Sunday, 20 April 2025
เซมิคอนดักเตอร์

10 แบรนด์เทคโนโลยี (เซมิคอนดักเตอร์) มูลค่าสูงสุดในโลก ปี 2023

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของโลกในยุคปัจจุบัน เนื่องด้วยเป็นยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ทันสมัย ประกอบกับความนิยมใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือ 'ชิปประมวลผล' ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีการแข่งขันที่สูงมาก ทั้งในด้านจำนวนการผลิต ความทันสมัยของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ซึ่งหากยิ่งล้ำหน้ามาเท่าใด ความได้เปรียบก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับในปี 2023 ที่ผ่านมา มีบริษัทหรือแบรนด์เทคโนโลยีหลายเจ้าที่ผลิตชิปประมวลผล ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ทำให้มูลค่าของแบรนด์พุ่งสูง และเป็นที่จับตามองอย่างมาก วันนี้ THE STATES TIME ได้รวบรวม 10 แบรนด์เทคโนโลยี ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2023 จะมีแบรนด์ใดบ้าง มาดูกันเล้ย...

‘สหรัฐฯ’ แจกทุนเรียนฟรี หลักสูตรพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มขีดความสามารถอุตฯ ชิปเวียดนามให้แกร่งสุดในภูมิภาค

อุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามกำลังถูก ‘ติดปีก’ ด้วยแรงสนับสนุนอย่างดีจากชาติมหาอำนาจอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ด้วยการให้นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญในเวียดนามได้เรียนหลักสูตรเฉพาะทางด้านการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ฟรี เพื่อนำความรู้มาพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนด้านนวัตกรรมภายใต้ชื่อ ‘Innovation and Technology Security International Program’ (ITSI) เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 1 ปี ของแผนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และเวียดนามที่ได้เซ็นไว้เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา

หลักสูตรด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ เป็นของมหาวิทยาลัย Arizona State University จัดการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญสายตรงจากของสถาบันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยหลักสูตรประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติของเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง วัสดุเซมิคอนดักเตอร์ วิธีการประกอบ และผลิตไมโครชิปอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ โดยจะให้สิทธิ์เรียนฟรีเฉพาะประเทศที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น ซึ่งตอนนี้มีอยู่เพียง 8 ประเทศ ได้แก่ คอสตาริกา อินเดีย อินโดนีเซีย เคนยา เม็กซิโก ปานามา ฟิลิปปินส์ และ ล่าสุด เวียดนาม

เป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อกระจายความรู้ และขยายขีดความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับประเทศพันธมิตรที่ได้รับเลือกจากรัฐบาลสหรัฐฯ

หลักสูตรเปิดรับสมัครทั้งนักศึกษา อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญที่สนใจด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเดตอร์ และจะได้ใบประกาศนียบัตรด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์หลังจบหลักสูตรด้วย 

เจฟฟรีย์ กอส หัวหน้านักวิจัยของโครงการ ITSI แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตท กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะเปิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้กับนักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนาม ได้การเข้าถึงหลักสูตรด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูง ที่จะส่งให้เวียดนามมีโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้ได้ในอนาคต 

เช่นเดียวกันกับ มาร์ค แนปเปอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม ที่ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของเวียดนาม ที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และยังส่งเสริมความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างทั้งสหรัฐฯ และเวียดนามในระยะยาว 

ด้าน เหงียน ชี ดุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ก็รับลูกต่อจากสหรัฐฯ ด้วยการตกลงที่จะผลักดันให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นเสาหลักในความร่วมมือระหว่างเวียดนาม และ สหรัฐฯ อีกทั้งยังกล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนเวียดนามในการสร้างระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะช่วยฝึกอบรมวิศวกรหลายหมื่นคน ป้อนสู่ตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

ก่อนหน้าที่จะมีข้อตกลงความร่วมมือกับสหรัฐฯ เวียดนามก็มี ศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC) อยู่แล้วภายใต้การดูแลของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ที่จัดโครงการฝึกอบรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Qorvo, Cadence, Google, Siemens, Samsung และ FPT 

