Monday, 20 May 2024
อีสานไทม์

ขอนแก่น - กกต.ขอนแก่น ติวเข้ม 3 เทศบาลเตรียมการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ “อภินันท์” ย้ำชัดห้ามผู้สมัครหาเสียงเด็ดขาด และกำชับทุกหน่วยคุมเข้มโควิดอย่างเต็มที่

เมื่อเวลา 10.00  น.วันที่ 5 พ.ค.2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. จ.ขอนแก่น นายอภินันท์  จันทร์อุปละ ผอ.กกต.ขอนแก่น ประชุมร่วมกับ ประธาน กกต.และ ผอ.กกต.รวมไปถึงจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง เพื่อเตรียมการสำหรับการลงคะแนนใหม่ ใน 3 เทศบาลฯ ตามที่ กกต.กลางได้มีคำสั่งให้จัดการลงคะแนนใหม่ในวันที่ 16 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

นายอภินันทร์  จันทร์อุปละ ผอ.กกต.ขอนแก่น กล่าวว่า  ภายหลังจากที่ กกต.กลาง ได้มีคำสั่งให้มีการลงคะแนนใหม่   3 เทศบาล  ประกอบด้วย ทต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง ลงคะแนนใหม่ เฉพาะสมาชิกฯ ในเขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 2 ,เทศบาลตำบลโพธิ์ไชย เฉพาะนายกเทศมนตรี ในเขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 1 และเทศบาลตำบลบ้านเป็ด เฉพาะนายกเทศมนตรี ในเขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 19  อันมีผลมาจากการเกิดบัตรเขย่ง ทำให้วันนี้ กกต.ขอนแก่น ต้องเชิญ ประธาน กกต.,ผอ.กกต. รวมไปถึงจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งจากเทศบาลฯทั้ง 3 แห่ง มารับทราบแนวทางการดำเนินการจัดตั้งตามระเบียบและข้อบังคับ ตามที่ กกต.กำหนด

 “ หน่วยเลือกตั้งทั้ง 3 เทศบาลฯที่ต้องมีการลงคะแนนใหม่นั้น พบว่ามีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณหน่วยละ 700 คน ดังนั้นการจัดคูหาและสถานที่ลงคะแนนนั้นจะต้องคุมเข้มตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัวโควิด-19 อย่างเข้มงวด ประกอบกับการจัดการลงคะแนนใหม่นั้น ทุกหน่วยเลือกตั้งอาจจะใช้กรรมการชุดเดิมหรือเปลีย่นแปลงกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ก็สามารถกระทำได้ ตามดุลยพินิจของ กกต.ประจำเทศบาลฯ แต่การพูดคุยกันในวันนี้เป็นการเน้นย้ำในรอบสุท้ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์บัตรเขย่งหรือข้อผิดพลาดใด ๆ ในการจัดการจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ในครั้งนี้ โดยที่ กกต.ขอนแก่น จะเป็นพี่เลี้ยงและจัดเจ้าหน้าที่ไปประจำเพื่อกำกับควบคุมดูแลในวันที่ 16 พ.ค.เพื่อให้การดำเนินงานในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปอย่างเรียบร้อยและรัดกุม”

 นายอภินันท์ กล่าวต่ออีกว่า 3 หน่วยเลือกตั้งของทั้ง 3 เทศบาลฯดังกล่าว ผู้สมัครห้ามหาเสียงเด็ดขาด ตามระเบียบที่กำหนดไว้ ซึ่งหากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ทีมสอบสวนของ กกต.จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำการสอบสวนทันที อย่างไรก็ตามสำหรับการรับรองผลการเลือกตั้งในตำแหน่งนายกฯ และ สมาชิกสภาเทศบาล ในส่วนที่เหลือนั้น ขณะนี้เข้าสู่การรับรองในรอบที่ 2 คือไม่เกินวันที่ 27 พ.ค. อันมีผลมาจากการร้องเรียน ซึ่งขณะนี้เจ้าพนักงานสอบสวนของ กกต.อยู่ในระหว่างการสอบสวนตามข้อร้องเรียนที่ส่งเข้ามาซึ่งมีทั้งหมด  20 เรื่อง ที่ กกต.ขอนแก่น ได้รับเรื่องไว้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการซื้อเสียง การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งที่มีหลักฐานชัดเจนและเรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ทั้งนี้เมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จ กกต.ขอนแก่น จะสรุปเรื่องรับรองและผลการสอบสวนไปที่ กกต.กลาง เพื่อพิจารณารับรองตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ต่อไป

