Sunday, 6 July 2025
TODAY SPECIAL

‘กองทัพอากาศ’ เป็นหนึ่งในกองทัพไทย ที่คอยปกป้องดูแลประเทศชาติ วันนี้ถือเป็นวันสำคัญ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งกองทัพอากาศไทย’

สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ ‘ทูลกระหม่อมเล็ก’ ประสูติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2425 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 23 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระชนมพรรษา 16 ปี ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps de Pages ประเทศรัสเซีย ก่อนที่จะทรงสำเร็จการศึกษาด้านเสนาธิการทหารขั้นสูง และถูกแต่งตั้งยศเป็นพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย

ครั้นเมื่อเสด็จกลับเมืองไทย ทูลกระหม่อมเล็กทรงได้รับตำแหน่งทางการทหารสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยหนึ่งในพระภารกิจของพระองค์คือการเผยแพร่ความรู้ทางการทหารชั้นสูงให้กับนักเรียนนายทหาร รวมถึงทรงจัดการโรงเรียนนายร้อยให้มีระเบียบแบบแผน และมีความทันสมัย เทียบเท่าตะวันตก

ในช่วงปี พ.ศ.2454 ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศ จึงทรงดำริจัดตั้งกิจการการบินขึ้น พร้อมให้มีการคัดเลือกนายทหาร 3 นายไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาทรงทรงย้ายที่ตั้งแผนกการบินมาที่อำเภอดอนเมือง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2457 และทรงยกฐานะแผนกการบิน เป็นกองบินทหารบก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่การเป็น ‘กองทัพอากาศไทย’ ในเวลาต่อมา

ตลอดพระชนชีพ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการบิน ทั้งในกิจการทหารและกิจการพลเรือน ทรงวางรากฐานแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศไทยดังเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทยจึงได้ยกย่องพระองค์ว่าเป็น ‘พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย’ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในการส่งเสริมกิจการของกองทัพ ให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงวันนี้


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเชษฐาธิราช_เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ_กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

วันนี้ในอดีต เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทย และถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลากว่า 87 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ รวมเวลาในการครองราชย์ 9 ปี

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปประทับยังประเทศอังกฤษ โดยทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงติดต่อราชการกับรัฐบาล ที่มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งปรากฏข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่ไม่สามารถหาข้อยุติกันได้ กระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 จึงทรงมีพระราชหัตถเลขา ประกาศสละราชสมบัติ ส่งมายัง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐบาล มีใจความส่วนหนึ่งว่า...

“...ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร...บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ

และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”

ภายหลังจากมีพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดาในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป


ที่มา: https://www.matichonacademy.com/content/culture/article_38342

https://th.wikipedia.org/wiki, https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1746

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ทักษิณ ชินวัตร เคยเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเป็นหนแรก หลังถูกรัฐประหาร พร้อมเหตุการณ์สำคัญ การก้มลงกราบยังพื้นของสนามบิน กลายเป็นภาพข่าวดัง ที่ถูกบันทึกเอาไว้ตามหน้าสื่อต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เวลา 09.45 น. ทักษิณ ชินวัตร เดินทางจากฮ่องกง มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยเครื่องบิน TG 603 โดยเป็นการเดินทางกลับมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากรัฐบาลโดยการนำของตัวเอง ถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

เมื่อเดินทางมาถึง เจ้าตัวได้สวมกอดกับครอบครัว และทักทายบุคคลต่าง ๆ ที่มาต้อนรับ พร้อมกับก้มลงกราบกับพื้นหน้าทางออกของสนามบิน ซึ่งภาพนี้ได้กลายเป็นภาพข่าวใหญ่ของสื่อและหนังสือพิมพ์ทุกฉบับของประเทศในเวลานั้น

กล่าวถึง ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนนตรีประเทศไทย เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 จนถึง 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยหลังจากถูกรัฐประหารจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ เจ้าตัวก็ได้ทำการลี้ภัยในต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน กระทั่งเดินทางกลับเมืองไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

โดยระหว่างเวลาดังกล่าว ทักษิณ ชินวัตรก็ได้เข้ามอบตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา (ในขณะนั้น) ซึ่งศาลอนุมัติให้ประกันตัว แต่หลังจากนั้นทั้งสองคนได้ขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลเพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเทศจีนและญี่ปุ่น ระบุวันเดินทางระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551

กระทั่งเมื่อถึงวันนัดไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาฯ ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ทั้งทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่มารายงานตัว ภายหลัง ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาลับหลัง ตัดสินให้จำคุกนายทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ส่วนคุณหญิงพจมาน ยกฟ้อง

นับถึงปัจจุบัน ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้กลับมายังประเทศไทยอีกเลย และหลบหนีคดีจากคำพิพากษาของศาลมาแล้วกว่า 13 ปี


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/ทักษิณ_ชินวัตร

https://news.thaipbs.or.th/content/265543

ย้อนเวลากลับไปราว 50 - 60 ปีก่อน เพลงไทยที่เรียกตัวเองว่า ‘เพลงไทยลูกกรุง’ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในนักร้องที่จัดว่าอยู่ในระดับหัวแถวของแนวเพลงดังกล่าวนี้ มีชื่อของ ‘สุเทพ วงศ์กำแหง’ รวมอยู่ในนั้น

กว่า 60 ปีที่ขับขานบทเพลงให้ผู้คนได้รับฟัง ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือตัวอย่างของการเป็นนักร้องคุณภาพอย่างแท้จริง

เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมาโดยกำเนิด เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ได้เข้ารับราชการเป็นทหารอากาศ สังกัดกองพันต่อสู้อากาศยาน ต่อมาในช่วงปีพ.ศ. 2498 ก็ได้เข้ามาประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารอากาศ ครั้นเมื่อออกจากราชการกองทัพอากาศแล้ว สุเทพก็ได้เข้าร่วมกับคณะชื่นชุมนุมศิลปิน มีโอกาสร้องเพลงทั้งในรายการวิทยุและโทรทัศน์จนมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้น

สุเทพ วงศ์กำแหง กลายเป็นนักร้องที่โด่งดังมาก ๆ จากการได้ร้องเพลงคู่กับ สวลี ผกาพันธ์ นักร้องหญิงแห่งยุคในเวลานั้น จนทั้งคู่กลายเป็นนักร้องทรงพลังที่มีแฟนเพลงติดตามผลงานกันมากมาย และด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ชวนฟัง เจ้าตัวจึงได้รับการขนานนามว่า ‘เป็นนักร้องเสียงขยี้แพรฟองเบียร์’

สุเทพ วงศ์กำแพง มีผลงานเพลงอมตะมากมาย อาทิ รักคุณเข้าแล้ว เธออยู่ไหน บ้านเรา เสน่หา ซึ่งหลาย ๆ บทเพลงก็ยังถูกศิลปินรุ่นหลัง ๆ ในวันนี้ นำไปร้องคัฟเวอร์กันอยู่เสมอ ตลอดเส้นทางอาชีพนักร้อง สุเทพ วงศ์กำแหง ได้รับรางวัลการันตีมากมาย อาทิ รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน รางวัลเสาอากาศทองคำ และรางวัลอันทรงเกียรติอย่าง รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในปีพ.ศ. 2533

กระทั่งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พงศ. 2563 นักร้องเจ้าของฉายา เสียงขยี้แพรฟองเบียร์ท่านนี้ ก็ได้เสียชีวิตลงในบ้านพักย่านวัฒนา กรุงเทพฯ ด้วยวัย 86 ปี แม้ตัวจะจากไป แต่น้ำเสียงและบทเพลงอันเป็นอมตะ ของนักร้องที่ชื่อ ‘สุเทพ วงศ์กำแหง’ ก็จะยังคงอยู่ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและรับฟังกันตลอดไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สุเทพ_วงศ์กำแหง

คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า ‘โครงการหลวง’ กันมายาวนาน ซึ่งวันนี้เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ถือเป็นวันแรกที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจัดตั้ง ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ ขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาอย่างยั่งยืน

ที่มาของ ‘โครงการหลวง’ เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใย และมีพระราชปณิธานอยากให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ‘โครงการหลวง’ ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการสร้างรายได้ โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2512

โดยในช่วงระยะแรกนั้น ถูกจัดเป็นโครงการอาสาสมัคร ที่ได้บุคลากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กองทัพอากาศ ฯลฯ มาร่วมกันพัฒนาโครงการให้เติบโต รุดหน้า และขยายออกไปในวงกว้าง

กระทั่งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการหลวงจดทะเบียนเป็น ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ โดยพระราชทานเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิฯ เริ่มแรก 500,000 บาท เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวรมั่นคง

นับจนถึงวันนี้ มูลนิธิโครงการหลวง ยังคงสืบสานพระราชปณิธานต่อไป โดยปัจจุบันได้ขยายโครงการออกไปใน 8 จังหวัดภาคเหนือ มีสถานีวิจัย 4 สถานี และมีศูนย์พัฒนาโครงการอีกกว่า 21 แห่ง รวมทั้งมีหมู่บ้านในเขตปฏิบัติการอีกกว่า 267 หมู่บ้าน ซึ่งผลผลิตจากโครงการหลวง อาทิ ผลไม้ พืชผักปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ‘ดอยคำ’ ก็จัดเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง

เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือความมุ่งหวังให้ชุมชนโครงการหลวงเติบโตอย่างมีคุณภาพ และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: http://www.royalprojectthailand.com/about

แม้วันนี้จะมี ‘สื่อ’ เกิดขึ้นมากมาย แต่หนึ่งในสื่อที่ยังมีความนิยม และทรงพลัง ต่อผู้คนในทุกระดับ นั่นก็คือ สื่อวิทยุ ซึ่งวันนี้ มีความพิเศษสำหรับแวดวงการกระจายเสียงทางวิทยุของเมืองไทย เพราะถูกยกให้เป็น ‘วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ’

ย้อนเวลากลับไปราว 91 ปีก่อน วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดการส่งวิทยุไปสู่ประชาชน โดยผู้ที่เป็นผู้บุกเบิกการกระจายเสียงทางวิทยุในเวลานั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และการคมนาคม ในสมัยรัชกาลที่ 7

