Tuesday, 22 April 2025
สแกมเมอร์

จีนเข้มปราบมิจฉาชีพออนไลน์ แบล็กลิสต์ 3 ปี คุกสูงสุด 5 ปี เริ่ม 1 ธ.ค.นี้

(28 พ.ย. 67) ซินหัวของทางการจีนรายงานว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และธนาคารประชาชนจีน ร่วมออกแนวปฏิบัติใหม่ที่มีชื่อว่า “มาตรการลงโทษการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง” กำหนดเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2567 มุ่งยกระดับการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ของประเทศให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

แนวปฏิบัติดังกล่าวประกอบด้วย 18 บท มุ่งเป้าไปที่การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมลักษณะต่าง ๆ พร้อมกับกำหนดเกณฑ์ในการระบุตัวผู้กระทำผิดและกำหนดบทลงโทษตามสัดส่วนความผิด แนวปฏิบัติชี้ว่า ผู้กระทำผิดอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการเงิน โทรคมนาคม และเครดิตนานถึง 3 ปี ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการมีส่วนร่วม ส่วนผู้ที่กระทำผิดซ้ำอาจได้รับโทษสูงสุดถึง 5 ปี

เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า สาเหตุที่การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะเศรษฐกิจใต้ดินที่สนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายดังกล่าว ผู้ประกอบการในตลาดมืดและตลาดสีเทาเหล่านี้ให้เช่าหรือขายซิมการ์ดและบัญชีธนาคาร ซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล ส่งเสริมการรับส่งข้อมูลออนไลน์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และมีส่วนร่วมในแผนการฟอกเงิน

สิงคโปร์ให้อำนาจตำรวจ คุมบัญชีปชช.สกัดสแกมเมอร์

(8 ม.ค. 68) สิงคโปร์สร้างความฮือฮาในวงการกฎหมายโลกด้วยการผ่านกฎหมายใหม่ที่มอบอำนาจให้ตำรวจควบคุมบัญชีธนาคารของบุคคล หากพบหลักฐานชัดเจนว่าบุคคลนั้นกำลังตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง โดยกฎหมายดังกล่าวผ่านการอนุมัติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2025 และถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่มีมาตรการเช่นนี้  

ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสืบสวนอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ สามารถออกคำสั่งหยุดการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทันที หากพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าผู้ถือบัญชีกำลังจะโอนเงินให้กับกลุ่มผู้หลอกลวง แม้ว่าเจ้าของบัญชีจะเต็มใจโอนเงินด้วยตัวเองก็ตาม  

สำหรับบุคคลที่ถูกสั่งจำกัดตามกฎหมายนี้ จะถูกระงับการใช้งานบัญชีธนาคาร การเข้าถึงตู้เอทีเอ็ม และวงเงินสินเชื่อ โดยยังคงอนุญาตให้ถอนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้เพียง 30 วัน และสามารถต่ออายุได้สูงสุด 5 ครั้ง  
“เป้าหมายหลักของกฎหมายนี้คือการให้ตำรวจมีเวลามากขึ้นในการโน้มน้าวและแจ้งเตือนเหยื่อว่ากำลังถูกหลอกลวง รวมถึงขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อ”  

ทั้งนี้ คำสั่งควบคุมจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อไม่มีวิธีอื่นที่สามารถป้องกันเหยื่อได้ ซุนยังยกตัวอย่างกรณีหญิงวัย 64 ปีที่สูญเสียเงิน 400,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ให้กับผู้หลอกลวงที่อ้างว่าเป็นคนรัก  

ซุนเปิดเผยว่ามาตรการป้องกันในปัจจุบันไม่สามารถจัดการปัญหาหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 86% ของกรณีหลอกลวงมาจากการที่เหยื่อโอนเงินด้วยตัวเอง และคิดเป็น 94% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนปีที่ผ่านมา  

ยูจีน ตัน นักวิเคราะห์การเมืองและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ กล่าวว่า  
“นี่เป็นกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองสถานการณ์เฉพาะของสิงคโปร์ และยังไม่พบประเทศอื่นที่มีกฎหมายลักษณะเดียวกัน” 

