Thursday, 15 May 2025
ฮานอย

BLACKPINK จัดคอนเสิร์ตที่ฮานอย 2 วัน ดึงเงินเข้าเวียดนามได้ถึง!! 920 ล้านบาท

(7 ส.ค. 66) คอนเสิร์ตครั้งแรกในเวียดนามของวงเกิร์ลกรุ๊ปเคป็อบระดับโลกอย่าง BLACKPINK สำหรับ ‘BORN PINK WORLD TOUR’ ซึ่งจัดขึ้น 2 รอบ เมื่อวันที่ 29 - 30 กรกฏาคมที่ผ่านมา ณ My Dinh National Stadium ในกรุงฮานอย มีผู้เข้าชมกว่า 170,000 คน ส่วนยอดจำนวนของผู้เข้าชมจากต่างประเทศอยู่ที่ 30,000 คน

โดยการท่องเที่ยวของฮานอยรายงานว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 8% ในช่วงที่จัดคอนเสิร์ต BLACKPINK ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 26.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 920 ล้านบาทไทย จากชาวต่างชาติที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นของประเทศเวียดนามได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ คอนเสิร์ตของ BLACKPINK ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบริการของฮานอยด้วย เช่น โรงแรมในบริเวณใกล้เคียง My Dinh National Stadium ซึ่งมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นที่ 20% ในขณะที่ ‘BORN PINK WORLD TOUR’ ยังสร้างสถิติใหม่เป็นทัวร์คอนเสิร์ตของกลุ่มศิลปินหญิงที่สร้างรายได้สูงสุด โดยมีรายได้อยู่ที่ 78.5 ล้านดอลลาร์ จากการแสดงคอนเสิร์ต 26 รอบ ตามรายงานของ Touring Data

'สื่ออังกฤษ' ยก สนามบิน 'โหน่ยบ่าย' ดีที่สุดใน 'เอเชีย-อาเซียน' ส่วน 'ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ' ติดกลุ่ม 10 อันดับแย่ที่สุด

(3 มี.ค.67) เพจ 'BTimes' ได้รายงานว่า บิสสิเนส แทรเวลเลอร์ (Business Traveller) สื่อผลิตเนื้อหาและข้อมูลด้านการเดินทางและท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกจากอังกฤษมีอายุมาถึง 48 ปี และได้รับการยอมรับจากนักเดินทางและนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักธุรกิจและนักบริหาร เปิดเผยรายงานผลการจัดอันดับสนามบินนานาชาติดีที่สุดและแย่เลวร้ายที่สุดในทวีปเอเชียประจำปี 2023 พบว่า สนามบินนานาชาติทึ่ดีที่สุด ได้แก่ สนามบินโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ขณะที่สนามบินที่แย่ที่สุด ได้แก่ สนามบินนานาชาติดอนเมือง กรุงเทพ ประเทศไทย ส่วนสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ อยู่อันดับที่ 7 จากทั้งหมด 10 อันดับสนามบินนานาชาติที่แย่ที่สุด 

สำหรับสนามบินนานาชาติที่ดีที่สุด 10 อันดับในทวีปเอเชีย ปี 2023 มีดังนี้... 

อันดับ 1 สนามบินโหน่ยบ่าย (ฮานอย) เวียดนาม 6.80 คะแนน 
อันดับ 2 สนามบินชางฮี สิงคโปร์ 6.63 คะแนน 
อันดับ 3 สนามบินเช็คแลปก๊อก ฮ่องกง 6.48 คะแนน 
อันดับ 4 สนามบินฮาหมัด กาตาร์ 6.44 คะแนน 
อันดับ 5 สนามบินนาริตะ (โตเกียว) ญี่ปุ่น 6.23 คะแนน 
อันดับ 6 สนามบินฮาเนดะ (โตเกียว) ญี่ปุ่น 5.82 คะแนน 
อันดับ 7 สนามบินเกมเปโควทา (เบงกาลูรู) อินเดีย 5.56 คะแนน 
อันดับ 8 สนามบินไท่หยวน ไต้หวัน 5.29 คะแนน 
อันดับ 9 สนามบินฉัตรปตี ศิวาจี มหาราช (มุมไบ) อินเดีย 5.22 คะแนน 
และอันดับ 10 สนามบินอินทิรา คานธี (นิวเดลี) อินเดีย 4.60 คะแนน 

ทั้งนี้ สนามบินโหน่ยบ่าย (ฮานอย) เวียดนาม ที่ได้ 6.80 จาก 10 คะแนนในครั้งนี้นั้น ถูกยกย่องหลายด้านโดยเฉพาะระบบการจัดคิวผู้โดยสารที่ใช้บริการที่สนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับสนามบินนานาชาติที่เลวร้ายที่สุด 10 อันดับในทวีปเอเชีย ปี 2023 (คะแนนน้อยที่สุด คือยอดแย่ที่สุด จากคะแนนเต็ม 10) มีดังนี้...

