Friday, 28 June 2024
สลายขั้ว

‘อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ.’ ซูฮก!! ทีม ศก. รทสช. รวมกุนซือประสบการณ์สูง พร้อมแก้ปัญหาหนักระดับโลก

(18 ส.ค.66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ว่า…

ถึงเวลาสลายขั้วเสียที
ข่าวดีมากๆ ครับ
ปัญหาเศรษฐกิจต่อจากนี้จะหนักมากและเป็นปัญหาระดับโลก

รทสช. มีกุนซือเศรษฐกิจเก่งหลายคน
เพราะ บริหารเศรษฐกิจเป็น ดูผลงานสมัยรัฐบาลลุงตู่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้

โควตา รมต. ดูเหมือนจะได้ 4 คน… ขอให้ รทสช.ได้ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจสักกระทรวง คงจะดีไม่น้อย

ประเทศชาติต้องมาก่อน!!

- อย่าชักศึกเข้าบ้าน
- ไม่แก้ ม.112 ที่มุ่งลดสถานะของสถาบันฯ
- ร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ


 

‘ทักษิณ’ กลับบ้าน ขออภัยโทษ แจกกล้วยสภาสูง ดัน ‘เศรษฐา’ มีลุ้น

ไม่น่าจะเลื่อนหรือล้มเลิกอะไรอีก… วันที่ 22 ส.ค.นี้ รัฐสภาก็จะได้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 กันเป็นครั้งที่ 3 และในวันเดียวกัน ตอน 9.00 น. ‘คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร’ จะยกทีมไปต้อนรับการกลับบ้านของคุณพ่อ ‘นายทักษิณ ชินวัตร’

สองเหตุการณ์มาบรรจบกัน ในวันเดียวกัน… แบบนี้ต้องร้องอั๊ยหยา!!... เกือบๆ ฟ้าสะท้าน แผ่นดินสะเทือนทีเดียวเชียวแหละ!!

ว่ากันกรณีโหวตเลือกนายกฯ ก่อน พรรคเพื่อไทยดีลจบแล้ว ได้รัฐบาล 314 เสียง สูตร ‘มีลุง มีเรา สลายขั้ว สลายสี’ อาจจะคลุมๆ เครือๆ อยู่นิดหน่อย กรณีพรรคพลังประชารัฐของ ‘บิ๊กป้อม’ ยังไม่ปรากฏว่าผู้บริหารพรรคของฝั่งเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการ… แต่คาดว่า ในอีกวันสองวันนี้ก็คงแสดงความชัดเจนออกมา

วิเคราะห์ ตรวจสอบแล้ว แม้ว่าขณะนี้ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ จะถูก ‘นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ จอมแฉจ้วงแทงเอาหลายแผล อาการไม่สู้ดีนัก และเชื่อขนมกินเถอะ ว่าวันที่ 22 ส.ค.ที่จะถึงนี้ จะถูก สว.ตัวตึง 3-4 คน ขยี้แผลซ้ำก็ตาม… แต่ความที่พรรคสองลุงร่วมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ภายใต้เงื่อนไข ‘เพื่อไทยไม่ยุ่ง-ไม่แก้มาตรา 112 และไม่เบี้ยวไปเอาพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลในภายหลัง’ ก็ทำให้ สว.สายลุงที่เคยค้านสุดตัวหรือเตรียมงดออกเสียง เปลี่ยนใจมายกมือ ‘เห็นชอบ’ ด้วยเห็นแก่ประเทศที่จะต้องเดินหน้ากันมากขึ้น…

และไม่แค่นั่น… สายข่าวยืนยัน นั่งยัน ว่าขณะนี้ปฏิบัติการแจกกล้วยให้ สว.ผู้หิวโหยได้ดำเนินไปอย่างเอาการเอางาน และได้ผลค่อนข้างดี…

อย่างไรก็ตาม คะแนนของนายเศรษฐาก็ยังไม่ปลอดภัย… ได้เสียงสนับสนุนจาก 11 พรรค รวม 314 ต้องหาเพิ่มอีก 61 จึงจะครบ 375 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา… ไม่มากแต่ก็ไม่น้อย…
ถ้านาทีสุดท้ายเกิด สว.ส่วนใหญ่ ‘งดออกเสียง’ ขึ้นมาล่ะก็นายเศรษฐาอาจชีช้ำไปตลอดชีวิต พรรคเพื่อไทยอาจเข็นคนป่วย ‘นายชัยเกษม นิติสิริ’ หรือทิ้งไพ่ตายให้ลูกสาวนายห้าง ‘อุ๊งอิ๊ง’ ก็ได้…

