Tuesday, 2 July 2024
แอชตันอโศก

นิวไฮ!! เปิดราคาที่ดินตึกแถวหลัง ‘แอชตัน อโศก’ ล่าสุดราคาพุ่งสูงทะลุ 18 ล้านบาทต่อตารางวา!!

(30 ก.ค. 66) จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง คอนโดแอชตัน อโศก โครงการยักษ์ใหญ่ใจกลางเมือง 51 ชั้นมูลค่า 6,481 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ออกมาน้อมรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทางแก้ปัญหามี ทางเจ้าของโครงการ จะต้องหาทางออกสู่ถนนสาธารณะหรือติดถนนสาธารณะ ขนาด 12 เมตร

ล่าสุดเพจ ‘อสังหาพารวย by Palin’ เปิดราคาตึกแถวด้านหลังคอนโดแอชตันอโศก หนึ่งในทางออกสุดท้ายของอนันดา ตอนนี้ #แอชตันอโศก เปิดทางออกให้ถูกกฎหมาย

โดยการหาทางเข้าออกทางอื่นที่ไม่ใช่ด้านรถไฟใต้ดิน ซึ่งก็จะเหลือด้านซอย 19 ซึ่งปัจจุบันมีถนนซอยเล็กๆกว้างประมาณ 4 เมตร อยู่แล้ว 2 ซอย ก็จะต้องกว้านซึ้อตึกแถวที่ติดกับถนนซอยนี้ลึกไปจนถึงโครงการ เพื่อเอามาทุบทำเป็นทางเข้าออกให้ได้กว้าง 12 เมตร ตามกฏหมาย

กรณีศาลเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแอชตันอโศก พิพากษาศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องใช้สิทธิ์ ตามกฎหมายในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชื้อ ที่ต้องฟ้องร้องบริษัท และบริษัทที่ต้องฟ้องร้อง กทม.ต่อไป

และตอนนี้ ทำให้เกิดราคาที่ดินที่แพงที่สุดในไทยตอนนี้ เรียกว่า ‘ระดับ New high’ ที่ราคาตารางวาละ 18 ล้านบาท!!

'อนันดาฯ' แจ้งแนวทางแก้ปัญหา 'แอชตัน อโศก' ไม่ต้อง 'รื้ออาคาร-ขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่'

(31 ก.ค. 66) หลังจากวันที่ 27 ก.ค.66 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ 'เพิกถอน' ใบอนุญาตก่อสร้าง 'แอชตัน อโศก' (Ashton Asoke) ซึ่งเป็นโครงการของ 'อนันดาฯ’ ร่วมทุนกับ 'มิตซุย ฟูโดซัง' จากญี่ปุ่น สร้างคอนโดสูง 51 ชั้นจำนวนห้องพัก 783 ยูนิต ตั้งอยู่ริมถนนอโศก มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท และมีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 668 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 5,653 ล้านบาท หรือ 87% ปัจจุบันมีจำนวนยูนิตคงเหลือ 115 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 828 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% การดำเนินงาน

ล่าสุด คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา 'แอชตัน อโศก' ดังนี้...

1. โครงการ 'แอชตัน อโศก' (Ashton Asoke) เป็นโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาดังกล่าว นอกจากมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้ซื้อห้องชุด หรือเจ้าของร่วมในโครงการแอชตัน อโศก แล้วยังส่งผลกระทบกับ อนันดา เอ็มเอฟฯ ในฐานะผู้ประกอบการที่ถือหุ้นโครงการนี้ 51% ได้ร่วมกับ 'มิตซุย ฟูโดซัง' ผู้ร่วมทุน รวบรวมความเสียหายและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อติดต่อเจรจากับส่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน ส่วนมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น อยู่ระหว่างการประเมินร่วมกับผู้สอบบัญชีและผู้เกี่ยวข้อง และจะตั้งสำรองในไตรมาส 2 นี้

2. แม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง แอชตัน อโศก แต่ความเสียหายดังกล่าวยังสามารถแก้ไขได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ผู้แทนหน่วยงานของรัฐได้เสนอทางแก้ตามที่เป็นข่าวต่อสาธารณะไปแล้วว่า 'กรณีที่ศาลเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนอาคาร' ซึ่งบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ กำลังหาแนวทางแก้ไขที่มีอยู่หลายแนวทาง โดยจะได้ขอเข้าพบกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานรัฐ ซึ่งถูกฟ้องในคดีเดียวกัน ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายใน 14 วันทำการ นับถัดจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เพื่อเจรจาหาทางแก้ไขกับหน่วยงานของรัฐต่อไป