มาวันนี้ สหรัฐอเมริกาหอบลมใต้ปีกมาหนุนเวียดนามอย่างเต็มตัว ช่วยแบ่งปันองค์ความรู้ให้ รวมถึงขยายโอกาสในการลงทุนร่วมในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ร่วมกับเวียดนามในอนาคตด้วย จึงไม่เกินจริงที่จะกล่าวว่า ‘เวียดนาม’ จะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในด้านเศรษฐกิจ และศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาคนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ และความทะเยอทะยานอย่างถึงที่สุดของรัฐบาลเวียดนามนั่นเอง

'บีโอไอ' หนุน 'ฮานา-ปตท.' ยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ผุดโรงงานผลิตชิปชนิด 'ซิลิคอนคาร์ไบด์' แห่งแรกของประเทศไทย

'บีโอไอ'หนุนบริษัทร่วมทุน 'ฮานา - ปตท.' เดินหน้าแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์แห่งแรกของไทย ภายในสิ้นปีนี้ หลังได้รับอนุมัติจากบีโอไอและออกบัตรส่งเสริมเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ลงทุนเฟสแรก 11,500 ล้านบาท เริ่มผลิตภายใน 2 ปี รองรับการเติบโตของกลุ่ม Power Electronics ทั้ง EV, Data Center และระบบกักเก็บพลังงาน ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำของไทย

(23 ก.ย. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกของประเทศไทย ของบริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. หลังจากที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จากนั้นบริษัทได้ดำเนินการออกบัตรส่งเสริมเมื่อเดือนสิงหาคม

ที่ผ่านมา บีโอไอได้ทำงานร่วมกับบริษัทฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโรงงาน และเตรียมเริ่มก่อสร้างโรงงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ภายในเดือนธันวาคมของปีนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรประมาณ 2 ปี ก่อนจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2570

บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด จะจัดตั้งโรงงานผลิตชิปต้นน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เงินลงทุน เฟสแรกกว่า 11,500 ล้านบาท โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตชิปชั้นนำของเกาหลีใต้ เพื่อผลิตชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) ขนาด 6 นิ้ว และ 8 นิ้ว โดยมีคุณสมบัติสำคัญที่แตกต่างจากชิปทั่วไปที่ผลิตจากซิลิคอน คือ สามารถทนกระแสไฟฟ้าและความร้อนสูงได้ จึงเหมาะสมสำหรับการใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการแปลงพลังงานไฟฟ้า (Power Electronics) เช่น เครื่อง Server ใน Data Center อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า Inverter ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์แปลงพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต

เหตุผลสำคัญของการเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโครงการนี้ เนื่องจากข้อกำหนดหลักของลูกค้า คือ...

1) ต้องตั้งในประเทศที่มีความเป็นกลางเพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ 
2) มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และ...
3) มีขีดความสามารถในการขยายกำลังการผลิตในอนาคต ซึ่งประเทศไทยสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ 

นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง ไฟฟ้ามีความเสถียร มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด บุคลากรมีคุณภาพสูง มาตรการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ระบบกักเก็บพลังงาน และ Data Center ที่กำลังเติบโตสูง อีกทั้งโรงงานของฮานาฯ ในไทย มีการประกอบกิจการที่ต่อเนื่องจากการผลิตชิปอยู่แล้ว โดยเฉพาะขั้นตอนการประกอบและทดสอบวงจรรวม (IC Assembly and Testing)    

“อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ ที่ผ่านมาบทบาทของไทยอยู่ในขั้นกลางน้ำ คือ การรับจ้างประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ หรือที่เรียกว่า OSAT โครงการลงทุนผลิตชิปครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อการยกระดับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ นอกจากนี้จะช่วยสร้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยในไทยและการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเซมิคอนดักเตอร์จากเกาหลีใต้แล้ว ยังจะส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ และนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศของอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้สามารถดึงดูดผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายอื่นๆ ให้เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

