Thursday, 8 May 2025
อนามัยโลก

วันแรกที่เข้าทำเนียบขาว ผู้เชี่ยวชาญหวั่นกระทบสาธารณสุขโลก

(23 ธ.ค.67) คณะผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขเตือนผลกระทบระดับ 'หายนะ' ต่อสาธารณสุขทั่วโลกหากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หลังจากทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ กำลังหาทางทำการถอนตัวดังกล่าวในวันแรกของการเข้าทำงานบริหารประเทศ

รายงานระบุว่าสมาชิกทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของทรัมป์ได้แจ้งกับคณะผู้เชี่ยวชาญถึงเจตจำนงจะประกาศการถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก ณ พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ในวันที่ 20 ม.ค. 2025 ซึ่งการถอนตัวดังกล่าวจะทำให้องค์การฯ สูญเสียแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ที่สุดและส่งผลกระทบต่อความสามารถรับมือวิกฤตสาธารณสุข

ลอว์เรนซ์ กอสติน ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขประจำศูนย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ชี้ว่าแผนการถอนตัวของสหรัฐฯ จะเป็น 'หายนะ' กับสาธารณสุขทั่วโลก ทำให้องค์การอนามัยโลกเผชิญช่วงเวลายากลำบากในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และอาจนำสู่การตัดลดบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน 'อหิวาตกโรค' หลังพบผู้ป่วยพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี"

(30 ธ.ค. 67) องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ "อหิวาตกโรค" เป็น "ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่" หลังจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

นางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การระบาดในครั้งนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องดำเนินการโดยด่วน ทั้งการรณรงค์ฉีดวัคซีนและการปรับปรุงระบบน้ำและสุขอนามัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการระบาด

แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการควบคุมโรคอหิวาตกโรคในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2022 โดยมี 44 ประเทศรายงานพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 25% จาก 35 ประเทศในปี 2021 และแนวโน้มการระบาดยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2023 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงขึ้นอย่างมาก

โดยซูดานใต้กำลังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงที่สุดในศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยบริเวณเมืองเร็งค์ ซึ่งเป็นจุดรับผู้อพยพจากความขัดแย้งในซูดาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในซูดานอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นที่มีสุขาภิบาลไม่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ WHO และรัฐบาลซูดานใต้เร่งแจกจ่ายวัคซีนในพื้นที่กรุงจูบาและบริเวณใกล้เคียง แต่แฮร์ริสระบุว่า การฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

แฮร์ริสเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาอหิวาตกโรคอย่างยั่งยืนต้องมุ่งไปที่การจัดหาน้ำสะอาดและแยกน้ำดื่มออกจากพื้นที่สุขา “วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือช่วยบรรเทาโรค แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้น้ำสะอาดเข้าถึงได้และแยกน้ำสะอาดจากพื้นที่ที่ใช้เป็นห้องน้ำ” เธอกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วเพื่อหยุดการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

นางแฮร์ริสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีทีจีเอ็นของจีนว่า การกลับมาระบาดอีกครั้งของอหิวาตกโรคเกิดจากทรัพยากรที่มีจำกัด โดยเฉพาะในเรื่องของระบบน้ำและสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอในหลายประเทศ ซึ่งทำให้โรคนี้กลายเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก ในเดือนมกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้จัดประเภทการระบาดของโรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

นางแฮร์ริสกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ยังไม่เพียงพอ และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้มั่นใจว่า ระบบน้ำและสุขอนามัยในแต่ละประเทศจะปลอดภัยและสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้

อหิวาตกโรคเป็นโรคติดเชื้อในลำไส้เฉียบพลันที่เกิดจากแบคทีเรีย "ไวบริโอ โคเลอแร" (Vibrio cholerae) ซึ่งแพร่กระจายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระ แม้ว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและการรักษาสุขอนามัยที่เหมาะสม แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจถึงแก่ชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์ป่วยโรคอหิวาต์ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ล่าสุดในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบว่าฝั่งเมียนมาเสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนในเมียวดีและโรงพยาบาลบ้านโก๊กโก๋ จำนวนผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ดังกล่าวมีประมาณ 450 คน ส่วนที่หมู่บ้านส่วยโก๊กโก่ หรือเขตอิทธิพลจีนเทาในจังหวัดเมียวดี ซึ่งตรงข้ามกับตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด และบ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ได้รับการประสานจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคจำนวน 3 ราย ใน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนถุงทอง 1 ราย ชุมชนร่วมแรง 1 ราย และชุมชนมณีไพสณ์ 1 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตเทศบาลนครแม่สอด

