรทุกคน

สีสัน วันที่ 8 ของโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวัดไทรงาม จังหวัดสงขลา ซึ่งในครั้งนี้มีสามเณรน้อยรุ่นเล็กที่สุดอายุน้อยที่สุด ร่วมบรรพชาด้วย 1 รูป พร้อมพี่ ๆ สามเณร 60 รูป มาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 จนถึงขณะนี้ ย่างเข้าวันที่ 8 คือ สามเณรน้ำมนต์ ซึ่งทุกเช้าจะมาช่วยพระพี่เลี้ยง ในการจัดเตรียมพื้นที่ในการฉันเช้าทุกวัน โดยวางรองบาตร จัดน้ำดื่มวางใกล้กับที่รองบาตร รวมทั้งปูพรมที่นั่งของ พระครูปลัดยอดโดมสิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดไทรงามและพระพี่เลี้ยง ในศาลาการเปรียญ ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็วและแข็งแรง เมื่อเสร็จจากการจัดสถานที่แล้ว ก็ออดอ้อนพระพี่เลี้ยงให้อุ้มเพื่อไปรับบาตร เตรียมบิณฑบาต ญาติโยมที่เดินทางมารอ ในช่วง 7:00 น ของทุกวัน

เมื่อพร้อมแล้ว ขบวนสามเณร 61 รูปก็ออกเดินรับบิณฑบาตจากญาติโยมที่นำอาหารหวานคาวมาใส่บาตรให้กับสามเณร 61 รูปและพระพี่เลี้ยง ที่คอยดูแลสามเณรน้อยน้ำมนต์ ที่เดินรับบิณฑบาตรอยู่ภายในวัด ผ่านมา 8 วัน สามเณรน้อยคล่องแคล่วขึ้นมาก เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว ก็จะอุ้มบาตรเข้าไปฉันอาหารที่ญาติโยม ใส่บาตรให้มา โดย สามเณรทั้ง 61 รูป จะร่วมกันฉันภัตตาหารในบาตรในศาลาการเปรียญร่วมกับเจ้าอาวาสวัดไทรงามและพระพี่เลี้ยง

หลังจากฉันอาหารในบาตรเสร็จแล้วสามเณรทุกรูป ก็จะต้องไปล้างบาตรด้วยตนเองรวมทั้งสามเณรน้อยน้ำมนต์ด้วย โดยมี แม่ครัว ของวัดไทรงาม มาช่วย บริการอำนวยความสะดวกให้  ช่วงที่ล้างบาตร สามเณรทุกคนชอบตรงที่ว่า ได้หมุนบาตรเล่นอยู่ในน้ำกันอย่างสนุกสนาน รวมทั้งสามเณรน้ำมนต์ด้วย ก็หมุนบาตรเล่นอยู่ในน้ำเช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นสามเณรพี่ ๆ ทำ สนุกดีก็ทำตามจนพระพี่เลี้ยงบอกว่า อันนี้ไม่ได้ล้างบาตรแล้ว อันนี้เล่นบาตรแล้วล่ะ

ล้างบาตรเสร็จ ก็จะนำไปคว่ำตากแดด บริเวณแคร่ไม้ ใกล้กับเต็นท์นอนที่พักของสามเณร ที่กางไว้ทั้งหมด 6 เต็นท์ ที่ใช้สำหรับจำวัดในช่วงกลางคืน ตั้งแต่เริ่มบรรพชาวันแรก ก็นอนอยู่ในเต็นท์นี้เรื่อยมา

สามเณรน้ำมนต์พาไปดูเต็นท์ที่นอนอยู่ทุกคืน ซึ่งยังไม่ได้พับผ้าห่มสามเณรพี่ ๆ เข้าไปช่วยพับให้จนเต็มเต็นท์

พระปลัดจักรพรรดิ ปัญญาวโร หัวหน้าพระวิทยากร โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน วัดไทรงามปี 2564 กล่าวถึงสามเณรน้ำมนต์ ที่เข้าร่วมโครงการฯด้วยวัย 5 ขวบ สามารถที่อยู่จนครบ 9 วันได้ ในวันนี้เป็นวันที่ 8 และพรุ่งนี้ก็จะทำการลาสิกขาบท สามเณรน้ำมนต์ถือว่า เป็นสามเณรที่มีอายุน้อยที่สุด ตัวเล็กที่สุดแต่ก็ มีความเข้มแข็งไม่งอแงเหมือนเด็กทั่วไป


