Thursday, 15 May 2025
อัญมณี

เติบโตต่อเนื่อง!! ‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! อัญมณี-เครื่องประดับไทย ส่งออกพุ่งเกือบ 50% จ่อดัน ภาคอุตสาหกรรมฯ คาด ปี 66 โตเพิ่มอีก 10 - 15%

(9 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงมูลค่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทย ปี 2565 ชื่นชมเป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการเติบโตที่สูง มีตัวเลขการส่งออกเป็นอันดับที่ 3 ของไทย โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย จะสามารถเติบโตได้อีกถึง 10 - 15%

นายอนุชา กล่าวว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มียอดการส่งออกสูงสุด เป็นอันดับที่ 3 ของไทย โดยจากสถิติช่วงเดือน มกราคม-ธันวาคม 2565 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกถึง 15,057.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการขยายตัวกว่า 49.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ซึ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ, เครื่องประดับทอง, เพชรเจียระไน, เครื่องประดับเงิน, พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน โดยมีตลาดการส่งออกที่สำคัญ (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, ฮ่องกง, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, สิงคโปร์, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยียม, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ตามลำดับ

นายอนุชา กล่าวว่า มูลค่าตลาดการส่งออกของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมส่งออกทองคำ) ทุกตลาดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแตกต่างกันไป โดยจุดเด่นของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย อยู่ที่การออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยความปราณีต ในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมาก

นอกจากนี้ จากข้อมูลในปี 2565 ได้มีผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นจำนวนกว่า 12,892 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 2.41% ซึ่งแสดงถึงการเติบโต ของภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ

‘เพื่อไทย’ พบปะ-หารือ ผู้ประกอบการอัญมณี ยัน!! พร้อมผลักดันอุตฯ อัญมณีไทย เป็นศูนย์กลางของโลก

‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ นำทีมเพื่อไทยพบผู้ประกอบการอัญมณีฯ ยืนยัน ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ พร้อมสร้างงาน-สร้างตลาด-สร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมอัญมณี ขณะที่ผู้ประกอบการฝากความหวัง ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลกให้ได้

(31 มี.ค. 66) พรรคเพื่อไทย นำโดย ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคเพื่อไทย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กทม. นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ กรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย นิกร ซัจเดว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก. เขตบางรัก พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ได้แก่ กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ อรรฆรัตน์ นิติพน นวธันย์ ธวัชวงศ์เดชากุล ศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร เข้าพบปะหารือผู้ประกอบการอัญมณี สมาพันธ์อัญมณีเครื่องประดับและโลหะมีค่า (ประเทศไทย) ที่อาคาร Jewely Trade Center ถ.สีลม

สมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ได้ด้วยการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60-70% สินค้ากลุ่มอัญมณีสร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาท สร้างการจ้างงานนับล้านตำแหน่ง แต่ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาที่ทรมานผู้ประกอบการอัญมณีเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้นำเสนอทางออกข้อเสนอแนะ แต่รัฐบาลไม่รับฟัง เพราะไม่มีการกระจายอำนาจ การตัดสินใจรวมศูนย์ที่คนเดียว หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล อยากเสนอให้ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีของโลก 

“ความหวังของผู้ประกอบการ การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องเปลี่ยนประเทศไทย เป็นโอกาสของภาคประชาชนที่จะได้รู้ว่าปากกามีราคาอย่างไร ผมมั่นใจหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ การค้า จากหน้ามือเป็นหลังมือ ผมอยากเห็นผู้นำที่สร้างความเชื่อมั่นในระดับโลก อยากให้ดูรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ยืนยันทุกรัฐบาล ทั้งรัฐบาล ดร.ทักษิณ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ รับฟังเรา วันนี้เราถูกบีบจนหายใจไม่ออก” สมชาย กล่าว 

ปานปรีย์ พหิทธานุกร กล่าวว่าอัญมณีเป็นสินค้าสำคัญของไทย เป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียง สร้างหน้าตาให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก เวลานี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้ซื้อนิยมมาซื้ออัญมณีในไทยมากขึ้น หากจีนและอินเดียเติบโต จะทำให้อาเซียนเติบโตตามไปด้วย อยากให้ภาคเอกชนร่วมกันทำงาน หากเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล พร้อมเข้าไปสนับสนุนเต็มที่ ทั้งอุตสาหกรรมอัญมณี และคนทำงานทุกด้าน รวมทั้งช่างฝีมือที่ยังรายได้น้อย อยากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จะเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนมากขึ้น

‘นายกฯ’ ยินดี!! ‘ไทย-ศรีลังกา’ ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA พร้อมร่วมมือพัฒนาอัญมณี-หนุนการยกเว้นวีซ่าระหว่าง 2 ชาติ

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความแสดงความดีใจ ที่รัฐบาลไทยได้เป็นแขกพิเศษในงานฉลองเอกราช 76 ปี ของศรีลังกา โดยระบุว่า…

“ดีใจที่รัฐบาลไทยได้เป็นแขกพิเศษในงานฉลองเอกราช 76 ปีของศรีลังกา ขณะที่การหารือก็มีผลเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA ซึ่งครอบคลุมเรื่องอัญมณี ซึ่งมี MOU ด้านความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ”