กาฬสินธุ์ – เกษตรกรทำนาแล้ง หว่านข้าวรอฝน ลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อโควิด-19 ไปในตัว

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังร้อนแล้ง ชาวนาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ไม่ได้ใช้น้ำคลองและไม่ได้ทำนาปรัง ประกอบกับเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวนาหลายรายจึงเริ่มออกไปทำนา โดยทำนาแล้งหว่านข้าวรอฝน เป็นการลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อโควิด-19 ไปในตัว

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศและความเป็นอยู่ของประชาชน ในช่วงเริ่มต้นฤดูฝน และอยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยภาพรวมทั่วไปยังแห้งแล้ง เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง ในขณะที่สถานการณ์ของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งสูงต่อเนื่อง ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันในรอบ 3 จำนวน 77 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และบุคลากรหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้ประชาชน สถานประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประชาชนเอง ก็ได้มีการป้องกันและปรับตัว เพื่อให้การดำรงชีวิตดำเนินไปอย่างปกติ ทั้งในส่วนของการประกอบอาชีพ และการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้า เกษตรกร ประชาชนทั่วไป เพื่อให้ก้าวข้ามสถานการณ์โควิด-19

นางมนูญ ชาวไร่ อายุ 52 ปี บ้านเลขที่ 35 หมู่ 1 ชาวนาบ้านโคกใหญ่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ถึงแม้ในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง มีผู้ได้รับเชื้อโควิด-19 รวมทั้งมีกลุ่มเสี่ยงหลายคน แต่ตนและเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ตระหนก เนื่องจากทุกคนได้ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงเฝ้าระวัง ประกอบกับที่ผ่านมาตนไม่ได้ทำนาปรัง เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ จึงได้เริ่มลงมือทำนา โดยจ้างรถไถพรวน และทำนาหว่าน เพื่อประหยัดค่าจ้างแรงงาน และสะดวกกว่าการทำนาดำ ที่ต้องอาศัยน้ำขังและแรงงานหลายคน ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก

นางมนูญกล่าวอีกว่าที่นาตนมีเพียง 4 ไร่ และขอเช่าจากญาติอีก รวม 15 ไร่ น้ำจากคลองชลประทานไม่เพียงพอ เพราะอยู่บนพื้นที่สูง จึงอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปีที่แล้วผลผลิตตกต่ำเนื่องจากฝนแล้ง ปีนี้จึงขอแก้ตัวทำนาหว่านอีกครั้ง ทั้งนี้ ในการเริ่มต้นฤดูนี้ ถึงแม้ฝนจะทิ้งช่วงและว่างงาน ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว จึงลงมือหว่านข้าวนาแล้งเพื่อรอฝน  โดยคาดการณ์ไว้ว่าหว่านเมล็ดพันธุ์ไปสักระยะหนึ่ง หากมีฝนตกลงมาเมล็ดข้าวก็จะงอกตามธรรมชาติเอง

บึงกาฬ – ช้างป่าลงจากเขามาหากิน ตื่นคนเก็บเห็ด !! ต่างฝ่ายต่างวิ่งหนีคนล้มซี่โครงหัก เสียชีวิต

