Wednesday, 23 April 2025
ฮุนมาเนต

'ฮุน เซน' ประกาศวางตัวลูกชายคนโต หนุนสืบทอดตำแหน่งผู้นำกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาที่ครองอำนาจมานาน 36 ปี ประกาศชัดเจนเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาสนับสนุนพลเอกฮุน มาเนต ลูกชายคนโต สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 กล่าวว่า มีการคาดเดากันมานานว่า ฮุน เซน วัย 69 ปี กำลังฟูมฟักลูกชายคนโตซึ่งเป็นนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ให้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา ในคำปราศรัยต่อสาธารณะในพิธีการหนึ่งที่จังหวัดพระสีหนุวิลล์ 

วันเดียวกันนี้ นายกฯ ฮุน เซน กล่าวว่า "ฮุน มาเนต เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเขาได้รับการสนับสนุนจากพ่อของเขา"

ฮุน เซน กล่าวว่า ลูกชายวัย 44 ปีของเขา ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกกัมพูชา จะต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

'ดร.สมเกียรติ' ฟันธง 'โอกาส-อนาคต' ครั้งใหญ่ของไทย หาก 'ไทย-กัมพูชา' ร่วมเดินหน้าขุดเจาะแก๊ส-น้ำมัน

หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กห. ได้ให้การต้อนรับการเยี่ยมคำนับของ พลโท ฮุน มาเนต รอง ผบ.ทสส.และ ผบ.ทบ.ราชอาณาจักรกัมพูชา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ ศาลาว่าการกลาโหม เมื่อ (20 ก.ย. 65) ที่ผ่านมา

ทางด้าน ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์ข้อความถึงโอกาสและอนาคตของไทย กับการขุดเจาะแก๊สและน้ำมันร่วม ระหว่างไทย-กัมพูชา ว่า...

ผมดีใจที่นายกประยุทธ์ มีเวลาคิดทำเรื่องสำคัญ การมาของ 'ฮุนมาเนต' คือ เส้นทางที่ราบรื่นของโครงการนี้ ไทยและกัมพูชาจะโชติช่วงชัชวาลไปอีกนาน และจะเป็นพาร์ตเนอร์ที่สำคัญรวยไปด้วยกัน จะมีแก๊สให้ใช้ในสิบปีข้างหน้า

รู้เรื่องนี้ดี ตั้งแต่ทำหกเหลี่ยมเศรษฐกิจที่จุฬาฯ สมช. เมื่อสามสิบปีที่แล้ว 

ราคาแก๊ส น้ำมันระดับนี้คุ้มลงทุน ราคาน้ำมันต้องเกิน 50 เหรียญ 

พื้นที่ย่านนั้นลึกระหว่าง 50 ถึง 100 เมตร แต่ยุคนี้มีเทคโนโลยีใหม่ในการขุดเจาะที่ทำให้ต้นทุนลด แม่นยำ ย่านนั้นหลุมใหญ่ไม่ใช่หลุมเล็กกระจายแบบแก๊สอ่าวไทย 

จะสำเร็จได้ต้องฝ่ายความมั่นคงคุยกัน สมัยลาว, เวียดนาม, พม่า, จีน ก็แบบนี้แหละ ไว้จะงัดข้อมูลมาสนับสนุนโครงการนี้ อย่าลืมอ่านบทความอุตสาหกรรมตัวพ่อ ปิโตรเคมี

ขอบคุณลุงตู่นะครับ ว่องไวปานกามนิตหนุ่ม งานนี้ขอช่วยด้วย

ความสัมพันธ์ไทย กัมพูชาดีมาก ๆ จำเรื่อง สม รังสี ได้ไหม ตอนนั้นอเมริกาบุกแหลก ตอนนี้กัมพูชาถูกอียูแซงชั่น อเมริกาด้วย ตอนนี้เศรษฐกิจจีนก็เหนื่อย

ตอนนี้ท่านฮุนเซน สั่งไล่จับบ่อน กาสิโนหนักหน่วง หวังว่าแก๊ง Call Center ของจีนจะหายไป ต้องคุยกับจีนด้วย ย่านนี้เทคโน น้ำแข็ง ไฟจะมา