แม้จะมีความกังวลว่ากฎหมายอาจเป็นการล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคล แต่เขาเชื่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์มองว่าการหลอกลวงเป็นภัยคุกคามทางสังคมที่สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง  

จามัส ลิม ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคแรงงานแสดงความกังวลว่ากฎหมายนี้อาจแทรกแซงสิทธิในการทำธุรกรรมส่วนบุคคล แต่ยังคงสนับสนุนเนื่องจากเห็นถึงปัญหาการหลอกลวงที่ทวีความรุนแรงขึ้น  

ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่าในปี 2023 สิงคโปร์สูญเสียเงินกว่า 650 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จากกรณีหลอกลวง และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปี 2024 พร้อมกับมูลค่าความเสียหายที่อาจเพิ่มขึ้น 40%  

ยูจีน ตัน เสริมว่า  “ปัญหาหลอกลวงกำลังอยู่ในจุดวิกฤติ หากยังไม่ถึงจุดนั้นแล้ว”  การออกกฎหมายใหม่นี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ในการปกป้องประชาชนจากกลุ่มมิจฉาชีพ แม้จะเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดและไม่เคยมีมาก่อนในโลก

จีนเริ่มแคนเซิลทัวร์มาไทยช่วงตรุษจีน หวั่นถูกจีนเทาลักพาตัวเหมือนกรณีซิงซิง

(10 ม.ค.68) เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ สื่อฮ่องกงรายงานว่า นักท่องเที่ยวจีนหลายคนที่วางแผนจะเดินทางไปประเทศไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ ได้แสดงความกังวลผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมตั้งคำถามตรงไปตรงมาหลังเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับนักแสดงจีน 'หวังซิง' (Wang Xing) ซึ่งหายตัวไปหลังจากเดินทางมาถึงประเทศไทยจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายฝ่ายจับตาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

หวังซิง ก่อนหน้านี้เขาเป็นนักแสดงที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จนกระทั่งเหตุการณ์หายตัวไปของเขากลายเป็นข่าวดัง ชื่อของเขาได้ปรากฏในการค้นหาอันดับต้น ๆ บนสื่อโซเชียลมีเดียของจีน

แม้การหายตัวไปของเขา ทางด้านเจ้าหน้าที่ไทยได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วท่ามกลางการจับตามองจากสาธารณะ โดยสามารถช่วยเหลือหวังซิงออกมาจากกลุ่มขบวนการสแกมเมอร์ ในเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทยกับเมียนมาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เขาถูกมองว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกพบในสภาพอิดโรย พร้อมถูกโกนหัวตามภาพที่ถูกเผยแพร่

เหตุการณ์นี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่กำลังจะเดินทางมาประเทศไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังใกล้เข้ามาเป็นอย่างมาก

บนแพลตฟอร์ม Xiaohongshu หรือ 'Little Red Book' หรือที่รู้จักกันในฐานะ Instagram ของจีน มีการค้นหาคำว่า 'How do I cancel my Thailand trip?' พบโพสต์มากกว่า 380,000 โพสต์ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ชาวนา หลี่ (Shawna Li) หญิงสาวจากมณฑลเจ้อเจียงในจีน กล่าวว่าตนเองและเพื่อนหญิงสามคนวางแผนจะเดินทางไปประเทศไทยในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 28 มกราคมถึง 4 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แต่เมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับหวังซิง พวกเธอจึงตกลงใจที่จะยกเลิกการเดินทาง

"เราเปลี่ยนใจเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อเราทั้งสี่เป็นผู้หญิงที่เดินทางไปด้วยกัน" เธอกล่าว "ฉันไม่เคยไปประเทศไทยมาก่อน เคยได้ยินว่ามีราคาถูกและสนุก ฉันเคยคิดว่าอาจจะไม่ปลอดภัยบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดนี้"

ผู้จัดการของตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของจีนอย่าง Ctrip สาขาในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า ประสบการณ์ของหวังซิงส่งผลให้จำนวนการจองเที่ยวบินไปประเทศไทยลดลง