เริ่มต้น ท่านได้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่ตึกทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะ โดยใช้ชื่อสถานีว่า 4 พีเจ (4PJ) ต่อมา ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ก็ได้ทรงเปิดการกระจายเสียงวิทยุสู่พสกนิกรเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า ‘สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท’ ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่งกว่า 2.5 กิโลวัตต์

โดยพิธีเปิดสถานีในวันนั้น เป็นการอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันพระราชพิธีฉัตรมงคล กระจายเสียงไปสู่พสกนิกรให้ได้รับฟัง ในเวลาต่อมา จึงจัดตั้งให้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

จวบจนถึงปัจจุบัน กิจการวิทยุกระจายเสียงได้พัฒนาแพร่หลายขึ้นเป็นลำดับ จนกลายมาเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการสื่อสาร และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสาร วิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงวันนี้ การกระจายเสียงจากวิทยุก็ยังคงมีความสำคัญ แม้จะผันผ่านไปตามกาลเวลา แต่เสน่ห์และคุณค่าก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกยกให้เป็นวันสำคัญของชาติอีกวันหนึ่ง นั่นคือ วันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งที่มาของวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

โดยพระองค์ทรงได้รับการสรรเสริญว่า มีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมต่าง ๆ หลายสาขา เพื่อเป็นการเชิดูพระเกียรติคุณ วันนี้จึงถูกยกให้เป็น ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ ร่วมด้วยอีกวันหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี พระองค์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า ฉิม พระราชสมภพเมื่อวันพุธขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 โดยทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และขึ้นเสวยราชสมบัติในช่วงปีพ.ศ. 2352 - 2367

ตลอดการขึ้นครองราชย์ ทรงได้รับการยกย่องว่า เป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี โดยทรงโปรดการแต่งบทกลอน และมีเครื่องดนตรีชิ้นโปรด นั่นคือ ซอสามสาย และทรงเคยพระราชนิพนธ์บทเพลงที่มีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน

ด้วยพระปรีชาสามารถอันเปี่ยมล้น ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริม และทำนุบำรุงศิลปกรรมของชาติ ตลอดรัชสมัยของพระองค์

ธรรมเนียมหนึ่งในวันศิลปินแห่งชาตินั้น คือการประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 และมีการประกาศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูทรัพยากรบุคคลทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติ รวมถึงการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้ดำรงอยู่ และสืบต่อไปยังอนาคตข้างหน้าด้วยนั่นเอง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

https://hilight.kapook.com/view/56456

https://www.m-culture.go.th/chiangmai/ewt_news.php?nid=631&filename=index

วันนี้เป็นวันสำคัญของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนเก่าแก่ของประเทศไทย โดยเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนวัดบวรนิเวศขึ้นเป็นครั้งแรก

โดยที่มาของโรงเรียนวัดบวรนิเวศนั้น เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เป็นโรงเรียนสาธิตในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 128 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโครงการสร้างเขื่อนต่าง ๆ อยู่มากมาย และในวันนี้เมื่อ 35 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จังหวัดเชียงใหม่

ที่มาของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อทำการชลประทานให้แก่พื้นที่เพาะปลูกบริเวณที่ราบเชิงเขาทั้งสองฝั่งของลำน้ำ รวมทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำปิง สามารถบรรเทาน้ำหลากเข้าท่วมเมืองเชียงใหม่ มากไปกว่านั้น ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างประโยชน์แก่ชาวประมงน้ำจืดด้วยอีกทาง

และเนื่องจากเป็นเขื่อนที่สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดถึง 26.5 ล้านลูกบาสก์เมตร และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 24.5 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ใช้เวลาในการก่อสร้างกว่า 8 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2528 กระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดเขื่อนอย่างเป็นทางการ และนับถึงวันนี้ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ยังคงสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร และรวมถึงประชาชนที่สามารถเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจยังเขื่อนแห่งนี้ เนื่องจากถูกประยุกต์ให้มีที่พัก และมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

การนับวัน เดือน ปี โดยลงท้ายด้วย ‘พุทธศักราช’ ถือเป็นความคุ้นเคยของคนไทยตลอดมา แต่หากถามว่า จุดเริ่มต้นที่มีการใช้การกำหนดปีด้วย ‘พุทธศักราช’ หรือ ‘พ.ศ.’ นั้น มีความเป็นมากว่า 109 ปีแล้ว

โดยก่อนหน้าที่จะมีการใช้พุทธศักราช ประเทศไทยใช้รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) มากว่า 24 ปี (พ.ศ. 2432 – 2455) ทั้งนี้ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 ให้นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 หรือ ร.ศ. 1

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้การนับปีแบบพุทธศักราชอยู่หลายประเทศ อาทิ ประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว โดยใช้หลักเริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ต่างจากประเทศศรีลังกาและเมียนมา ที่เริ่มนับปีพุทธศักราช ตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงทำให้พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมา เร็วกว่าของประเทศไทย 1 ปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top