Monday, 20 May 2024
อีสานไทม์

นครพนม - ‘ผู้ว่าฯนครพนม - นพ.สสจ.’ พร้อมบุคลากรด่านหน้า รับวัคซีนโควิดฯ เข็ม 2

วันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมศรีโคตรบูรณ์ ชั้น 5 อาคารอำนวยการโรงพยาบาลนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมนายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์สมโภชน์ กังวานธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม และนางพัชรินทร์ ฉลาดธัญญกิจ ประธานชมรมแม่บ้านสาธารณสุขจังหวัดนครพนม รวมถึงคณะบุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานด่านหน้า ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) Sinovac เข็มที่ 2 รวม 180 คน


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม

กาฬสินธุ์ – นก อพยพปักหลักขยายพันธุ์ กินหอยเชอรี่ศัตรูข้าว ชาวนาเผยเป็นผลดี พื้นที่ท้องนาสวยงาม และมีความชุ่มชื้น ช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าวเย็นลง

ฝูงนกธรรมชาตินานาชนิดหลายพันตัว บินอพยพจากต่างถิ่น เข้ามาปักหลักหากินในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และเกิดการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ชาวนาเผยเป็นผลดีช่วยกินหอยเชอรี่ศัตรูข้าว และมองดูเหมือนสวนสัตว์นกดูเพลิดเพลินสวยงามเต็มท้องทุ่ง ขณะที่ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ ทสจ.กาฬสินธุ์ขอความร่วมมือประชาชนร่วมอนุรักษ์ ไม่ควรจับมาทำอาหารเพราะอาจจะติดเชื้อพยาธิได้

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ ซึ่งอยู่ในช่วงของฤดูแล้งและบางวันมีฝนหลงฤดูตกลงมา ทำให้เกิดความชุ่มชื้น บางแห่งมีน้ำขัง ช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าวเย็นลงบ้าง ขณะที่พื้นที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานลำปาวหรือเขื่อนลำปาว กำลังอยู่ในระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง จึงพบว่าในช่วงนี้ จะมีฝูงนกธรรมชาตินานาชนิด โดยเฉพาะนกกระยางและนกปากห่าง โบยบินอยู่รอบ ๆ รถเกี่ยวข้าว และโผบินขึ้นบนท้องฟ้า แล้วโฉบลงมาจิกกินหอย กบ เขียด ปู ปลา ตามท้องนา ทำให้เกิดสีสัน สวยงาม

นายนาคินทร์ ภูจ่าพล ผู้ใหญ่บ้านดอนยานาง หมู่ 9 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฝูงนกกระยางและนกปากห่างดังกล่าว เห็นเข้ามาในพื้นที่ครั้งแรกประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเห็นประปราย ไม่กี่ตัว ก่อนที่ระยะหลังต่อมาจะเห็นเพิ่มจำนวนมาก คาดว่าจะมีจำนวนหลายพันตัว กระจายอยู่หลายพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ทำนาปรัง ทั้งในเขต ต.ดอนสมบูรณ์ ต.บัวบาน ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด, ต.เหนือ ต.หลุบ ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ โดยจะเห็นอยู่กันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 20-100 ตัว

นายนาคินทร์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ฝูงนกดังกล่าวเข้ามาในพื้นที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับข้าวในนาบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่มากนัก จะมีเพียงเหยียบต้นข้าวเท่านั้น เนื่องจากอาหารหลักของนกเหล่านี้คือหอยเชอรี่ รวมทั้งกบ เขียด ปู ปลาที่อยู่ในนาข้าว ซึ่งหอยเชอรี่ถือเป็นศัตรูข้าว โดยจะกัดกินต้นข้าวเป็นอาหารและมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นข้าว ชาวนาต้องไปหาซื้อสารเคมีที่ราคาแพงมากำจัดหอยเชอรี่ ทำให้เกิดสารพิษตกค้าง ส่งผลเสียต่อคุณภาพข้าวและสุขภาพของชาวนา ทั้งนี้ พอมีนกกระยางและนกปากห่างเข้ามาในพื้นที่ จึงเป็นการช่วยกำจัดหอยเชอรี่ศัตรูข้าวได้เป็นอย่างดี และผลดีของนกเหล่านี้ ยังทำให้แลดูเพลินตาเพลินใจ มองดูเหมือนเป็นสวนสัตว์นกธรรมชาติ ที่สร้างความสวยงามอยู่ตามท้องทุ่งนา