ผู้จัดการ Ctrip เผยว่าจนถึงขณะนี้ มีทัวร์ไปประเทศไทยเพียงทริปเดียวที่กำหนดจะออกเดินทางก่อนสิ้นเดือนนี้ โดยมีผู้ร่วมทริปเพียงสิบกว่าคนเท่านั้น "ในระยะสั้น เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการเดินทาง" ผู้จัดการกล่าว

สื่อฮ่องกงยังตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการอย่างรวดเร็วของตำรวจไทยต่อกรณีหวังซิง มีขึ้นหลังการเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ให้ปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้และจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวของไทย หลังจากที่ข่าวเกี่ยวกับการหายตัวของหวังซิงเผยแพร่ไปทั่ว

หลังจากที่หวังซิงได้รับการช่วยเหลือในวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยได้ถามเขาต่อหน้าสื่อเพื่อให้แสดงความพร้อมที่จะกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง

หวังซิงซึ่งสวมหมวกสีดำปิดบังใบหน้า ยืนยันด้วยคำพูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนว่า "ประเทศไทยยังคงปลอดภัย และผมจะกลับมาอีก"

มีรายงานว่า จำนวนการเยือนของนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศไทยอาจลดลงระหว่าง 10 ถึง 20% ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ตามการประเมินของสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวไทย (ATTA)

โดยในปี 2024 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทยถึง 6.73 ล้านคน ซึ่งจีนเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตามข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทั้งนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีจำนวนชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ถูกล่อลวงไปเข้าร่วมขบวนการสแกมเมอร์ที่ดำเนินการในภาคเหนือของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางการจีนเคยเผยข้อมูลเมืองปี 2023 ประเมินว่ามีชาวจีนราว 100,000 คน ที่ถูกหลอกลวงให้ไปทำงานเป็นสแกมเมอร์บริเวณชายแดนไทยเมียนมา

จีนให้คำมั่นลุยปราบแก๊งมิจฉาชีพข้ามชาติ หลังพบเหยื่อชาวจีนถูกขังในเมียนมา

กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (15 ม.ค.68) ระบุว่า จีนจะยกระดับความพยายามในการช่วยเหลือพลเมืองจีนที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งหลอกลวงพวกเขาไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงเมียนมา ตามรายงานจากสำนักข่าว CCTV ซึ่งเปิดเผยว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศได้หลอกลวงชาวจีนด้วยข้อเสนอการทำงานที่มีรายได้สูง พร้อมที่พัก อาหาร และค่าโดยสารเครื่องบิน ก่อนที่ผู้ถูกหลอกจะถูกกักขังในศูนย์หลอกลวงทางโทรคมนาคมในเมืองต่าง ๆ เช่น เมียวดี ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนเมียนมากับไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แถลงการณ์นี้ออกมาในช่วงที่เกิดกรณีการหายตัวไปของนักแสดงจีนในจังหวัดตากของไทย ซึ่งตำรวจไทยคาดว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

จีนกล่าวว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือพลเมืองที่ถูกกักขัง และจะดำเนินการอย่างจริงจังในการกวาดล้างศูนย์หลอกลวงด้านโทรคมนาคมและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ดำเนินการในต่างประเทศ

รายงานยังเผยถึงการร่วมมือกับทางการเมียนมาในปี 2566 เพื่อล้มล้างกลุ่มมาเฟียเชื้อสายจีน 'กลุ่มสี่ตระกูลโกก้าง' ที่มีการดำเนินการในบริเวณชายแดนเมียนมากับมณฑลยูนนานของจีน

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งตัวชาวจีนกว่า 900 คน ที่ถูกกักขังในศูนย์หลอกลวงที่เมืองเมียวดีกลับประเทศ ขณะที่เมียนมาในปี 2566 ได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการหลอกลวงทางโทรคมนาคมมากกว่า 31,000 คนกลับจีน

ตามข้อมูลจากสื่อของรัฐบาลจีน ช่วงนั้นพบว่ามีศูนย์หลอกลวงทางโทรคมนาคมในเมียนมามากกว่า 1,000 แห่ง และมีผู้คนกว่า 100,000 คนที่ถูกหลอกลวงในแต่ละวัน

นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนได้พบปะกับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน รวมถึงการพนันออนไลน์และการหลอกลวงทางโทรคมนาคม

หวัง อี้ ลั่นจับมือชาติอาเซียน ปราบการพนันออนไลน์-แก๊งสแกมเมอร์

(17 ม.ค.68) นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในตอนหนึ่งของการหารือกับคณะผู้แทนจาก 10 ชาติสมาชิกอาเซียนที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยให้คำมั่นว่ารัฐบาลปักกิ่งจะร่วมมืออย่างแข็งขันกับบรรดาชาติอาเซียนในการกวาดล้างการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดน

หวัง อี้  ซึ่งยังดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่ากรณีการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ได้ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์สำคัญของพลเมืองจีนและประเทศอื่น ๆ ซึ่งสถานการณ์นี้จำเป็นต้องได้รับการให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน  

นอกจากนี้ นายหวังยังเรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบและดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมดังกล่าวให้สิ้นซาก รวมถึงปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดหลบหนีการลงโทษ  

จีนยืนยันความพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและความร่วมมือที่เป็นระเบียบในภูมิภาค นายหวังกล่าวทิ้งท้าย

จีนเรียกร้อง 'ไทย-เมียนมา' หยุดภัยคุกคามฉ้อโกงออนไลน์อย่างจริงจัง

(23 ม.ค. 68) หลิวจิ้นซง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชีย สังกัดกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่าจีนหวังว่าไทยและเมียนมาจะปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดนด้วยมาตรการที่เข้มงวด และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

หลิวกล่าวถ้อยคำข้างต้นระหว่างการพบปะหารือแยกกับฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน และติน หม่อง ชเว เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำจีน โดยหลิวได้แสดงความกังวลและหารือถึงความร่วมมือในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดน

หลิวกล่าวว่าเกิดเหตุฉ้อโกงทางโทรคมนาคมร้ายแรงหลายคดีในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามและสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์สำคัญของประชาชนจีนและประเทศอื่นๆ

จีนหวังว่าทั้งไทยและเมียนมาจะให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว ใช้มาตรการเข้มงวดปราบปรามการกระทำผิดลักษณะนี้ รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล

จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทวิภาคีและพหุภาคีร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนในหมู่ประชาชน และรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมทั่วไป

ด้านเอกอัครราชทูตไทยและเมียนมาประจำจีนกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับข้อกังวลของจีนและรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อหลายเหตุการณ์ฉ้อฉลที่เกิดขึ้น พวกเขาตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและเมียนมาในการปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาดผ่านมาตรการที่ครอบคลุมและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกักขัง กำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อแก๊งอาชญากรอย่างสอดคล้องตามกฎหมาย เสริมสร้างการควบคุมชายแดนและกำกับดูแลพื้นที่สำคัญ ตลอดจนจัดตั้งกลไกระยะยาวเพื่อกำจัดแหล่งซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามพรมแดน

ทำไม?? ‘เมียนมา’ กล้าด่า!! ‘ไทย’ ออกสื่อขนาดนั้น ชำแหละมหากาพย์ ‘แดนสแกมเมอร์’ ริมชายแดน ตอนที่ 1

(26 ม.ค. 68) เรื่องที่เอย่าเขียนนี้เริ่มต้นมาจากไม่กี่วันที่ผ่านมานี้มีข่าวใหญ่ที่ลงในหน้าสื่อของเมียนมาและไทยที่กล่าวว่าผู้นำเมียนมาอ้างว่าไทยให้การสนับสนุนสแกมเมอร์ที่ตั้งอยู่ริมชายแดนเมียนมา  ดังนั้นวันนี้เอย่าจะมาเล่าให้ทุกคนรู้กันตั้งแต่ต้นว่าทำไมฝั่งเมียนมาถึงกล้าด่าไทยออกสื่อขนาดนั้น

เมืองโจร The Origin

ทุกท่านคงรู้จักกันว่าอาณาจกรสแกมเมอร์ตอนนั้ที่มีก็คือ ฉ่วยก๊กโก  เคเคปาร์ค หวันหยา บ้านช่องแคบและตรงบ้านวาเล่ย์  แต่ถ้าย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดเมืองโจรแห่งแรกนั่นก็คือ ฉ่วยก๊กโก

