Thursday, 9 May 2024
อีสานไทม์

กาฬสินธุ์ - ผู้การกาฬสินธุ์ ตั้งโต๊ะขายไข่ขาดทุน! ราคาถูก - ช่วยลดค่าครองชีพช่วงของแพง!!

ผู้การฯกาฬสินธุ์ ควงประธานแม่บ้านตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งโต๊ะขาย “ไข่ไก่ผู้การโป้ง”เบอร์ 1 ราคาถูก แผงละ 80 บาท สด ๆ จากฟาร์มขายขาดทุนให้ครอบครัวตำรวจกาฬสินธุ์ครัวเรือนละ 2 แผง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและลดค่าครองชีพในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด และช่วงไข่ไก่-เนื้อหมูราคาแพง

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 26 มกราคม 2565 พล.ต.ต.วรวัฒน์ มะลิ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ นางพรพรรณ มะลิ ประธานแม่บ้านตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ นำไข่ไก่เบอร์ 1 “ไข่ไก่ผู้การโป้ง” สด ๆ จากฟาร์มมาตั้งโต๊ะวางขายราคาถูกกว่าท้องตลาดและขายแบบขาดทุนแผงละ 80 บาท ให้กับตำรวจในสังกัดตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ โดยกำหนดให้ซื้อได้คนละ 2 แผง  เพื่อเป็นแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและลดค่าครองชีพให้กับครอบครัวตำรวจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด และช่วงที่ราคาสินค้าต่างๆปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่ และเนื้อหมูที่มีราคาแพง

พล.ต.ต.วรวัฒน์ มะลิ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวส่วนตัวได้ไปซื้อไข่ไก่สด ๆ เบอร์ 1 จากฟาร์มโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งซื้อได้ราคาแผงละ 90 บาทถูกกว่าท้องตลาดที่ทราบว่าปัจจุบันจำหน่ายอยู่ที่แผงละ 110 -120 บาท จำนวน 1,000 แผง แล้วนำมาขายให้กับตำรวจในสังกัดตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ โดยขายแผงละ 80 บาท  ซึ่งถูกกว่าท้องตลาด และเป็นการขายแบบขาดทุน กำหนดให้ซื้อได้คนละ 2 แผง

พล.ต.ต.วรวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมครั้งนี้หากคิดในด้านการค้า การขาย หรือธุรกิจเป็นเงินนั้นถือว่าขาดทุน แต่ส่วนตัวนั้นตนเห็นว่าได้กำไร คือการให้สวัสดิการกับตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชา และได้กำไรเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและลดค่าครองชีพให้กับครอบครัวตำรวจได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาไข่ไก่ และเนื้อหมู นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือพี่น้องตำรวจ ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะมีโครงการดังกล่าวนำไข่ไก่มาขายเดือนละครั้ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ตำรวจต่อไป

สุรินทร์ - ผบ.มทบ.25 มอบจักรยาน ตามโครงการ "Army Bike สานฝัน ปันสุข" โรงเรียนบ้านกันตรง ต.บึง อ.เขวาสินรินทร์

พลตรีสาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 เป็นประธานในพิธีมอบจักรยาน ตามโครงการ "Army Bike สานฝัน ปันสุข" ณ โรงเรียนบ้านกันตรง ตำบลบึง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายพิณี หาสุข  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกันตรงและคณะครูร่วมเป็นเกียรติ โครงการ "Army Bike สานฝัน ปันสุข" มี พันเอกรุหาญ  รุจธารจรูญ หัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 25 กล่าวรายงาน ด้วยความห่วงใยของ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ได้เล็งเห็นถึงความลำบาก ของการเดินทางของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล จึงได้ให้หน่วยทหาร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานช่าง ทำการซ่อมจักรยาน ที่มีผู้บริจาคให้มีสภาพดีพร้อมใช้ และมอบให้เด็กนักเรียนที่มีความจำเป็น นำไปใช้ในการเดินทางไปโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยในโครงการ "Army Bike สานฝัน ปันสุข" โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่แนวชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร ของประเทศ