ขณะที่นายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ฝูงนกธรรมชาติดังกล่าว สันนิษฐานว่าบินอพยพมาจากต่างประเทศ และในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง อาหารขาดแคลน โดยจับกลุ่มบินเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบกับสภาพอากาศที่ชุ่มชื้น มีแหล่งน้ำ มีอาหาร ให้หากินตลอดปี โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ จึงปักหลักหากินและเกิดการขยายพันธุ์ดังกล่าว

นายนิยมกล่าวอีกว่า อาหารของนกเหล่านี้คือ กุ้ง หอย ปูปลา และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอื่น ๆ ช่วงแรกที่นกธรรมชาติเหล่านี้เข้ามาในพื้นที่ ได้รับการร้องเรียนจากชาวนาบ้าง ว่าลงเหยียบย่ำต้นข้าวเสียหาย และลงหากินตามบ่อกุ้งบ่อปลา  ซึ่งก็ได้ให้คำแนะนำให้หาวิธีการป้องกันความเสียหาย โดยทำนาดำเพื่อจะได้ต้นข้าวที่แข็งแรง ขณะที่ผู้เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาเอง ก็ให้ทำอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ใช้ภูมิปัญญาไล่นกด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งบรรเทาความเสียหายลงได้ ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ชาวนาและประชาชนทั่วไป ไม่ทำร้ายและไม่นิยมจับนกเหล่านี้มาทำอาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นนกธรรมชาติ ที่ช่วยกำจัดหอยเชอรี่ที่เป็นศัตรูข้าว และยังสร้างสีสัน มองดูสวยงาม จึงขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยกันอนุรักษ์เป็นสัตว์ประจำถิ่น เพราะฝูงนกเหล่านี้ให้คุณมากกว่าโทษ และไม่ควรจับมาทำอาหาร เพราะอาจจะติดเชื้อพยาธิได้

(เสียงสัมภาษณ์ นายนาคินทร์ ภูจ่าพล ผู้ใหญ่บ้านดอนยานาง หมู่ 9 ต.ดอนสมบูรณ์และนายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์)

ขอนแก่น - ม.ขอนแก่น ผลิตชุด "พีเอพีอา" อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ สนับสนุนการทำงานของชุดพีพีอีและหน้ากากพีเอ็ม 2.5 ใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และเริ่มทดลองใช้งานในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 29 เม.ย.2564 ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มข.พร้อมด้วย นพ.อภิชาติ โซ่เงิน อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.ศรีนครินทร์  คณะแพทยศาสตร์ มข. ร่วมทำการทดสอบอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ หรือ พีเอพีอาร์ (PAPR)  ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มข. ได้ทำการวิจัยและประดิษฐ์ขึ้น ชุดแรก จำนวน 10 ชุด สำหรับการให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้งานสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลสนาม จ.ขอนแก่น แห่งที่ 1 ( หอพัก 26 มข.) อยู่ในขณะนี้

รศ.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวว่า การปฎิบัติงานในปัจจุบันของบุคลากรทางการแพทย์นั้น ชุดพีพีอี เป็นชุดที่สามารถกรองเชื้อได้แต่ว่าในลักษณะของการกรองอากาศที่เข้าไปให้กับผู้ที่สวมใส่นั้นจะต้องสวมใส่หน้ากาก N95 เพิ่มเข้าไป ทำให้มีลำบากที่จะหายใจต่อการใช้งาน ทีมงานวิจัยร่วมระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ และ คณะแพทยศาสตร์ มข. จึงได้ร่วมกันวิจัยและผลิตชุดดังกล่าวขึ้นมาที่จัดเป็นชุดที่จ่ายอากาศบริสุทธิ์ที่มีความสามารถในการกรองเชื้อไวรัสได้มากกว่า96%  ในลักษณะของหมวกแรงดันบวก โดยผ้าที่ใช้ต้องเป็นผ้าร่มกันน้ำกันลม  เพื่อให้ภายใน สามารถจ่ายลมแรงดันบวก จากด้านหลัง และออกแบบท่อให้นำอากาศมาด้านหน้า เพื่อความสะดวกในการหายใจ และยังมีฟิวเตอร์ ที่สามารถกรองไวรัสได้ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในห้องที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์หรือในห้องติดเชื้อผู้ที่สวมใส่จะหายใจได้สะดวกกว่าโดยไม่ต้องใส่หน้ากากN95 โดยที่สามารถสวมหน้ากากที่ใช้ในทางการแพทย์แบบปกติได้