ดูเกมทั้งกระดานแล้ว… พรรคเพื่อไทยไม่ยอมสูญเสียเก้าอี้นายกฯ อย่างแน่นอน ยิ่ง ‘นายใหญ่’ เดินทางกลับบ้านในยามนี้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องคว้าเก้าอี้นายกฯ ให้ได้…

สำหรับกรณีที่นายทักษิณ ซึ่งมีโทษจำคุกจากคดีทุจริตที่ถึงที่สุดแล้วรวม 10 ปี สายข่าวระบุว่า ได้ทำการบ้านในเชิงข้อกฎหมายมาเป็นอย่างดี ทั้งประเด็นระยะเวลาจำคุกที่ทับซ้อนโทษจำคุกจริงน่าจะเหลือน้อย และคงใช้ช่องทางขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะตัวด้วย… ส่วนกรณีที่จะใช้ช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจไม่จำเป็น อาจจะแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เพียง 2 ฉบับ คือ ‘พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ และ ‘พ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ’ เพื่อให้คดีเปลี่ยนจากไม่มีอายุความเป็น ‘มีอายุความ’ เพื่อที่นายทักษิณจะได้ใช้ระยะเวลาที่หลบหนีคดีลบล้างโทษได้…

ไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งหลายทั้งปวง… ‘เล็ก เลียบด่วน’ ขออนุญาตโลกสวยสักวัน ขอภาวนาให้รัฐบาลสลายขั้ว สลายสี เดินหน้าประเทศไทยไปให้ได้ ออกจากหล่ม 2 ทศวรรษแห่งความขัดแย้งให้ได้สักครึ่งหนึ่ง ก็ยังดี… สาธุ!!

‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง ‘รัฐบาลสลายขั้ว’ ชี้!! ไม่เชื่อมั่นว่าจะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองได้ง่ายๆ

(27 ส.ค. 66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ความขัดแย้งทางการเมือง สลายหรือยัง?’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค.จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ ของประชาชน พบว่า ร้อยละ 87.63 ระบุว่า ไม่เคยไปร่วมชุมนุมใดๆ กับกลุ่มทางการเมืองเหล่านี้ ร้อยละ 4.35 ระบุว่า เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.-กลุ่มเสื้อแดง)

ร้อยละ 3.13 ระบุว่า เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.-กลุ่มเสื้อเหลือง) ร้อยละ 3.05 ระบุว่า เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และร้อยละ 2.82 ระบุว่า เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มสามนิ้ว (กลุ่มเสื้อส้ม)

ด้านกลุ่มทางการเมืองที่ประชาชนมองว่าตนเองอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 69.47 ระบุว่า ไม่อยู่ในกลุ่มทางการเมืองใดๆ ร้อยละ 19.85 ระบุว่า กลุ่มสามนิ้ว (กลุ่มเสื้อส้ม) ร้อยละ 6.64 ระบุว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.-กลุ่มเสื้อแดง)

ร้อยละ 2.59 ระบุว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.-กลุ่มเสื้อเหลือง) และร้อยละ 1.45 ระบุว่า กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ ‘สลายขั้ว’ ของพรรคเพื่อไทย โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้มีการสลายความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. พบว่า ร้อยละ 36.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 20.61 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 20.53 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 19.85 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 2.29 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะทำให้มีการสลายความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. พบว่า ร้อยละ 30.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 27.02 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 22.29 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 18.25 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทางการเมืองในอนาคต พบว่า ร้อยละ 39.39 ระบุว่า กลุ่มเสื้อส้ม กับ ทุกกลุ่ม (เสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส.) ร้อยละ 24.89 ระบุว่า ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มอีกต่อไป ร้อยละ 16.56 ระบุว่า กลุ่มเสื้อแดง กับ กลุ่มเสื้อส้ม ร้อยละ 6.72 ระบุว่า กลุ่มเสื้อเหลือง กับ กลุ่มเสื้อแดง

