Monday, 21 April 2025
วีระศักดิ์โควสุรัตน์

น่ารัก น่าภูมิใจ!! ‘วีระศักดิ์’ ชมหนัง ‘สัปเหร่อ’ เล่าเรื่องราวธรรมดาๆ ผ่านมุมมองที่เรียบง่าย แต่แฝงแง่คิด-คติธรรมเพียบ!!

(26 ต.ค. 66) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึง หนัง ‘สัปเหร่อ’ พร้อมชื่นชมในแง่มุมการนำเสนอเรื่องราวของทีมผู้สร้าง โดยระบุว่า…

“พาครอบครัวไปดูหนัง ‘สัปเหร่อ’ มาแล้ว
คนเต็มโรง มีเสียงคิกคักขบขันกันตลอดเรื่อง

ในฐานะลูกอีสาน คุณพ่อเป็นชาวอุบล คุณแม่จากศรีสะเกษ ผมแอบอมยิ้มกับความเรียบง่ายสไตล์ผู้บ่าวไทบ้านของทีมผู้สร้าง ที่หยิบจับความเป็นไปอย่างปกติของชาวบ้านในย่านนี้ออกมาเผยผ่านประสบการณ์อาชีพสัปเหร่อ ที่ย่อมมีในทุกคุ้มวัด ทุกตำบล แต่ถูกมองข้ามมานาน

มุกกลัวผี มุกเพื่อนฝูงแซวกัน มุกผู้เฒ่าผู้แก่ที่ให้ความเมตตา แต่ก็มีสถานะสำคัญที่ชุมชนยกย่องให้บทบาท มีมุก LGBTQ มุกเด็กแว้นท้องถิ่น มุกเจ้าหน้าที่ในงานบริการในชนบท

แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงคติธรรม ระหว่างแดนของผีกับคน คนปล่อยวางได้กับคนที่ยึดติด คนที่เห็นค่าของผู้อื่นและเห็นค่าในตนเอง

หนังสร้างด้วยฉากง่ายๆ แต่ให้อะไรเกินกว่าที่คิด ไม่ประดิษฐ์ ไม่ประดับมากไป ใช้ภาษาอีสานตลอดเรื่อง แต่มีซับไทย และซับอังกฤษวิ่งใต้ภาพตลอด

น่ารัก และน่าภูมิใจครับ”

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

‘วีระศักดิ์’ ยกธุรกิจทั่วโลกเริ่มตื่นตัว ‘สังคม-สิ่งแวดล้อม’ ชูหลัก ‘5 P’ ช่วยภาคธุรกิจปรับประยุกต์ในงาน AFECA

เมื่อไม่นานนี้ ณ ห้องบอลรูม ที่ Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ทางสหพันธ์สมาคมการจัดการประชุมและนิทรรศการแห่งเอเชีย ‘Asian Federation of Exhibition & Convention Associations’ หรือ ‘AFECA’ ได้เดินทางเข้ามาจัดการประชุมนานาชาติ ‘ASIA 20 BUSINESS EVENTS FORUM’ ที่ประเทศไทย โดยมีสมาชิกจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมงานประมาณ 170 คน

โดยงานนี้ได้เชิญ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตประธานบอร์ด TCEB เป็น Keynote Speaker ของการประชุมในหัวข้อ ‘Business Events & Future Implications’ ซึ่งนายวีระศักดิ์ได้กล่าวถึงความตื่นตัวของธุรกิจต่างๆ ในระดับโลกที่กำลังพยายามตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการจัดการความยั่งยืนที่องค์กรและธุรกิจกำลังดำเนินการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างตื่นตัว

นายวีระศักดิ์ เสนอให้วงการธุรกิจปรับมุมมองจากการเป็น Business Community ที่มักมีไว้เพิ่มโอกาสธุรกิจระหว่างกัน ให้ยกระดับสู่การเป็น Business for Humanity ด้วยหลักการ 5 P ของสหประชาชาติ คือ ‘People - Planet - Peace - Partnership’ และสุดท้าย คือ ‘Prosperity’ ซึ่งแปลว่า ‘รุ่งเรือง’ ไม่ใช่เรื่องความร่ำรวย

พร้อมทั้งยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ภาคธุรกิจสามารถรับพนักงานผู้พิการให้อยู่ตามภูมิลำเนาบ้าน เพื่อปลูกป่าในนามของบริษัท ทำให้ได้ทั้งเรื่องของ ‘ESG’ (Environment Social Responsibility และ Good Governance) ไปในตัวด้วย

'สว.วีระศักดิ์' ร่วมงานเปิดม่านฉลองสมโภชพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 338 ปี

(2 ธ.ค. 66) คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, คุณวัสน์พล อรรถพรธนเสฐ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย, คุณเบญจ มอนโกเมอรี่ ประธานสมาคมท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก (ไทยแลนด์แชปเตอร์), คุณบูรณาการ จตุพรไพศาล - คุณเถกิง บรรจงรักษ์ อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), คุณกฤษณี ศรีษะทิน อุปนายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (ทิก้า), คุณประภาพรรณ สังข์เมือง ผู้จัดการทั่วไป ทิก้า, คุณสาธิตา โสรัสสะ อุปนายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย, คุณภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ - คุณภัทรนิษฐ์ ปัณณศิระวิทย์ ภาคีเครือข่ายท่องเที่ยวไทย ร่วมแถลงข่าวงานเฉลิมฉลองสมโภชพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ครบรอบ 338 ปี เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา

งานสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 07.00 - 22.00 น. ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ชมความงดงามของวัดคู่วัง - ประวัติศาสตร์ล้ำค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงแสงสี ดนตรีวัฒนธรรมไทย ตลาดวัฒนธรรมย้อนยุคต้นรัตนโกสินทร์ นิทรรศการ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และการเจริญจิตตภาวนา สวดมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