ขณะที่ นพ.อภิชาติ โซ่เงิน อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า  กรณีที่มีโรคระบาดที่เราไม่มั่นใจว่าจะแพร่กระจายทางระบบทางเดินหายใจ ทุกครั้งที่มีโรคอุบัติใหม่จะต้องคิดเสมอว่าน่าจะเป็นโรคที่แพร่กระจายทางเดินหายใจ ดังนั้นผลงานวิจัยที่ร่วมกันคิดค้นขึ้นชุดนี้จึงมีความสำคัญในทุกครั้งที่มีโรคระบาดที่เกิดขึ้น ในยุคที่เจอมาไม่ว่าจะเป็นH5n1 ,H1n1 ,ซ่าร์ส จนกระทั่งมาถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 " โดยเฉลี่ย 10ปีจะเจอโรคแบบนี้สักครั้งซึ่งชุดนี้จะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นชุดที่มีความปลอดภัยสูงสุดและทำให้ดูแลคนไข้ได้มากกว่าชุดพีพีอีโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรกลุ่มอื่นที่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้องที่ผู่ป่วยมีการหายใจเช่น เจ้าหน้าที่รังษีเทคนิคที่เข้าไปเอ๊กซ์เรย์ปอดคนไข้หรือแม้กระทั่งแม่บ้านที่เข้าไปเก็บขยะหรือของเสียอะไรก็ตามที่ออกมาจากห้องถ้ามีชุดพอและเหมาะสมกับทุกฝ่ายที่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลคนไข้ในห้องที่มีท่อช่วยหายใจกับผู้ป่วยแยกโรคดังกล่าว"

อุดรธานี – ‘เจ้าของร้านป้าย’ชาวอุดร ร่วมใจกับเพื่อนส่งตู้ตรวจโควิด-19 แบบสนามช่วยนักรบชุดขาว

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทุกวัน เฉพาะ จ.อุดรธานี ณ วันที่ 27 เมษายน 2564  โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 327 ราย และยังมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีก ท่ามกลางการควบคุมโรค มาตรการเข้มงวดต่างๆ ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนเพื่อลดตัวเลขการติดเชื้อ ดังเช่นภาคเอกชนของ จ.อุดรธานี ได้รวบรวมเงินทุนเพื่อสร้างตู้ตรวจโควิดแบบสนาม (Positive swap test box) ส่งมอบต่อ รพ.อุดรธานี สนับสนุนการทำงานของนักรบชุดขาวให้ทำงานได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

วันที่ 27 เมษายน 2564 เวลา10.30 น. ที่ร้านบางกอกพลาสติค หรือ ร้านทำป้าย เลขที่ 559/28 – 29 ถ.โพศรี ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี นายณัฐพงษ์ แซ่ตั้ง หรือเฮียณัฐ อายุ 43 ปี เจ้าของร้าน  ได้ทำการสาธิตในการประกอบตู้ตรวจโควิดแบบสนาม (Positive swap test box) โดยมีลูกน้องที่ร้าน 3 คนเป็นลูกมือช่วยกันประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อส่งต่อไปยัง รพ.อุดรธานี ให้ทีมแพทย์พยาบาลได้ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด – 19 ซึ่งเฮียณัฐ ให้ข้อมูลและแนะนำวิธีการประกอบอย่างอารมณ์ดี

นายณัฐพงษ์ แซ่ตั้ง  เปิดเผยว่า โควิค – 19 เป็นโรคระบาดที่น่ากลัวมาก ติดตามข่าวอยู่เป็นประจำและเห็นความเหน็ดเหนื่อยของทีมแพทย์พยาบาลที่ต้องดูแลพี่น้องประชาชน จากการพูดคุยในกลุ่มเพื่อนฝูงอยากจะสนับสนุนการทำงานของพี่น้องสาธารณสุข จึงมีแนวคิดสร้างตู้ตรวจโควิดแบบสนามเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจรักษา ต้นแบบเดิมเราเห็นจากโรงพยาบาลต่าง ๆ จะให้ผู้ป่วยอยู่ด้านในและรับการตรวจ เราจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นให้คุณหมอคุณพยาบาลอยู่ข้างในแทน ไม่ต้องสวมชุด PPE ร้อน ๆ สามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น