นายกรัฐมนตรี ยังระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความตกลงด้านบริการการเดินอากาศระหว่างกัน และผลักดันการยกเว้น Visa ให้ชาวไทย-ศรีลังกา เดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศพัฒนาไปได้เร็วขึ้นด้วย โดยบริษัทการบินไทยจะเริ่มเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลัมโบ ในวันที่ 31 มี.ค. 67 นี้

“ไทยยินดีสนับสนุนการพัฒนาการประมงของศรีลังกาที่มุ่งสู่ความทันสมัย เพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและจะจับมือกันเพิ่มศักยภาพด้านการเดินทะเล ความมั่นคงทางทะเล และการป้องกันประเทศด้วย” นายเศรษฐา ระบุทิ้งท้าย

‘สุชาติ’ หารือ ‘ทูตโมซัมบิก’ ผลักดันอุตสาหกรรม-การค้าอัญมณี เล็งแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ-วัตถุดิบในการทำเครื่องประดับ

(1 ส.ค. 67) ณ กระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้การต้อนรับและหารือกับนายเบลมีรู จูแซ มาลาตี (H.E. Mr. Belmiro José Malate) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโมซัมบิกประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงจาร์กาตา ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วม ‘พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗’ 

โดยโมซัมบิกเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณแอฟริกาตอนใต้ เป็นเมืองท่าสำคัญ สามารถเป็นประตูการค้าไปสู่ทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้ อาทิ แอฟริกาใต้ มาลาวี ซิมบับเว แซมเบีย และเอสวาตินี 

นอกจากนี้ โมซัมบิกยังเป็นแหล่งวัตถุดิบอัญมณีและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย ขณะเดียวกัน ไทยมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตร และเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งโมซัมบิกมีความต้องการใช้ภายในประเทศสูง จึงได้ฝากเชิญชวนนักธุรกิจโมซัมบิกเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทย อาทิ Bangkok Gems & Jewelry Fair (อัญมณีและเครื่องประดับ) งาน Bangkok RHVAC and E&E (สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) และงาน THAITHAM (เครื่องจักรกลการเกษตร) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยเข้าสู่ตลาดโมซัมบิก ขณะเดียวกัน โมซัมบิกได้ฝากเชิญชวนนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงาน FACIM ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ของโมซัมบิก จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567 ณ กรุงมาปูโต 

“ผมได้พูดคุยหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของทั้งสองประเทศ
ซึ่งมีผลประโยชน์เกื้อกูลกัน โดยโมซัมบิกมีความประสงค์ที่จะเรียนรู้ทักษะการเจียระไนจากไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ไทยมีความต้องการวัตถุดิบอัญมณี โดยเฉพาะพลอยแดงและพลอยเนื้ออ่อนจากโมซัมบิก ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดพลอยคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผมจึงเสนอให้ทั้งสองฝ่ายจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน และในโอกาสเดียวกัน ผมได้แจ้งท่านเอกอัครราชทูตว่า ขอเรียนเชิญนายการ์โลส ซาคาเรียส (H.E. Mr. Carlos Zacarias) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรณีและพลังงานโมซัมบิก เดินทางเยือนประเทศไทย ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์มีการจัดงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair ในเดือนกุมภาพันธ์และกันยายนของทุกปี เพื่อต่อยอดความสัมพันธ์ด้านการค้าอัญมณีระหว่างสองประเทศต่อไป” นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โมซัมบิกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 56 ของไทย และอันดับที่ 6 ในทวีปแอฟริกา โดยในปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 693.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (24,254.61 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปโมซัมบิก 181.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,264.90 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากโมซัมบิก 511.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (17,989.71 ล้านบาท) สำหรับการค้าระหว่างกันในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีมูลค่า 299.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,765.76 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปโมซัมบิก 134.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,813.16 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากโมซัมบิก 164.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,952.60 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคหะสิ่งทอ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ก๊าซธรรมชาติ อัญมณี ถ่านหิน สินแร่โลหะ และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง

ทับทิม-ไพลิน เฉิดฉายกลางเซี่ยงไฮ้ คนจีนเเห่ชมสินค้าไทยงานโชว์นานาชาติ (CIIE)

(4 พ.ย. 67) (ซินหัว) ชุน ไพลินดีเลิศ วัย 49 ปี ผู้ค้าอัญมณี และประธานสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ย้ายมาไทยตั้งแต่ยังเด็กและก่อตั้งบริษัท ไทยแลนด์ หย่งไท่ จิวเวลรี จำกัด (Thailand Yongtai Jewelry) ตอนอายุ 18 ปี ซึ่งนำสู่การมีส่วนร่วมในแวดวงธุรกิจการค้าอัญมณี โดยหนึ่งในภาพคุ้นตาสำหรับชุนคือการได้เห็นเหล่าผู้ชื่นชอบอัญมณีจากทั่วทุกมุมโลกมาเยี่ยมชมศูนย์การค้าอัญมณีในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยที่มีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางการแปรรูปทับทิมและไพลินระดับโลก