อันดับ 1 สนามบินคูเวต คูเวต 1.69 คะแนน 
อันดับ 2 สนามบินอัลมาตี คาซัคสถาน 2.62 คะแนน 
อันดับ 3 สนามบินคิง อับดุลาซิ ซาอุดีอาระเบีย 2.72 คะแนน 
อันดับ 4 สนามบินนินอย อาคีโน ฟิลิปปินส์ 2.78 คะแนน 
อันดับ 5 สนามบินอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรต 2.88 คะแนน 
อันดับ 6 สนามบินเชนไน อินเดีย 3.00 คะแนน 
อันดับ 7 สนามบินสุวรรณภูมิ ไทย 3.25 คะแนน 
อันดับ 8 สนามบินดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรต 3.36 คะแนน 
อันดับ 9 สนามบินกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย 3.36 คะแนน 
และอันดับ 10 สนามบินดอนเมือง ไทย 3.45 คะแนน

เมื่อพิจารณาเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน พบว่า สนามบินนานาชาติที่ดีที่สุดในอาเซียนยังคงเป็นของสนามบินหน่อยไบ๋ (ฮานอย) เวียดนาม ตามด้วยสนามบินชางฮี สิงคโปร์ ขณะที่สนามบินนินอย อาคีโน ฟิลิปปินส์ เป็นสนามบินที่แย่ที่สุดในอาเซียน โดยมีสนามบินดอนเมือง กรุงเทพ ประเทศไทยรั้งรองสุดท้ายของอันดับสนามบินแย่ที่สุดในอาเซียน 

สนามบินคูเวต คูเวต ที่ได้คะแนนต่ำที่สุดที่ 1.69 จาก 10 คะแนน ส่งผลเป็นสนามบินนานาชาติที่ยอดแย่ที่สุดของโลก ที่สำคัญ เป็นเพียงสนามบินเดียวในทวีปเอเชียที่ทำคะแนนได้ต่ำกว่า 2 คะแนน พบว่า ผู้โดยสารแสดงความไม่พอใจอย่างมากกับกลิ่นเหม็น หรือกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาภายในสนามบิน นอกจากนี้ มีปัญหาด้านขั้นตอนการบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่องที่ช้ามาก 

ทั้งนี้ บิสสิเนส แทรเวลเลอร์ (Business Traveller) ทำการจัดอันดับรายงานดังกล่าวจากการเก็บข้อมูลโดยตรงจากการแสดงความคิดเห็นของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินจากทุกสนามบินทั่วโลกผ่านแอร์ไลน์ควอลิตึ้ดอทคอม นอกจากนี้ ยังเป็นสื่อชั้นนําสําหรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจที่มีการผลิตเนื้อหาถึง 14 ประเทศสำคัญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, เอเชีย-แปซิฟิก, ตะวันออกกลาง, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เดนมาร์ก, ฮังการี, แอฟริกา, รัสเซีย, โปแลนด์, อิสราเอล และอินเดีย รวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ

เวียดนามอนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรก เชื่อมฮานอย-โฮจิมินห์ คาดเสร็จใน 11 ปี

(2 ธ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สภาแห่งชาติเวียดนาม ชุดที่ 15 ได้ลงมติผ่านนโยบายการลงทุนโครงการทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้ มูลค่ารวม 1.7 พันล้านล้านดอง (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) เมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.) ที่ผ่านมา

โครงการข้างต้นมีวงจรงบประมาณระยะกลาง 3 รอบ ได้แก่ รอบปี 2564-2568 รวม 5.38 แสนล้านดอง (ราว 725 ล้านบาท) รอบปี 2569-2573 รวม 841.7 ล้านล้านดอง (ราว 1.13 พันล้านบาท) และรอบปี 2574-2578 รวม 871.3 ล้านล้านดอง (ราว 1.17 พันล้านบาท)

ทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้ของเวียดนามจะมีระยะทางรวม 1,541 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสถานีหง่อกโห่ยในกรุงฮานอย ตัดผ่าน 20 เมืองและจังหวัด และสิ้นสุดที่สถานีถูเตี๊ยมในนครโฮจิมินห์ซิตี

หวู่ ฮง แท็ง ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจประจำสภาฯ กล่าวว่า โครงการนี้มีความเป็นไปได้ในบริบทปัจจุบันของเวียดนาม หลังจากเตรียมงานและศึกษาต้นแบบรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกมานาน 18 ปี