‘สว.วีระศักดิ์’ ร่วมงานครบรอบ 25 ปี ‘PATA’ ก่อตั้ง สนง.ใหญ่ที่กรุงเทพฯ  พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทั้งใน-นอกประเทศอย่างยั่งยืน

(14 ม.ค.67) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ของ ‘สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว’ (Pacific Asia Travel Association) หรือ ‘PATA’ ที่ก่อตั้งมานานถึง 71 ปี (นับเป็นสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับเอเชียแปซิฟิกที่เก่าแก่ที่สุด)

คุณปีเตอร์ ซีโมน ประธาน PATA ได้เชิญคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาเป็นผู้ขึ้นกล่าวนำการจัดกิจกรรม ‘Power of Networking’ ของ PATA ที่ห้องประชุมชั้น 3 ของอาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท ซึ่งเป็นอาคารที่ตั้งของที่ทำการแห่งใหม่ของ PATA

กิจกรรมครั้งนี้ มีผู้บริหารในแวดวงการท่องเที่ยวเดินทางนานาชาติกว่า 50 ท่าน ทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคการเดินทาง ทั้งของไทยและนานาชาติเข้าร่วม เช่น ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ การบินไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารธุรกิจนำเที่ยวระหว่างประเทศ ผู้บริหารเครือโรงแรมใหญ่ ผู้บริหารสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ และผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้านท่องเที่ยวประจำประเทศไทย

โดยคุณวีระศักดิ์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ที่ PATA มีมายาวนานในการช่วยทำให้ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้ปรากฏขึ้นบนแผนที่ท่องเที่ยวโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีสำนักงานของ PATA กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของโลก ตั้งแต่จุดกำเนิดของ PATA ที่ฮาวาย ต่อมาขยายไปยัง ซานฟรานซิสโก, ปักกิ่ง, ลอนดอน, ฟิลิปปินส์ และในที่สุดย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ว่าประสบการณ์ที่ได้ผ่านการเห็นการดำเนินการด้านท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ในยุคต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างลึกซึ้ง ต่อการช่วยแนะนำแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย รวมทั้งจะช่วยขยายการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบและยั่งยืนให้กับประเทศในภูมิภาค ให้ทำงานต่อเชื่อมกันไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างดีอีกด้วย

'สว.วีระศักดิ์' กล่าวเปิดเทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days  ความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 'ไทย-รัสเซีย'

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติของไทย ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีกับ รัฐมนตรี ด้านวัฒนธรรมของนครมอสโก และคณะ ในความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย จับมือร่วมกับวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของรัสเซีย หนึ่งในประเทศที่มีวงการภาพยนตร์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่อีกแห่งของโลก ที่จัดให้มีงานเทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days เป็นครั้งแรกในไทย ที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์

โดยมีเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยและคณะทูตจากต่างประเทศพร้อมคู่สมรส ผู้แทนการค้าไทย รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะผู้บริหารสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติของไทยที่มาร่วมแสดงความยินดี

ในพิธีเดินพรมแดง มีการจัดถ่ายทอด live สด การสนทนาสัมภาษณ์กับนักบินอวกาศที่ร่วมแสดงในฉากจริงของภาพยนตร์ ‘The Challenge’ จากนั้นเป็นกิจกรรมขึ้นกล่าวก่อนเปิดฉายภาพยนตร์ ‘The Challenge’ ที่เป็นภาพยนตร์กวาดรายได้สูงสุด 1 ใน 5 เรื่องที่ฝ่ายรัสเซียนำมาทยอยเข้าฉายในไทยนับจากนี้ไปถึงเดือนเมษายน 

‘The Challenge เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ถ่ายทำในสถานที่จริงในอวกาศ ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) โดยเป็นเรื่องราวของ ศัลยแพทย์ (นำแสดงโดย ยูเลีย พีริซีลด์ ดารานักแสดงสาวของรัสเซีย) ถูกส่งขึ้นโดยการตัดใจของหน่วยกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติของรัสเซีย มุ่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรเหนือพื้นโลกที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่า 400 กิโลเมตรเป็นการเร่งด่วน เพื่อไปผ่าตัดช่องอกให้นักบินอวกาศที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุในอวกาศ เพื่อหวังให้สามารถกลับลงสู่พื้นโลกได้ปลอดภัย

การถ่ายทำจริงใช้เวลา 12 วันบนอวกาศ ผ่านการเตรียมงานและฝึกฝนนักแสดงและผู้กำกับให้ขึ้นไปทำภารกิจในสภาพไร้น้ำหนักและปราศจากแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่นับเดือน นับเป็นมิติใหม่ที่ผู้ชมจะได้ชมภาพยนตร์สนุกจากบรรยากาศในยานอวกาศจริง

ในการนี้ นายเยฟกินี โธมีคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยขึ้นกล่าวว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สามารถสะท้อนแนวคิดวิถีชีวิต ของคนในแต่ละสังคม เพื่อให้ผู้ชมจากอีกสังคมสามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย

นายอเล็กเซย์ ฟูซินด์ รัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของมอสโก ขึ้นกล่าวว่าเป็นความภาคภูมิใจของรัสเซียที่ชาวไทยให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมในเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างไทยกับรัสเซียอย่างอบอุ่นคับคั่ง รวมทั้งภาคธุรกิจภาพยนตร์และคอนเทนต์ของไทยก็เข้าชื่อมาร่วมพบเจรจา Business Matching กับคณะเดินทางภาคเอกชนด้าน ภาพยนตร์และคอนเทนต์ของรัสเซียกันอย่างหนาแน่นด้วย นับเป็นการเปิดมิติความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และหวังจะได้เห็นการร่วมมือผลิตภาพยนตร์แบบ Co-Production ระหว่างรัสเซียและไทยในอนาคตอันใกล้