ฉ่วยก๊กโก ได้รับการอนุมัติครั้งแรกในยุคที่นางอองซานซูจียังรั้งตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐ   ซึ่งในขณะนั้นมีสัญญาชัดเจนว่ามีการตกลงกันว่าการพัฒนาเมืองมีขนาดแค่ไหน  แต่พอระยะเวลาผ่านไป ปรากฎว่ากลุ่มทุนจีนได้สร้างเกินพื้นที่ ทางกองทัพเมียนมาก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเข้าไปควบคุมดูแล เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จนในยุคนั้นเจ้าหน้าที่ถูกจับติดคุกไปหลายคน  พอหลังจากรัฐประหาร มิน อ่อง หล่ายได้ออกประกาศฉบับหนึ่งเรื่องให้ยกเลิกใบอนุญาตแต่หลังจากเกิดการคว่ำบาตรจากต่างประเทศ  ทำให้ทางกองทัพต้องยกเลิกประกาศนี้เพราะความข้าวยากหมากแพงของชาวบ้านในพื้นที่

ต่อมาคือ เคเคปาร์ค นี่คือพื้นที่ของชิตตู ทีนี่มีประเด็นตรงที่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น สงครามระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมาได้ผลักดันทหารเมียนมาในพื้นที่ให้ออกไปจากจุดนี้ ภายหลัฃสงครามสงบ กองกำลัง BGF ของชิตตูจึงเข้ามาควบคุมตรงนี้และสร้างสัมพันธ์กับจีนเทาในที่สุด

ส่วนที่บ้านช่องแคบที่นายซิงซิงโดนจับไปเรียกค่าไถ่นั้นเป็นของ DKBA ร่วมกับจีนเทา เช่นเดียวกันกับตรงบ้านวาเลย์อันนั้นเป็นของกองกำลัง KNU  และที่เมืองหวันหยาก็เช่นเดียวกันที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของชนกลุ่มน้อยในตอนนี้เพราะทางรัฐบาลกลางเมียนมาไม่สามารถเข้าไปจัดการควบคุมได้นั่นเอง

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ไทยเป็นทางผ่าน หลอกคนอินเดียทำงานสแกมเมอร์ในลาว

สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงเวียงจันทน์ของลาว เปิดเผยเมื่อ (27 ม.ค. 68) ว่าได้ให้การช่วยเหลือคนอินเดีย 67 คนที่ถูกหลอกให้ทำงานในศูนย์คอลเซ็นเตอร์ผิดกฎหมายในลาวได้สำเร็จ พร้อมออกคำเตือนถึงหนุ่มสาวชาวอินเดียให้ระมัดระวังการถูกหลอก โดยเฉพาะหากได้รับข้อเสนองานในประเทศไทย  

สถานทูตอินเดียในลาวระบุว่า เหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ถูกกลุ่มอาชญากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว หลอกลวงให้มาทำงาน ก่อนจะถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกาย

เมื่อสถานทูตได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ส่งทีมลงพื้นที่และประสานงานกับตำรวจลาวเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ โดยหลังจากจัดการเอกสารเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายทั้งหมดถูกพาตัวจากแขวงบ่อแก้วมายังกรุงเวียงจันทน์ และได้รับการดูแลด้านที่พัก อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ อย่างครบถ้วน  

เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศลาว ได้เข้าพบผู้เสียหายเพื่อให้กำลังใจ รับฟังเรื่องราว และให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีต่อกลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ โดยยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการส่งผู้เสียหายกลับบ้านอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด  

สถานทูตอินเดียขอบคุณเจ้าหน้าที่ลาวที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเรียกร้องให้ดำเนินการกับแก๊งอาชญากรในเขตสามเหลี่ยมทองคำอย่างจริงจัง โดยเรื่องนี้ได้ถูกนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงของทางการลาวแล้ว โดยที่ผ่านมา สถานทูตอินเดียประจำกรุงเวียงจันทน์ได้ให้ความช่วยเหลือคนอินเดียรวม 924 คนในช่วงที่ผ่านมา โดย 857 คนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย  

