Tuesday, 22 April 2025
อ้อยสด

‘พิมพ์ภัทรา’ จ่อชง ครม. เคาะราคาชดเชยตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน พร้อมหาแนวทางช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาตัดอ้อยสดในฤดูกาลต่อไป

(20 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 37 แห่ง เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2565/2566 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอบรรจุวาระการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ร้องขอให้เร่งการประกาศราคาเพื่อให้โรงงานเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 และอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไป โดยมีวาระพิจารณาเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 
ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อการหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน ให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบกับต้นทุนราคาอ้อย ทั้งยังจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงท้ายของการหารือผู้แทนชาวไร่อ้อยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนและรับฟังปัญหาของชาวไร่อ้อย พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างสองฝ่ายเพื่อให้สามารถบรรลุความต้องการ

กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศประมาณ 200 คน เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามมติ ครม. ที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ค่าตัดอ้อยให้ตันละ 120 บาทต่อเนื่อง แต่ฤดูหีบปี 2565/66 ที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้รับการพิจารณา 

นายนราธิป ระบุว่า ฤดูหีบปี 2566/67 ในเดือน ธ.ค.นี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพราะหากมีการเปิดหีบอ้อยแล้วยังไม่ชัดเจน เกรงว่าปัญหาอ้อยไฟไหม้ก็อาจจะไม่ได้ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าการตัดอ้อยสดเพื่อส่งเข้าโรงงานยังมีต้นทุนสูง

‘อัครเดช’ หนุน!! ‘เอกนัฏ’ เข้มให้โรงงานผลิตน้ำตาล รับซื้อเฉพาะ ‘อ้อยสด’ ชี้!! ต้องควบคุมฝุ่น PM 2.5 สร้างอากาศให้บริสุทธิ์ เพื่อสุขภาพที่ดี ของปชช.

(19 ม.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปดำเนินมาตรการคุมเข้มโรงงานผลิตน้ำตาล เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ดำเนินนโยบายให้โรงงานรับซื้อเฉพาะอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็ขอความร่วมมือไปยังโรงงานผลิตน้ำตาลทุกโรงงานและชาวไร่อ้อยทุกคนให้ช่วยกันลดปริมาณการเผาอ้อยลงให้ได้ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด เนื่องจากการเผาอ้อยเป็นส่วนสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน จึงขอย้ำให้โรงงานช่วยประชาสัมพันธ์ชาวไร่อ้อยให้ทราบถึงผลเสียของการเผาอ้อยด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 แล้ว การเผาอ้อยยังทำให้ความหวานของอ้อยลดลง น้ำหนักอ้อยก็ลดลง ที่สำคัญขายไม่ได้ราคาอีกทั้งไม่ได้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ ที่สนับสนุนเงินค่าตัดอ้อยสดและส่งผลเสียต่อหน้าดินในการเพาะปลูกฤดูกาลผลิตถัดไปด้วย

นายอัครเดช ระบุด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรจัดส่งอ้อยสดกับโรงงาน ผ่านการให้เงินสนับสนุนกับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดที่จะมีการประกาศตัวเลขให้ชาวไร่อ้อยได้ทราบในเร็ววันนี้ ขณะเดียวกันก็จะเร่งให้หน่วยงานรัฐดำเนินมาตรการเชิงรุกเข้าพื้นที่ให้ความรู้อย่างจริงจัง และตนเองก็เชื่อว่าสมาคมชาวไร่อ้อยจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะการลดฝุ่น PM 2.5 ก็จัดเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล อีกทั้งที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมก็เคยเชิญตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยมาหารือกันในชั้นคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับการลดการเผาอ้อยแล้ว ซึ่งสมาคมฯ ก็เห็นด้วยกับมาตรการนี้และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม

“การเผาอ้อยจะส่งผลเสีย นอกจากก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ยังทำให้อ้อยหวานน้อยลง น้ำหนักลดลง และส่งผลเสียต่อหน้าดินในการเพาะปลูกครั้งถัดไป ตนเองจึงเห็นด้วยกับนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมขอความร่วมมือชาวไร่อ้อยส่งอ้อยสดให้โรงงาน อย่าเผาอ้อย เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชนและตัวเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเองด้วย” นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้าย