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ขึ้นกล่าวว่า ในรัสเซียมีการใช้วัฒนธรรมภาพยนตร์ในการขับเคลื่อนสังคมมายาวนาน มีภาพยนตร์สำหรับเข้าโรงฉายในรัสเซียถึงปีละ เฉลี่ย 2 พันเรื่อง และมีกิจการโรงภาพยนตร์ที่กระจายตัวอยู่มากถึง 2 หมื่นแห่งทั่วรัสเซีย ดังนั้นการร่วมมือระหว่างวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยกับรัสเซียจึงนับเป็นมิติที่ดีในการเสริมพลังทั้งทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ภาคประชาชนของทั้งสองประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน

รัสเซียและไทยเริ่มมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางระหว่างกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และต่อมาขยายเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2548

ปัจจุบัน รัสเซียสร้างเมืองภาพยนตร์ (Movie Town) และสวนภาพยนตร์ (Film Park) ขึ้นในกรุงมอสโก จากหมู่โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เลิกใช้งานแล้ว เพื่อช่วยให้กองถ่ายรัสเซียและนานาชาติ สามารถเช่าถ่ายทำฉากต่าง ๆ ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ สามารถจำลองเป็นเมืองใด ๆ ในโลกก็ได้ สามารถมีฉากแปลกตาท้าทาย ทั้งบนบก ฉากใต้น้ำจากการใช้ทะเลสาบขุดขนาดใหญ่ในพื้นที่พร้อมทีมนักดำน้ำสนับสนุน เพื่อให้ผู้กำกับภาพยนตร์สร้างงานตามจินตนาการได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ในเขตใกล้เมืองที่มีระบบบริการและสาธารณูปโภคที่เข้าถึงง่ายจากนครหลวงมอสโกเพียง 25 นาทีทางรถยนต์

ทั้งนี้เทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days มีกำหนดจะเปิดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘The Challenge’ รอบปกติ ในเครือโรงภาพยนตร์ SF Cinema ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป และจะทยอยนำภาพยนตร์ที่คัดเลือกไว้เข้าฉายต่อเนื่องไปให้คนไทยได้ชมไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 5 เรื่องในกลางเดือนเมษายน

‘สว.วีระศักดิ์’ ชี้ ‘Soft Power’ ไม่ได้แปลว่า ‘ขายดี’ แต่ต้องมี ‘เสน่ห์’ ที่ทำให้คนปลื้มตาม

(1 ก.พ.67) วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Weerasak Kowsurat’ ในหัวข้อ ‘Soft Power’ โดยระบุว่า…

"Soft Power ไม่ได้แปลว่า ขายดี
แต่แปลว่า มีพลังดึงดูด
หรือเสน่ห์ที่ผู้อื่นปลื้มตาม โดยไม่รู้ตัว...
เพราะถ้ารู้ตัว ก็ได้ผลเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้นเอง..."

'สว.วีระศักดิ์' ยัน!! ทุกระบบ 'เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง' ทั่วโลกรอดยาก หากวันหนึ่ง 'ระบบนิเวศธรรมชาติของโลก' ทวงคืน ไม่เอื้อให้มนุษย์ได้อยู่ต่อ

(9 มี.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกบทความในหัวข้อ ‘ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ (ตอนที่ 2) มีเนื้อหา ระบุว่า...

Climate Change มีผลต่อชีววิทยาทางธรรมชาติอีกมาก อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชอีกมากมายหลายชนิด

แต่ผมขอแยกประเด็นนี้ออกไปก่อน เพราะซับซ้อนมากเกินกว่าจะอธิบายเพิ่มในพื้นที่จำกัดนี้

แต่ขอโฟกัสมาสู่การบันทึกว่าบัดนี้เราค้นพบว่าโลกที่ร้อนขึ้นนำเราไปสู่อะไรแล้วบ้าง

อย่างแรก การละลายของน้ำแข็งทั้งโลกเกิดขึ้นรวดเร็ว ดังนั้นน้ำจากที่สูงจะไหลลงไปรวมที่มหาสมุทร

ระดับน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ

และมนุษย์ฝังรากทางอารยธรรมอยู่ชายฝั่งเป็นส่วนมาก เมืองท่าค้าขาย เมืองเพื่อการผลิต เมืองการอยู่อาศัย เมืองเพื่อการท่องเที่ยว ล้วนมีระดับสูงจากทะเลปานกลางน้อยมากๆ

ส่วนเมืองเกษตรกรรมที่มักอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มักอยู่ได้ด้วยลำน้ำจืดไหลผ่าน ซึ่งมีลำน้ำสาขาแผ่กระจาย จึงเป็นชลประทานธรรมชาติที่ทำให้มีนามีสวน

น้ำทะเลที่เพิ่ม อาจไม่ท่วมเหนือแผ่นดินลึกเข้าไปมากก็จริง แต่ก้นของแม่น้ำนั้นมักอยู่ในระดับสูงกว่าระดับทะเลปานกลางน้อยยิ่งกว่าเมืองชายฝั่งเสียอีก

แถมหลายสายจะต่ำกว่าทะเลปานกลางด้วย

ดังนั้น นิเวศน้ำจืดจำนวนมากจะถูกรุกล้ำด้วยน้ำเค็มเข้าลึกไปในแผ่นดิน เมืองไทยน้ำเค็มมีแนวโน้มจะบุกลึกใต้แม่น้ำไปถึงอ่างทอง นี่คือสิ่งที่อธิบดีกรมชลประทานเคยคาดการณ์ไว้

ยิ่งเมื่อมีภาวะภัยแล้ง หรือเมื่อน้ำแข็งยอดเขาละลายจนหมด ลำน้ำจืดจะไม่เหลือพลังดันน้ำเค็มอย่างที่เคยทำได้ตลอดปี ในหน้าแล้งเขื่อนและฝายจะกักเก็บน้ำไว้

น้ำจืดไหลลงร่องน้ำมาน้อยลง แปลว่าน้ำทะเลจะเอ่อเข้าลำน้ำในแผ่นดินไปทำลายนิเวศน้ำจืดของการเพาะปลูกจำนวนมากได้อย่างเงียบๆ