ตัวตู้สูง 195 ซม. กว้าง 115 ซม. ลึก 90 ซม. มีล้อเลื่อนด้านล่าง โครงสร้างทำจากสแตนเลส พื้นเป็นเหล็กซิงค์ ผนังทำจากพลาสวู้ด และติดตั้งระบบไฟส่องสว่าง พร้อมกับเครื่อง Smile O2 หรือเครื่องกรองอากาศ 3 ตัว ดูดอากาศเข้า 2 ตัว ระบายอากาศออก 1 ตัว งบประมาณทั้งสิ้น 73,000 บาท ต่อ 1 ตู้ โดยเป็นการบริจาคของพรรคพวกเพื่อนฝูง ทางร้านก็จะช่วยในงบประมาณบางส่วนและออกแรงในการประกอบตู้ขึ้นมา  โดยประกอบและส่งมอบมาแล้ว 1 ครั้ง จำนวน 4 ตู้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 มอบให้กับ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ,โรงพยาบาลสกลนคร ,โรงพยาบาลหนองคาย และ โรงพยาบาลบึงกาฬ”

นายณัฐพงษ์ แซ่ตั้ง เปิดเผยอีกว่า ล็อตนี้เรามีงบประมาณประกอบ 2 ตู้ น่าจะผ่านการทดสอบพร้อมส่งมอบในวันพฤหัสบดีนี้ โดยจะมอบให้กับ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ต่อไป หากท่านใดสนใจที่ร่วมสนับสนุนตู้ตรวจโควิดแบบสนาม (Positive swap test box) เพื่อสู้กับโรคร้ายครั้งนี้ สามารถบริจาคได้ที่ บัญชี ธ.กรุงศรีอยุธยา ชื่อบัญชี : นรุตม์ชัย ศุภชัยสาคร เลขที่  215-1-56101-9 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิชัย เอื้อมธุรพจน์ (เฮียเปา) ทางร้านบางกอกพลาสติค เปิดมากว่า 45 ปี  ซึ่งตนเองเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ทางครอบครัวก็เห็นว่าจะเป็นการช่วยเหลือสังคมได้อีกทางหนึ่ง จึงร่วมสนับสนุนและส่งกำลังใจให้ทีมแพทย์พยาบาลทุก ๆ ท่าน


ภาพ/ข่าว  นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี

บึงกาฬ – อ่วมหนัก หาดคำสมบูรณ์เจอพิษโควิด-19 ยังไม่พอ พายุพัดกระหน่ำอีกรอบ

หาดคำสมบูรณ์เป็นหาดทรายเทียมตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านคำสมบูรณ์ ต.บึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 2 ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือ Ramsar Site อันดับที่ 1098 เป็นแหล่งท่องเที่ยวท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดบึงกาฬ ที่ นทท.มักพาบุตรหลานลงเล่นน้ำคลายร้อน นอกจากทะเลน้ำจืดกว้างขวางมีคลื่นลมซัด มีอุปกรณ์เล่นน้ำให้เช่า เช่นหวงยาง เรือบานานาโบ๊ต อีกมากมายหลายอย่าง เมื่อเดือนที่แล้วเจอพิษโควิดเล่นงานจนเงียบเหงา แต่เมื่อบ่ายวันนี้เจอพิษพายุฤดูร้อนเล่นงานจนร้านรวงพังเสียหาย นอกจากนี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ของจังหวัดบึงกาฬก็โดนพิษพายุไปด้วย

เมื่อเวลาประมาณ 14.00 นวันที่ 27 เม.ย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในหลายอำเภอ ของพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จึงทำให้มีต้นไม้ และบ้านเรือนของชาวบ้านได้รับความเสียหาย เช่น ที่บริเวณหาดคำสมบูรณ์ ต.บึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ถูกลมพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำทำให้เพิงพักร้านค้า ที่ทำเป็นลักษณะเพิงหมาแหงน ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว ได้รับความเสียหายหลายหลัง โดยมีร้านที่เสียหายมากที่สุด คือร้านครัวมิวสิค หลังคาที่มุงด้วยอะลูซิงค์ ถูกลมพัดหายไปทั้งหลัง ความเสียหายประมาณ 50,000 บาท ร้านเอ๋ปลาเผาความเสียหายอยู่ที่ 30,000 บาท และร้านน้องอิงปลาเผา ความเสียหายอยู่ประมาณ 10,000 บาท 

