Friday, 4 July 2025
TODAY SPECIAL

‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ต้องถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในคณะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงยังเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และในวันนี้ ถือเป็นวาระครบรอบ 38 ปี ของการถึงแก่อสัญกรรมของบุคคลท่านนี้

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จากนั้นจึงสอบชิงทุนไปเรียนต่อด้านกฎหมายจนสำเร็จในระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส

กระทั่งกลับถึงเมืองไทย ก็เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในเวลานั้น นายปรีดียังเป็นหนึ่งในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบบประชาธิปไตย โดยต่อมายังได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2484-2488 นายปรีดีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล และร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทย ต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนเมื่อสงครามสงบลง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส

นายปรีดี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้น ๆ ในปี พ.ศ.2489 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 รวมทั้งยังมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จนถูกรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2490 ทำให้ต้องลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาเดินทางไปพำนักยังประเทศสิงคโปร์ จีน และฝรั่งเศส กระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 เจ้าตัวก็เสียชีวิตลง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาจึงได้มีการนำอัฐิกลับประเทศในปี พ.ศ.2529 และทำพิธีบำเพ็ญกุศลตามประเพณี

นอกเหนือจากเรื่องการเมือง นายปรีดี ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ.2543 องค์การยูเนสโกจึงได้บรรจุชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะบุคคลที่มีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์

วันนี้นอกจากจะเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของนักการเมืองหญิงคนดัง ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ประธานกรรมการผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2504 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ รวมทั้งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จากคณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

คุณหญิงสุดารัตน์ เริ่มต้นเส้นทางการเมือง โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคพลังธรรม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกมากมาย อาทิ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย กระทั่ง พ.ศ.2541 ได้ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีของพรรคอีกหลายกระทรวง อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปัจจุบัน หลังจากลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ก็มาดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิไทยพึ่งไทย รวมทั้งยังเป็นประธานกรรมการผู้ก่อตั้งสถาบันสร้างไทย และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย นอกจากนี้ยังมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายมิติ

ตลอดระยะเวลากว่า 29 ปี บนเส้นทางการเมืองไทย นักการเมืองหญิงคนนี้ ผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาแล้วมากมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม จนกลายเป็นนักการเมืองหญิงที่มีอิทธิพลต่อแวดวงการเมืองไทยอย่างแท้จริง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/คุณหญิงสุดารัตน์_เกยุราพันธุ์

เอ่ยถึง สงครามโลก หนึ่งใน ‘ตัวละครสำคัญ’ ที่ผู้คนมักจะนึกถึง นั่นคือ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ผู้นำนาซีชาวเยอรมัน ซึ่งในวันนี้เมื่อกว่า 76 ปีมาแล้ว ถือเป็นวันสุดท้ายของผู้นำเยอรมันรายนี้ เมื่อเขาตัดสินใจปลิดชีพตัวเองด้วยการยิงตัวตาย

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1889 เป็นชาวเยอรมันเชื้อสายออสเตรีย เขาเข้าเป็นทหารในกองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้นจึงมาเป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพรรคสังคมนิมยมแห่งชาติ หรือพรรคนาซี ในช่วงปี ค.ศ. 1921

ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเยอรมัน หลังจากเยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเป็นช่วงที่ประเทศต้องประสบกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ทำให้ในเวลาต่อมา เขาได้ปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐเผด็จการ มีพรรคการเมืองเดียว ภายใต้อุดมการณ์นาซี และมีเป้าหมายคือ การจัดระเบียบโลกใหม่ เป็นเหตุให้เยอรมันเริ่มเข้าไปครอบงำประเทศในยุโรปในเวลาต่อมา

ฮิตเลอร์นำกองทัพเยอรมันยึดครองประเทศในยุโรปมากมาย อาทิ โปแลนด์ ออสเตรีย เชกโกสโลวะเกีย ก่อนจะประกาศสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นที่มาของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้นำกองทัพเยอรมันและฝ่ายอักษะยึดครองยุโรปได้เกือบทั้งทวีป พร้อมกับใช้นโยบายด้านเชื้อชาติ ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนไปอย่างน้อย 11 ล้านคน โดยแบ่งเป็นชาวยิวประมาณถึง 6 ล้านคน

กระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1945 (หรือ พ.ศ. 2488) เกิดเหตุการณ์พลิกผัน เมื่อกองทัพสัมพันธมิตร สามารถเอาชนะกองทัพเยอรมันลงได้ ในช่วงเวลานั้นเอง ฮิตเลอร์ตัดสินใจแต่งงานใหม่กับภรรยาที่ชื่อ เอฟา เบราน์ และให้หลังเพียงวันเดียว ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ทั้งสองคนก็ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกกองทัพโซเวียตจับกุมตัว โดยฮิตเลอร์ใช้ปืนยิงตัวเองตาย ส่วนเอฟา เบราน์ ดื่มยาพิษเข้าไปจนเสียชีวิต พร้อมกับสั่งให้ทหารเผาร่างของทั้งคู่ไม่ให้เหลือซาก

ไม่นานจากนั้น เยอรมันก็ประกาศแพ้สงคราม ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางฝั่งยุโรปลง แต่เรื่องราวการตายของฮิตเลอร์ยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะหลายฝ่ายต่างไม่เชื่อว่า ฮิตเลอร์จะเสียชีวิตจริง มีหลายทฤษฎีสมคบคิดออกมามากมาย บ้างว่าเขาหนีไปอยู่อเมริกาใต้ บ้างว่าหนีไปสเปน หรือแม้แต่เลยเถิดไปยังดวงจันทร์นอกโลกก็ยังมี

แต่ต่อมา มีผลการชันสูตรสุดท้ายยืนยันว่า ฮิตเลอร์และภรรยาถูกเผาร่างไปจริง ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงสร้างความคลางแคลงใจให้กับผู้คนจำนวนมากอยู่ดี ถึงตรงนี้ ไม่ว่าฮิตเลอร์จะเสียชีวิตลงไปแบบใด แต่สิ่งที่ยืนยันได้แน่ ๆ คือ โลกได้ยุติการสูญเสียลงไปอย่างแน่นอน มากไปกว่านั้น คือความสงบสุขหลังยุติการฆ่าแกงกัน


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/อดอล์ฟ_ฮิตเลอร์

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าธีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงเจริญพระชันษา 16 ปี

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าธีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ.2548 เวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี (ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานพระนามว่า ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ’ โดยทรงพระมหากรุณาธิคุณอธิบายพระนามว่า ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ สถาปนาและเฉลิมพระนามพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

วันนี้ถือเป็นวันคล้ายวันประสูติ ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญต่อพสกนิกรชาวไทยสืบไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ_เจ้าฟ้าธีปังกรรัศมีโชติ

 

วันนี้เมื่อ 71 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญที่ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเป็นวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

โดยหากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ทั้งสองพระองค์ทรงพบกันเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2492 และในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศในขณะนั้น) มีโอกาสเข้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ กระทั่งทรงหายประชวร ทั้งสองพระองค์ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีหมั้นขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จนิวัติพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ วังสระปทุม

โดยงานพระราชพิธีถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ภายในงานมีพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ที่ใกล้ชิด ตลอดจนมีผู้ประกอบพระราชพิธีตามกฎหมาย คือ นายฟื้นบุญ ปรัตยุทธ นายอำเภอปทุมวัน เป็นนายทะเบียน รวมทั้งมีราชสักขี 2 คนคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น และพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ณ ขณะนั้น ร่วมลงนาม ภายหลังจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็ได้ถ่ายทอดมายังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทั้งสองพระองค์ก็ทรงงานร่วมกันต่อเนื่องตลอดมามิได้ขาด


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส_พุทธศักราช_/2493

‘ฝิ่น’ เป็นสารประกอบที่ได้จากยางของผลฝิ่น แต่เนื่องจากจัดว่าเป็นยาเสพติด วันนี้เมื่อกว่า 182 ปีมาแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มีการพิมพ์ใบปลิวประกาศห้ามสูบและค้าฝิ่น แจกจ่ายไปตามบ้านเรือนประชาชน ถือเป็นการพิมพ์ด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรก

ที่มาของ ‘ฝิ่น’ เกิดจากพ่อค้าชาวอังกฤษ ที่ลำเลียงสินค้าฝิ่นเข้าไปขายในประเทศจีน ต่อมาเมื่อมีชาวจีนอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย จึงมีชาวจีนส่วนหนึ่งนำฝิ่นติดตัวเข้ามาด้วย โดยเริ่มเข้ามาแพร่หลายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนเข้าสู่แผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ก็ทรงกวดขันและออกบทลงโทษผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดนี้มาโดยตลอด