เพราะชาวบ้านสูบน้ำมาเข้าสวนเข้านาปกติไม่มีใครสำรวจหรือชิมว่าน้ำมันเค็มหรือยัง

จะรู้อีกทีก็ใบเหลืองเค็มจนเฉาแล้วทั้งสวน

ความมั่นคงทางอาหารจะถูกสั่นคลอนอย่างร้ายแรง

น้ำแข็งที่ว่าละลายนั้น ก็ให้ปรากฏการณ์ใหม่แก่มนุษย์อีก เพราะเมื่อน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรของกรีนแลนด์และที่ขั้วโลกใต้ละลาย มันได้กลายเป็นทะเลสาบทีละหย่อมเรียงรายไปสุดลูกตา

ทะเลสาบเหล่านั้นค่อยๆ กัดกร่อนน้ำแข็งต่อเพื่อหย่อนให้น้ำเหลวๆ ใสๆ สามารถลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงได้

เกิดสภาพคล้ายสว่านหมุนเกลียวเจาะลงสู่เบื้องล่าง แล้วทำให้กลายเป็นโพรงรูพรุนคล้ายชีส เยอะไปหมด เมื่อน้ำไหลได้ มวลของมันจะส่งพลังการกระแทกเบียดกับผนังน้ำแข็งภายในโพรงราวน้ำตกกระแทกก้อนหิน ซึ่งย่อมเปราะบางกว่าหินมาก

การกร่อนของภูเขาน้ำแข็งจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นถ้ำน้ำลอดเต็มไปหมด

รูโพรงเหล่านี้ทำให้อากาศไหลเข้าไปด้านในและนำความอุ่นไปรบกวนน้ำแข็งในระดับโครงสร้างเพิ่มเข้าไปอีก

มนุษย์จึงตกใจว่าธารน้ำแข็งและแผ่นทวีปแอนตาร์กติกาและน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังแตกตัวออกตามที่ต่างๆ ในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ไม่ใช่มันละลาย แต่เพราะโครงสร้างถูกลมอุ่นมุดเข้าไปเจาะภายในราวกับรังปลวกบุกกินไม้อย่างตะกละตะกลาม

ในขณะเดียวกัน น้ำแข็งที่ละลายที่เกาะกรีนแลนด์ ได้ปล่อยน้ำจืดมหาศาลลงทะเลแอตแลนติกตอนบน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบเครื่องปรับอากาศของโลก ที่เคยเป็นจุดตั้งต้นของสายพานใต้ทะเลส่งความเยือกเย็นจากขั้วโลกให้ถูกน้ำทะเลพาไปไหลเวียนในทุกมหาสมุทรฟรีๆมานับล้านปี

ทำให้ตะกอนแร่ธาตุผงธุลีใต้ทะเลที่รับมาจากแม่น้ำบนฝั่งสามารถเดินทางไปไหลเวียนทั่วท้องมหาสมุทร เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่สารพัดชีวิตใต้ผืนมหาสมุทร

เมื่อการแปลงสภาพน้ำทะเลจากของเหลวไปเป็นน้ำแข็ง เกิดขึ้นมากที่สุดที่ข้างเกาะกรีนแลนด์ เพราะที่นี่ทะเลกว้างและลึกมาก

ต่างจากจุดเชื่อมของทะเลแปซิฟิกกับขั้วโลกเหนือที่ทั้งแคบและตื้น เฉลี่ยความลึกของแปซิฟิกตอนบนนั้น ตื้นกว่าอ่าวไทยเสียอีก เพราะที่นั่นลึกเพียง50 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยลึกเฉลี่ย68เมตร

แต่ที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั้น ทะเลลึกหลายๆพันเมตร

ในการกลายสภาพจากน้ำไปสู่การเป็นน้ำแข็ง กฎทางธรรมชาติของฟิสิกส์จะทำให้โมเลกุลน้ำเท่านั้นที่กลายเป็นน้ำแข็ง

ดังนั้นน้ำแข็งธรรมชาติทั้งมวลจึงจืด เพราะที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั่นเองที่น้ำปริมาณมหาศาลกำลังกลายเป็นน้ำแข็ง ทั้งวันทั้งคืนมันจึงเกิดน้ำตกใต้ทะเลของผงตะกอนแร่ธาตุโดยเฉพาะเกลือที่ร่วงลงมา แล้วถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงมันจมลงสู่ก้นทะเลอันลึกล้ำ

แรงจมของเกลือปริมาณมหาศาลทุกวินาทีตลอดวันตลอดคืนนี้เองที่กลายเป็นแม่ปั้มธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ดันส่งกระแสน้ำใต้สมุทรจากจุดนี้ให้ไหลดันตามกันไปจนเมื่อเเรงกดส่งตะกอนไปถึงก้นทะเลแล้วยังดันกันต่อไปจนเดินทางลงใต้ไปกระทบกับแผ่นดินของขั้วโลกใต้ ซึ่งก็เย็นจัดเช่นกัน แล้วจึงไหลเข้าสู่ก้นมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก นำพาความเย็นจากสองขั้วโลกเข้าสู่ใต้สมุทรทั้งหลาย

จากนั้นน้ำทะเลที่ไหลนี้จึงเริ่มมีน้ำหนักเบาขึ้น และค่อยๆสะสมการรับแดดในเขตศูนย์สูตรแล้วเดินทางต่อจนกลับมายังแอตแลนติกข้างเกาะกรีนแลนด์เหมือนเดิม

หนึ่งรอบวงจรนี้ ใช้เวลาราวพันปี

วงจรนี้เรียกว่า The Great Conveyor Belt ของโลกที่ส่งความเยือกเย็นจากสองขั้วโลกให้ไหลไปถึงใต้ชายฝั่งทะเลทั้งหลาย