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่สั่งเพิกถอนอาคาร ว่าหน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินการภายในเมื่อใดและไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นๆ ทั้งนี้ หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สั่งการให้บริษัทดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

3. อนันดา เอ็มเอฟฯ อยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการอนุมัติ หรืออนุญาตให้ทำโครงการแอชตัน อโศก เพื่อแก้ไขความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ซื้อห้องชุด หรือเจ้าของร่วม รวมถึงความเสียหายของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ผู้พัฒนาโครงการดังกล่าวด้วยความสุจริต และเป็นไปตามกฎหมายตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับรองไว้หลายหน่วยงานมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเป็นการดำเนินการควบคู่กับการพิจารณาแนวทางอื่นที่มีอยู่หลายแนวทางด้วย ซึ่งจะรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับประเด็นสำคัญที่ศาลวินิจฉัย คือ ที่ดินทางเข้า-ออกอาคารแอชตัน อโศก เป็นที่ดินของ รฟม. มาจากการเวนคืน จึงไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการประกอบการได้ และเมื่อไม่สามารถนำที่ดินทางเข้า-ออกมาใช้ได้ ดังนั้นการที่หน่วยงานของรัฐ (กทม.) ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงขัดกับ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่อาคารสูงต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร จึงมีผลให้ใบอนุญาตก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุด จึงยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้ 'เพิกถอน' คำสั่งอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกใบอนุญาต

ผู้ว่าฯ 'ชัชชาติ' ชี้!! มีการแจ้งทักท้วง 'แอชตัน อโศก' หากขัด กม.ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

(3 ส.ค. 66) กทม. นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมมพล รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และนายสุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร แถลงข่าวประเด็นโครงการแอชตัน อโศก เผยไทม์ไลน์ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุ กทม. ได้มีการแจ้งทักท้วงเรื่องแบบแปลนและที่ดิน รฟม. ไปแล้ว 3 ครั้ง ระหว่างปี 2558 - 2559 

ไทม์ไลน์การยื่นแจ้งของโครการแอชตัน อโศก มีดังนี้ 

-23 ก.พ.2558 ยื่นแจ้งก่อสร้างครั้งที่ 1 (ไม่รับทราบแบบแปลน)
-26 พ.ค.2558 แจ้งขอทักท้วง เรื่องแบบแปลน

-16 ก.ค.2558 ยื่นแจ้งดัดแปลงครั้งที่ 2 (ไม่รับทราบแบบแปลน)
-27 ต.ค.2558 แจ้งขอทักท้วง เรื่องแบบแปลนและที่ดิน รฟม.

-2 มิ.ย.2559 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559
-22 มิ.ย.2559 ยื่นแจ้งดัดแปลงครั้งที่ 3
-17 ส.ค.2559 แจ้งขอทักท้วง เรื่องแบบแปลนและที่ดิน รฟม.

-21 พ.ย.2556 บ.ยื่นแก้ไขข้อทักท้วง ยืนยันว่า รฟม. ให้ใช้ทางเข้าออกผ่านที่ดิน รฟม. ตามหนังสือที่ รฟม. 012/1139 ลว.4 ก.ค.2557 และหนังสือที่ รฟม. 014/1568 ลว.4 ก.ย.2557 ประกอบการขออนุญาตได้

-30 ม.ค.2560 กทม. มีหนังสือรับทราบแบบแปลนการยื่นแจ้งครั้งที่ 3 และแจ้งเงื่อนไขการนำที่ดิน รฟม.มาใช้
-9 มี.ค.2560 สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 450/2560
-17 พ.ย.2560 ยื่นแจ้งดัดแปลงครั้งที่ 4

-26 ธ.ค.2560 กทม. มีหนังสือรับทราบแบบแปลนการยื่นแจ้งครั้งที่ 4 และแจ้งเงื่อนไขการนำที่ดิน รฟม.มาใช้ และการออกใบรับรองการดัดแปลง
-24 ม.ค.2561 แจ้งผลว่าดัดแปลงไม่แล้วเสร็จ 