สำรวจข้อมูล 'Qualcomm' และ 'Intel' 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกก่อนจะควบรวมกัน

(23 ก.ย. 67) ข่าวที่หลายคนจับตามองมากที่สุดในช่วงนี้ และจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลกของเซมิคอนดักเตอร์ นั่นคือ ข่าวที่บริษัท Qualcomm ต้องการจะเข้าซื้อกิจการของบริษัทอย่าง Intel ซึ่งถ้าดีลนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้บริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่อย่าง Nvidia เจอคู่ต่อสู้ที่สามารถแข่งขันได้อย่างน่ากลัว แถมดีลนี้จะยิ่งทำให้ตลาดผลิตชิปของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิมและจะสร้างการเปลี่ยนแปลงของทิศทางของเทคโนโลยีทั่วโลกได้ 

Qualcomm เองเป็นบริษัทผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์พกพาและการสื่อสาร ในขณะที่ Intel เป็นผู้นำด้านชิปสำหรับพีซีและเซิร์ฟเวอร์ แถมยังมีโรงานผลิตชิปเป็นของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมชิปเลยก็ว่าได้ และการรวมตัวนี้จะทำให้ Qualcomm เข้าไปสู่ตลาดที่กว้างมากขึ้น และได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถของ Intel ในการพัฒนาชิปสำหรับ AI และ Data Center 

แม้ในช่วงปี 2007 Qualcomm จะเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับ Intel แต่ในปี 2024 นี้เอง  Qualcomm กลายมาเป็นบริษัทที่ใหญ่กว่า Intel จากการขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G และตลาดมือถือ ขณะที่ Intel ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในตลาดพีซีและ Data Center จากคู่แข่งอย่าง AMD และ Nvidia 

และประเด็นที่น่าจับตามองต่อไปคือ ความท้าทายเรื่องการผูกขาด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปเองให้ความสำคัญอย่างมาก และถ้าดีลนี้เกิดขึ้นได้จริงจะเป็นดีลที่ใหญ่มากของปีนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 122 พันล้านเหรียญ และ Qualcomm เองอาจจะต้องใช้วิธีการแลกหุ้นหรือระดมทุนเพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการ Intel ครั้งนี้

>> บริษัท / ปีที่ก่อตั้ง 
Qualcomm = 1985
Intel = 1968

>> ประเภทอุตสาหกรรม
Qualcomm = โทรคมนาคม, เซมิคอนดักเตอร์ 
Intel = เซมิคอนดักเตอร์, เทคโนโลยี

>> ผลิตภัณฑ์หลัก 
Qualcomm = ชิปประมวลผลมือถือ, 5G, เซมิคอนดักเตอร์ 
Intel = โปรเซสเซอร์พีซี, Data Center, AI, การขับขี่อัตโนมัติ 

>> จุดแข็ง
Qualcomm = Snapdragon, โปรเซสเซอร์, ผู้นำด้าน 5G
Intel = โปรเซสเซอร์ x86 สำหรับพีซีและ Data Center 

>> ตลาดสำคัญ 
Qualcomm = อุปกรณ์มือถือ, ยานยนต์, IoT เครือข่าย
Intel = คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล, Data Center, Cloud, การขับขี่อัตโนมัติ 

>> มูลค่าตลาด 
Qualcomm = 188.17 พันล้านเหรียญ 
Intel = 93.288 พันล้านเหรียญ 

>> รายได้ Q2/2024 
9.4 พันล้านเหรียญ 
12.8 พันล้านเหรียญ 

✨ชวนรู้จัก Qualcomm และ Intel 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีข่าวควบรวมกิจการ

นับเป็นข่าวที่หลายคนจับตามองมากที่สุดในช่วงนี้ และจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลกของ ‘เซมิคอนดักเตอร์’ นั่นคือ ข่าวที่บริษัท ‘Qualcomm’ ต้องการจะเข้าซื้อกิจการของบริษัทอย่าง ‘Intel’ ซึ่งถ้าดีลนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้บริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Nvidia’ เจอคู่ต่อสู้ที่สามารถแข่งขันได้อย่างน่ากลัว แถมดีลนี้จะยิ่งทำให้ตลาดผลิตชิปของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงของทิศทางของเทคโนโลยีทั่วโลกได้

วันนี้ THE SATES TIMES อาสาพาทุกคนมาทำความรู้จัก Qualcomm และ Intel จะเป็นอย่างไร ไปดูกัน!!