ช้างป่าภูวัวที่มีอยู่ประมาณ 50 ตัว เมื่อด้านบนภูอาหารเช่นหญ้าและไผ่หมด จึงลงมาจากภูเขาออกหากินหญ้าและน้ำด้านล่าง แยกกันเป็นโขลงๆ ละ 10-15 ตัวบ้าง เพื่อความอยู่รอดของโขลงข้าง เมื่อช้างหนุ่มแยกเดี่ยวหากินลำพังมาเจอชาวบ้านที่ออกหาเก็บเห็ดป่าตามชายป่าเชิงเข้า เกิดตื่นตกใจทั้งช้างและคนวิ่งหนีกระเจิงจนล้มลงซี่โครงหักดับอนาถ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 4 พ.ค.พ.ต.ท.สุริยา แน่นอุพำ รอง สว.(สอบสวน) สภ.บุ่งคล้า อ.บุ้งคล้า จ.บึงกาฬ รับแจ้งเหตุจาก นายอิทธิชัย พรมพุทธ ผญบ.หมู่ 4 มีชาวบ้านนาจาน ต.บุ่งคล้า ออกหาเก็บเห็ดป่าแล้วถูกช้างป่าที่ลงมาหากินด้านล่างทำร้ายจนเสียชีวิต 1 ราย จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยหน่วยกู้ภัยสว่างศรีวิไล จุดบุ่งคล้าจุดศรีวิไล จุดบริการโสกก่าม เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ป่าภูวัว เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ออกไปยังที่รับแจ้ง ที่เกิดเหตุเป็นป่าเชิงเขาใกล้สวนยางพาราและร่องน้ำลึกประมาณ 3 เมตรที่ทำขึ้นเพื่อป้องกันช้างป่าข้ามเขตออกมาทำลายและกัดกินพืชสวนของชาวบ้าน เช่นนาข้าว และสวนยางพารา พบร่างผู้เสียชีวิตสภาพร่างนอนหงายสวมใส่เสื้อยืดกีฬาแขนสั้นลายทาง กางเกงขาวยาวสีดำ ไม่สวมรองเท้า มีบาดแผลถูกช้างป่าทำร้ายที่ซี่โครงด้านขวาหัก 4 ซี่ ตามร่างกายส่วนอื่นไม่มีบาดแผลและฟกช้ำแต่อย่างใด ทราบชื่อต่อมาว่า นายนันทะ เชื้อคำจันทร์ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 141 หมู่ที่ 4 บ้านนาจาน ต.บุ่งคล้า 

สอบสวนชาวบ้านที่ไปเก็บเห็ดด้วยกัน ทราบว่านายนันทะ กับพวกได้ออกจากบ้านมาแต่เช้า เพื่อมาเก็บเห็ดป่าที่กำลังผุดอกขึ้นมาภายหลังฝนตกใหม่ เมื่อถึงป่าได้แยกย้ายกันไปคนละทิศละทางเพื่อหาเห็ด ขณะนั้นได้ยินเสียงร้องของนายนันทะว่า “ช้าง ๆ “ จากนั้นก็เสียงเงียบไป เมื่อเหตุการณ์ปกติเพื่อนที่ไปหาเห็ดจึงชวนกันเดินหาตามเสียงร้อง จึงพบร่างที่ไร้วิญญาณของนายนันทะ ซึงเจ้าหน้าที่คาดว่าระหว่างเดินหาเก็บเห็ดป่าอยู่นั้น ผู้เสียชีวิตคงเจอช้างที่ออกมาหากินเพียงลำพัง ช้างจึงตื่นตกใจวิ่งผ่านเบียดร่างจนกระเด็นทำให้ชี่โครงหักทิ่มปอด แต่ยังไม่เสียชีวิตทันทีและทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงดับอนาถภายหลัง จากนั้นหน่วยกู้ภัยจึงนำร่างออกจากป่ามาให้ นพ.ณรงค์วรรษ พรหมสาขา ณ นคร แพทย์เวร รพ.บุ่งคล้า ชันสูตรตามระเบียบต่อไป ส่วนญาติไม่ติดใจจึงมอบร่างไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป

ด้านนายวิษณุ กุมภาว์ หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว กล่าวว่า เนื่องจากผู้เสียชีวิตได้ออกเก็บเห็ดป่าใกล้กับแนวเขตป้องกันช้างป่าออกมาหากินด้านนอก ขณะก้มหน้าก้มตาเขี่ยหาดอกเห็ดใต้ใบไม้ ไม่รู้ว่ามีช้างป่าที่แยกเดียวจากฝูงมาหากินยืนอยู่ด้านหน้า แต่เมื่อเงยหน้าขึ้นจึงตกใจร้องเสียงหลงว่า”ช้าง”ทำให้ช้างก็ตื่นคนและคนก็ตื่นช้างต่างวิ่งหนี จนหกล้มซี่โครงด้านขวาหัก 4 ซี่ แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยกลัวช้างเข้าทำร้าย จึงรอจนปลอดภัยแต่นายนันทะทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงเสียชีวิตดับอนาถดังกล่าว


ภาพ/ข่าว เกรียงไกร พรมจันทร์

ขอนแก่น - เปิด รพ.สนาม แห่งที่ 2 รับมือผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ว่าฯ ย้ำชัดสถานการณ์ยังเอาอยู่ แต่เพื่อความไม่ประมาทต้องเตรียมการไว้ในทุกรูปแบบ ขณะที่ล่าสุดผู้ป่วยโควิดรักษาหายแล้ว 182 ราย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21 ราย