ให้กำลังใจคุณสุพัฒน์พงษ์นะครับ ห้ามตาย ทำให้เสร็จ

มหาวิทยาลัยเตรียมคนด้าน ปิโตร/ธรณีเคมี ให้พอนะครับ มหาวิทยาลัยหาที่ให้วิศวะสร้างตึกบ้าง หรือไปใช้ตึกอักษรก็ได้ นิสิตจะได้เป็นแฟนกัน โรงเรียนชายล้วนวางแผนละเอียด55

ขอบคุณลุงตู่นะครับ ลุงดูฟิตมาก งานแบบนี้ต้องฝ่ายความมั่นคงทำจึงสำเร็จ ท่านฮุนเซนไม่คุยกับนักการเมืองดอก

งานนี้ดีมาก กัมพูชาจะรวย ไทยจะมีแก๊สมาแทนแก๊สอ่าวไทยที่จะหมดไปในสิบปีข้างหน้า

ถูกกว่านำเข้าเยอะ

อาเซียนจะรุ่งเรือง

‘สมเด็จฯ ฮุนเซน’ ยิ้มร่า เข้าคูหาเลือกตั้ง แบบไร้คู่แข่ง เตรียมส่งไม้ต่อให้ลูกชายขึ้นแท่นเป็นนายกฯ คนใหม่

(23 ก.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ชาวกัมพูชาเดินทางออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในวันนี้ (23) ในการเลือกตั้งที่ ‘สมเด็จฯ ฮุนเซน’ ผู้นำกัมพูชาที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานใกล้จะคว้าชัยชนะอีกครั้ง ขณะที่เขาพยายามจะรักษามรดกของเขาไว้ด้วยส่งต่อบังเหียนให้ลูกชายคนโต

อดีตทหารเขมรแดงวัย 70 ปี ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2528 ไม่ได้เผชิญกับการแข่งขันที่แท้จริงใดๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านถูกตัดสิทธิ คู่แข่งหลายคนจำต้องหลบหนี และเสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัด

พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของเขามีแนวโน้มที่จะรักษาที่นั่งทั้งหมด 125 ที่นั่งในสภาล่าง ที่ขยายเวลาการกุมอำนาจออกไปและปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น ที่นักวิจารณ์บางคนเปรียบเทียบกับการเมืองเกาหลีเหนือ

พรรคฝ่ายค้านที่จริงจังเพียงพรรคเดียวถูกตัดสิทธิด้วยเหตุผลด้านเอกสารในการลงสมัครรับเลือกตั้ง และจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจหากพรรคเล็กๆ อีก 17 พรรค ชนะได้ที่นั่งในสภาฯ

ฮุนเซนเดินทางมายังหน่วยเลือกตั้งชานกรุงพนมเปญ พร้อมภริยา เพื่อลงคะแนนเสียงไม่นานหลังหน่วยเลือกตั้งเปิดในเวลา 7.00 น. ตามการรายงานของนักข่าว

สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ ปฏิเสธที่จะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ขาดเงื่อนไขที่ทำให้การเลือกตั้งมีความเสรีและเป็นธรรม ทำให้มีเพียงเจ้าหน้าที่จากรัสเซีย จีน และกินี-บิสเซา เท่านั้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์

ประชาชนมากกว่า 9.7 ล้านคน ลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ 7 นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนเกิดขึ้นในปี 2536 หลังจากประเทศอยู่ภายใต้ความขัดแย้งนานหลายปี ที่รวมถึงยุคของเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำให้ประเทศเสียหายยับเยิน

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความหวังใดๆ ก็ตามที่ประชาคมระหว่างประเทศอาจมีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคที่สดใสในกัมพูชา ถูกบั่นทอนลงจากการปกครองของฮุนเซน

ฮุนเซนเริ่มมองไปยังอนาคต โดยกล่าวว่าเขาจะส่งมอบให้ลูกชายของเขา ‘ฮุน มาเนต’ นายพลระดับ 4 ดาว ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

“เราใช้สิทธิและความรับผิดชอบของพลเมืองออกมาลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกพรรคที่เรารักให้เป็นผู้นำประเทศ” ฮุน มาเนต วัย 45 ปี กล่าวกับนักข่าวหลังหย่อนบัตรเลือกตั้ง