‘นักวิชาการ วิศวะเกษตร’ เผย!! ค่าแรงงานตัด ‘อ้อยสด’ สูงกว่า ‘อ้อยเผา’ ถึง 3 เท่า ชี้!! ต้องสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน เพิ่มมูลค่าให้ ‘ใบอ้อย’ พัฒนาเทคโนโลยี ที่เหมาะสม

(26 ม.ค. 68) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Khwan Saeng’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘การเผาอ้อย’ ในฐานะที่เติบโตมา ในโรงงานผลิตเครื่องจักรกลเกษตร ในจังหวัดที่มีไร่อ้อยเยอะมากๆ จนต่อมาได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนต่อ แล้วเลือกไปที่ Okinawa เพราะอยากจะทำรถตัดอ้อยขนาดเล็กช่วยชาวไร่จะได้ไม่ต้องเผา จนกลับมาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยข้อความที่ ‘Khwan Saeng’ โพสต์นั้นมีใจความว่า ...

วันนี้ขอมาตอบคำถามที่หลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับอ้อยสงสัยว่า ‘ทำไมต้องเผาอ้อย’ เท่าที่ตัวเองมีความรู้ที่จะตอบได้นะคะ

ปัญหาการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว: สาเหตุ วิธีแก้ไข และอนาคต

• การเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวเป็นปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมอ้อยไทย เนื่องจากลดต้นทุนแรงงาน แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ (PM2.5) และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน

• สาเหตุหลักมาจากค่าแรงงานตัด ‘อ้อยสด’ ที่สูงกว่า ‘อ้อยเผา’ ถึง 3 เท่า เจ้าของแปลงเล็กๆ ขาดแคลนแรงงานและเครื่องจักร ทำให้ต้องพึ่งพาระบบการเผาเพื่อลดต้นทุนและขายอ้อยให้ทันเวลา

• แม้จะมีเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กสำหรับการตัดอ้อยสด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุน การใช้งาน และความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงยังไม่ครอบคลุม

• การแก้ปัญหาจำเป็นต้องมีมาตรการควบคู่กัน ทั้งการเพิ่มราคาอ้อยสด ลดการรับซื้ออ้อยเผา การให้เงินสนับสนุนและสินเชื่อสำหรับเครื่องจักรกลเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบอ้อย

• งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดการเผาอ้อย เช่น เครื่องสับกลบใบอ้อย เครื่องอัดใบอ้อยเป็นก้อน และการใช้โดรนในการตรวจสอบการเผา

• อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการมีส่วนร่วมของชุมชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหาการเผาอ้อยอย่างยั่งยืน การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

• อนาคตของการลดการเผาอ้อยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน การเพิ่มมูลค่าให้กับใบอ้อย และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจะแก้ปัญหานี้ได้ เรายังคงต้องช่วยกันหาทางสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ให้ใบอ้อย หาทางลดค่าขนส่งใบอ้อย ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักวิจัยจากหลายภาคส่วนมากๆ กำลังทำงานวิจัยด้านนี้อยู่ บางอย่างก็สำเร็จแล้วรอนำไปขยายสเกล บางส่วนก็เริ่มทดลองจริงในบางพื้นที่ และสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ 

แผนงานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง เป็นแผนที่แปลว่า Action Plan ที่บอกว่าหน่วยงานไหนต้องทำอะไร อย่างไร แค่ไหนในแต่ละปี แผนที่ไม่ใช่แค่ยอดตัวเลขเป้าหมายแต่ไม่บอกว่าต้องทำยัไงให้ถึงเป้า (ตัวอย่างเช่นที่บราซิล รัฐ โรงงานและชาวไร่ 19,000 รายลงนามกันปี 2008 เพื่อจะแบนทุกกิจกรรมการเผาให้หมดสิ้นภายในปี 2017)

กลไกการบังคับใช้กฏหมายที่จริงจังจากภาครัฐที่จริงใจ 

กลไกทางสังคม ชุมชนที่เข้มแข็งที่ทุกคนต้องมีจุดยืนร่วมกันว่า ‘ไม่เอาคนจุดไฟเผาใบอ้อย’ ผ่านการจูงใจรูปแบบต่างๆ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top