เช่นเดียวกับในเขตพื้นที่ บ้านศรีอำนวยพร ม.8 ต.ท่ากกแดง อ.เซกา มีบ้านเรือนของชาวบ้านได้รับความเสียหายจากพายุจำนวน 4 ครัวเรือน ต้นไม้ล้มทับบ้านเรือนประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ในเบื้องต้นนางดารณี ไกรทัศน์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 พร้อมด้วย ผู้ช่วย ส.อบต. ชาวบ้าน มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์  และเจ้าหน้าที่ อบต. เข้าช่วยตัดต้นไม้ที่หักทับชายคาเป็นที่เรียบร้อย พร้อมแจ้งไปยัง อบต.เพื่อให้ช่างได้มาดำเนินการประมาณการความเสียหาย 

ส่วนที่ในพื้นที่ตำบลนาสวรรค์ อำเภอเมืองบึงกาฬ ก็ได้รับความเสียหายจากพายุเช่นกัน โดยที่บ้านของนายประยงค์ จิตนาม บ้านเลขที่ 355 ม.1 ต.นาสวรรค์ มีผู้อาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คน ถูกแรงลมพัดเอาหลังคาบ้านที่มุงด้วยอะลูซิงค์ ปลิวลอยไปตกกลางท้องนา เสียหายทั้งหลัง มีเสา 3 ต้น ไม้แปลและไม้จันทันยาว 8 เมตร รวม 13 ตัว สังกะสียาว 12 ฟุต จำนวน 12 แผ่น อลูซิ่งยาว 8 เมตร จำนวน 11 แผ่น คิดรวมประเมินค่าความเสียหายประมาณ 20,000 บาท และบ้านนายจันทร์ศรี รักโคตร บ้านเดียวกัน เสียหายบางส่วน กระเบื้องจำนวน 14 แผ่น เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสำรวจเพื่อเข้าช่วยเหลือต่อไป 


ภาพ/ข่าว  เกรียงไกร  พรมจันทร์ / บึงกาฬ

กาฬสินธุ์ – รองผู้ว่าฯ มอบประกาศนียบัตรจิตอาสาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม ให้กับนักเรียน โรงเรียนหนองสอพิทยาคม จำนวน 8 ราย เพื่อยกย่อง และเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนนักเรียน

วันที่ 27 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น  พงษ์อักษร  รอง ผวจ.กาฬสินธุ์  มอบประกาศนียบัตรจิตอาสาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม ให้กับนักเรียนชุมชนพุทธจิตอาสา โรงเรียนหนองสอพิทยาคม อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  จำนวน 8 ราย คือ นายนครินทร์ สินทร , นายสุระเพชร  วรรณมล , นายธนากร  ไกยบุตร , นายณัฐพล  ชุมทวียศ , นางสาวกัญญาลักษณ์  อัครินทร์ , นางสาวกุลวรรณ  เกตุกุล , นางสาววนิดา  ผลาผล  และนางสาวชุติมา  อิ่มฤทธิ์  ซึ่งเป็นจิตอาสาช่วยเหลืองานของ  โรงเรียน วัด และชุมชน มาเป็นระยะเวลา 3 ปี  โดยมีนายบัญชายุทธ  นาคมุจลินท์  ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.กาฬสินธุ์ นางกมนรัตน์  สิมมาคำ วัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์  ร่วมแสดงความยินดี

ทั้งนี้ โรงเรียนหนองสอพิทยาคม ต.ลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดกิจกรรมชุมนุมเพื่อให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนา ความถนัด ความสนใจ ตามความต้องการของนักเรียน มุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ให้กับนักเรียน ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ได้มีการจัดตั้งชุมนุมพุทธจิตอาสา โดยมีพระอาจารย์วัฒน์ชรินทร์  อรุโณ (ผาลาโห) เป็นพระอาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุม ซึ่งจะออกบริการทางชุมชนและวัดตามวาระโอกาส วันสำคัญต่าง ๆ และประเพณีที่สำคัญ  ส่วนหนึ่งก็เพื่อปลูกผังจิตสำนึกด้านจิตสาธารณะให้กับนักเรียน รู้จักการเสียสละ ทำประโยชน์เพื่อสังคม