ชุนกำลังจะนำสินค้าร่วมจัดแสดงที่งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ 7 ที่เตรียมจัดในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน เขาเข้าร่วมงานทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 2018 โดยปีนี้นับเป็นการเข้าร่วมงานครั้งที่ 7 แล้ว โดยชุนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่าครั้งนี้ตนจะนำเครื่องประดับเกือบ 1,000 ชิ้น รวมทั้งทับทิมและไพลินมากกว่า 100 ชิ้นมาจัดแสดง

ชุนเคยคว้ารางวัลหลายรายการจากงานมหกรรมฯ ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านจากฐานะผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เข้าร่วมสู่ผู้ประกอบการที่ร่วมจัดแสดงอย่างเป็นประจำ ชุนเชื่อว่าเสน่ห์ของงานมหกรรมนี้อยู่ที่ความอัศจรรย์ใจในทุกๆ ปี และผลประโยชน์ที่ได้รับในแต่ละครั้ง พร้อมเล่าย้อนถึงประสบการณ์การเข้าร่วมครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งเขาได้รับคำสั่งซื้อตามที่ตั้งเป้าไว้และสร้างสายสัมพันธ์อันดีที่มีค่า

ชุนเผยว่างานมหกรรมฯ เอื้อประโยชน์มากมาย ทั้งการได้เรียนรู้สิ่งใหม่และได้ขยับขยาย "กลุ่มมิตรสหาย" ผ่านแพลตฟอร์มนี้ การเข้าร่วมตลอดหลายปีทำให้ชุนเข้าใจความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปและแนวโน้มล่าสุดของผู้บริโภคชาวจีนดียิ่งขึ้น ซึ่งลูกค้าและพันธมิตรที่ได้จากงานมหกรรมฯ มีส่วนสนับสนุนการขยายธุรกิจของเขา

ขณะเดียวกัน ชุนบอกเล่าถึงประสบการณ์น่าจดจำจากงานมหกรรมฯ ปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยแม้ต้องเผชิญหน้ากับสารพัดความท้าทาย ทว่าชุนสามารถเข้าร่วมในฐานะผู้จัดแสดงอัญมณีจากต่างประเทศเพียงรายเดียวในงานมหกรรมปีนั้น

งานมหกรรมฯ ถือเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่สำหรับการเชื่อมต่อระดับโลก และชุนเชื่อว่าการที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้อย่างต่อเนื่องนั้นถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญท่ามกลางการค้าระหว่างประเทศที่ตึงตัวขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากงานมหกรรมฯ ได้สร้างโอกาสใหม่ให้กับนานาประเทศ อาทิ ไทย ในการเข้าสู่ตลาดจีน ส่งผลให้ตลาดจีนอันกว้างขวางเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับโลก

ตั้งแต่เข้าร่วมงานมหกรรมฯ ครั้งแรกจนถึงครั้งที่เจ็ด บูธของชุนขยายพื้นที่จากเดิม 36 เป็น 72 ตารางเมตร ขนาดบูธที่เพิ่มขึ้นสองเท่าสะท้อนถึงธุรกิจของชุนที่เติบโต รวมทั้งมนต์เสน่ห์และอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของงานมหกรรมฯ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาชุนได้เห็นถึงพัฒนาการของงานมหกรรมฯ พร้อมทั้งสนับสนุนให้บริษัทอื่นๆ ของไทยเข้าร่วมงานนี้ด้วย

นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 ชุนดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฯ และยังเป็นรองเลขาธิการหอการค้าไทย-จีน โดยเขาทุ่มเททำงานเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างบริษัทไทยและจีน

ชุนระบุว่างานมหกรรมฯ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้อาจพบเจอความท้าทายในการเข้าร่วมงานมหกรรมการค้าขนาดใหญ่รูปแบบนี้ เพราะหลายรายไม่คุ้นเคยกับงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ดังนั้นนอกเหนือจากนโยบายพิเศษที่ผู้จัดงานจัดให้แล้ว หอการค้าฯ ยังเสนอบริการต่างๆ อาทิ บริการแปลภาษา เพื่อช่วยให้ผู้จัดแสดงสินค้าใช้ประโยชน์จากโอกาสอย่างเต็มที่

ชุนเสริมว่าหอการค้าฯ ได้จัดการให้บริษัทไทยนับสิบแห่งเข้าร่วมงานมหกรรมในครั้งนี้ โดยเน้นที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคอาหารและการแพทย์เป็นหลัก พร้อมให้คำมั่นว่าจะให้บริการที่ยอดเยี่ยมแก่ผู้เข้าร่วมทุกคน และหวังว่าผู้เข้าร่วมงานจะประสบความสำเร็จมากขึ้นผ่านงานมหกรรมนี

แฟ้มภาพซินหัว : ทับทิมที่สำนักงานของชุน ไพลินดีเลิศ ผู้ค้าอัญมณีและผู้จัดแสดงในงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน ที่กรุงเทพฯ วันที่ 23 ต.ค. 2024


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top