-5 ก.พ.2561 ยื่นแจ้งขอใบรับรองดัดแปลงอาคาร กทม.
-28 ก.พ.2561 แจ้งผลว่าดัดแปลงไม่แล้วเสร็จ  

-20 มี.ค.2561 บริษัทฯ ขออุทธรณ์ ว่าอาคารก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ สนย. ไม่ออกใบรับรองให้ 
-11 เม.ย.2561 สนย. ส่งเรื่องบริษัทฯ ขออุทธรณ์หนังสือ ให้ คกก.พิจารณาอุทธรณ์
-4 มิ.ย.2561 แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งผลการดัดแปลง เนื่องจากการไม่ออกใบรับรองโดยอ้างเหตุว่ามีการฟ้องคดีที่ศาลปกครอง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป

-11 มิ.ย.2561 สนย. ออกใบรับรองการก่อสร้าง และแจ้งเงื่อนไข
-30 ก.ค.2564 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนใบรับแจ้งฯ ทุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ออกแต่ละฉบับ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
-24 พ.ย.2565 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ใช้อำนาจตามมาตรา 41 และ 42 แล้วแต่กรณี ภายใน 90 วัน

-27 ก.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบรับแจ้งฯ ทุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ออกแต่ละฉบับ

กทม. ระบุว่า การออกใบรับรองการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารลงวันที่ 11 มิ.ย.2561 เป็นการออกใบรับรองแบบมีเงื่อนไข ระบุว่า

"เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของ รฟม. หากศาลมีคำสั่งพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดแล้วผลการพิพากษาทำให้อาคารของโครงการขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้รับใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น"

'กรณ์' ชี้!! เร่งแก้ปัญหา Ashton Asoke เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ต้องไม่ผิดกฎหมายและต้องเยียวยาผู้ร้องได้แบบครบมิติ

(4 ส.ค.66) นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีใครต้องรับผิดชอบอย่างไร และจะแก้ไขเยียวยาให้ผู้ร้องอย่างไร ในเคส 'Ashton Asoke' ไว้ว่า...

ประเด็นนี้สำคัญครับ

เมื่อวานผู้ว่าชัชชาติแถลงว่า ให้เวลาโครงการ Ashton 30 วัน++ ในการหาทางออกใหม่ 

และเน้นว่า "แต่วันนี้ทางออกปัจจุบันยังใช้ได้เหมือนเดิม"

ในทางปฏิบัติผมว่าถูกต้อง รีบ ๆ หาทางออกให้ผู้อาศัยในอาคารเดือดร้อนน้อยที่สุด

แต่ในทางกฎหมายผมมองว่ามีประเด็นปัญหา

เพราะเมื่อวานสำนักงานกฎษฎีกาได้ออกมายืนยันว่า สำนักงานฯ ได้มีมติแจ้งไปทาง รฟม. (ผู้ที่ให้โครงการเช่าใช้ที่ของตนเป็นทางออก) ตั้งแต่ปี 2563 ว่า รฟม. ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการนำพื้นที่ให้เอกชนเช่าใช้ ยิ่งศาลพิพากษายืนยันความเห็นนี้ สถานะยิ่งชัดว่า รฟม.ให้เอกชนเช่าใช้ที่นี่ไม่ได้

ดังนั้นประเด็นเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ รฟม. ยังสามารถคงการเปิดทางเข้า/ออกให้โครงการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย?

ส่วนทางกทม. ผมมองว่าการให้เวลาทางโครงการไปหาทางออกใหม่ เพื่อมาขอใบอนุญาตใบใหม่นั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล 

...แต่ไม่พอ!! เพราะไม่ได้บรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านเดิมที่ฟ้องร้อง กทม. มาตั้งแต่ปี 58 ว่าโครงการนี้สร้างผิดกฎหมาย พูดง่ายๆ คือความผิดสำเร็จแล้ว 

และที่ผู้ว่าฯ ยังไม่ได้พูดคือส่วนนี้ ว่าใครต้องรับผิดชอบอย่างไร จะแก้ไขเยียวยาให้ผู้ร้องอย่างไร และที่สำคัญที่สุด กทม. จะปรับตัวเองอย่างไรไม่ให้มีการสร้างตึกที่ผิดกฎหมายอีกในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top