ภูมิอากาศของโลกจึงถูกระบบนี้กำกับให้มาโดยตลอด

แต่เพราะน้ำจืดที่ละลายลงมาที่กรีนแลนด์ ทำให้ม่านความเค็มใต้ทะเลที่จุดเริ่มต้นการเดินทาง เจือจางลงมาก

ทำให้สารละลายขาดน้ำหนักเพียงพอที่จะจมลงในอัตราที่เคยเป็น 

แรงดันใต้มหาสมุทรให้เป็นกระแสธารของความเยือกเย็นจึงอ่อนลงเรื่อยๆ รายงานจากงานวิจัยชี้ว่าอ่อนลงกว่า 15% และยังคงอ่อนลงเรื่อยๆ

ระบบปรับอุณหภูมิของใต้สมุทรจึงกำลังค่อยๆ พังทลายลง และพลังการส่งสารอาหารให้เดินทางไปทั่วผืนสมุทรจึงกำลังหมดลงด้วย

อากาศเหนือชายฝั่งจึงต้องถูกกระทบ

หมู่ปลาและสัตว์ทะเลจะปั่นป่วนเพราะธาตุอาหารที่เคยไหลผ่านจางลงจนอาจหายไป

แล้วมนุษย์ซึ่งพึ่งพาทั้งเกษตรบนแผ่นดินและโปรตีนจากทะเลจะทำอย่างไร?

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องคลี่คลายให้ได้ก่อนที่จะถึงวันที่หลายระบบจะล่มลงหรืออ่อนลงจนธรรมชาติเอื้อมส่งวงจรทางนิเวศกันไม่ถึง

ปี 2030 เป็นเสมือน Tipping Points ชุดแรกที่บอกเราได้ ว่าลูกบอลที่ชื่อนิเวศของโลกใบนี้จะตกบันไดที่น่าจะกู่ไม่กลับแล้ว

และถ้ายังปล่อยไปหรือเบรกไว้ไม่แรงพอ

ปี 2050 คือชุดบันไดยาวๆ ที่ลูกบอลแห่งระบบนิเวศนี้จะร่วงหล่นกลิ้งเป็นลูกขนุนตกเขา แม้มีเงินมีเศรษฐกิจชนิดไหน ณ ที่ใดของโลก ทุกระบบก็จะกระเด็นกระดอนจนพังพินาศทั้งหมด

There is no healthy business on a collapsing planet.

โลกใบนี้มีมานานก่อนมนุษย์คนแรกกลุ่มแรกจะปรากฏตัวขึ้น

และโลกใบนี้จะอยู่ได้สบายด้วย แม้ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยหลังจากนั้นแล้ว

แต่มนุษย์ต่างหากที่จะสาบสูญ ถ้าระบบธรรมชาติของโลกถูกรบกวนมากเกินไป

บทความนี้ถูกเขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อยืนยันว่า...

ทุกระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบการเมืองใดๆ ก็ไม่อาจอยู่ได้

ถ้าระบบนิเวศธรรมชาติของโลก เอาคืนหรือไม่เอื้อให้ระบบมนุษย์อยู่กันได้อีกต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกความพยายามที่จะรื้อฟื้น คืนทุนให้ระบบธรรมชาติ ผ่านกลไกเศรษฐกิจสีเขียว การค้าสีเขียว การลงทุนสีเขียว และสังคมที่ระดมให้ทุกชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ

📌มูลนิธิช้างฯ ผนึกภาคเอกชน จัดงานเสวนา ‘ช้างป่า ช้างไทย เราอยู่ได้ร่วมกัน’

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค. 67) ในโอกาสวันช้างไทย มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเครือข่ายองค์กรประชาคมที่ทำงานเกี่ยวกับช้าง ได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง ‘ช้างป่า ช้างไทย เราอยู่ได้ร่วมกัน’ โดยมีนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ปรึกษามูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยมีดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ประธานมูลนิธิช้างไทย กล่าวเปิด ที่ลานกิจกรรมเวทีสาธารณะ อาคารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจชมคลิปการเสวนาเวทีย้อนหลัง สามารถชมได้ทาง: https://fb.watch/qMOymMshCA/

กะเทาะแก่น 7 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านเลนส์ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ‘เครื่องมือ-ความหวัง’ ขับเคลื่อนอากาศเมืองไทยให้บริสุทธิ์

เมื่อไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ ‘รู้ ช่อง ส่อง กฎหมาย (สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา)’ ได้เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่ ในประเด็น ‘ความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …’ โดยได้พูดคุยกับ นายธีรพัฒน์ พิเชษฐวงศ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานกฎหมาย 1 พร้อมด้วย นางพัชรา พุกเศรษฐี วิทยากรชำนาญการพิเศษ และ นายอมร สุวรรณโรจน์ นิติกรชำนาญการ

>> คำถามที่ 1 ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ฉบับที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการในทํานองเดียวกันอีกจํานวน 6 ฉบับอย่างไร?

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้ ล้วนเป็นความหวังและเป็นเครื่องมือ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับที่กล่าวมา มีสถานภาพเป็น 2 อย่าง (ความหวัง และ เครื่องมือ) หลายครั้งที่ร่างกฎหมายเข้าผ่านสภาไป หวังว่าจะเป็นแค่เครื่องมือเฉย ๆ บางครั้งบางหน่วยงานมักจะบอกว่าทําเรื่องนี้ไม่ถนัด เพราะขาดอํานาจทางกฎหมาย หรือยังไม่มีหลักการที่กําหนดเอาไว้โดยตรง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่ สามารถไปดำเนินการได้ เมื่อมาขอฝ่ายนิติบัญญัติ สภาก็พิจารณาให้ แบบนี้แปลว่าทํากฎหมายให้เป็นเครื่องมือ 