กระทั่งล่วงเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 การค้าขายฝิ่นยังคงแพร่หลายออกไปมากขึ้น บางรายมีสถานที่ปลูกกันเป็นเรื่องเป็นราว พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จ้างโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ให้พิมพ์พระราชโองการขึ้น โดยเป็นประกาศเรื่อง ‘ห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่น’ จัดทำเป็นใบปลิวจำนวนกว่า 9,000 ฉบับ แล้วแจกจ่ายไปตามบ้านเรือนของประชาชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ใบประกาศนี้ ถือเป็นเอกสารทางราชการฉบับแรกของประเทศที่ใช้วิธีการตีพิมพ์ โดยทำการสั่งซื้อตัวพิมพ์มาจากประเทศสิงคโปร์ และผลิตออกมาโดยโรงพิมพ์ภายในประเทศเป็นครั้งแรก

ผ่านมากว่า 182 ปี นับจากวันแรกที่มีการใช้โรงพิมพ์ เพื่อตีพิมพ์ประกาศและข่าวสาร ถึงวันนี้เทคโนโลยีก้าวล้ำไปอีกมากมาย แต่ตัวอักษรแรกเริ่มที่ถูกบันทึกในการพิมพ์ ก็ยังคงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจดจำอยู่เสมอ


ที่มา: http://www.kingrama3.or.th

https://guru.sanook.com/26137/

การสาธารณสุขไทยมีพัฒนาการมากว่าร้อยปี และวันนี้ก็เป็นวันสำคัญ โดยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีอายุยาวนานที่สุด

ย้อนเวลากลับไป ในปี พ.ศ.2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนัก ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในที่ชุมชนขึ้นรวม 48 ตำบล ภายหลังเมื่อโรคร้ายทุเลา จึงได้ทำการปิดโรงพยาบาลลง แต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า การมีโรงพยาบาลนั้น จะสร้างประโยชน์สุข ให้แก่พสกนิกรได้ในระยะยาว

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2429 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ( วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โรงพยาบาลใช้เวลาก่อสร้างอยู่ราว 2 ปี กระทั่งในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีเปิดโรงพยาบาลแห่งแรกนี้ และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘โรงพยาบาลศิริราช’

โรงพยาบาลศิริราช ถือเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย และดูแลรักษาคนไทยมาเนิ่นนาน โดยช่วงหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ และเสด็จกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ทรงมีการพัฒนาการรักษาพยาบาลให้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงยังเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์ ผลิตบุคลากรทางสาธารณสุข ออกมาเพื่อดูแลรักษาประชาชนมากขึ้นเช่นกัน

นับถึงวันนี้ โรงพยาบาลศิริราช มีอายุกว่า 133 ปี และยังคงทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยตลอดมา แม้กระทั่งในช่วงเวลานี้ ที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะที่มีโรคระบาดรุนแรง ศิริราชพยาบาลก็ถือเป็นหนึ่งโรงพยาบาลที่ให้การช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด นับเป็นโรงพยาบาลที่เกิดจากจากพระราชปณิธาน และสร้างประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/โรงพยาบาลศิริราช, http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=250360


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ คือหนึ่งในกษัตริย์ไทยที่ถูกกล่าวขานถึง โดยเฉพาะเรื่องพระปรีชาสามารถในการรบ จนกอบกู้อิสรภาพจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกได้สำเร็จ วันนี้ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ ขณะที่ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงใช้ชีวิตอยู่ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก ได้ทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ไปประทับอยู่กรุงหงสาวดี 8 ปี และเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ 17 พรรษา ในปี พ.ศ.2115

เมื่อเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา ทรงได้รับพระราชทานนามว่า ‘พระนเรศวร’ และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอุปราช ไปปกครองเมืองพิษณุโลก ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการรบ ทำให้ชื่อเสียงเริ่มแผ่กระจายไปในวงกว้าง