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล

ยโสธร – แมลงปีกแข็งจำนวนมาก บุกเข้าบ้านจนเจ้าของบ้านเดือดร้อน

วันที่ 26 เมษายน 2564 ที่จังหวัดยโสธรผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีฝูงแมลงปีกแข็งสีดำ หรือ มอดกระเบื้อง หลายหมื่นตัว พากันเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านพักของชาวบ้านรายหนึ่งที่บ้านเอราวัณ ตำบลกุดชุม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร จนสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้านไม่สามารถที่จะพักอาศัยอยู่ในบ้านพักได้เนื่องจากกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากแมลงปีกแข็งดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 194 หมู่ 12 บ้านเอราวัณ ตำบลกุดชุม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

ซึ่งเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ปลูกกลางทุ่งนา ค่อนข้างห่างชุมชน บริเวณบนบ้านชั้น 2 พบว่ามีแมลงปีกแข็งสีดำไต่เต็มพื้นบ้านและบริเวณโครงหลังคาบ้านยังพบว่ามีแมลงปีกแข็งสีดำจำนวนมากเกาะอยู่และยังมีอีกบางส่วนที่หล่นลงไปยังพื้นด้านล่างจนสร้างความรำคาญให้กับเจ้าของบ้าน โดยก่อนหน้านี้เจ้าของบ้านก็พยายามใช้น้ำมันดีเซลฉีดพ่นทำลายซึ่งก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งแต่แมลงปีกแข็งสีดำดังกล่าวก็ยิ่งพากันเข้าไปอยู่ในบ้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการสังเกตุพบว่าแมลงปีแข็งสีดำดังกล่าวจะมีกลิ่นฉุนเมื่อสูดดมกลิ่นของแมลงเข้าไปมาก ๆ จะมีอาการเวียนหัวทันที จนสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้านไม่สามารถที่จะพักอาศัยอยู่ในบ้านได้เพราะหวั่นเกรงว่าแมลงจะไต่เข้าหูโดยเฉพาะเด็กๆที่อาศัยอยู่ในบ้านเจ้าของบ้านจึงพาสมาชิกในครอบครัวอพยพไปอาศัยหลับนอนที่นอกตัวบ้านแทนเป็นการชั่วคราวก่อนในระยะนี้เพื่อความปลอดภัย

นางคำปุ่น  ชื่นบาน อายุ 59 ปี เจ้าของบ้าน บอกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อนฝูงแมลงปีกแข็งเหล่านี้ก็เคยเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของตนทุกปีในช่วงเดียวกันนี้ หรือประมาณหน้าร้อนของทุกปีและในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแมลงปีกแข็งสีดำได้พากันเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของตนเมื่อประมาณ 3 วันที่แล้ว จนสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและสมาชิกในบ้านไม่สามารถจะอยู่อาศัยภายในบ้านได้เพราะเกรงว่าแมลงจะไต่เข้าหูและแมลงเหล่านี้ยังมีกลิ่นฉุนเมื่อสูดดมมาก ๆ จะมีอาการเวียนหัวทันทีโดยเฉพาะในบ้านของตนมีหลานเล็ก ๆ พักอาศัยอยู่ด้วยจึงเกรงว่าอาจจะได้รับอันตรายไปด้วย ซึ่งปกติทุกปีที่ผ่านมาตนจะไปแจ้งให้กับ อบต.กุดชุม ทราบ ซึ่งก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยฉีดสารเคมีกำจัดให้พอทุเลาลงได้บ้าง แต่ในปีนี้ก็ได้แจ้งให้ทราบแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดพ่นสารเคมีกำจัดให้

โดยขณะนี้ ตนก็ให้ลูกชายนำน้ำมันดีเซลไปฉีดพ่นกำจัดเป็นการชั่วคราวไปก่อน จึงวอนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนด้วย ส่วนสาเหตุที่ฝูงแมลงปีกแข็งบุกเข้าบ้านของตนทุกปีนั้น ตนก็ไม่ทราบสาเหตุชัดเจนแต่พอถึงช่วงเวลาดังกล่าวก็จะพากันเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของตนทันทีและจะอาศัยอยู่ในบ้านยาวไปจนถึงช่วงเข้าพรรษาของทุกปีฝูงแมลงปีกแข็งก็จะพากันหนีไปเอง