ร้อยละ 2.44 ระบุว่า กลุ่มเสื้อแดง กับ กลุ่ม กปปส. ร้อยละ 2.29 ระบุว่า กลุ่มเสื้อเหลือง กับ กลุ่มเสื้อส้ม ร้อยละ 1.45 ระบุว่า กลุ่ม กปปส. กับ กลุ่มเสื้อส้ม ร้อยละ 0.53 ระบุว่า กลุ่มเสื้อเหลือง กับ กลุ่ม กปปส. และร้อยละ 10.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ปรากฏการณ์สลายขั้ว ‘เหลือง-แดง’ ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใด ก็น่าชื่นชม

ภายหลังจากการเลือกตั้งจบลง ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่มีความหลากหลายในแง่ของขั้วการเมือง ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นการสลายขั้วการเมืองครั้งสำคัญ หากแต่ยังเกิดอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ‘การสลายขั้วเหลือง-แดง’

ไม่ว่าเรื่องนี้จะมองในมุมไหน แต่หากมองในมุมคนไทย ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ที่ให้ความหวังและน่าชื่นชม โดยเรื่องนี้ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า...

“ทุกข์ของคนไทยตอนนี้ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว โดยเฉพาะทุกข์ทางเศรษฐกิจและทุกข์เรื่องทำมาหากินที่ยังฝืดเคือง ดังนั้นการมีข่าวดี ๆ ออกมา ที่ช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่คนไทยด้วยกันเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง จงอย่าใจแคบ ความคิดก็อย่าคับแคบ มองภาพใหญ่ให้ออก มองป่าทั้งป่าให้ได้”

นั่นก็เพราะ การสลายขั้วขัดแย้งเหลืองแดงที่ดำรงมายาวนานกว่า 15 ปี แทบจะไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อพี่น้องเหลือง-แดงชาวไทย เริ่มเข้าหากัน พูดคุยกันด้วยเหตุและผล จึงถือเป็น ‘ข่าวดี’ สำหรับคนไทยและสังคมไทย Land of Compromise พร้อม ๆ ไปกับการปรับตัวของ ‘ระบบการเมืองไทย’ ที่กลับสู่การเมืองแบบธนาธิปไตย หรือ Money Politics ในสมัยพรรคไทยรักไทย ปี พ.ศ. 2544 หรือเมื่อ 22 ปีก่อน ก่อนที่จะเกิด ‘การเมืองที่แบ่งขั้วขัดแย้งรุนแรง’ (Polarized Politics)

นอกจากนี้ สิ่งตามมา คือ การยุติ หรือหมดหายไปของ ‘วาทกรรมฝ่ายประชาธิปไตย VS ฝ่ายเผด็จการ’ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อครอบงำคนเสื้อแดง (เพื่อไทย) และด้อมส้ม (ก้าวไกล) ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นรัฐบาลใหม่ที่ครองอำนาจรัฐได้ อันที่จริงคือ เพื่อไทย+รัฐบาลชุดเดิม ที่เขี่ยก้าวไกลออกจากวงจรอำนาจให้กลายเป็น ‘พรรคฝ่ายค้านถาวร’ ของระบบการเมืองไทย

ขณะเดียวกัน การกลับเมืองไทย เพื่อ ‘ติดคุกแบบ VVIP’ ของโทนี่ ก็มิใช่การฟื้นคืนชีพของ ‘ระบอบทักษิณ’ แต่ควรมองว่า เป็นการปรองดองทางการเมืองระหว่างตระกูลชินวัตรกับขั้วอำนาจเดิมมากกว่า ซึ่งแต่ก่อนทั้งสองฝ่ายต่างมีบทเรียนจากความขัดแย้งกันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้สามารถปรับตัวเข้าหากันได้แบบ Win-Win ที่ไม่มีใครกินรวบหรือได้หมด

หลังจากนี้ จึงเป็นยุคที่พรรคการเมืองที่เอาใจใส่ แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้จริง และทำงานเป็น ถึงจะได้ใจประชาชน เข้าสู่ยุคที่การเมืองไทยจะแข่งขันกันตรงนี้ ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว

ประเทศไทยผ่านวิกฤต ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ มาได้อย่างหวุดหวิด หลังจากนี้ การเมืองไทยจะเดินไปตามระบบที่ควรจะเป็น เพื่อฝ่าวิกฤตปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ และผลกระทบจากการฟาดฟันกันของประเทศมหาอำนาจ สร้างสุขให้กับคนไทยที่รักและยึดมั่นใน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top