สหรัฐร่อนจดหมายถอนตัว WHO เป็นทางการ จับตา 'จีน' ผงาดชาติผู้สนับสนุนรายใหญ่แทน

(24 ม.ค.68) องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระบุว่าได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันพุธ เกี่ยวกับการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของ WHO โดยการถอนตัวนี้จะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2569

ทั้งนี้ กระบวนการถอนตัวจะใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปี หลังจากประเทศที่ต้องการลาออกแจ้งเรื่องอย่างเป็นทางการต่อ WHO โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายค้างชำระทั้งหมด ตามมติของสภาคองเกรสซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2491  

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของ WHO ด้วยสัดส่วนประมาณ 18% ของงบประมาณทั้งหมด สำหรับปี 2567-2568 งบประมาณของ WHO อยู่ที่ประมาณ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 230,894 ล้านบาท)  ตามด้วยประเทศจีนมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งการออกของสหรัฐกำลังจะเปิดทางให้จีนกลายเป็นชาติผู้สนับสนุน WHO เป็นอันดับหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้ยกเลิกการประชุมกับหน่วยงานภายนอก ระงับการเผยแพร่สิ่งพิมพ์บางฉบับ และสั่งให้พนักงานหยุดการเดินทาง หลังได้รับคำสั่งจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์  

แหล่งข่าวเผยว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา การประชุมระดับรัฐและรัฐบาลกลางเกี่ยวกับไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งส่งผลกระทบต่อโคนมและปศุสัตว์ในหลายรัฐ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) ได้ถูกยกเลิก นอกจากนี้ การฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขก็ถูกเลื่อนออกไป  

ปกติแล้ว การประชุมเกี่ยวกับไข้หวัดนก H5N1 จะจัดเป็นประจำ แต่แหล่งข่าวระบุว่าการประชุม 'One Health' ซึ่งมุ่งเน้นผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์ ที่กำหนดจัดในวันพฤหัสบดีนี้ ถูกยกเลิกอย่างไม่คาดคิด  

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านระหว่างประธานาธิบดีมักส่งผลให้เกิดการชะลอการสื่อสารอยู่บ้าง แต่แหล่งข่าวกล่าวว่าการระงับกิจกรรมครั้งนี้มีขอบเขตที่กว้างขวางผิดปกติ  

การยกเลิกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่โดโรธี ฟิงค์ รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำสั่งให้หยุดการเผยแพร่เอกสารและการสื่อสารต่อสาธารณะทั้งหมดทันที รวมถึงห้ามเจ้าหน้าที่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ โดยคำสั่งนี้จะมีผลจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์  

ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มแสดงความกังวลต่อการระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ แล้วเกือบ 70 ราย ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย CDC รายงานว่าส่วนใหญ่เป็นคนงานฟาร์มและมีอาการเพียงเล็กน้อย

นักวิชาการชำแหละ ทรัมป์บอกลา WHO ถอนข้อตกลงปารีส เปิดช่องจีนครองบทบาทผู้นำโลก

(24 ม.ค.68) หลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยสองเพียงไม่นาน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกใน 2 องค์กรระดับโลกคือ การถอนตัวออกจากสมาชิกองค์การอนามัยโลก และการถอนตัวสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งท่าทีทั้งสองดังกล่าว นักวิชาการจากสถาบันในรัฐแคลิฟอร์เนียมองว่า เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น 

ศาสตราจารย์โรเดอริก เคียวเวียต (Roderick Kiewiet) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) เผยต่อสำนักข่าวสปุตนิกว่า ในกรณีการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น มีลักษณะเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะสหรัฐและประเทศอื่น ๆ แทบไม่มีทางบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ได้อยู่แล้ว

“การถอนตัวของสหรัฐเป็นเพียงการยืนยันว่าทั่วโลกยังคงใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอัตราเดิมต่อไปอีกนาน” เคียวเวียตกล่าว ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับศาสตราจารย์คานิชกัน สถาสิวัม (Kanishkan Sathasivam) จากมหาวิทยาลัยเซเลมสเตต รัฐแมสซาชูเซตส์ เห็นด้วยว่าการถอนตัวครั้งนี้เป็นเพียง 'เชิงสัญลักษณ์' และคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว  

