‘จุลพงศ์’ แนะ ‘ธปท.’ ไล่จี้!! ‘ธ.พาณิชย์’ ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ลองลดกำไรลงบ้าง อาจกระตุ้น ปชช. กลับมาออมได้

(11 ม.ค.67) ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ว่า ตามที่รัฐบาลอ้างว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรลดลงเพราะเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำนั้น อันที่จริงแล้วเงินเฟ้อของไทยถูกบิดเบือน ไม่ได้สะท้อนสภาพที่เป็นจริง เพราะรัฐบาลทั้งที่ผ่านมาและรัฐบาลชุดปัจจุบันได้แทรกแซงราคาพลังงานและราคาค่าไฟฟ้า ทำให้ดูเหมือนเงินเฟ้อของไทยต่ำ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50 เปอร์เซ็นต์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศนั้น ยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ที่ประเทศมาเลเซีย อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ประเทศเวียดนาม 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ 5.35 เปอร์เซ็นต์

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงโดยหวังว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารจะลดลงนั้น จะทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออกไปประเทศอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า อาจจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงจนไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยคือการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

“ตนมองว่าหากไม่มีการใช้นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ แต่การที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ดี ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าว การลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะเป็นการกดดันค่าเงินบาท ปีที่แล้วเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผู้นำเข้าสินค้าไทยในต่างประเทศจะหยุดซื้อสินค้าจากไทยเพื่อหวังว่าค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนลงไปอีก ก็จะเกิดปัญหาการส่งออกตามมา”

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนักการเงินบางท่านที่ออกมาให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยที่ควรจะเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ควรจะเปลี่ยนแปลงโดยการให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า เพราะดอกเบี้ยเงินฝากแทบจะไม่ขยับขึ้นเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลบด้วยอัตราเงินเฟ้อติดลบมายาวนาน หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

“การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะทำให้กำไรของธนาคารลดลง แต่ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ธนาคารพาณิชย์ควรลดส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากลง อย่าเอาแต่กำไรอย่างเดียวเพราะตามรายงานข่าวในขณะนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่สามของปี 2566 เทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2565 ถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์” นายจุลพงศ์ กล่าว

นายจุลพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนกลับมาเก็บออมเงินมากขึ้น แทนที่จะใช้เงินก่อนเก็บเงินเช่นทุกวันนี้