‘นักวิชาการ วิศวะเกษตร’ เผย!! ค่าแรงงานตัด ‘อ้อยสด’ สูงกว่า ‘อ้อยเผา’ ถึง 3 เท่า ชี้!! ต้องสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน เพิ่มมูลค่าให้ ‘ใบอ้อย’ พัฒนาเทคโนโลยี ที่เหมาะสม
(26 ม.ค. 68) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Khwan Saeng’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘การเผาอ้อย’ ในฐานะที่เติบโตมา ในโรงงานผลิตเครื่องจักรกลเกษตร ในจังหวัดที่มีไร่อ้อยเยอะมากๆ จนต่อมาได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนต่อ แล้วเลือกไปที่ Okinawa เพราะอยากจะทำรถตัดอ้อยขนาดเล็กช่วยชาวไร่จะได้ไม่ต้องเผา จนกลับมาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยข้อความที่ ‘Khwan Saeng’ โพสต์นั้นมีใจความว่า ...
วันนี้ขอมาตอบคำถามที่หลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับอ้อยสงสัยว่า ‘ทำไมต้องเผาอ้อย’ เท่าที่ตัวเองมีความรู้ที่จะตอบได้นะคะ
ปัญหาการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว: สาเหตุ วิธีแก้ไข และอนาคต
• การเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวเป็นปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมอ้อยไทย เนื่องจากลดต้นทุนแรงงาน แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ (PM2.5) และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน
• สาเหตุหลักมาจากค่าแรงงานตัด ‘อ้อยสด’ ที่สูงกว่า ‘อ้อยเผา’ ถึง 3 เท่า เจ้าของแปลงเล็กๆ ขาดแคลนแรงงานและเครื่องจักร ทำให้ต้องพึ่งพาระบบการเผาเพื่อลดต้นทุนและขายอ้อยให้ทันเวลา
• แม้จะมีเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กสำหรับการตัดอ้อยสด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุน การใช้งาน และความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงยังไม่ครอบคลุม
• การแก้ปัญหาจำเป็นต้องมีมาตรการควบคู่กัน ทั้งการเพิ่มราคาอ้อยสด ลดการรับซื้ออ้อยเผา การให้เงินสนับสนุนและสินเชื่อสำหรับเครื่องจักรกลเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบอ้อย
• งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดการเผาอ้อย เช่น เครื่องสับกลบใบอ้อย เครื่องอัดใบอ้อยเป็นก้อน และการใช้โดรนในการตรวจสอบการเผา
• อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการมีส่วนร่วมของชุมชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหาการเผาอ้อยอย่างยั่งยืน การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
• อนาคตของการลดการเผาอ้อยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน การเพิ่มมูลค่าให้กับใบอ้อย และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจะแก้ปัญหานี้ได้ เรายังคงต้องช่วยกันหาทางสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ให้ใบอ้อย หาทางลดค่าขนส่งใบอ้อย ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักวิจัยจากหลายภาคส่วนมากๆ กำลังทำงานวิจัยด้านนี้อยู่ บางอย่างก็สำเร็จแล้วรอนำไปขยายสเกล บางส่วนก็เริ่มทดลองจริงในบางพื้นที่ และสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ
แผนงานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง เป็นแผนที่แปลว่า Action Plan ที่บอกว่าหน่วยงานไหนต้องทำอะไร อย่างไร แค่ไหนในแต่ละปี แผนที่ไม่ใช่แค่ยอดตัวเลขเป้าหมายแต่ไม่บอกว่าต้องทำยัไงให้ถึงเป้า (ตัวอย่างเช่นที่บราซิล รัฐ โรงงานและชาวไร่ 19,000 รายลงนามกันปี 2008 เพื่อจะแบนทุกกิจกรรมการเผาให้หมดสิ้นภายในปี 2017)
กลไกการบังคับใช้กฏหมายที่จริงจังจากภาครัฐที่จริงใจ
กลไกทางสังคม ชุมชนที่เข้มแข็งที่ทุกคนต้องมีจุดยืนร่วมกันว่า ‘ไม่เอาคนจุดไฟเผาใบอ้อย’ ผ่านการจูงใจรูปแบบต่างๆ