โดยหน่วยมณฑลทหารบกที่ 25 ได้ประชาสัมพันธ์ กำลังพลของหน่วยและประชาชนในพื้นที่ ในเรื่องรับบริจาคจักรยานที่เก่าหรือชำรุด เพื่อรวบรวมส่งต่อให้กับหน่วยซ่อมบำรุงจักรยานที่ได้รับบริจาคให้กลับมาอยู่ในสภาพดีใช้งานได้ตามปกติ  แล้วจึงนำมามอบให้กับนักเรียน ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดน พื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วย เพื่อใช้ในการเดินทางไปโรงเรียน ตลอดจนเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองอีกทางหนึ่งด้วย

ขอนแก่น - จัดโครงการ 3 ม. “มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม”

สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนจังหวัดขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น สภาอุสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และบริษัท ซีพีแรม จำกัด(ขอนแก่น) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม)ขับเคลื่อนการพัฒนา สู่การเป็น Smart and Mice City

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 21  มกราคม 2565 ที่ โรงแรมคอนวีเนี่ยน จังหวัดขอนแก่น นายจารึก  เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อความข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ ๓ ม.(มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม)ระหว่างสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนจังหวัดขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น สภาอุสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นและบริษัท ซีพีแรม จำกัด(ขอนแก่น)โดยมี ผู้ร่วมลงนามดังนี้นายพงษ์ศักดิ์  ปรีชาวิทย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ,ดร.สิทธิพล พหลทัพ ผู้แทนผอ.สพม.ขอนแก่น,นายประภาส พรหมคำบุตร จัดหางานจังหวัดขอนแก่น,ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราซูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ,ผศ.ดร.เกรียงกร ปัญญาประเสริฐกุล ประธานอาชีวศึกษาเอกชนจังหวัดขอนแก่น อุปนายกฝ่ายวิจัยและพัฒนา สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี,นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น,นายปาณชัย สุวรรณวานิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นายเดโช ปลื้มใจ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสบริษัท ซีพีแรม จำกัด(ขอนแก่น),ตัวแทนบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ,นายวิเชียร  เนียมนิยมบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  นางสาวอรทัย พิพัตนผาติการย์รองผู้อำนวยการ Operation-HRบริษัท ชี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด,นางอาภรณ์ แว่วสอน ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสรรถภาพคนงานภาค 4,นางณัฐนรี แก้ววังปา นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น ,นายเดโช ปลื้มใจ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสบริษัท ซีพีแรม จำกัด(ขอนแก่น),ตัวแทนบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ,นายวิเชียร เนียมนิยมบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  นางสาวอรทัย พิพัตนผาติการย์รองผู้อำนวยการ Operation-HRบริษัท ชี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด,นางอาภรณ์ แว่วสอน ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสรรถภาพคนงานภาค 4,นางณัฐนรี แก้ววังปา นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น ,นายขวัญชัย นารถบุญ แรงงานจังหวัดขอนแก่น สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น,นายธีร์ ศรีอาษา ประกันสังคมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานประกันสังคม จังหวัดขอนแก่น,นายธวัช วงศ์ริน นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการพิเศษ,นางอรวรรณ หินตะหัวหน้าศูนย์บริหารข้อมูลตลาดแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นางสาวอรทัย พิพัตนผาติการย์ ศูนย์บริหารข้อมูลตลาดแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือและผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวเอกชนในจังหวัดขอนแก่น 18 แห่ง ร่วมลงนาม

นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินการโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือประกาศณียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ได้มีงานทำและได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นระหว่างทำงาน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบพลังประชารัฐ โดยประสานความร่วมมือระหว่าง สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น สถานประกอบการ และสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน จังหวัดขอนแก่น ในการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนในด้านการมีงานทำ ได้รับค่าตอบแทน และสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด เปิดโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น