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 3 พ.ค.2564 ที่โรงพยาบาลสนามขอนแก่นแห่งที่ 2 (พุทธมณฑลอีสาน) ริม ถ.เลี่ยงเมือง สายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ บ.เต่านอ  ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์  ตั้งวานิชกพงษ์ นายก อบจ.ขอนแก่น , นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น และ นพ.วีระศักดิ์  อนุตรอังกูร ผอ.รพ.สิรินธร ในฐานะ ผอ.รพ.สนามขอนแก่นแห่งที่ 2 ร่วมกันเปิด รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 2 สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตามแผนการดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น ในการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้ขอนแก่นมียอดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 21 รายทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมของการระบาดระลอกใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 412 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายขาดจากอาการแล้ว 182 ราย โดยยังคงมีจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงเข้ารับการรักษาอยู่ที่ รพ.ต่าง ๆ จำนวน 230 ราย ขณะที่ รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 1 (หอพัก 26 มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ซึ่งมีทั้งสิ้น 258 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยซึ่งเข้ารับการรักษาเพียง 38 ราย ซึ่งยังคงสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้อีกตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

“การเปิด รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 2 วันนี้เป็นการเริ่มต้นของแผนการดำเนินงานที่เราจะต้องมองภาพรวมในทุกมิติ ซึ่งหากจำนวนผู้ป่วยที่ รพ.สนามแห่งที่ 1 มีจำนวนมากถึงร้อยละ 70 ของปริมาณเตียง การบริหารจัดการผู้ป่วย ในกลุ่มไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยจะถูกส่งมาที่ รพ.สนามแห่งที่ 2 แห่งนี้ทันที ซึ่งขณะนี้ทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทาการแพทย์ที่รับผิดชอบ คือ รพ.สิรินธร ได้เข้ามาประจำการในพื้นที่แล้ว รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ถูกลำเลียงมาจาก รพ.เครือข่ายและ รพ.ขอนแก่น เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการปฎิบัติงานทันทีหากพบผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มใหญ่ หรือตามแนวทางการบริหารจัดการผู้ป่วยที่ สสจ.ขอนแก่น กำหนด”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า สำหรับ รพ.สนามแห่งที่ 2 (พุทธมณฑลอีสาน) มีจำนวนทั้งสิ้น 240 เตียง ซึ่งการจัดตั้ง รพ.นั้นคณะทำงานได้ลงพื้นที่ประชาคมและทำความเข้าใจกับคนในชุมชนถึงแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวของหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำเสียและขยะติดเชื้อ รวมทั้งการปฎิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานสนับสนุน ซึ่งทุกขั้นตอนได้ดำเนินงานตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวมทั้งหมดอย่างเข้มงวด

นครพนม - เปิดปฏิบัติการคัดกรองเชิงรุกฯ ตั้งจุดตรวจโควิดฯ แบบ Rapid test ที่สนามบินฯ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์ สสจ.นครพนม มอบหมายนายแพทย์ขวัญชัย ประเสริญยิ่ง นายแพทย์ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สสจ.นครพนม พร้อมนางกรองแก้ว จันทร์ตระกูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลนครพนม นางทัศนาภรณ์ บำรุงโชค พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลนครพนม และทีมตรวจคัดกรอง เฝ้าระวัง และสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ปฏิบัติภารกิจคัดกรองตรวจโควิดแบบ Rapid Antigen test ฟรี (การนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาเชื้อไวรัส (Antigen) หรือภูมิคุ้มกัน (Antibody) ตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม แก่ผู้โดยสายขาเข้าสายการบินแอร์เอเซียไฟลท์ FD3396 เวลา 16.25 น. จำนวน 87 คน ณ ท่าอากาศยาน จ.นครพนม


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส

กาฬสินธุ์ – สภาพอากาศวิปริต น้ำเสียจากสารเคมีที่ไหลลงเขื่อน ทำปลาตาย ประชาชนหากินลำบาก

ชาวประมงรอบเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่หาจับปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน กำลังประสบปัญหาจับปลาได้ยากมากขึ้น ระบุเป็นผลพวงมาจากสภาพอากาศวิปริต และน้ำเสียจากสารเคมีที่ไหลลงเขื่อน เป็นสาเหตุของปลาตาย จึงหาจับปลาได้น้อยลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ที่สั่งจองไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือนช่วงสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่  3 พฤษภาคม 2564 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงรอยต่อฤดูแล้งกับฤดูฝน โดยเฉพาะชุมชนรอบเขื่อนลำปาว ซึ่งมีการใช้อุปกรณ์ลงเรือ เพื่อหาจับสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งนี้ หากมองในภาพรวม เหมือนไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากนัก เนื่องจากอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่โล่งแจ้ง ปลอดโปร่ง ไม่แออัด โดยเฉพาะถือว่าอยู่ในทำเลที่ได้เปรียบกว่าชุมชนเมือง หรือชุมชนที่อยู่นอกเขตชลทาน เพราะมีแหล่งน้ำให้หาจับสัตว์น้ำ เพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

นายถวัลย์ ชารี อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 30 บ้านหนองม่วง หมู่ 7 ต.ลำคลอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนกับเพื่อนบ้านที่มีความชำนาญในการหาปลา บริเวณรอบเขื่อนลำปาว บางคนใช้แห ลอบ เบ็ด และตาข่ายดักปลา เคยจับปลาได้วันละหลายสิบ ก.ก. มีรายได้จากการขายปลาวันละ 500-1,000บาท ซึ่งปลาที่จับได้ เช่น ปลาสร้อย ปลากราย ปลาสวาย ปลานิล โดยจะนำไปประกอบอาหารทานในครัวเรือนและเพื่อการจำหน่าย ทั้งในรูปแบบปลาสด หรือแปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาแดดเดียว ปลาร้า ซึ่งหากรวมยอดในแต่ละสัปดาห์ จะได้คนละ 500-800 ก.ก.หรือถึง 1 ตันเลยทีเดียว อาชีพจับปลาจึงเป็นอาชีพหลักของชาวประมงหลายราย ขณะที่ตนมาหาปลาเป็นอาชีพเสริมจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและทำนา

นายถวัลย์ กล่าวอีกว่า  ในระยะหลังมานี้การหาจับปลาบริเวณรอบเขื่อนลำปาวจะหายากมากขึ้น ทั้งนี้ปัญหามาจากน้ำเสียที่เกิดจากเกษตรกรพื้นที่เหนือเขื่อนลำปาวปลูกมัน ปลูกอ้อย เมื่อมีฝนตกลงมาได้ชะล้างสารเคมีที่ตกค้างในแปลงเกษตรลงสู่เขื่อนลำปาว ส่งผลกระทบต่อน้ำและทำให้ปลาตาย นอกจากนี้ในฤดูแล้ง และเริ่มต้นฤดูฝนที่สภาพอากาศวิปริต บางวันร้อน บางวันฝนตก ประกอบกับน้ำในเขื่อนเหลือน้อย จึงทำให้ปลาบางชนิดปรับตัวไม่ทัน จึงเกิดการน็อคตาย ส่วนที่เหลือก็อพยพลงไปอาศัยอยู่ในบริเวณร่องน้ำลึก ซึ่งเป็นเขตอันตราย รวมทั้งห้ามล่าและห้ามเข้าไปจับปลา จึงทำให้ช่วงนี้หาจับปลาได้น้อยลง

นายถวัลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงนี้หาจับปลาได้น้อยลง หรือได้วันละ 10-20 ก.ก.เท่านั้น บางวันได้เพียงบริโภคในครัวเรือน ไม่เพียงพอที่จะนำไปขายให้ลูกค้า โดยเฉพาะพ่อค้าคนกลางที่สั่งซื้อจอง เพื่อนำไปขายต่อตามตลาดชุมชนและเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม  จึงเป็นการเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย ในการสร้างรายได้จากการจำหน่ายปลา ให้กับลูกค้าและประชาชนในชุมชน ที่หลายคนกักกันตัวเองอยู่บ้าน ต้องการปลาไปประกอบอาหาร และกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