กระทั่งในปี พ.ศ.2135 พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน หมายจะตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคน เพื่อทำศึกครั้งสำคัญ หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงครามยุทธหัตถี กระทั่งสามารถเอาชนะในการศึกครั้งสำคัญนี้ได้ เป็นเหตุให้ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมารุกรานกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นเวลานาน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 กระทั่งในปี พ.ศ.2148 ขณะที่ยกทัพขึ้นไปทางเหนือ เพื่อทำศึกเมืองนายและกรุงอังวะ ทรงมีพระอาการประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์ แล้วมีพระอาการหนักลง ก่อนจะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมเวลาการครองราชสมบัติ 15 ปี

วันนี้ถือเป็นวันครบรอบการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงกอบกู้อิสรภาพ และสร้างบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

.

ประเทศไทยมีการจัดระเบียบการปกครองกันมากว่าร้อยปี หนึ่งในองค์กรการปกครองที่มีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศมาตลอด นั่นคือ ระบบเทศบาล โดยวันนี้ถูกยกให้เป็น ‘วันเทศบาล’ เพื่อเชิดชูและตระหนักถึงความสำคัญของหน่วยการปกครองที่มีอายุมายาวนาน

เทศบาล ถูกประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติเมื่อราวปี พ.ศ.2496 แต่หากสืบย้อนกลับไป รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยขึ้นใหม่ เพื่อให้มีความทันสมัย โดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2441 ก่อนจะขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนเป็น เทศบาล โดยเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ให้บริการ แก้ไขปัญหา และตอบสนองความต้องการแก่ประชาชน แบ่งออกเป็น เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ทั้งนี้ในเทศบาลแต่ละแห่งจะมี ‘นายกเทศมนตรี’ ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานในท้องที่เทศบาลทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีเทศบาลอยู่ราว 2,500 แห่ง และมีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมแล้วกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ

ด้วยบทบาทหน้าที่ที่คอยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พี่น้องประชาชน ต่อมา กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กำหนดให้ วันที่ 24 เมษายนของทุกปี เป็นวันเทศบาล เพื่อเชิดชูการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศบาล ในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่น เพื่อให้บรรลุปรัชญาแห่งรากฐานประชาธิปไตยของเทศบาล นั่นคือ เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

ที่มา: https://gorporonline.com/articles/history-of-the-municipality/

https://th.wikipedia.org/wiki/เทศบาล


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เอ่ยชื่อ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ คอการเมืองไทย รู้จักผู้ชายคนนี้เป็นอย่างดี นี่คือ อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 21 ซึ่งในวันนี้ ถือเป็นการรำลึกครบรอบ 5 ปี การจากไปของนักการเมืองชื่อดังคนนี้

บรรหาร ศิลปอาชา เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เดิมชื่อว่า เต็กเซียง แซ่เบ๊ และมีชื่อเล่นว่า เติ้ง ในวัยเยาว์เจ้าตัวศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนไป เนื่องจากภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง จนต่อมาได้มาก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ก่อนจะเติบโตบนเส้นทางธุรกิจเคมีภัณฑ์ และก้าวสู่เส้นทางการเมืองในที่สุด

บรรหาร ศิลปอาชา ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่จังหวัดสุพรรณบุรีบ้านเกิด จากนั้นก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มาทุกสมัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทย กระทั่งในปี พ.ศ.2537 จึงขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในที่สุด

บนเส้นทางการเมือง บรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง อาทิ ก.เกษตรและสหกรณ์, ก.คมนาคม, ก.อุตสาหกรรม, ก.มหาดไทย และ ก.การคลัง กระทั่งในการเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ. 2538 บรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด จึงได้รับสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้เจ้าตัวก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย โดยบริหารราชการแผ่นดินอยู่เป็นระยะเวลาราว 1 ปี 4 เดือน ก่อนจะตัดสินใจยุบสภาในเวลาต่อมา

บรรหาร ศิลปอาชา ถือเป็นนักการเมืองที่มีความโชกโชนบนสนามการเมืองไทย ตลอดจนสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ เพื่อประเทศชาติมากมาย จนเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559 เจ้าตัวเกิดภาวะภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559 ปิดตำนานนักการเมืองเจ้าของฉายา ‘มังกรเมืองสุพรรณ’ ลงด้วยวัย 83 ปี

.

ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/บรรหาร_ศิลปาชา


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top