นายจารึก กล่าวอีกว่าในระดับที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ ถือเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและช่วยยกระดับคุณภาพ ชีวิตของประชาชน รวมทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และได้กำลังแรงงานที่ตรงกับการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) ที่มีขึ้นในวันนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมมือกันในการดำเนินการและขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ผมขอขอบคุณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม บริษัท ซีพีแรม จำกัด(ขอนแก่น) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนจังหวัดขอนแก่น และสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการมีงานทำและเพิ่มทักษะความรู้ในด้านการพัฒนาแรงงาน เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของกำลังแรงงานของจังหวัดขอนแก่น และระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป

ด้าน  นายพงษ์ศักดิ์  ปรีชาวิทย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงที่มาของโครงการ 3 ม. จากจังหวัดบึงกาฬ ถึง จังหวัดขอนแก่น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้ดำเนินการ ในเรื่องนี้ โดยวันที่ 31 มีนาคม 2561 น.ส.กตพร สองเมืองสุข จัดหางานจังหวัดบึงกาฬ มอบหมายเจ้าหน้าที่ เดินทางไปส่งนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการ ๓ ม.(มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) จำนวน 22 คน โดยทำงานกับ บริษัท แซมโบ ชินโด (ประเทศไทย) จํากัด จำนวน 13 คน บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 6 คน บริษัท เคเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล( ประเทศไทย) จำกัด จำนวน  3 คน เพื่อขึ้นรถของวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ณ สถานีบริการน้ำมัน ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

กาฬสินธุ์ - ชลประทานกาฬสินธุ์ ยันปริมาณน้ำขนาดกลาง 17 แห่ง เพียงพอฤดูแล้ง

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์เผยภาวะฝนทิ้งช่วงยังไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำชลประทาน อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 17 แห่ง โดยภาพรวมมีปริมาณน้ำ 60%  ยืนยันเพียงพอใช้พ้นฤดูแล้ง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ปล่อยน้ำทิ้ง ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชนในช่วงฤดูแล้ง ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พบว่า มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อการยังชีพและจำหน่าย เช่น ข้าวนาปรัง ข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว พืชตระกูลแตงอื่นๆ ขณะที่ปริมาณน้ำตามอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ซึ่งอยู่ในการดูแลของโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ทั้ง 17 แห่ง พบว่ายังมีเหลือเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคให้กับประชาชน โดยภาพรวมเฉลี่ยมีปริมาณถึง 60%

นายเกริงกรุง สุภัควนิช ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 17 แห่ง ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคในฤดูแล้งนี้ ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ใช้น้ำของโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ มีพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะปลูกข้าวนาปรังประมาณ 1 หมื่นกว่าไร่ ในภาพรวมมีการบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเพียงพอ เฉลี่ยมีปริมาณถึง 60%  โดยเพียงมีอ่างเก็บ 4 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำหนองหมาจอก ต.ยางตลาด อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด, อ่างเก็บน้ำวังลิ้นฟ้า อ.ห้วยเม็ก และอ่างลำพะยังตอนบน อ.เขาวงเท่านั้น ที่มีปริมาณต่ำว่า 30% แต่ยังก็เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค 

นายเกริงกรุง กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานกาฬสินธุ์นั้น มีการวางแผนรับมือภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดสรรเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้เพียงพอถึงต้นฤดูฝน เช่น มีการกักเก็บน้ำในช่วงเกิดภาวะน้ำท่วมตามแนวแม่น้ำชี อ.ฆ้องชัย เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้, มีการจัดการน้ำทั้งในส่วนของการเกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมให้เพียงพอ, เตรียมเครื่องสูบน้ำ โดยประสานการทำงานร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสูบน้ำระยะไกล ในกรณีเกิดภัยแล้ง, สร้างการรับรู้การใช้น้ำให้กับประชาชน พร้อมกับขอความร่วมมือประชาชนและเกษตรกรไม่ปล่อยน้ำทิ้ง ใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งจะไม่ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