กาฬสินธุ์ – ผลกระทบโควิดฮิต !! ใช้แพข้ามฟากเขื่อนลำปาว รัดเข็มขัด ประหยัดน้ำมัน

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชน เผชิญกับภาวะเสี่ยงได้รับเชื้อ สถานบริการหลายแห่งปิดกิจการ หลายคนขาดรายได้ จึงต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกด้าน รวมทั้งการเดินทางที่ต้องประหยัดค่าน้ำมัน ทำให้บรรยากาศการบริการแพข้ามฟากข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว ที่คลองเชื่อมระหว่างอำเภอเมืองกาฬสินธุ์และอำเภอหนองกุงศรี กลับมาคึกคักอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยล่าสุดยอดผู้ป่วยสะสมสูงถึง 71 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ส่งผลให้ประชาชน ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง และป้องกันตนเองไม่ให้รับเชื้อ โดยปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโควิด-19 D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ไม่เข้าไปในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สแกนไทยชนะหรือหมอชนะ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเดินทาง และการประกอบอาชีพของประชาชน ยังต้องรัดเข็มขัด ประหยัดกิน ประหยัดใช้ เนื่องจากสถานบริการ หรือสถานประกอบการหลายแห่งต้องหยุดกิจการ ส่งให้หลายคนว่างงาน ขาดรายได้ ขณะที่ในส่วนผู้ที่ยังทำงาน และประกอบอาชีพ จึงต้องประหยัดทุกวิถีทาง เพื่อที่จะลดรายจ่าย และเลี้ยงดูสมาชิกในครัวเรือนที่ว่างงาน  เช่น ประหยัดน้ำมันในการเดินทางข้ามอำเภอ หรือข้ามจังหวัด รวมทั้งลดระยะทางในการเดินทางค้าขาย รับจ้างและหาจับสัตว์น้ำ

จากสาเหตุดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้พบว่า บรรยากาศการบริการที่แพข้ามฟาก บริเวณคลองเชื่อมเขื่อนลำปาว ตรงข้ามกับบ้านสะอาดนาทม ต.ลำคลอง อ.เมืองกาฬสินธุ์ กับ ต.เสาเล้า อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์  ได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งแต่ละวันจะมีผู้ใช้รถเดินทางมาใช้บริการขึ้นแพ โดยใช้แรงคนชักลากเพื่อข้ามคลองเชื่อม ซึ่งมีความกว้างประมาณ 30 เมตร

สอบถามนายชาติ กุลพลเมือง อายุ 50 ปี ชาวบ้านสะอาดนาทม ต.ลำคลอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ผู้ประกอบการแพลากข้ามฟาก กล่าวว่า ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ในการให้บริการแพลากกับผู้ใช้รถ ที่จะเดินทางข้ามไป-มา ระหว่าง 2 อำเภอนี้ ซึ่งจะให้บริการในช่วงฤดูแล้งที่น้ำลด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่จะเดินทางระหว่าง 2 อำเภอได้รับความสะดวก คือใกล้กว่าที่จะขับไปขึ้นสะพานเทพสุดา ระหว่างแหลมโนนวิเศษ ต.โนนบุรี อ .สหัสขันธ์ กับเกาะมหาราช ต.หนองบัว อ.หนองกุงศรี โดยสามารถร่นระยะเดินทางได้กว่าเส้นทางถนนประมาณ 30-50 กม.ทีเดียว

นายชาติกล่าวอีกว่า ในช่วงฤดูแล้งนี้ และประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่ามีผู้ใช้รถมาใช้บริการเป็นจำนวนมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 20-30 คัน สำหรับค่าบริการแพข้ามฟาก รถจักรยานยนต์คันละ 20 บาท รถกระบะและรถไถคันละ 40 บาท รถบรรทุก 6 ล้อคันละ 60 บาท เป็นต้น สำหรับชาวบ้าน ที่ข้ามฝั่งไปหาอาหาร หรือหาหอย ปู หาปลา ในเขื่อน ก็จะไม่เก็บค่าบริการ เนื่องจากเห็นอกเห็นใจกัน และบรรเทาความเดือดร้อน ที่ประสบปัญหาเรื่องปากท้อง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

นครพนม - ครอบครัวผู้ใจบุญ มอบเครื่องช่วยหายใจ สนับสนุนการรักษาผู้ป่วยโรงพยาบาลนครพนม

วันที่ 29 เมษายน 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายแพทย์สมโภชน์ กังวานธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม เปิดเผยว่า ในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะวิกฤตนั้น เครื่องช่วยหายใจเป็นหนึ่งในเครื่องมือแพทย์ที่มีความจำเป็นและมีประโยชน์ต่อการรักษาเป็นอย่างมากเพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีระบบทางเดินหายใจผิดปกติ สามารถหายใจได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ ที่ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจำเป็นจะต้องใช้