ภาพ/ข่าว  สมัย  คำแก้ว  ผู้สื่อภูมิภาคจังหวัดยโสธร

ขอนแก่น - ตำรวจภูธรภาค 4 รับมอบกรมธรรม์ประกันโควิด ครั้งที่ 2 สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในสังกัด

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4  พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 พร้อมด้วย พล.ต.ต.วรัตม์ชัย ศรีรัตนวุฑฒิ รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.พุฒิพงศ์ มุสิกูล ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น และผู้บริหารกลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ได้จัดกิจกรรมพิธีรับมอบกรมธรรม์ประกันโควิด จากกลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ให้กับข้าราชการตำรวจ ในสังกัดตำรวจภูธรภาค 4

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการระบาดในรอบที่ 3 ทำให้มีข้าราชการตำรวจและครอบครัว ติดเชื้อและอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ และขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่

โดยที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ได้อนุเคราะห์มอบกรมธรรม์ประกันโควิด ให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 4 (ส่วนกลาง) อันได้แก่ กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 4 ,กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ,กองบังคับการกฎหมายและคดีตำรวจภูธรภาค 4, ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 ,ตำรวจภูธรจังหวัดเลย และตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,960 คนจำนวน 2,960 กรมธรรม์ เป็นเงิน จำนวน 3,010,320 บาท ซึ่งได้ทำสัญญาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 มีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2564 เป็นต้นมา

และในครั้งนี้ กลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ได้ให้ความอนุเคราะห์มอบกรมธรรม์ประกันโควิด เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 4 อีกครั้งหนึ่ง โดยมอบให้กับตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น จำนวน 3,363 คน และตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี จำนวน 2,159 คน รวมทั้งสิ้น 5,522 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 5,615,874 บาท ได้ทำสัญญาไว้

วันที่ 20 เมษายน 2564 มีผลคุ้มครองในวันที่ 5 พ.ค. 2564พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจซึ่งถือเป็นด่านหน้าที่สำคัญที่ทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานทั้งในด้านของการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ที่เป็นงานประจำที่ต้องดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ตำรวจก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวดังนั้นการดูแลและคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องดูแลในเรื่องดังกล่าว ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ตำรวจเราถือว่ามีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ซึ่งได้เล็งเห็นอันตรายจากความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ประสานการมีส่วนร่วมกับ ตำรวจภูธรภาค 4 ในการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัย ในประเภทประกันโควิด เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการตำรวจภูธร ภาค 4

ด้าน พล.ต.ต.พุฒิพงศ์  มุสิกูล ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น กล่าวว่าการแพร่ระบาด โควิด-19 ในรอบนี้ ตอนนี้เราได้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข กำชับไปยังผู้กำกับทุกสถานีและหน่วยในสังกัดต้องยึดถือมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สำหรับบางโรงพักหรือบางหน่วยที่มีข้าราชการตำรวจติดเชื้อในส่วนของตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นที่มีข่าวว่ามีการติดเชื้อซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่พบปะประชาชนโดยตรงเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจซึ่งทำงานเฉพาะด้านดังนั้นจึงไม่มีผลต่อการให้บริการประชาชนในสถานีตำรวจ ดังนั้นต้องปฏิบัติตนไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือที่ทำงานหรือผู้ใกล้ชิดต่าง ๆ ให้ดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขถึงแม้จะไม่ใช่ช่วงในเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม

สุรินทร์ - รพ.ค่ายวีรวัฒน์โยธิน มทบ.25 เตรียมพร้อมการปฏิบัติงานภายในห้องควบคุมความดันลบ และ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก

วันที่ 26 เมษายน 2564 โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดย  พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน เตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานภายในห้องควบคุมความดันลบ ซึ่งเป็นห้องที่สามารถคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดย มีเตียงรับรองผู้ป่วย จำนวน 12 เตียง ซึ่งแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาล ได้ใช้ระบบกล้องวงจรปิดทำให้สามารถติดตามอาการผ่านจอมอนิเตอร์และ Application ผ่านทางมือถือได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ของแพทย์และพยาบาล ในการปฏิบัติงานและการเฝ้าติดตามอาการผู้ติดเชื้อ ซึ่งห้วงที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ได้มีการทดลองใช้งานกับผู้ป่วยมาแล้ว 2 ราย ทำให้ แพทย์และพยาบาล มีความมั่นใจ และมีความรู้ปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