 

นครพนม - กอ.รมน.มุกดาหาร ร่วมประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องใน "วันกองทัพไทย" ประจำปี 2565 ณ มณฑลทหารบกที่ 210

พ.อ.วรพรต แก้ววิจิตร รอง ผอ.รมน.จังหวัด ม.ห.(ท)/รอง ผอ.สน.ปรมน.จว.มทบ.210 ร่วมประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2565  โดยมี พล.ต.สถาพร บุญชู ผบ.มทบ.210 เป็นประธานในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2565 โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ สมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา มทบ. 210 กำลังพล มทบ.210 , ร.3 พัน.3 , ส่วนราชการภาครัฐ, ภาคเอกชน, เข้าร่วมพิธี ณ สนามหน้า บก.มทบ.210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม

โดย ผบ.มทบ.210 ได้อ่านโอวาทผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนำกล่าวสดุดีวันกองทัพไทย พร้อมนำกำลังพลสวนสนาม และนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวนที่เข้ารับราชการใหม่ กล่าวปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล

 

สุรินทร์ - มณฑลทหารบกที่ 25 จัดพิธีวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์พลตรีหลวงวีรวัฒน์โยธิน ผู้ก่อตั้งค่ายวีรวัฒน์โยธิน และพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย

ที่ ค่ายวีระวัฒน์โยธิน พลตรีสาธิต  เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาสักการะ พร้อมกล่าวคำสดุดีต่อหน้าอนุสาวรีย์พลตรีหลวงวีรวัฒน์โยธิน ผู้ก่อตั้งค่ายวีรวัฒน์โยธิน เนื่องในวันกองทัพไทย โดยมีกำลังพลหน่วยขึ้นตรง ข้าราชการบำนาญ โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน กองกำลังสุรนารี ร้อย.23 พัน 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาที่ 54 หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร พร้อมใจกันร่วมนำพวงมาลาวางสักการะ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงดวงวิญญาณ อันศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าทหารกล้า ในฐานะวีรชนผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของชาติไทย โดยช่วงบ่าย เวลา 15.00 น. พลตรีสาธิต  เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 เป็นประธานในพิธี ทางพุทธศาสนา และ พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล ประจำปี 2565 เนื่องในวันกองทัพไทย

กาฬสินธุ์ - รณรงค์หยุด!! ‘การเผาพื้นที่เกษตร’ ร่วมทำแนวกันไฟ เดินหน้านำร่องหนุนเกษตรกร ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนของเสียให้มีประโยชน์

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายปกครอง องค์กรภาคเอกชน และเครือข่ายเกษตรกร รณรงค์หยุดการเผาในพื้นที่เกษตร เดินหน้านำร่องหนุนเกษตรกรใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนของเสียให้มีประโยชน์ ลดต้นทุนการผลิต เกิดความสมบูรณ์ของดินและอินทรียวัตถุในดิน ได้ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 มกราคม 2565 ที่แปลงเกษตรกร นายสุนัน มิทะรา บ้านโนนตูม หมู่ที่ 4 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผา ในพื้นที่การเกษตร ปี 2565 โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ และหัวหน้าส่วนราชการร่วมงาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่างานนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาดังกล่าว จัดโดยสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับอำเภอยางตลาด สำนักงานเกษตรอำเภอยางตลาด องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตอกแป้น องค์กรภาคเอกชน และเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการทำเกษตรปลอดการเผา รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรนำเอาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสร้างมูลค่าและเพิ่มผลผลิต

นายทรงพลกล่าวอีกว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศ มีสาเหตุหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเผาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง คือทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์และส่งผลให้สูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

สุรินทร์ - KI GROUP บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ มอบทุนสร้างโดมกีฬาอเนกประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 25 กว่าล้านบาท