สื่อฯ ฮานอย เผย รมช.ท่องเที่ยวเวียดนาม หนุนข้อริเริ่ม “6 ประเทศ: 1 จุดหมาย” ของไทยบูมการท่องเที่ยวอาเซียน – ที่ปรึกษา รมว.กต.ไทยมั่นใจ ดึงดูด นทท.จากภูมิภาคต่าง ๆ ได้

(13 ม.ค. 68) วี.เอ็น.เอ็กเพรส อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นสื่อมวลชนในกรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานว่า นายโฮ อัน ฟอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ประชุมร่วมกับคณะผู้แทนฝ่ายไทย ที่นำโดยนายดุสิต เมนะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือในข้อริเริ่ม “6 ประเทศ: 1 จุดหมายปลายทาง” หรือ “Six Countries, One Destination” ระหว่างไทยกับเวียดนาม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่าง 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมุ่งหวังที่จะกำหนดความร่วมมือสนับสนุนการท่องเที่ยวใหม่ในภูมิภาค และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเวียดนามและไทย

นายดุสิต ระบุว่า ข้อริเริ่มนี้มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศ ที่เข้าร่วมข้อริเริ่มดังกล่าว โดยทำให้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองสะดวก และง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงการหารือ และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างระบบของกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าร่วมกัน (common list) ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้นในหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน และยังมีช่องทางการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งช่องทางตรวจคนเข้าเมืองพิเศษ หรือ fast-track สำหรับผู้เดินทาง

นายดุสิต เชื่อมั่นว่า แนวทางการทำงาน และความร่วมมือกันนี้ จะสามารถช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวภายในอาเซียนได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากตลาดสำคัญในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกได้ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียใต้ รวมถึยยังสามารถเพิ่มประสบการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ผ่านการเดินทางที่หลากหลาย และเชื่อมโยงกันผ่านประเทศที่มีวัฒนธรรมหลากหลายเหล่านี้

ขณะที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สนับสนุนข้อริเริ่มนี้อย่างแข็งขัน โดยมองว่า ถือเป็นข้อริเริ่มที่สอดคล้องกับเป้าหมายในภาพรวมของการส่งเสริมความร่วมมือในอาเซียนในด้านวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว พร้อมยังเน้นถึงความจำเป็น ที่จะต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ ที่ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองประเทศ

นายกฯ อิ๊งค์ เตรียมบินไป!! ‘ฮานอย’ ประชุมร่วม ‘ไทย – เวียดนาม’ แถลงการณ์ร่วม ยกระดับ!! ความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

(11 พ.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่กรุงฮานอยอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในวันพุธและพฤหัสบดี ที่ 15–16 พฤษภาคม 2568 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่ระดับ “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์สูงสุดที่เวียดนามมีต่อประเทศคู่เจรจา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมการประชุม(JCR) ไทย–เวียดนาม ครั้งที่ 4 กับนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ คณะเพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของไทยในภูมิภาคและความไว้วางใจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ
ในการเยือนครั้งนี้ ไทย–เวียดนามจะลงนามเอกสารสำคัญ ประกอบด้วยแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในการเพิ่มพูนความร่วมมือใน 3 เสาหลัก คือ 
1.การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน 
1.1 ด้านการเมือง การป้องกันประเทศ และความมั่นคง อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ และยาเสพติด 
1.2 ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในเรื่องสันติภาพ ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายของโลก

2.การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 
2.1 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ เพิ่มพูนความร่วมมือด้านแรงงาน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 
2.2 การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก SMEs การเติบโตสีเขียว โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การผลิตและห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงตลาดของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งกันและกัน และส่งเสริมความเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล 

3.การเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน 
3.1 ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพ การทำธุรกรรมข้ามพรมแดน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน AI ดิจิทัล และความมั่นคงทางไซเบอร์ 
3.2 ส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชน ผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (ฉบับปรับปรุง) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า อำนวยความสะดวกทางการค้า การขจัดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร การค้าชายแดน และการลงทุนร่วมระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศความตกลงฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างยั่งยืนและสมดุล

สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับปรับปรุงยังครอบคลุมความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมส่งเสริมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Committee on Trade: JTC) และจัดตั้งคณะทำงานร่วมในระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อผลักดันโครงการความร่วมมือเชิงรูปธรรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อกังวลทางการค้าอย่างสม่ำเสมอ

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ขณะนี้ไทยและเวียดนามมีเป้าหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการค้า รวมไปถึงการผนึกกำลังอาเซียน เพื่อร่วมกันเผชิญหน้ากับการค้าโลกที่อาจจะชะลอตัวจากมาตรการภาษีนำเข้าระดับสูงของสหรัฐฯ ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top