Wednesday, 26 June 2024
เก็บออม

'เพจดัง' งง!! โพสต์แนะเด็กรุ่นใหม่ 'หัดเก็บเงิน-ลดฟุ่มเฟือย' กลับโดนทัวร์ลงทวิตเตอร์ แถมถูกระงับใช้บัญชียาว

(8 ก.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘ถามอีก กับอิก Tam-Eig’ ของ ‘อิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

“Twitter ส่วนตัวของผมถูก เฮีย Elon Musk แบนถาวรมา 1 เดือนแล้วนะครับ เพราะไปแนะนำให้คนรุ่นใหม่เริ่มเก็บออมเงิน อย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และให้เริ่มลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงาน 

ปรากฏว่าโดนทัวร์ลงหนัก retweet ไปหลักแสนครั้ง (และโดนซ้ำอีกอันที่พาดพิงหุ้น TESLA ซึ่งทัวร์ลงอีก)

สรุปก็เลยโดนแบน แบบถาวร แต่ตอนนี้ได้ข่าวว่ามี account ปลอมที่แอบอ้างชื่อผม ไปแจกคริปโตบ้าง ขอยืมตังบ้าง ขอยืนยันว่าปลอมหมดนะครับ

ตอนนี้ผมน่าจะเลิกเล่น twitter ถาวรแล้วสำหรับ account ส่วนตัว อย่าไปเชื่อพวกที่มาหลอกนะครับ
แต่ถ้าเป็นของช่อง TAMEIG ที่เป็น official ยังไปตามกันได้ที่นี่ครับ https://twitter.com/TamEig”

‘จุลพงศ์’ แนะ ‘ธปท.’ ไล่จี้!! ‘ธ.พาณิชย์’ ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ลองลดกำไรลงบ้าง อาจกระตุ้น ปชช. กลับมาออมได้

(11 ม.ค.67) ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ว่า ตามที่รัฐบาลอ้างว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรลดลงเพราะเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำนั้น อันที่จริงแล้วเงินเฟ้อของไทยถูกบิดเบือน ไม่ได้สะท้อนสภาพที่เป็นจริง เพราะรัฐบาลทั้งที่ผ่านมาและรัฐบาลชุดปัจจุบันได้แทรกแซงราคาพลังงานและราคาค่าไฟฟ้า ทำให้ดูเหมือนเงินเฟ้อของไทยต่ำ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50 เปอร์เซ็นต์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศนั้น ยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ที่ประเทศมาเลเซีย อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ประเทศเวียดนาม 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ 5.35 เปอร์เซ็นต์

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงโดยหวังว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารจะลดลงนั้น จะทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออกไปประเทศอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า อาจจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงจนไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยคือการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

“ตนมองว่าหากไม่มีการใช้นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ แต่การที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ดี ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าว การลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะเป็นการกดดันค่าเงินบาท ปีที่แล้วเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผู้นำเข้าสินค้าไทยในต่างประเทศจะหยุดซื้อสินค้าจากไทยเพื่อหวังว่าค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนลงไปอีก ก็จะเกิดปัญหาการส่งออกตามมา”

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนักการเงินบางท่านที่ออกมาให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยที่ควรจะเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ควรจะเปลี่ยนแปลงโดยการให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า เพราะดอกเบี้ยเงินฝากแทบจะไม่ขยับขึ้นเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลบด้วยอัตราเงินเฟ้อติดลบมายาวนาน หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

“การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะทำให้กำไรของธนาคารลดลง แต่ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ธนาคารพาณิชย์ควรลดส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากลง อย่าเอาแต่กำไรอย่างเดียวเพราะตามรายงานข่าวในขณะนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่สามของปี 2566 เทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2565 ถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์” นายจุลพงศ์ กล่าว

นายจุลพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนกลับมาเก็บออมเงินมากขึ้น แทนที่จะใช้เงินก่อนเก็บเงินเช่นทุกวันนี้

5 เหตุผลเรื่อง 'ความประหยัด' ที่ทำให้คนทัก มักถูกด่ากลับบ่อย ทั้งที่เป็น 'ก้าวแรก' ช่วยเปลี่ยนระดับฐานะของผู้ไม่มีเงินถุงเงินถัง

(23 พ.ค. 67) คุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ผู้ดำเนินรายการด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

การบอกให้คน 'ประหยัด' ดูจะไม่ใช่แนวทางที่ผู้คนในยุคนี้ชื่นชอบสักเท่าไร อ้าปากพูดออกไป ก็เตรียมตัวโดนด่า

ให้คิดเหตุผลแบบไว ๆ ก็น่าจะมีหลายข้อ ได้แก่...

1. ลัทธิบริโภคนิยมทำงานได้เป็นอย่างดีในโลกนี้ ทำให้ของที่ต้องมีและเงินที่ต้องจ่ายมันเพิ่มขึ้นหลายรายการ คนเราเริ่มแยกไม่ออกระหว่างความต้องการกับความจำเป็น

2. รายได้ของคนทั่วไปเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเงินเฟ้อมาต่อเนื่องยาวนาน ทำให้การประหยัดในปัจจุบัน ยากและท้าทายขึ้นเรื่อย ๆ การหารายได้เพิ่มและรายได้หลายทาง ยังจำเป็นเสมอ

3. สิ่งที่ตรงข้ามกับประหยัดคือ 'ฟุ่มเฟือย' หลายคนไม่ได้คิดว่าตัวเองฟุ่มเฟือยด้วยซ้ำ แล้วจะให้ประหยัดอย่างไร ส่วนจะไม่ฟุ่มเฟือยเลยจริงไหมหรือแค่คิดไปเอง คงแล้วแต่คน ความจำเป็นของแต่ละคนต่างกัน การทำบัญชีรายรับรายจ่าย แล้วนั่งทบทวน น่าจะพอช่วยได้

4. ความเข้าใจเรื่องการเงินของคนไทยมีไม่มากพอ แค่เรื่องหนี้หลายก้อน ควรเลือกปิดอันไหนก่อน หลายคนก็อาจจะไม่รู้แล้ว

แต่เหตุหนึ่งที่สำคัญที่สุด และอาจเป็นจุดตายคือ 5. คนสมัยนี้ 'ไม่เชื่อ' ว่าการประหยัดจะทำให้รวยได้ จึงเลือกที่จะใช้เงินเพื่อหาความสุขในปัจจุบันมากกว่า

ความจริงการประหยัดก็ไม่เคยทำให้ใครรวย ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน แต่การประหยัดน่าจะเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนระดับฐานะ เมื่อประหยัดได้แล้ว หากไม่เอาเงินไปต่อยอด ก็อาจไม่ได้เกิดความแตกต่างอะไรนัก แต่ถ้าไม่มีก้าวแรก ก็คงยากที่จะมีก้าวต่อไป โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้โชคดีมีเงินถุงเงินถัง ที่พาเรากระโดดจาก 0 ไปก้าวที่ 3 ที่ 5 ได้เลยแต่แรก

แต่สุดท้าย ใครจะเลือกอย่างไรก็เป็นสิทธิส่วนตัว แค่ทุกคนมีหน้าที่รับ Consequences ที่ตามมาจากการตัดสินใจของเราเท่านั้นเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top