สถานทูตฯ ยังได้เตือนว่า หากชาวอินเดียได้รับข้อเสนองานในประเทศไทย แต่เมื่อเดินทางถึงไทยแล้วกลับถูกพาไปเชียงรายที่ติดชายแดนไทย-ลาว นั่นอาจเป็นสัญญาณของการถูกหลอกลวงและนำตัวไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาว ซึ่งเมื่อไปถึง เหยื่อมักจะถูกยึดหนังสือเดินทางและบังคับให้เซ็นสัญญาที่เขียนเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย  

สถานทูตฯ แนะนำให้ผู้ที่สนใจทำงานต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์สถานทูตหรือสอบถามข้อมูลโดยตรงก่อนรับข้อเสนอใด ๆ และหากสงสัยว่าอาจตกเป็นเหยื่อ ให้รีบติดต่อสถานทูตทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกและตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

ชำแหละ!! มหากาพย์ ‘แดนสแกมเมอร์’ ริมชายแดน ตอนที่ 2 เผย!! มีสายลึกลับ เสนอ 20 ล้าน หลังเพิ่งตัดสัญญาณไปไม่นาน

จากตอนแรกที่เอย่า นำเสนอเรื่องของที่มาของเมืองสแกมเมอร์มาแล้วว่ามีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เอย่าจะมาเสนอตอนต่อในชื่อที่ว่า ‘ทำไมไทยคือจำเลย’

เอย่าได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลเมียนมามาว่าการที่ทางเมียนมามั่นใจมากถึงขั้นกล่าวหาว่าฝั่งไทยให้การสนับสนุนกลุ่มจีนเทาเหล่านี้ก็เพราะฝั่งไทยมีการส่งทั้งสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตลอดแม่น้ำข้ามไป มีทั้งตั้งเสาร์สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สัญญาณข้ามไปฝั่งตรงข้าม และการดึงไฟข้ามจากฝั่งไทยไปใช้ และเรื่องบัญชีม้าในประเทศไทยนะที่หลายคนเปิดไว้ให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ใช้  ทั้งรู้ก็ดีและรู้เท่าไม่ถึงการก็ดีว่าแล้วเรามาขุดกันดีกว่า

เรื่องสายสัญญาณข้ามแม่น้ำ นี่เป็นวิธีการในอดีตที่กลุ่มมิจฉาชีพริมชายแดนทำกันโดยคนกลุ่มนี้จะจ้างคนในพื้นที่ให้มาลากสายจากตู้ชุมทางส่งสัญญาณสวมกับตัวส่งต่อสัญญาณที่ร้อยสายเข้าไปในท่อข้ามแม่น้ำเมยไป ถามว่าค่ายอินเทอร์เน็ตไม่มีการตรวจสอบเลยหรือว่าอยู่ดี ๆ บางจุดมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และไม่คิดจะลงพื้นที่มาตรวจสอบบ้างหรือ

ส่วนค่ายมือถือนั้นแรกเริ่มก็แค่มีการซื้อซิมไปใช้งานพอมีการใช้งานมากขึ้น แทนที่ทางค่ายมือถือจะมาตรวจสอบว่าใครใช้ แต่กลับให้คนมาตั้งเสาสัญญาณชิดริมชายแดนแทน แบบนี้ก็หวานเจี๊ยบแก๊งคอลฯเลยสิ ถามว่าก่อนค่ายมือถือจะมาวางเสาสัญญาณต้นเป็นล้านไม่คิดจะลงมาสำรวจก่อนเหรอว่าใครเป็นผู้ใช้

กลุ่มที่ 3 เรื่องไฟฟ้า ล่าสุดเอย่าได้รับรายงานมาว่ากลุ่มมิจเหล่านี้เอาไฟฟ้าจากทางไทยไปโดยผ่านจากท่าข้ามแดนที่ตั้งอยู่ริมเมย ถามจริง ๆ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีการมาตรวจสอบและเอาผิดกันบ้างหรือยัง