ส่วนแบบที่ 2 จะแตกต่างจากแบบแรก เราจะเห็นว่า 7 ร่างฯ มาจากคนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่เข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมาย จากรัฐบาลมาในนามของร่างคณะรัฐมนตรี และร่างที่มาจากพรรคการเมือง เนื้อหาในร่างฯ ไม่ได้แตกต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของผู้เสนอร่างฯ นั้นๆ ว่าไม่ค้าน สังเกตว่าทั้ง 7 ร่างฯ ที่เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง รับหลักการโดยถ้วนหน้า แม้จะอภิปรายกันเยอะ แต่ว่ารับหลักการโดยถ้วนหน้า 

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็แปลว่ามันแสดงถึงสัญลักษณ์ ‘เป็นความหวัง’ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือด้วยซ้ำไป ส่วนในเรื่องของเครื่องมือ จาก 7 ร่างฯ ที่กล่าวมา หากอ่านรายละเอียดเปรียบเทียบทั้งหมด คือกฎหมายเพื่อการตั้งสมมติฐาน 4 เรื่อง ได้แก่…

🟢1.อาศัยอํานาจของหลาย ๆ กฎหมาย และหลาย ๆ คณะกรรมการที่มีอยู่แล้วก่อนมีพระราชบัญญัตินี้ นำมากองรวมกัน และคณะใดคณะหนึ่งมีอํานาจในการสื่อสารและมอบหมายให้แต่ละคณะไปมีมติสอดคล้องหรือดึงกฎหมายที่มีผูกรวมกัน แล้วนำไปดําเนินการได้ แปลว่าเป็นการรวมหลาย ๆ เครื่องมือที่ขนาดต่างกันมากองรวมกัน 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลาที่เกิดปัญหา ‘อากาศสะอาด’ ก็มักไปใช้ยืมอํานาจพระราชบัญญัติการสาธารณสุข หรือยืมอํานาจของป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของมหาดไทย ซึ่งไว้ใช้ประกาศเขตภัยพิบัติ เมื่อประกาศแล้วจะทําให้สามารถหยิบเงินออกมาเยียวยาผู้คนได้ แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่า ประกาศกว้างแค่ไหน? เพราะว่าอากาศสะอาด มีปัญหาเรื่องการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก ไม่เหมือนน้ำท่วม ที่สามารถรู้จุดเกิดเหตุได้แน่ชัด แต่พอเป็นอากาศสะอาดจะพูดยาก ส่งผลให้เขาประกาศได้น้อย 

ส่วนมากจะใช้ 2 พระราชบัญญัติที่กล่าวไป แต่ในความเป็นจริง มีกฎหมายอื่น ๆ อีก แต่ต้องไปอาศัยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ คณะกรรมการอุทยาน คณะกรรมการที่เกี่ยวกับเรื่องของการจัดการที่ดิน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่ถามว่าคณะฯ เหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องอากาศสะอาดหรือไม่? เขาอาจจะไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าหากเชื่อมเข้ามาได้ ก็จะสามารถหยิบยืมองคาพยพที่มีมาช่วยทํา ‘อากาศสะอาด’ ได้

ส่วนเรื่องการบูรณาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ระบุไว้อย่างน้อย 3 ระดับ ได้แก่

(1) ระดับนโยบายสูงสุด นายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแลที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด 

(2) ระดับคณะกรรมการที่เป็น วอร์รูมแห่งชาติ (ในบางร่าง) เสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นประธานฯ แต่บางร่าง ระบุว่า ไม่เอารัฐมนตรี แต่ให้อำนาจปลัดกระทรวงฯ มานั่งเป็นประธานฯ ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นมืออาชีพด้านนี้

(3) ระดับพื้นที่ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ที่แบ่งเป็นเขตหรือจังหวัด และพื้นที่ที่กําหนดเฉพาะ เช่น ลุ่มอากาศ ร่องน้ำ ชายแดน เป็นต้น

🟢2.แทบทุกร่างจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อให้ฝ่ายตุลาการในอนาคต หากมีคดีสิ่งแวดล้อมที่ไปกระทบผู้อื่น เรื่องนี้มีการพูดถึงมานาน เรียกว่า Polluters Pay Principle: PPP แปลว่าผู้ใดก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อสิ่งแวดล้อม ผู้นั้นต้องมีภาระในการจ่าย แต่ว่าภาระพิสูจน์สําหรับผู้ที่ไปก่อ ไม่อยู่กับผู้ก่อเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่า ‘ผู้เดือดร้อน’ ต้องไปพิสูจน์ต่อศาลเองว่าได้รับผลกระทบมาอย่างไรบ้าง ซึ่งการพิสูจน์นี้มีต้นทุนสูง แต่ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคน (มากกว่า 1 คน) ก็ต้องไปหาเอกสารวิชาการมายืนยัน และใช้เวลานาน

แต่สิ่งที่จะช่วยบรรเทาเรื่องตรงนี้ไปได้คือ ‘ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์’ ซึ่งจะรวมตั้งแต่เรื่องของข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ลมพัดพาฝุ่นหรืออากาศไม่สะอาด หรือรวมถึงเรื่องกลิ่น สารเคมีในอากาศว่ามันพัดพาไปทางไหน มีจุดความร้อน มีรอยไหม้ หรือมีข้อมูลหลักฐานว่ามีจุดรั่วของสิ่งที่ทําให้อากาศไม่สะอาดมาจากตรงไหน ขอแค่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่า ‘ไม่ต้องพิสูจน์’ แล้วว่าเสียหายหรือไม่ เหลือแค่พิสูจน์ว่าเสียหายเท่าไหร่ และหากเกิดในพื้นที่ของใครก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะภาพจากดาวเทียมมันชี้ชัด จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

🟢3. PM 2.5 ในปัจจุบันเป็นตัวชี้ที่เห็นว่าคนไทยเสียชีวิตสูงมาก เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมะเร็งในทางเดินหายใจ สูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดลําพูน ภาคกลาง เช่น กรุงเทพมหานคร สถิติทิ้งห่างภาคอื่น ๆ เรื่องการห้ามจุดไฟเผา ก็ห้ามกันมาหลายปี แล้วแต่ไม่เกิดผล หรือจะเป็นการ ‘ชิงเผา’ เพื่อจะได้จัดการกับเชื้อไฟในช่วงก่อนที่อากาศมันจะปิด เพราะว่าพอความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาประเทศไทย ทําให้เพดานเตี้ย เมื่อเพดานเตี้ย หากมีควันมันก็จะอบอวล 