ซึ่งนับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งของชาวนครพนม เพราะในวันนี้ทางโรงพยาบาลได้รับการบริจาคเครื่องช่วยหายใจ ยี่ห้อ CareFusion T Bird Series รุ่น VELA Plus จำนวน 2 เครื่อง ในราคารวม 900,000 บาท จากครอบครัวผู้ใจบุญ คือครอบครัวของคุณมัติกานต์ อินทร์ดี และ Mr. Alan Randall ที่ได้ติดต่อประสานผ่านทางนางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่เป็นลูกหลานชาวนครพนมจนนำมาสู่การนำเครื่องช่วยหายใจมามอบให้ในครั้งนี้

จึงขอเป็นตัวแทนชาวนครพนมและผู้ป่วยทุกคนที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพนมในการขอบคุณครอบครัวผู้ใจบุญที่มีจิตอันเป็นกุศลนำเครื่องช่วยหายใจมามอบให้ในวันนี้ โดยเครื่องรุ่นนี้มีคุณลักษณะที่โดดเด่น คือเป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดัน สามารถใช้กับผู้ป่วยได้ทั้งที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถควบคุมการปรับตั้งค่าด้วยระบบ Touch Screen หรือจะใช้ปุ่มหมุนก็ได้เช่นเดียวกัน มีระบบล็อคจอภาพที่แสดงผลปริมาตรของการหายใจ แสดงระยะเวลาและจำนวนครั้งของการหายใจ และค่าอื่น ๆ อีกหลายอย่างด้วยจอภาพสีชนิด LCD ขนาด 10.4 นิ้ว

มีการควบคุมการจ่ายอากาศด้วยระบบ Turbine สามารถใช้งานได้ทั้งแบบ Invasive และแบบ Non-invasive มีระบบช่วยหายใจสำรอง Apnea backup ventilation ที่สามารถเลือกการทำงานเป็นแบบ Volume หรือ Pressure สามารถใช้งานกับแหล่งจ่ายออกซิเจนได้ทั้งแบบ High pressure และ Low pressure มีระบบพ่นยาจากตัวเครื่อง โดยพ่นยาเฉพาะช่วงหายใจเข้า ซึ่งสามารถพ่นยาได้นานสูงสุด 60 นาที มีระบบ Leak Compensation ที่สำคัญคือมีแบตเตอรี่สำรองภายในตัวเครื่องในกรณีไฟฟ้าขัดข้องสามารถใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม

ขอนแก่น – ฝนตกหนักน้ำท่วมถนนมิตรภาพ ยาวหลายกิโลเมตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้เกิดฝนตกหนัก และมีลมกรรโชกแรงในหลายพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉบับพลัน ทั้งถนนสายหลักสายรองรวมทั้งในซอยตามหมู่บ้าน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันบนถนนมิตรภาพ ตั้งแต่ช่วง 4 แยกห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่าขอนแก่น ยาวไปถึงช่วง 4 แยกก่อนถึงโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร โดยปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้ไหลท่วมผิวจราจรบนถนนมิตรภาพ 4 ช่องทางจราจร เหลือเพียง 2 ช่องทางจราจรทั้ง 2 ฝั่งที่สามารถวิ่งได้ตามปกติ โดยระดับน้ำสูงประมาณ 30-50 ซม. ซึ่งรถเล็กควรหลีกเลี่ยงอาจทำให้น้ำเข้าท่อและเครื่องยนต์ได้ โดยทางเจ้าหน้าที่เทศบาลนครขอนแก่นได้ออกมาตรวจสอบและเปิดปากท่อเคลียร์เศษขยะออกให้น้ำสามารถระบายได้รวดเร็วขึ้น

พร้อมกันนี้ผู้สื่อข่าวยังได้สำรวจตามตรอกซอกซอยพบว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักยังส่งผลให้น้ำท่วมถนนสายหรองและถนนในชุมชนหลายแห่ง รถเล็กไม่สามารถขับผ่านได้เนื่องจากปริมาณน้ำสูงประมาณ 50 ซม. โดยเฉพาะที่ถนนบ้านกอกหน้ามหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในซอยสวัสดี ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดย 2 จุดนี้เป็นจุดที่น้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากปริมาณน้ำจะไหลมารวมกันในจุดนี้ทำให้เกิดน้ำท่วมขังฉับพลัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถระบายน้ำทั้งหมดได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงหากฝนหยุดตก ขณะที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายในภาพรวมเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนต่อไป