สุดท้ายคือกลุ่มบัญชีม้าในไทยที่เป็นแหล่งพักเงินของกลุ่มคอลฯ ถามว่าทางธนาคารพาณิชย์ไทยไม่คิดจะตรวจสอบบ้างเลยเหรอ 

สุดท้ายที่เอย่าได้ทราบมาจากแหล่งข่าวในกระทรวงมหาดไทยว่าในวันที่ไปจับทำลายเสาส่งสัญญาณ พบว่าตัวส่งสัญญาณส่วนใหญ่ที่เคยตั้งอยู่กลับถูกถอดไปก่อนที่เจ้าหน้าที่ลงไม่กี่ชั่วโมง ถามว่าไทยเรามี ‘เกลือเป็นหนอน’ ใช่หรือไม่  และที่สำคัญคือหลังจากตัดสายสัญญาณไป มีสายลึกลับโทรข้ามฝั่งจากเมียวดีถึงข้าราชการในพื้นที่เสนอเงินถึง 20 ล้านบาทต่อต้นให้ต่อสายสัญญาณให้

ก็มันเป็นแบบนี้ไงละ มันถึงปราบกันไม่หมดเสียที ตราบใดที่ข้าราชการในพื้นที่ นายก อบต. เอย รวมถึงเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า หรือ บริษัทเอกชนที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตกับธนาคารพาณิชย์ไม่เดือดร้อน มันก็ปราบกันไม่จบเสียที

เอย่าบอกแล้วรัฐบาลทหารเมียนมาเขาเอาจริง และหลังจากที่ไทยเพิกเฉยกับคำขอร้องของฝั่งเมียนมา หลายต่อหลายครั้งก็หวังว่าเราคงจะไม่ต้องอายนะ หากวันใดวันหนึ่งทางรัฐบาลทหารเมียนมาจะเปิดหลักฐานที่เขามีถึงขั้นกล้าด่าฝั่งไทยออกสื่อแบบนี้ เชื่อว่าหลักฐานดังกล่าวน่าจะมัดตัวให้ฝั่งไทยเถียงไม่ออกกันเลยทีเดียว

ผู้นำกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงประท้วง หลังรัฐบาลไทยขอหมายจับ คดีค้ามนุษย์และแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์

ซอ ชิต ตู่ (Saw Chit Thu) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า หม่อง ชิต ตู่  ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมา ออกมาคัดค้านแผนการของรัฐบาลไทยที่เตรียมจับกุมเขา เนื่องจากศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์จำนวนมากที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของเขาในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งตั้งอยู่ติดชายแดนไทย

"ผมอยากถามว่า ผมทำอะไรให้ประเทศไทยถึงต้องมีการจับกุม?" ซอ ชิต ธู กล่าวกับบีบีซีภาษาพม่า "ผมก่อการกบฏต่อประเทศไทยหรือไม่?"

ซอ ชิต ตู่ เป็นผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา เขาดูแลศูนย์กลางธุรกิจหลอกลวงทางออนไลน์ในพื้นที่ชเวก๊กโก (Shwe Kokko) เมืองเมียวดี ซึ่งดำเนินการร่วมกับบริษัท Yatai International ของเซ่อ จื้อเจียง (She Zhijiang) อาชญากรชาวจีนที่ปัจจุบันถูกคุมขังในกรุงเทพฯ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย (DSI) ได้ยื่นคำร้องขอหมายจับ 3 ผู้นำ BGF ได้แก่ ซอ ชิต ตู่, พันโทโมท โทรน (Lieutenant Colonel Mote Thone) และพันตรีทิน วิน (Major Tin Win) ในข้อหาค้ามนุษย์

พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวอินเดีย ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์หลอกลวงทางโทรศัพท์ (Call Center Scam)

ตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 ศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์ที่มุ่งเป้าไปยังชาวจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในเมืองเมียวดี รายงานระบุว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากจากหลายประเทศ รวมถึงคนในท้องถิ่น ถูกบังคับให้ทำงานในขบวนการเหล่านี้หลังจากถูกค้ามนุษย์ผ่านทางภาคเหนือของไทย พร้อมกับมีการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ซอ ชิต ตู่ ยืนยันกับบีบีซีภาษาพม่าว่า กลุ่มติดอาวุธของเขาได้พยายามอย่างมากในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และช่วยเหลือเหยื่อจำนวนมากให้รอดพ้นจากการค้ามนุษย์ "แต่ความพยายามของเราไม่เคยได้รับการรายงานในข่าว" เขากล่าว