ในเรื่องการ ‘ชิงเผา’ ก็มีปัญหาและคำถามว่ากระบวนการจัดการชิงเผาได้ประสิทธิภาพหรือเปล่า และเมื่อมีคนเริ่มชิงเผาอย่างเป็นทางการ ก็จะมีคนแอบเผาต่อเนื่องกันไป เราเห็นข้อมูลจากดาวเทียมและเป็นข้อมูลยืนยันย้อนหลัง 20 ปี ทำให้เห็นเลยว่าพื้นที่ใดบ้างที่เกิดปัญหาซ้ำซาก (เผาใหญ่ 5 ครั้งต่อปี) ตัวเลขระบุเลยว่า 64% ของ 20 ปีที่ผ่านมาที่เป็นจุดความร้อนเกิดขึ้นอยู่ในเขตป่า เขตป่าอนุรักษ์ เขตห้ามล่า เขตอุทยานแห่งชาติ รองลงมาคือป่าเสื่อมโทรม ป่าเศรษฐกิจ ป่าของกรมป่าไม้ ส่วนอีก 24% เกิดอยู่ในนาข้าว เป็นการเผาเพื่อจะขจัดวัชพืช ขจัดซังต้นข้าว เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกต้นข้าวชุดใหม่ รวม ๆ แล้วอยู่ที่ 88% ถ้าบริหารจัดการได้ จะต้องดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาแน่

ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ก็จะใส่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาด้วย เช่น การให้รางวัลสำหรับคนไม่เผา คนลดการเผา หรือคนที่ทำกิจกรรมที่ลดการเผา ควรจะมีการสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับล้วนพูดเรื่องนี้กันทั้งนั้น

สำหรับเรื่องความแตกต่างของร่างฯ ทั้ง 7 ฉบับ นายวีระศักดิ์ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้...

1.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า แก้เรื่องอากาศสะอาด ต้องใช้เงิน ฉะนั้นขอให้ตั้งกองทุนส่วนล่าง ส่วนอีก 6 ร่างฯ ไม่ได้ไปแตะเรื่องกองทุนฯ

2.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า หากปล่อยให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายเลขาของทุก ๆ คณะกรรมการไปเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ และไม่ยกระดับให้เขาให้มีอำนาจในการจัดการ จะต้องแย่แน่  ส่งผลให้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศไม่ได้ จึงเขียนให้มีการจัดกรมเฉพาะ ดูแลเรื่องอากาศสะอาดอย่างเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ตั้งกรมขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ให้เสริมแกร่งให้กรมเก่า

3. การแต่งตั้งประธานในคณะกรรมการระดับพื้นที่และระดับวอร์รูม สำหรับในระดับชาติทุกร่างระบุว่าให้นายกฯ ลงมานั่งเป็นประธาน เนื่องจากมีอํานาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง แต่ในระดับที่เป็นวอร์รูม ความต่างจาก 7 ร่างฯ จะมีร่างฯ ของก้าวไกลที่ระบุว่าอย่าให้รัฐมนตรีนั่งประธานเลย แต่ให้เป็นปลัดแทน ส่วนระดับที่เป็นคณะกรรมการดูแลรายพื้นที่หรือหลายจังหวัด ทุกร่างเสนอให้ผู้ว่าราชการเป็นประธาน ยกเว้นร่างฯ ของก้าวไกลที่เสนอให้เลือกคนที่มาจากการเลือกตั้งกัน เพราะเขาจะอยู่ได้นานกว่าเป็นซ้ำได้หลายสมัย อีกทั้งจะรู้จักพื้นที่นั้นดีกว่า แนะให้นำนายกฯ อบจ. มานั่งประธาน เพราะมีงบท้องถิ่น

>> คำถามที่ 2 การตราพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีกจำนวน 6 ฉบับ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน หรือไม่ อย่างไร

นายวีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ประโยชน์มีแน่นอน เพราะอย่างที่เรียนไปแล้วว่า 1. มันเป็นความหวัง การมีร่างตั้งหลายร่างนั้น มันทำให้ความรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นแย้งเลยในเป้าหมาย และทุกคนก็ร่วมวิธีการเข้ามา มีความแตกต่างในปลีกย่อยรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งอย่างน้อยมีความหวัง…และไม่เพียงแต่มีร่างกฎหมายเสนอมาคุยกัน ซึ่งการได้คุยกันเยอะ ๆ อย่างจริงจัง เอาความรู้มาพูดกัน มันทําให้รู้สึกว่าเรากําลังจะมีทางออก

2. มันเป็นเครื่องมือ อย่างน้อยบรรดากรมกองต่าง ๆ ตอนนี้ก็กําลังศึกษาร่างกฎหมายเหล่านี้ว่าถ้ามันออกมานั้นต้องไปเตรียมตัว เตรียมขั้นตอนวิธีการในการทํางานของกรม ของกอง ของหน่วย ของแผนก และของสํานักงานในต่างจังหวัดของตนกันอย่างไร โดยเริ่มสนทนากันเอาไว้ล่วงหน้า มีการสัมมนากันเล็กน้อยเพื่อจะเตรียมตัวต้อนรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็ทําให้เครื่องมือนี้มันถูกขัดสีฉวีวรรณ แม้กระทั่งในวันที่พระราชบัญญัติยังไม่ได้จบออกมาลงประกาศในราชกิจจาฯ อย่างน้อย 2 ท่อนนี้ดี