ด้าน พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามกองทัพบก  เพื่อดูแลรองรับ กำลังพลและครอบครัว และประชาชน ที่ติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ รวมทั้งผู้ที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลมาและอาการทุเลาลงแล้ว เพื่อเป็นการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลสาธารณสุขในจังหวัดสุรินทร์ได้ โดยจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอยู่ 3 จุด คือ จุดที่1.เรือนรับรองค่ายวีรวัฒนโยธิน จำนวน 20 เตียง จุดที่ 2.สโมสรค่ายวีรวัฒน์โยธิน จำนวน 30 เตียง และจุดที่ 3 กองกำลังสุรนารี 30 เตียง รวมเป็น 80 เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล จะทุ่มเท ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ และทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่จังหวัดสุรินทร์ ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในหอผู้ป่วยสามัญ ในโรงพยาบาลสุรินทร์ ในวันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ.2564 และวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564 จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยขณะให้การดูแลรักษา มีความเสี่ยงสูงและปานกลาง จำนวนทั้งสิ้น 42 ราย จึงจำเป็นต้องได้รับการกักตัว 14 วัน ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ (เสี่ยงสูง 23 ราย เสี่ยงกลาง 19 ราย) ทำให้อัตรากำลังในการปฏิบัติงานลดลง จึงขอให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจหรือรับการรักษาอย่าปกปิดข้อมูล เพราะจะทำให้กำลังแพทย์ที่ต้องดูแลลดลง ดังนั้นโรงพยาบาลสุรินทร์ จึงขอความร่วมมือประชาชนแจ้งข้อมูลและความเสี่ยงตามจริงกับเจ้าหน้าที่เสมอ เนื่องจากตรวจพบเร็ว การรักษาได้ผลดี ไม่กระจายวงกว้าง และที่สำคัญเจ้าหน้าที่สามารถเลือกเครื่องมือป้องกันให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า

ศรีสะเกษ - มอบชุดกิ๊ฟเซ็ทป้องกันโควิด -19 จำนวน 20,000 ชุด สนับสนุนทีมผจญเหตุด่านหน้า เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และทีม อสม.ในพื้นที่ทุกอำเภอ

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 64 ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ  นายวัฒนา  พุฒิชาติ  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบชุดกิ๊ฟเซ็ทป้องกันโควิด-19 ประกอบด้วยหน้ากากผ้าอนามัย และ สเปรย์แอลกอฮอล์ จำนวน 10,000.- ชุด ให้แก่นายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และนายแพทย์ชลวิทย์ หลาวทอง  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสะเกษ เพื่อนำไปสนับสนุนทีมผจญเหตุที่เป็นปราการด่านหน้าในพื้นที่ทุกอำเภอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และทีม อสม. ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้ นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย บุคลากร และเครือข่าย ทำการเร่งบรรจุสิ่งของ Sisaket gifts set Covid-19 ทั้งหมด 20,000 ชุด ในเบื้องต้นและเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการยับยั้งและควบคุมการแพร่กระจายโรค จึงส่งมอบก่อนจำนวน 10,000 ชุด นอกจากนี้ชมรมน้องพี่ศรีลำดวนยังได้สนับสนุนอาหารกลางวัน พร้อมเครื่องดื่มแก่บุคคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศรีสะเกษอีกด้วย

นายวัฒนา  พุฒิชาติ  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  กล่าวว่า ชุดกิ๊ฟเซ็ทป้องกันโควิด 19 ทั้งหมด จำนวน 20,000 ชุด จะส่งมอบให้แก่อำเภอทั้ง 22 อำเภอ เพื่อทำการส่งมอบต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลทุกแห่ง และมอบให้แก่ อสม. เพื่อนำไปใช้ในภารกิจเคาะประตูบ้านทุกหลังคา ติดตามสอบถามผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 18 จังหวัด หรือ จากพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการยับยั้งหรือควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด -19  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้คำแนะนำการปฏิบัติในช่วงการกักตัวอย่างถูกวิธี จนครบ 14 วัน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญและมีความเสี่ยงสูงของทีมผจญเหตุที่เป็นปราการด่านหน้าอย่างมาก  เพื่อให้ทีมงานจังหวัดศรีสะเกษมีความปลอดภัยเชื้อโรคไวรัสโควิด -19  ต่อไป


ข่าว/ภาพ บุญทัน  ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top