"แผนการออกหมายจับเป็นอันตรายอย่างมากต่อพวกเรา ผมรู้สึกเสียใจอย่างแท้จริงกับการกระทำของฝ่ายไทย" เขากล่าวเสริม

พันโทนายเมียว ซอว์ (Naing Maung Zaw) โฆษกของ BGF กล่าวกับสื่อ The Irrawaddy ว่า "เราได้ทำผิดอะไรหรือไม่ถึงต้องถูกออกหมายจับ? เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ดังนั้นเราไม่มีความเห็นใดๆ"

BGF ยังอ้างว่ากำลังจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจพิเศษ นำโดยซอ ชิต ธู เพื่อกำจัดเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์ในพื้นที่ที่ BGF ควบคุมในเมืองเมียวดี

องค์กรสิทธิมนุษยชน Justice for Myanmar ได้เปิดโปงการมีส่วนร่วมของ BGF กับธุรกิจหลอกลวงออนไลน์ที่ดำเนินการโดยชาวจีน รวมถึงบ่อนการพนันผิดกฎหมายในเมียวดี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้คว่ำบาตรซอ ชิต ตู่ ในเดือนธันวาคม 2566 ฐานเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ก็ได้คว่ำบาตรโมท โทรน และทิน วิน ด้วยเช่นกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว กองกำลัง BGF กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่ออีกครั้ง หลังจากมีรายงานว่าหวัง ซิง (Wang Xing) นักแสดงชื่อดังชาวจีน ถูกลักพาตัวไปยังเมืองเมียวดี ไทยถูกกดดันจากรัฐบาลจีนให้นำตัวเขากลับมา และตำรวจไทยได้ช่วยเหลือหวัง ซิง ออกจากศูนย์หลอกลวงได้สำเร็จ แม้ว่ารายละเอียดของปฏิบัติการดังกล่าวจะไม่ได้รับการเปิดเผยทั้งหมด

ขณะที่จีนเพิ่มแรงกดดันต่อเมียนมา ทางการไทยจึงตอบโต้โดยการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และการขนส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ห้าจุดในเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของซอ ชิต ธู และกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA (Democratic Karen Benevolent Army) ในเมืองเมียวดี

พลเอกไซ จ่อ ลา (General Sai Kyaw Hla) ผู้บัญชาการเขตทหารที่ 1 ของ DKBA กล่าวกับ The Irrawaddy ว่ากองกำลังของเขาจะไม่อนุญาตให้มีศูนย์หลอกลวงออนไลน์อีกต่อไป ยกเว้นธุรกิจการพนันออนไลน์ในพื้นที่เกี๊ยวก๊าด (Kyauk Khat)

เขาอ้างว่ามีชาวต่างชาติกว่า 100 คนที่ถูกค้ามนุษย์มาทำงานในศูนย์เหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือ และจะถูกส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ไทย "เร็วๆ นี้"

หลังจากไทยตัดเสบียง ทางการทหารเมียนมาและ BGF ได้ร่วมกันส่งตัวเหยื่อค้ามนุษย์ 61 คนจาก 7 ประเทศให้กับทางการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลทหารเมียนมายังได้บุกตรวจค้นศูนย์การพนันและหลอกลวงออนไลน์ในเมืองม่องหย่าย (Mongyai) รัฐฉานตอนเหนือ ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร โดยสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้กว่า 100 คน รวมถึงชาวต่างชาติหลายสิบคน

ในขณะเดียวกัน ทางการไทยได้ปลดพล.ต.ต.เอกราษฎร์ อินต๊ะสืบ และ พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ เอี่ยมกมล ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีส่วนพัวพันกับธุรกิจการพนันและศูนย์หลอกลวงออนไลน์ในเมียวดี รวมถึงความล้มเหลวในการหยุดยั้งการค้ามนุษย์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top