หลายคนสงสัยว่า ฮุน มาเนต ที่ได้รับการศึกษาจากทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศหรือไม่ แม้ว่า ฮุนเซน จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาตั้งใจที่จะใช้อิทธิพลอำนาจอยู่ต่อไป แม้ลูกชายของเขาจะเข้าครองอำนาจแล้วก็ตาม

ในขณะที่ฮุน มาเนต ที่นำการเดินขบวนหาเสียงครั้งสุดท้ายของพรรค CPP ในกรุงพนมเปญเมื่อวันศุกร์ บอกกล่าวกับฝูงชนว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของประเทศ แต่นักวิจารณ์จะไม่เห็นด้วย และกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ประณามการเลือกตั้งครั้งนี้

ในวันก่อนการเลือกตั้ง แนวร่วม 17 องค์กร ที่รวมถึงเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) และสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) ระบุว่า การเลือกตั้งมีความน่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง

“การใช้สิทธิเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นบ่งชี้ว่าไม่ปรากฏถึงความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความครอบคลุมในกระบวนการเลือกตั้ง” กลุ่มพันธมิตรระบุในคำแถลงที่ออกในวันเสาร์

ความท้าทายที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวสำหรับพรรค CPP มาจากพรรคแสงเทียน แต่ในเดือน พ.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติปฏิเสธที่จะจดทะเบียนพรรค ทำให้พรรคไม่มีสิทธิร่วมลงเลือกตั้ง

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพรรคแสงเทียนทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดไว้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นปีก่อน โดยได้คะแนนนิยมถึง 22%

ก่อนการเลือกตั้ง พรรคแสงเทียนกล่าวกับเอเอฟพีว่าคำตัดสินเกี่ยวกับการลงทะเบียนดังกล่าวหมายความว่าไม่มีทางที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเสรีและเป็นธรรม

“ทุกคนรู้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ” รง ชุน รองหัวหน้าพรรคแสงเทียน กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีบรรยากาศแห่งความสิ้นหวังในหมู่ประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงภายใต้การปรากฏตัวของตำรวจตามหน่วยเลือกตั้งในกรุงพนมเปญ

“ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะไม่มีพรรคฝ่ายค้านเหลืออยู่เลย” ชาวกัมพูชาวัย 51 ปี กล่าว

ก่อนการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดอย่างหนัก โดยหนึ่งในสำนักข่าวอิสระที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศถูกปิดตัวลงในปีนี้

และเมื่อเดือนที่ผ่านมา ฮุนเซนยังสั่งปรับแก้กฎหมายเลือกตั้ง โดยกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อคู่แข่งของเขา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘สม รังสี’ ที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลาเกือบทศวรรษเพื่อเลี่ยงความผิดทางอาญาที่เขากล่าวว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง และแกม สุขา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ที่ถูกกักบริเวณในบ้านพักหลังจากถูกตัดสินจำคุก 27 ปี ฐานกบฏในข้อหาวางแผนกับชาวต่างชาติเพื่อโค่นล้มรัฐบาลฮุนเซน ทั้งนี้ การเลือกตั้งได้ปิดหีบลงคะแนนในเวลา 15.00 น.

นายกฯ กัมพูชายืนยันจุดยืนบูรณภาพแห่งดินแดน หลังมีเสียงวิจารณ์ปมเกาะกูด

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิวแมน รีซอร์ส เมื่อ 26 ธ.ค. โดยยืนยันจุดยืนของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเกาะกูด โดยย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย 

"ผมขอพูดอย่างชัดเจนว่า การที่รัฐบาลไม่ได้ตอบโต้ข้อกังวลบนเฟซบุ๊ก ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ทำงานเพื่อปกป้องและเสริมสร้างบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ หรือส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับสถานะของกัมพูชาในเวทีโลก เราทำเรื่องนี้กันทุกวันอยู่แล้ว " นายกฯ ฮุนมาเนต ยังเน้นย้ำว่า "เรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องโบกธงหรือตะโกนคัดค้านใดๆ สิ่งที่เราต้องทำคือมุ่งเน้นที่การทำงานของเรา"  