‘เซมิคอนดักเตอร์’ ร้อนระอุ ‘ไทย-เวียดนาม’ เปิดศึก ดึงเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ‘บีโอไอ’ เผย!! รอชง ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตั้งเซมิคอนดักเตอร์บอร์ด เพื่อรองรับอุตสาหกรรม

(12 ต.ค. 67) อุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ และมีผลต่อซัพพลายเชนโลกในขณะนี้ คือ เซมิคอนดักเตอร์ โดยหลายประเทศในเอเชียพยายามช่วงชิงการลงบนสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์

ที่ผ่านมา 'มาเลเซีย' ได้ประกาศยุทธศาสตร์ศูนย์กลางผลิตชิประดับโลก โดยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาท เพื่อฝึกอบรมวิศวกรทักษะสูง 60,000 คน พร้อมตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนเกือบ 4 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังตั้งคณะกรรมการระดับชาติ 'เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด' เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินการที่วางไว้ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอจะเสนอรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีดึงการลงทุนเชิงรุกที่เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญ 2 สาขา คือ เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่

สำหรับการเสนอตั้ง 'เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด' จะขับเคลื่อนการดึงลงทุนได้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมาแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐ และยุโรป รวมทั้งมีบริษัทที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งการผลิตชิปต้นน้ำ และการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่สุดในไทย ซึ่งมีงบประมาณในการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท และจะเกิดขึ้นจริงช่วง 1-2 ปีนี้

ส่วนความเคลื่อนไหวของเวียดนามได้ประกาศตัวชัดเจนในการชิงการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน โดยเตรียมออกสิทธิประโยชน์การลงทุนครั้งสำคัญ

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า เวียดนามกำลังร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลฉบับใหม่ (DTI) ซึ่งมาพร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย เพื่อดึงบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ระดับโลกเข้าไปลงทุน อาทิ

‘อินวิเดีย’ (Nvidia) ผู้ผลิตชิปจากสหรัฐรายใหญ่ที่ร่วมมือกับ FPT บริษัทเทคโนโลยีใหญ่สุดในเวียดนามในการสร้างโรงงานสำหรับส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี AI และ 'เบซี่' (Besi) ผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งได้ลงทุนเบื้องต้น 4.9 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ (ราว 164 ล้านดอลลาร์)

สำหรับร่างกฎหมาย DTI เวียดนามได้เตรียมสิทธิประโยชน์ เช่น ลดหย่อนภาษีสูงสุด 150% สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัย และพัฒนา เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลงทุน อนุมัติวีซ่าแบบฟาสต์แทรกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในโครงการ และการใช้ที่ดินฟรีเป็นเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 160 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 พันล้านบาท) ขึ้นไป โดยให้พิจารณาเอกสารอนุมัติเร่งด่วน และยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมถึงการยกเว้นภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

ทั้งนี้ เวียดนามกำลังนำเสนอกฎระเบียบใหม่เพื่อคว้าโอกาสจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งได้ผลักดันให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทอื่นต้องกระจายห่วงโซ่อุปทานของตน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามาตรการจูงใจทางภาษีที่นำเสนอนั้น สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำระดับโลกที่นานาชาติกำลังผลักดันหรือไม่