“หลายสิ่งที่สหรัฐทำในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นดำเนินการผ่านกฎหมายในประเทศ ทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐ ซึ่งแม้แต่ประธานาธิบดีก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง” สถาสิวัมกล่าว  

ด้าน ศาสตราจารย์ริชาร์ด เบนเซล (Richard Bensel) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า การถอนตัวของสหรัฐจากข้อตกลงปารีสจะลดบทบาทของประเทศในเวทีโลก ขณะเดียวกัน จีนอาจใช้โอกาสนี้เพื่อเพิ่มบทบาทความเป็นผู้นำของตัวเอง “ผลกระทบหลักจากการถอนตัวครั้งนี้คือการสูญเสียอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ ขณะที่จีนจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ทรัมป์ทิ้งไว้” เบนเซลกล่าว  

ขณะที่กรณีทรัมป์สั่งถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) สะท้อนว่าทรัมป์ละเลยความเป็นจริงของวิกฤตภูมิอากาศและผลกระทบในระดับโลก แกเร็ธ เจนกินส์ นักวิจัยอาวุโสอิสระจากโครงการศึกษาซิลค์โร้ดและศูนย์ตุรกีแห่งสถาบันนโยบายความมั่นคงและการพัฒนาในกรุงสตอกโฮล์มกล่าวว่า 

"ทุกประเทศจำเป็นต้องดำเนินมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิก เช่นเดียวกับที่เราทุกคนต้องรับผลกระทบ หากสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันมากขึ้น ก็จะสร้างมลพิษมากขึ้น และเช่นเดียวกับที่การแพร่ระบาดของโควิดแสดงให้เห็นว่าโรคระบาดเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน แน่นอนว่า WHO จะทำงานได้อย่างแข็งแกร่งหากสหรัฐยังเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้นการถอนตัวจาก WHO จะจะยิ่งทำให้องค์กรนี้อ่อนแอลง" เจนกินส์กล่าว 

อย่างไรก็ตาม เจนกินส์ เห็นพ้องกับนักวิชาการคนอื่นๆ ว่า การที่สหรัฐถอนตัวจาก WHO จะเป็นโอกาสทองที่จีนจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกนี้มากขึ้น 

ทรัมป์ส่งสัญญาณคืนดี WHO ถ้ารับปากปรับปรุงองค์กรใหม่

(27 ม.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณอาจพิจารณากลับเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก (WHO) หากองค์กรสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น พร้อมแสดงความไม่พอใจที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินสนับสนุน WHO ในสัดส่วนที่สูงกว่าจีน แม้จีนจะมีประชากรมากกว่าสหรัฐฯ หลายเท่า

ทรัมป์ได้กล่าวระหว่างการปราศรัยที่นครลาสเวกัสว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณากลับเข้าร่วม WHO อีกครั้ง แต่การตัดสินใจนี้จะขึ้นอยู่กับการปรับปรุงภายในองค์กรก่อน ขณะเดียวกัน เขายังกล่าวถึงความไม่เป็นธรรมที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินสนับสนุน WHO มากกว่าจีน แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่สนับสนุน WHO สูงสุดในปัจจุบัน โดยการสนับสนุนของจีนคิดเป็นราว 18% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่ง WHO มีงบประมาณ 2 ปีล่าสุดอยู่ที่ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศออกจากการเป็นสมาชิก WHO อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2569 โดยทรัมป์แถลงในวันที่ 20 มกราคม หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง โดยอ้างว่า WHO ล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตสุขภาพระดับโลกอื่นๆ

ผู้นำอาร์เจนตินาสั่งถอนตัวจาก WHO อ้างบริหารประเทศได้อิสระ-ลดภาระงบประมาณ

(6 ก.พ. 68) ทำเนียบรัฐบาลอาร์เจนตินาแถลงว่าประธานาธิบดีฆาบิเอร์ มิเล มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยให้เหตุผลว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขได้อย่างยืดหยุ่นขึ้น และบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2566 มิเลดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ แม้ว่าอาร์เจนตินาจะมีสถิติเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2567 แต่การส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศกลับลดลง ส่งผลให้อัตราความยากจนพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ มิเลไม่เคยปิดบังความชื่นชมที่มีต่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ ได้ลงนามคำสั่งบริหารให้สหรัฐฯ ถอนตัวจาก WHO ทันทีหลังกลับเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top