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

กระบี่ - โซเชียลแห่แชร์เรื่องราวความน่ารักน่าเอ็นดู ของหนูน้อย 3 ขวบ ขณะว่ากล่าวเตือนพ่อหลังรถมอเตอร์ไซค์ประสบอุบัติเหตุ จนได้รับบาดเจ็บทั้งพ่อทั้งลูก

วันที่ 18 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า โลกโซเชี่ยลฯต่างแสดงความเอ็นดุเด็กชายวัย3 ขวบ และให้กำลังใจกันอย่างล้นหลาม ขณะนั่งปลอบและสั่งพ่อหลังประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้ม บริเวณยูเทิร์น หน้าห้างแม็คโคร ถนนเพชรเกษม  ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่  โดย ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “แพร แพร์” ได้โพสต์ภาพสองพ่อลูก ขณะนั่งอยู่บนรถกู้ภัย พร้อมข้อความบอกเล่าเรื่องราวที่สองพ่อลูกสนทนากันว่า ได้ยินน้องคุยกับพ่อ ถึงเรื่องอุบัติเหตุ ที่ฟังแล้วน่าเอ็นดูเด็กน้อยเป็นอย่างมากที่พยายามที่จะเตือนผู้เป็นพ่อ   พร้อมเล่าเรื่องราวที่พ่อลูกสนทนากันเป็นสำเนียงภาษาใต้ดังนี้

น้อง :  พ่อครับพ่อเจ็บม้าย พ่อเจ็บตรงไหนม้าย เเต่น้องก็เจ็บนะ น้องมีเลือดออกด้วย แต่ว่าน้องเป็นห่วงพ่อมากนะครับ

พ่อ: พ่อไม่เจ็บครับ พ่อขอโทษนะลูกนะ

น้อง: น้องจะไม่ชวนพ่อแหลงแล้วนะเวลาพ่อขับรถ

เมื่อพาน้องขึ้นรถเพื่อไปส่งรพ.ผ่านจุดเกิดเห็น น้องได้ชี้ไปที่เกิดเหตุที่ฟุตบาตที่ชน

น้อง: พ่อจำไว้เลยนะ พ่อไม่ชนตรงนี้แล้วนะ พ่อไม่ขับรถเร็วแล้วนะทีนี้ น้องเจ็บน้องกลัวเลือด

พ่อ: ครับลูก 

เครติด#สาวกู้ภัยมิราเคิลออฟไลฟ์กระบี่

ภายหลังเผยแพร่เรืองราวดังกล่าวออกไป ปรากฏว่ามีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห้นและชื่นชมในความน่ารักน่าเอ็นดูของหนูน้อยคนดังกล่าว และแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม น.ส.รัตนมณี  สายนุ้ย  "น้องแพร" นามเรียกขาน มิราเคิล32 อายุ 19  ปี เป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกูู้ชีพมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ จ.กระบีี่ ในสังกัดรพ. สต.บ้านไสไทย ที่ออกช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ  ทราบว่า  เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลา ประมาณ2ทุ่มเศษ หลังรับแจ้งจาก ศูนย์นพรัตน์  ออกตรวจสอบเหตุ ว.40 รถจยย. ล้มเอง บริเวณยูเทรินห้างแมคโคร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เป็นพ่อลูกกัน   โดยผู้เป็นพ่อ อายุ 33 ปี มีบาดแผลฉีกขาดบริเวณ หัวแม่เท้าด้านซ้าย มีแผลถลอกทั่วไปตามร่างกาย รายที่ 2 เป็นลูกสาว อายุ 12 ปี ปวดข้อแขนด้านซ้าย แผลถลอกทั่วไปตามร่างกาย และรายที่3 ลูกชาย อายุ 3 ขวบ  มีแผลถลอกทั่วไปตามร่างกาย.มีรอยฟกช้ำที่หน้าผาก จนท.ให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลก่อน นำส่ง รพ.กระบี่ ซึ่งระหว่างที่จนท.หามผู้เป้นพ่อขึ้นบนรถกู้ภัย ลูกชาย3ขวบที่นั่งข้างๆ ก็พูดกับพ่อในลักษณะดังกล่าว ได้ยินแล้วรูู้สึกเอ็นดูในความน่ารักของน้อง  3 ขวบ ที่พยายามที่จะเตือนพ่อขณะที่ตัวเองด้วยความเป็นห่วงทั้งที่ตัวเองในขณะทีี่ตัวเองก็เจ็บจากอุบัติเหตุเช่นกัน 


