'อนันดาฯ' แจ้งแนวทางแก้ปัญหา 'แอชตัน อโศก' ไม่ต้อง 'รื้ออาคาร-ขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่'

(31 ก.ค. 66) หลังจากวันที่ 27 ก.ค.66 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ 'เพิกถอน' ใบอนุญาตก่อสร้าง 'แอชตัน อโศก' (Ashton Asoke) ซึ่งเป็นโครงการของ 'อนันดาฯ’ ร่วมทุนกับ 'มิตซุย ฟูโดซัง' จากญี่ปุ่น สร้างคอนโดสูง 51 ชั้นจำนวนห้องพัก 783 ยูนิต ตั้งอยู่ริมถนนอโศก มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท และมีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 668 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 5,653 ล้านบาท หรือ 87% ปัจจุบันมีจำนวนยูนิตคงเหลือ 115 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 828 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% การดำเนินงาน

ล่าสุด คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา 'แอชตัน อโศก' ดังนี้...

1. โครงการ 'แอชตัน อโศก' (Ashton Asoke) เป็นโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาดังกล่าว นอกจากมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้ซื้อห้องชุด หรือเจ้าของร่วมในโครงการแอชตัน อโศก แล้วยังส่งผลกระทบกับ อนันดา เอ็มเอฟฯ ในฐานะผู้ประกอบการที่ถือหุ้นโครงการนี้ 51% ได้ร่วมกับ 'มิตซุย ฟูโดซัง' ผู้ร่วมทุน รวบรวมความเสียหายและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อติดต่อเจรจากับส่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน ส่วนมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น อยู่ระหว่างการประเมินร่วมกับผู้สอบบัญชีและผู้เกี่ยวข้อง และจะตั้งสำรองในไตรมาส 2 นี้

2. แม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง แอชตัน อโศก แต่ความเสียหายดังกล่าวยังสามารถแก้ไขได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ผู้แทนหน่วยงานของรัฐได้เสนอทางแก้ตามที่เป็นข่าวต่อสาธารณะไปแล้วว่า 'กรณีที่ศาลเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนอาคาร' ซึ่งบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ กำลังหาแนวทางแก้ไขที่มีอยู่หลายแนวทาง โดยจะได้ขอเข้าพบกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานรัฐ ซึ่งถูกฟ้องในคดีเดียวกัน ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายใน 14 วันทำการ นับถัดจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เพื่อเจรจาหาทางแก้ไขกับหน่วยงานของรัฐต่อไป

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่สั่งเพิกถอนอาคาร ว่าหน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินการภายในเมื่อใดและไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นๆ ทั้งนี้ หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สั่งการให้บริษัทดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

3. อนันดา เอ็มเอฟฯ อยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการอนุมัติ หรืออนุญาตให้ทำโครงการแอชตัน อโศก เพื่อแก้ไขความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ซื้อห้องชุด หรือเจ้าของร่วม รวมถึงความเสียหายของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ผู้พัฒนาโครงการดังกล่าวด้วยความสุจริต และเป็นไปตามกฎหมายตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับรองไว้หลายหน่วยงานมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเป็นการดำเนินการควบคู่กับการพิจารณาแนวทางอื่นที่มีอยู่หลายแนวทางด้วย ซึ่งจะรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับประเด็นสำคัญที่ศาลวินิจฉัย คือ ที่ดินทางเข้า-ออกอาคารแอชตัน อโศก เป็นที่ดินของ รฟม. มาจากการเวนคืน จึงไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการประกอบการได้ และเมื่อไม่สามารถนำที่ดินทางเข้า-ออกมาใช้ได้ ดังนั้นการที่หน่วยงานของรัฐ (กทม.) ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงขัดกับ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่อาคารสูงต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร จึงมีผลให้ใบอนุญาตก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุด จึงยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้ 'เพิกถอน' คำสั่งอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกใบอนุญาต