Sunday, 20 April 2025
เซมิคอนดักเตอร์

‘จีน’ ส่ง BYD ตีชนะ!! Tesla ‘เวียดนาม’ เดินหน้า พัฒนาอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ‘รัฐบาลไทย’ มุ่งสร้าง!! ฐานประชานิยม เน้นแค่หาเสียง เพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาล

(5 ม.ค. 68) ข่าวส่งท้ายปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการเปิดเผยของ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง (24 ธ.ค.2567)

ซึ่งคงต้องมีการสรรหากันใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2568

แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดนโยบายทางการเงิน การคลัง รวมทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ ก็คงซาไปอีกระยะ จนกว่าจะมีการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหากันอีกครั้ง

และข่าวเริ่มต้นปีมะเส็ง 2568 กับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

ตามด้วยข่าว รัฐบาลเวียดนามเสนอเงินอุดหนุน 50% ของมูลค่าลงทุนให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โครงการที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนดังกล่าวซึ่งระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2024 จะต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านล้านดอง (4.07 พันล้านบาท), ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem), ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ และผู้พัฒนาโครงการจะต้องไม่มีภาษีค้างชำระหรือหนี้กับรัฐบาล โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องชำระทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอง (1.35 พันล้านบาท) ภายใน 3 ปีนับจากได้รับการอนุมัติการลงทุน

รัฐบาลเวียดนาม ยังคงเดินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุน ในส่วนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของประเทศ ที่มั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา การลงทุนในสินทรัพย์ การผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก

หันกลับมาดูการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย กลับเป็นนโยบายประชานิยม ที่แทบจะสร้างฐานสำหรับอนาคตของประเทศไม่ได้ ซ้ำยังส่งผลเสียต่อวินัยทางการเงินของประชาชนไปเรื่อยๆ เน้นแค่หาเสียงเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไป 

มารอดูกันต่อว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ที่มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน ที่เหมือนต้องแบกการใช้จ่ายงบประมาณ ไปกับนโยบายประชานิยม จะทนต่อได้มากน้อยแค่ไหน หากคนกลุ่มนี้เริ่มส่งเสียง เก้าอี้รัฐบาล จะเริ่มสั่นคลอน ... สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ 

‘อินฟินีออน’ ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ลุยตั้งโรงงานในสมุทรปราการ คาดเปิดเดินเครื่องได้ต้นปี 69

(14 ม.ค. 68) "บีโอไอ" ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงาน "อินฟินีออน" ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เบอร์ 1 เยอรมนี สำหรับอีวี ดาต้าเซ็นเตอร์ แบตเตอรี่ อุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เป็นแห่งที่ 3 ในโลก คาดเปิดต้นปี 2569 พร้อมตั้งศูนย์วิจัยผนึกบุคลากร ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Advanced Packaging) ประเภท Power Module ซึ่งเป็นเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้า ที่จังหวัดสมุทรปราการ ของบริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) ในเครือ Infineon Technologies AG

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โดยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของโลก สำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ให้กำลังไฟในงานอุตสาหกรรม (Power Electronics) อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิต Power Module รายแรกของโลกด้วย

โรงงานผลิต Power Module ของอินฟินีออนในประเทศไทยแห่งนี้ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและพร้อมเปิดดำเนินงานในช่วงต้นปี 2569 โดยเน้นป้อนให้กับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบกักเก็บพลังงาน และกลุ่มอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นหลัก

นอกจากนี้ บริษัทจะลงทุนสร้าง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์” เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานในโครงการ รวมถึงบริษัทในเครือที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังมีแผนถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยและช่วยยกระดับประเทศไทยสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลก

การตัดสินใจลงทุนของบริษัท อินฟินีออนในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเข้าสู่ Supply chain ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลก โดยเฉพาะเป็นการผลิต Advanced Packaging สำหรับผลิตภัณฑ์ Power Module เพื่อรองรับธุรกิจบริหารจัดการพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรสาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานโลก

การลงทุนครั้งนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นของบริษัทต่อสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทย โดยการที่รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

นายรุ๊ทเกอร์ วิจบูร์ก กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จากบริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ของอินฟินีออนในประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายฐานผลิตครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกระจายความหลากหลายของฐานผลิตรองรับความต้องการของตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในเชิงโครงสร้างที่สำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เราจึงจัดตั้งโรงงาน Back End ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคต สร้างความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของเรา การลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มความหลากหลายให้กับฐานผลิตและการบริหารต้นทุน เพื่อสร้างความมั่นใจและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าว่าเราจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายรุ๊ทเกอร์ กล่าว

ทั้งนี้ นายรุ๊ทเกอร์ วิจบูร์ก และคณะผู้บริหารจาก Infineon Technologies AG ยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการลงทุนเป็นอย่างดี และได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

มาเลเซียเตรียมล้อมกรอบชิป AI คุมเข้มนำเข้า-ส่งออก หวั่นเทคโนโลยีรั่วไหลสู่จีนตามข้อกังวลของสหรัฐฯ

(24 มี.ค. 68) รัฐบาลมาเลเซียเตรียมเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่ต้องการจำกัดการส่งออกชิปขั้นสูงไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

รายงานระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ซาฟรูล อาซิส กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้มาเลเซียติดตามการเคลื่อนตัวของชิป Nvidia ระดับไฮเอนด์ที่เข้ามาในประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความสงสัยว่าชิปจำนวนมากอาจลงเอยที่จีน

“สหรัฐฯ ขอให้เราตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราได้ตรวจสอบการขนส่งทุกครั้งที่มาถึงมาเลเซีย เมื่อเกี่ยวข้องกับชิป Nvidia” อาซิสกล่าวกับหนังสือพิมพ์

ปัจจุบัน มาเลเซียเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งฐานการผลิตและประกอบชิปในประเทศ ซึ่งนโยบายใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไฮเทคในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียยังคงเดินหน้าสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย โดยระบุว่า จะกำหนดมาตรการที่ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในประเทศมากเกินไป

ด้าน สหรัฐฯ ได้เพิ่มแรงกดดันต่อประเทศพันธมิตรทั่วโลกให้เข้าร่วมมาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI และการทหารไปยังจีน โดยก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปขั้นสูงแล้ว

นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียกำลังเร่งตรวจสอบว่ามีการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นหรือไม่ ในกรณีการขนส่งเซิร์ฟเวอร์ที่อาจเกี่ยวข้องกับคดีฉ้อโกงมูลค่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสิงคโปร์ ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นอาจมีชิปขั้นสูงที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดการส่งออกของสหรัฐฯ

การสืบสวนเกิดขึ้นหลังจากอัยการสิงคโปร์เปิดเผยในศาลเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่า บริษัทแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ถูกกล่าวหาว่าจัดหาเซิร์ฟเวอร์จากสหรัฐฯ ให้กับมาเลเซียโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่สื่อในสิงคโปร์รายงานว่าคดีนี้อาจเกี่ยวข้องกับการโอนถ่ายชิป AI ขั้นสูงของ Nvidia ไปยังบริษัทปัญญาประดิษฐ์ของจีน DeepSeek

DeepSeek ตกเป็นเป้าสายตาของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากเปิดตัวโมเดล AI อันทรงพลังเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนในแวดวงเทคโนโลยี ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเทคโนโลยีของบริษัทนี้อาจใช้ชิปที่ถูกสหรัฐฯ ควบคุมและจำกัดการส่งออก

ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าสอบสวนกรณีนี้อย่างใกล้ชิด โดยก่อนหน้านี้ วอชิงตันได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออกชิปประสิทธิภาพสูงให้กับจีน เพื่อลดความสามารถของปักกิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ขั้นสูง

ทั้งนี้ การสืบสวนครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี AI ที่กำลังเป็นจุดศูนย์กลางของการแข่งขันระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top