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

นราธิวาส - ผบ.ฉก.นราธิวาส ตรวจเยี่ยมและประชุมเพิ่มประสิทธิภาพการปฎิบัติงาน พร้อมทั้งให้กำลังใจกำลังพลหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานในพื้นที่

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส พร้อมด้วย พันเอก เฉลิมพร ขำเขียว รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และคณะฯ ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม และประชุมเพิ่มประสิทธิภาพการปฎิบัติงาน ให้กับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส  จำนวน 4  หน่วย ได้แก่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 อำเภอระแงะ , หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 อำเภอรือเสาะ, หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 อำเภอเจาะไอร้อง และ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 อำเภอศรีสาคร

โดยได้รับฟัง สรุปการชี้แจงการปฎิบัติที่สำคัญในห้วงที่ผ่านมา และแผนการปฏิบัติงานที่สำคัญในห้วงต่อไป  พร้อมทั้งแนวความคิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานในพื้นที่  โดยผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส มอบนโยบาย ข้อสั่งการสอบถามข้อขัดข้องในการปฎิบัติงาน พร้อมทั้งเน้นย้ำการปฏิบัติงาน ของชุดปฎิบัติการจรยุทธ์ ต้องอยู่ในความไม่ประมาท การรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งการเฝ้าตรวจให้เป็นไปตามสั่งการของ ผอ.รมน.ภาค4 การใช้ระเบียบการนำหน่วย มอบแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน การสังเกตุการณ์ และการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ พร้อมทั้งให้กำลังพล ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า COVID19 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เน้นย้ำผู้บังคับหน่วย เรื่องสวัสดิการ สิทธิกำลังพล โดยฝากความห่วงใยแก่กำลังพล ให้ดูแลตนเอง และเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid19 อย่างใกล้ชิด ตลอดจนมอบงบประมาณแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และสิ่งของอุปโภค บริโภค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฎิบัติงานให้แก่กำลังพลต่อไป


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ​ หะไร​ จ.นราธิวาส

นราธิวาส-เปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 จำนวน 186 เตียงดูแลผู้ป่วย COVID19 ที่ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติด พร้อมรับผู้ป่วยวันแรก 65 ราย

วันนี้ (17 เม.ย. 64) ที่ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติดจังหวัดนราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของจังหวัดนราธิวาส โดยมีนางดาเรศ จิตรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส นาวาเอก วิชชา พรหมคีรี รอง ผอ.รมน.จ.นราธิวาส (ฝ่ายทหาร) นายชินวุฒิ ขาวสำลี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปลัดจังหวัดนราธิวาส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสและคณะได้ตัดริบบิ้นเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมภายในอาคารที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 186 เตียง ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับการให้บริการผู้ป่วย COVID19 เพื่อทำหน้าที่ในการคัดกรองและแยกผู้ป่วยโดยใช้ระดับความรุนแรงของโรค จัดลำดับความสำคัญในการรักษาผู้ป่วยและจัดระบบบริการ สำหรับในวันนี้จะรองรับผู้ป่วย COVID19 ซึ่งเป็นผู้ต้องขังจากเรือนจำชั่วคราวโคกยามูและผู้พ้นโทษ จำนวน 65 ราย ส่วนในผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ จะทยอยเข้ารับการรักษาจนเต็มจำนวนเตียง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย แพทย์และพยาบาลอยู่ประจำทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การรักษาและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID19

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรค COVID19 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ต้องขัง ผู้พ้นโทษ และกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามเรือนจำจังหวัดนราธิวาสแห่งแรกอาจรองรับผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอ และมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ จึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID19 เพิ่มเติม สำหรับในด้านการบริหารจัดการระดับพื้นที่ขอให้นายอำเภอเป็นผู้นำ ซึ่งถ้าทุกคนช่วยกันก็มั่นใจว่าจะสร้างความมั่นใจให้ชาวนราธิวาส รวมทั้งลดการแพร่กระจายของโรค COVID19 ในจังหวัดนราธิวาสได้ เพื่อให้สามารถระงับยับยั้งโรคได้ภายใน 28 วัน

ทั้งนี้ ศบค. ได้แถลงสถานการณ์การติดเชื้อ COVID19 ในจังหวัดนราธิวาส วันนี้ (17 เมษายน 2564) มีผู้ป่วยใหม่ จำนวน 18 ราย และผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 348 ราย


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top