เจิ่นแมงฮุง จากเบเคอร์ แม็คเคนซี มองว่า ร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเวียดนามจริงจังแค่ไหนในการดึงดูดบริษัทชิป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารด้านชิปของสหรัฐ ตั้งแต่ 'แพท เกลซิงเกอร์' ของอินเทล (Intel) ไปจนถึง ‘เจนเซน หวง’ ของอินวิเดีย เดินทางเยือนกรุงฮานอย ได้จุดกระแสความสนใจจากสื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เข้าเวียดนาม

นอกจากนี้ กระทรวงสารสนเทศของเวียดนาม กำลังประชุมหน่วยงานอื่น และตัวแทนภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลการสรุปกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเสนอรัฐสภาเดือนต.ค.2567 และมีผลบังคับใช้ช่วงกลางปี 2568

สิทธิประโยชน์เหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงาน และการฝึกอบรม ที่เวียดนามยังด้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมขั้นสูงกว่า

อุตสาหกรรมชิปของเวียดนามยาวนานเกือบ 20 ปี แต่ได้เข้าสู่ยุคทองในปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางเทคโนโลยีทั่วโลกได้ผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ชั้นนำอย่างซัมซุง (Samsung) ไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ออกแบบชิปให้กับบริษัทระดับโลก เช่น อินฟินีออน ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทออกแบบชิป ไซนอปซิส

เวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวเข้ากับมาตรฐานภาษีใหม่ของโลก โดยต้องบาลานซ์ระหว่างการดึงดูดนักลงทุนด้วยมาตรการจูงใจต่างๆ กับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำ 15% ที่องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) และกว่า 140 ประเทศทั่วโลกให้การสนับสนุน ซึ่งหมายถึงการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีบางส่วนที่เคยใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดนักลงทุนในอดีต แม้ว่าภาคธุรกิจจะพยายามผลักดันให้มีมาตรการชดเชย เช่น เงินอุดหนุนหรือเครดิตภาษีก็ตาม

และความท้าทายด้านงบประมาณก่อนหน้านี้ อินเทลได้เรียกร้องให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายจูงใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งรายเดิม และรายใหม่ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่นักลงทุนย่อมส่งผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า 'นเรนทรา โมดี' นายกรัฐมนตรีของอินเดีย พบกับ 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันที่ 5 ก.ย.2567 ในระหว่างการเยือนสิงคโปร์เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงหลายฉบับ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับความเห็นของโมดีในระหว่างพบปะกับหว่อง โมดี กล่าวว่า ‘สิงคโปร์ไม่ใช่เพียงหุ้นส่วน แต่เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกประเทศที่กำลังพัฒนา เราต้องการสร้างสิงคโปร์หลายแห่งในอินเดีย และผมยินดีที่เรากำลังพยายามร่วมมือกันในทิศทางนี้’

ทั้งสองประเทศลงนามบันทึกความเข้าใจสี่ฉบับเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาทักษะ และการดูแลสุขภาพ ตามที่รัฐบาลอินเดียระบุ

ในด้านการผลิตชิปสิงคโปร์ จะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตของอินเดียในขณะที่อินเดียจะส่งเสริมการเข้ามาของบริษัทสิงคโปร์ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในตลาดขนาดใหญ่ของตน

BOI เปิดยอดลงทุน 3 ไตรมาสของปี 2567 ทุบสถิติรอบ 10 ปีทั้งจำนวนโครงการ-เงินลงทุน

(21 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กันยายน 2567) ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ซึ่งเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและมาตรการสนับสนุนของรัฐ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและบีโอไอ ได้ทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และพลังงานหมุนเวียน 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนในห้วงเวลาสำคัญที่มีกระแสเคลื่อนย้ายฐานการผลิตโลก เช่น การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะรองรับเทคโนโลยีใหม่ กลไกจัดหาพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม พื้นที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เป็นต้น 

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 52,990 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 34,341 ล้านบาท โดยกิจการที่มีการลงทุนสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น

- กิจการ Data Center จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท โดยมีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และอินเดีย   

- กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, 
การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,856 ล้านบาท

- กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุนรวม 61,302 ล้านบาท

- กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ จำนวน 13 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,973 ล้านบาท

- กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง จำนวน 117 โครงการ เงินลงทุนรวม 30,515 ล้านบาท

- กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 351 โครงการ เงินลงทุนรวม 85,369 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เงินลงทุนรวม 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 180,838 ล้านบาท จีน 114,067 ล้านบาท ฮ่องกง 68,203 ล้านบาท ไต้หวัน 44,586 ล้านบาท และญี่ปุ่น 35,469 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่บริษัทแม่สัญชาติจีนและสหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ Data Center นำบริษัทลูกที่จดจัดตั้งในสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 408,737 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 220,708 ล้านบาท ภาคเหนือ 35,452 ล้านบาท ภาคใต้ 25,039 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23,777 ล้านบาท และภาคตะวันตก 8,812 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 287 โครงการ เงินลงทุนรวม 27,318 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต 

สำหรับการออกบัตรส่งเสริม ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 2,072 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุน 672,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 101 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการออกบัตรส่งเสริมเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด โดยปกติบริษัทต่าง ๆ จะเริ่มทยอยลงทุนภายใน 1 - 3 ปี หลังจากออกบัตรส่งเสริม 

“ทิศทางการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ยังคงมีแนวโน้มเติบโต แต่สิ่งที่บีโอไอให้ความสำคัญมากกว่าตัวเลขเม็ดเงินลงทุน คือคุณภาพของโครงการ และประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ ซึ่งตอนนี้เป็นจังหวะเวลาสำคัญของประเทศไทยที่จะสามารถสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ช่วยต่อยอดฐานอุตสาหกรรมเดิมให้มั่นคง สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มกว่า 1.7 แสนคน จะใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศประมาณ 8 แสนล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี” นายนฤตม์ กล่าว

นายกฯ นั่งประธาน ‘บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์’ ดันประเทศสู่ผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 ของภูมิภาค

(25 ต.ค. 67)นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน พร้อมแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ รมว.ต่างประเทศ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.พลังงาน รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ม.ล.ชโยทิต กฤดากร นายวุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นายศุภกร คงสมจิตต์ โดยมีเลขาธิการบีโอไอ เป็นกรรมการและเลขานุการ

บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย และเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics) พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บท (Roadmap) ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรทักษะสูงทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา การพัฒนา Supply Chain และการพัฒนาระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะมีหน้าที่ในการพิจารณาแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการบูรณาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในระดับโลก ซึ่งมีการแข่งขันดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศที่รุนแรง เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของหน่วยประมวลผลและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงเทคโนโลยี AI ต่าง ๆ โดยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต จากการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศ

การแต่งตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยเป็นประธานบอร์ดฯ ด้วยตนเอง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของภูมิภาค อีกทั้งจะช่วยให้การประสานนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างมีเอกภาพ มีเป้าหมายร่วมกัน และเกิดความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งเป็นหัวใจของการแข่งขันในเวทีโลก

รัฐบาล เร่งเครื่องสร้างฐานอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าดึงเงินลงทุน 5 แสนล้านบาท ใน 5 ปี

(4 ธ.ค. 67) รัฐบาลเดินหน้านโยบายสร้างฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เตรียมทัพบุคลากรระดับสูงกว่า 80,000 คน รองรับเป้าหมายการลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมตั้งอนุกรรมการวางโรดแมปพัฒนาฐานเซมิคอนดักเตอร์ไทย พร้อมเจาะ 10 บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เผยยอดส่งเสริมลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มต่อเนื่อง รวมกว่า 1,200 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (National Semiconductor and Advanced Electronics Strategy) และรับทราบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย พร้อมตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด กำกับการจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2568 – 2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิสก์ขั้นสูงในภูมิภาค

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิตชิป (Chip) หรือหน่วยประมวลผล ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่าตลาดที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 อันเนื่องมาจากความต้องการใช้งานในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, Data Center, IoT, ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งต้องใช้หน่วยประมวลผลที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น 

ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกมายาวนาน โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดส่งออกสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ในจำนวนดังกล่าว มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตสำคัญในห่วงโซ่อุปทานกลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรม เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)  ดังนั้น การเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่นคงและต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงได้ และการจัดตั้ง "บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ" เพื่อสร้างโรดแมประดับประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคอาเซียน 

การประชุมครั้งนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ได้กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์เพื่อเร่งสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรและแข่งขันได้ในระดับโลก โดยมีมติสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย

1. การจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยเห็นชอบให้จัดจ้าง ที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับนโยบาย ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินศักยภาพของประเทศไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน และในระดับปฏิบัติการ ตั้งแต่การจัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนรายสำคัญอย่างน้อย 10 บริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

2. การพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยรับทราบแผนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการผลิตบุคลากรเฉพาะทางและนักวิจัยระดับสูง 84,900 คนภายในปี 2573 ผ่านโครงการ Upskill และ Reskill หลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น Sandbox และโปรแกรมฝึกงานนานาชาติ รวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอบรม 6 แห่ง พร้อมแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ เช่น ศูนย์ผลิต Wafer Fabrication และศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมความเชื่อมั่นและสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย

นอกจากนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการกำกับการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีเลขาธิการบีโอไอเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธาน  

“เซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยีแห่งอนาคตในแทบทุกอุตสาหกรรม การสร้างฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงเป็นยุทธศาสตร์ในระดับโลกและเป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับประเทศไทย การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่ครอบคลุมทั้งการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรม การออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุน การเตรียมพร้อมบุคลากร การสนับสนุนภาควิชาการและการวิจัย รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเซมิคอนดักเตอร์ การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญโดยรับเป็นประธานบอร์ดด้วยตนเอง จะช่วยเร่งสร้างความร่วมมือที่เป็นเอกภาพระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ทำให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและมาตรการสนับสนุนได้อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการวิจัยขั้นสูง” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 - กันยายน 2567 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมกว่า 1,213 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 876,328 ล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีหลัง มีการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น 

Foxsemicon ยักษ์ใหญ่ผลิตชิปจากไต้หวัน ตั้งฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในนิคมชลบุรี-ระยอง

(11 ธ.ค.67) BOI อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำของกลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Ic. (FITI) ในเครือของ Foxconn

หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของบริษัท Applied Materials ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำระดับโลก

บริษัท Foxsemicon ยื่นขอรับการส่งเสริมในนามบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี จำกัด มีมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ของโลกในกลุ่ม Foxsemicon ก่อนหน้านี้มีโรงงานอยู่ที่จีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

โดยบริษัท Foxsemicon เป็นบริษัทไต้หวันที่เป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบบครบวงจร มีขีดความสามารถตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักร โดยใช้จุดแข็งทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง การผสมผสานระหว่างระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน

โรงงานในไทยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 1,400 คน เพื่อผลิตอุปกรณ์และโมดูลที่มีความแม่นยำสูงสำหรับเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Water Fabrication) ที่คาดว่าจะสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และระยะเริ่มต้นจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศสัดส่วนกว่า 25% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น โดยจะเพิ่มมากขึ้นในระยะถัดไป

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า การตัดสินใจลงทุนของบริษัท Foxsemicon ครั้งนี้ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ผลิตอุปกรณ์ขั้นสูงสำหรับเครื่องจักรเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เริ่มเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งการออกแบบวงจรรวม (IC Design) การทดสอบ Wafer และ IC

โดยบริษัท Analog Devices และการผลิตชิปตั้นน้ำโดยบริษัท Hana เชื่อมั่นว่าจากนี้ไป จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดโรดแมปแต่ละระยะ

รวมทั้งพัฒนาบุคลากรและปรับปรุงระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นฐานรองรับการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์การแพทย์ในอนาคตด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top