ณ ห้องรับรอง มณฑลทหารบกที่ 25  KI GROUP บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด โดยคุณยงยุทธ เสถียรถิระกุล กรรมการผู้จัดการ และคณะผู้บริหาร เข้าพบ พลตรีสาธิต  เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 และ คณะผู้บริหารของมณฑลทหารบกที่ 25 พร้อมกับได้มอบทุนสนับสนุนการก่อสร้างโดมกีฬาอเนกประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติภารกิจ และใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ด้านกีฬา ของเหล่าทหาร และ ครอบครัว รวมถึงประชาชนที่สามารถเข้าไปใช้งานร่วมกันได้ ในพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 25

โดยการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์แห่งนี้ขึ้น มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 90 ตารางเมตร ได้รับการสนับสนุนทุนงบประมาณจาก KI GROUP บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด เป็นเงินจำนวน 1,400,000 บาท (หนึ่งล้านสี่แสนบาทถ้วน) ทั้งนี้ในปี 2564 ที่ผ่านมา KI GROUP บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด โดย คุณยงยุทธ เสถียรถิระกุล กรรมการผู้จัดการ คุณมั่นคง เสถียรถิระกุล รองกรรมการผู้จัดการ  ยังได้มอบทุนสนับสนุนกิจกรรมหลักของทางจังหวัด อย่างต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งภาคสาธารณสุข ที่สนับสนุนหน่วยงานแพทย์ในด้านการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และ องค์กรเอกชน แทบทุกหน่วยงานในจังหวัดสุรินทร์ 

กาฬสินธุ์ - ชาวนาพอใจ เงินประกันรายได้ภาพรวมถึงมือแล้ว 3,600 ล้าน

ชาวนาจังหวัดกาฬสินธุ์ พอใจเงินประกันรายได้ทำนา และเงินค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าว ฤดูกาลผลิต 2564/65 ที่รัฐบาลจัดให้ ช่วยลดต้นทุนการผลิต มีเงินใช้จ่ายในการครองชีพช่วงสถานการณ์โควิด และมีเงินทุนทำนาปรัง อยากให้มีโครงการนี้ตลอดไป ในขณะที่เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เผยภาพรวม รัฐโอนถึงมือชาวนาแล้ว 9 งวดเม็ดเงิน 3,678,654,188 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูแล้งและสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว เริ่มลงมือเพาะปลูกข้าวนาปรังกันแล้ว หลังทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว ได้ระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แม้ราคาขายข้าวเปลือกนาปีที่ผ่านมาจะตกต่ำ โดยเริ่มต้นเพียงกิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้ชาวนาหลายคนถอดใจไม่อยากทำนา เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน  แต่วันนี้ชาวนากลับมาทำนาด้วยความหวังใหม่อีกครั้ง  ทั้งนี้เป็นผลพวงจากการได้รับเงินส่วนต่าง หรือเงินประกันรายได้ รวมทั้งยังได้รับเงินค่าเก็บเกี่ยวอีกไร่ละ 1,000 บาท เป็นรายได้ 2 ต่อหลังจากขายข้าวเปลือกขาดทุนอีกด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนโครงการที่รัฐบาลมอบให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฤดูกาลผลิต 2564/65 มี 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 3 คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเงินส่วนต่าง และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเงินค่าเก็บเกี่ยว  ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวไว้และผ่านการรับรอง จำนวน 153,884 ครัวเรือน 265,859 แปลง เนื้อที่ 1,558,244.46 ไร่ ผ่านการรับรองและได้รับการช่วยเหลือ ตัดยอดล่าสุด 9 งวด (4 ม.ค.65) จำนวน 153,544 ครัวเรือน 264,997 แปลง เนื้อที่ 1,553,351.34 ไร่

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ผลการโอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2,272,155,530 บาท ขณะที่ผลการโอนเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 1,406,498,618 บาท รวมจำนวน 3,678,654,188 ล้านบาท โดยยังเหลือที่จะโอนให้อีก 2 งวด รวมที่รัฐบาลจะจัดโอนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้ง 2 โครงการทั้งหมด 11 งวด ทั้งนี้ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในการลดต้นทุนการผลิต มีเงินใช้จ่ายในการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับความพึงพอใจ 100%

ด้านนายประเสริฐ ภูสิงหา อายุ 55 ปี ชาวนาบ้านหนองบัวหน่วย อยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ 16 ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ตนที่พื้นที่ทำนา 19 ไร่ ขายผลผลิตข้าวนาปีได้กิโลกรัมละ 6 บาท ซึ่งขาดทุน เนื่องจากค่าปุ๋ยเคมี ค่าเก็บเกี่ยวสูงมาก จนคิดว่าในฤดูแล้งนี้ไม่อยากจะทำนาปรัง เพราะทำไปก็ขาดทุนซ้ำซาก แต่พอทางรัฐบาลจัดเงินส่วนต่างและค่าเก็บเกี่ยวให้ โดยโอนผ่าน ธ.ก.ส.ครอบครัวตนได้เกือบ  30,000 บาท ทำให้พอมีเงินใช้หนี้ปุ๋ยเคมี และชดเชยค่ารถเกี่ยวข้าว ทั้งมีเหลือพอใช้จ่ายในครัวเรือนบ้างจึงมีกำลังใจที่จะทำนาต่อไป ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลมีโครงการดี ๆ นี้ต่อเนื่องตลอดไป

 

กาฬสินธุ์ - สหกรณ์มอบเงินชดเชยดอกเบี้ยสมาชิก แก่ปชช.ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ มอบเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และประสบภัยพิบัติกว่า 4 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ นำไปฟื้นฟูประกอบอาชีพ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 5 มกราคม 2565 ที่ห้องประชุมสำนักงานสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายวิทยา วัฒนวิเชียร สหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่สหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันมอบเช็คเงินสด ซึ่งเป็นเงินชดเชยดอกเบี้ย ตามโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สหกรณ์ร่วมโครงการจำนวน 14 สหกรณ์ มีสมาชิกที่ได้รับเงินชดเชยดอกเบี้ยจำนวน 8,076 ราย มูลหนี้ต้นเงินรวม จำนวน 1,190,866,211.64 บาท เงินชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 4,357,459.92 บาท

นายวิทยา วัฒนวิเชียร สหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จะจ่ายเป็น 2 งวด งวดที่ 1 คือวันนี้ จำนวน 2,178,729.94 บาท และงวดที่ 2 จะจ่ายประมาณเดือนเมษายน จำนวน 2,178,729.98 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ตามวัตถุประสงค์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่จะช่วยลดภาระดอกเบี้ย และลดต้นทุนในการประกอบอาชีพการเกษตรแก่สมาชิก  และเพื่อให้สมาชิกที่ประกอบอาชีพการเกษตร มีโอกาสนำเงินส่วนที่ได้รับการช่วยเหลือไปฟื้นฟูประกอบอาชีพ ตลอดจนมีเงินทุนไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ด้วย

นายวิทยากล่าวอีกว่า สำหรับการมอบเงินชดเชยดอกเบี้ย ตามโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทางสำนักงานสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดมอบแล้ว 3 ครั้ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ครั้งแรกในปี 2562 จัดมอบไป 6 สหกรณ์ 1.สหกรณ์การเกษตรถาวรพัฒนากาฬสินธุ์ จำกัด 2.สหกรณ์การเกษตรท่าคันโท จำกัด 3.สหกรณ์การเกษตรนามน จำกัด 4.สหกรณ์การเกษตรเมืองกาฬสินธุ์ จำกัด 5.สหกรณ์การเกษตรร่องคำ จำกัด และ6. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตำบลโคกสะอาด จำกัด จำนวนเงิน 3,246,202.12 บาท โดยจ่ายครบ 100%

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top