กาฬสินธุ์ - เข้ม 9 อำเภอ กันไข่แตก !! ปรบมือส่งกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าโควิด

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์นำหัวหน้าส่วนราชการและกรมการจังหวัดลุกขึ้นยืนปรบมือ เพื่อเป็นการขอบคุณ  และสร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 พร้อมกำชับทุกพื้นที่เข้มงวดตามมาตรการ โดยเฉพาะพื้นที่อีก 9 อำเภอที่ยังไม่พบผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 29 เมษายน  2564 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์เป็นประธานการประชุมคณะกรมการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ ครั้งที่ 4/2564 ซึ่งเป็นการประชุมแบบ New Normal โดยเชิญเฉพาะผู้แทนกระทรวงเข้าร่วมประชุม  โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.สมนึก มิควาฬ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ พ.อ.เรืองพงษ์ วงศรีสุข รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุม

โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้กล่าวเชิญชวนให้คณะกรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการ ลุกขึ้นยืน พร้อมปรบมือ เพื่อเป็นการขอบคุณ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ อสม.รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 พร้อมทั้งกำชับให้ทุกคนร่วมมือกันในการป้องกันตนเอง ด้วยการงดหรือชะลอการเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่อีก 9 อำเภอที่ยังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 ให้เข้มงวดและเร่งสร้างความความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่ 9 อำเภอที่พบผู้ป่วยแล้วก็ได้เข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการของสาธารสุขเช่นกัน เพื่อที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดในรอบนี้ให้ได้ 

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดวันที่ 29 เมษายน 2564 ไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 61 ราย และรักษาหายสามารถกลับบ้านได้แล้ว 12 ราย  อยู่ระหว่างการรักษา 49 ราย โดยรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ 25 ราย โรงพยาบาลฆ้องชัย 14 ราย และพักฟื้นเพื่อรอกลับบ้าน ที่โรงพยาบาลสนามกาฬสินธุ์แห่งที่ 1 จำนวน 10 ราย ทั้งนี้พื้นที่ที่พบผู้ป่วยโควิด-19 มีจำนวน 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ยางตลาด 24 ราย, อ.เมือง 10 ราย, อ.กมลาไสย 8 ราย, อ.สมเด็จ 5 ราย, อ.สหัสขันธ์ 5 ราย, อ.สามชัย 4 ราย,อ.กุฉินารายณ์ 3 ราย, อ.ดอนจาน 1 ราย และ อ.นาคู 1 ราย ส่วนพื้นที่อีก 9 อำเภอที่ยังไม่พบผู้ป่วยประกอบด้วย อ.ฆ้องชัย อ.ร่องคำ อ.ห้วยเม็ก อ.หนองกุงศรี อ.ท่าคันโท อ.เขาวง อ.ห้วยผึ้ง  อ.คำม่วง และ อ.นามน

นอกจากนี้ทางจังหวัดยังได้ออกประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออกจากเคหสถาน 100 % หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมขอให้ประชาชนทุกคนเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ไม่เข้าไปในสถานที่แออัดอากาศไม่ถ่ายเท ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สแกนไทยชนะหรือหมอชนะ หากท่านใดที่สัมผัสใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัวที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ควรสังเกตอาการตนเองที่บ้าน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ถ่ายเหลว ตาแดง ผื่นขึ้น หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก โปรดแจ้งประวัติการสัมผัสกับผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้บุคลากรการแพทย์ทราบเพื่อคัดกรองความเสี่ยงด้วย

อย่างไรก็ตามในการประชุมยังได้มีพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติให้แก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจําปี 2563  จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 4 ราย พิธีมอบเกียรติบัตรยกย่องชุมชนองค์กรอำเภอและจังหวัดคุณธรรมประจำปีงบประมาณ 2562 พิธีมอบเกียรติบัตรปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ระดับจังหวัด ประจำปี 2564  พิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณให้กับบุคคลผู้ได้รับการพิจารณาเป็น "คนดี ศรีกาฬสินธุ์" ตามค่านิยม "มีมารยาทแบบไทย"  พิธีมอบทุนการศึกษาของสมาคมแม่บ้านมหาดไทยประจำปี 2564 และการมอบระบบบริหาร ครัวเรือนยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ KHM - V.2 โดยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นข้อมูลในการติดตามครัวเรือนตามโครงการ  Kalasin Happiness Model อีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top