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบโต้เสียงวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลของนายฮุนมาเนตเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาเรื่องการสูญเสียดินแดน โดยเฉพาะจากกลุ่มฝ่ายค้านชาวกัมพูชาในสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมจัดการประท้วงในชื่อ 'ปกป้องเกาะกูด' (Defend Koh Kut) ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม  

รายงานจากสำนักข่าว พนมเปญโพสต์ ระบุว่า ประเด็นเกาะกูดกลายเป็นข้อพิพาท เนื่องจากทั้งกัมพูชาและไทยต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะดังกล่าว ขณะที่สื่อไทยรายงานล่าสุดว่า ไทยได้ประกาศอ้างสิทธิเหนือเกาะนี้เช่นกัน  

ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านในสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงจุดยืนที่ชัดเจน โดยต้องการให้รัฐบาลยืนยันว่าเกาะกูดเป็นดินแดนของกัมพูชาอย่างเป็นทางการ หรือยกระดับประเด็นนี้ให้ถึงขั้นพิจารณาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างเป็นธรรม

จี้ 'ฮุนมาเนต' ยกเลิก MOU44 แนะฟ้องศาลโลกตัดสิน 'เกาะกูด' เหมือนคดีเขาพระวิหาร

(27 ธ.ค.67) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเขมร รายงานว่า นาย อึม สำอาน (Oum Sam An) นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งลี้ภัยในสหรัฐเพราะถูกตัดสินจำคุกในข้อหาปลุกปั่นประเด็นเรื่องชายแดน ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุนมาเนตของกัมพูชา ยกเลิกบันทึกความเข้าใจหรือ MOU44 และหันไปหาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อแก้ไขกรณีข้อพิพาทเหนือเกาะกูด

นาย อึม สำอาน อดีตสส.จาก จ.เสียมเรียบ พรรคพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) กล่าวว่า ประชาชนชาวกัมพูชาจะยังคงชุมนุมประท้วงภายใต้ชื่อ 'ปกป้องเกาะกูด' (Defend Koh Kut) ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม  และจะประท้วงจนกว่ากัมพูชาจะได้รับพื้นที่บนเกาะกูดคืนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยเขาชี้ว่าการเจรจาทวิภาคีไม่สามารถทำให้ไทยคืนเกาะกูดได้ และเน้นย้ำว่ากัมพูชาควรใช้แนวทางฟ้องร้องในศาลโลก เช่นเดียวกับกรณีปราสาทพระวิหารในปี 2505 

“บันทึกความเข้าใจเป็นเพียงพื้นฐาน ดังนั้นกัมพูชาจึงมีสิทธิ์ยกเลิกได้ตลอดเวลา และหลังจากยกเลิกเอ็มโอยู กัมพูชาสามารถอ้างสิทธิ์ของเกาะได้ผ่านการฟ้องร้องประเทศไทยในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เราไม่ควรใช้การเจรจาแบบทวิภาคี เพราะจะไม่มีการคืนเกาะ ไทยควบคุมเกาะกูด 100% อยากให้ดูตัวอย่างกรณีของเขาพระวิหาร ซึ่งในกรณีนั้นถ้าหากสมเด็จพระนโรดมสีหนุไม่นำเรื่องเขาพระวิหารไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ICJ ในปี 1962 เราก็คงไม่ได้เขาพระวิหารคืน” 

ด้านนายสุน ชัย รองหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ระบุว่า เกาะกูดเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาติ พร้อมแสดงความหวังว่ารัฐบาลกัมพูชาจะนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเจรจาหรือฟ้องร้องในศาลโลกเพื่อทวงคืนพื้นที่  

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิวแมน รีซอร์ส เมื่อ 26 ธ.ค. โดยยืนยันจุดยืนของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเกาะกูด โดยย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน  

นักวิเคราะห์ด้านการพัฒนาสังคม ดร.เมียส นี (Meas Ny) ชี้ว่า ปัญหาเขตแดนเป็นเรื่องสำคัญที่นักการเมืองทั้งสองประเทศควรละผลประโยชน์ส่วนตัว และร่วมกันหาทางออกที่เป็นธรรมผ่านช่องทางระหว่างประเทศ โดยมองว่าการฟ้องร้องต่อศาลโลกเป็นทางเลือกที่เหมาะสม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top