แต่ท่อนที่ 3 เวลานี้มันเกิดผลพลอยได้ที่ไม่ได้ตั้งใจกันไว้คือ ถ้าเรื่องนี้นํามาสู่การคิดว่าไล่วิธีการคณะกรรมการชุดใหญ่เต็มไปหมดนั้น มันอาจจะยิ่งทําให้ล่าช้า เรามีวิธีคิดใหม่ ๆ ที่มันแหวกแนวไหม? ซึ่งความแหวกแนวนั้นนี่เองที่ทําให้เกิดความหวังอีกด้านหนึ่งของเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ทําให้เกิดความรู้สึกว่าเราอาจจะได้เครื่องมือใหม่ ๆ ในทางนิติบัญญัติ หรือไม่นิติบัญญัติก็ได้…

ซึ่งเรื่องนี้สามารถทําได้โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติ เช่น การเอากลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ในนโยบาย ไม่ใช่ในกฎหมาย ซึ่งกรณีตัวอย่างก็มีได้ เช่นการที่บอกว่าถ้าหากแปลงนาไหนไม่เกิดรอยเผาในปีนั้น ๆ ก็จะได้รับสิทธิในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกในตอนปลาย แต่ถ้าใครมีรอยไหม้เท่าไหร่ ก็มาหักลดลงไปตามสัดส่วนของรอยไหม้นั้น ซึ่งเห็นไหมไม่ต้องมีกฎหมาย แต่ถ้าหน่วยใดก็ตามในระบบราชการไทยฝ่ายบริหาร ที่บอกว่าทําหน้าที่ในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกให้อยู่นั้น เขาประกาศแบบนี้ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสนามทันที 

หรือ BOI ประกาศบอกว่าใครที่ไปลงทุนทํากิจการในการรับซื้อฟาง ก็จะได้สิทธิประโยชน์ อย่าปล่อยให้มันอยู่ในนาเลย เพราะทิ้งไว้ในนาเดี๋ยวก็จุดไฟเผา หรือแม้กระทั่งการจิ้มลงไปจากกระทรวงพลังงาน บอกว่ากําหนดให้ต้องไม่เห็นรอยไหม้ของชีวมวลอยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกต่อไป โดยในเมื่อเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็ต้องไปหาชีวมวลเศษไม้ เศษหญ้า เศษผักอะไรต่าง ๆ มาเผาอยู่แล้ว ทําไมไม่ไปซื้อพวกฟาง พวกใบไม้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมาใช้ ทําไมมันยังปล่อยให้เกิดรอยไหม้อยู่ แล้วมันขนง่ายด้วย ซึ่งของแบบนี้ไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แค่บอกนโยบายมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้…

>> คำถามที่ 3 ท่านคิดว่ามาตรการและกลไกทางกฎหมายใด มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กลไกที่สําคัญที่สุด ถ้านับเฉพาะเรื่องการเผาในที่โล่ง คือกลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ไม่เผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ช่วยทําให้ไม่เกิดการเผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่คนที่ไปทําให้เกิด ‘กิจกรรมเชื่อมโยง’ ที่ทําให้คนทั้งนึกจะเผาเลยไม่ต้องเผา หรือที่กําลังเผาแล้วเปลี่ยนใจที่จะไม่เผา

พร้อมยกกรณีตัวอย่าง กลไกเหล่านี้มันเป็นกลไกที่ทําให้คนรู้สึกว่า ‘มีรายได้’ ซึ่งถ้าเปลี่ยนให้เขาได้รายได้ มันก็ชดเชย แลกกับการที่ไม่มีคนต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าคุ้มกัน แม้กระทั่งการที่จะกําหนดพื้นที่ที่เราเห็นแล้วในดาวเทียมมา 20 ปี ว่าตรงนี้เผาซ้ำซากเหลือเกิน พูดยังไงก็ไม่เข้าหูกัน ขีดตารางเลยไหม…ว่าใครจะรับผิดชอบตรงนั้น แล้วถ้าผ่านฤดูนั้นไปได้โดยไม่มีเผาเลย หรือมีรอยน้อยกว่า 5% 10% มารับรางวัลไปเลย

ทั้งนี้ ไม่ใช่ให้งบไปเพื่อจะไปดับไฟ เพราะเรื่องมันดับไฟให้งบไปเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันอยู่ในที่ลึกที่ไกลเดินทางยาก แต่ถ้าให้เขาไปเฝ้าเลย เฝ้าให้มันไม่เกิด…คนจุดมีอยู่น่าจะนับตัวกันได้ มีไม่ถึงแสนคนแน่ เพราะจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันก็หลักแสน

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถทําให้เปลี่ยน ‘พรานผู้จุด’ กลายเป็น ‘พรานผู้เฝ้า’ ไม่ให้เกิดไฟแล้วเขาได้รายรับเทียบเท่ากับที่เคยไปจุด และไม่มีคดี มีแต่ใบยกย่อง หนังสือรับรอง เขาก็น่าจะสบายใจกว่าที่จะทําอย่างนั้น

หรือการที่จะให้ความรู้ อย่างมีคนอ่านดาวเทียมเป็น แล้วเอามาอธิบายเป็นภาษาที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง ถ้าอ่านเป็นภาษาราชการคนก็อ่านไม่รู้อีก แต่ถ้าอ่านระดับชาติ คนในแต่ละพื้นที่บอกว่าทําไมอากาศวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เธออ่าน ซึ่งถ้าอย่างงั้นก็แบ่งภาคไหม…เหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง สร้าง ‘นักอ่าน’ ขึ้นมา แล้วก็รายงานเป็นประจําทุกวัน 

รวมทั้งสามารถบอกด้วยว่าอัตราการระบายลมของแต่ละวันใน 3-4 วันข้างหน้านั้นจะเป็นยังไง การชิงเผาจะได้สามารถบริหารจัดการได้ แล้วใครจะเป็นคนจัดคิวให้การเผานั้นมันออกมาแล้วมันระบายฝุ่นไปได้ มันก็จะได้เกิดขึ้น และเรื่องนี้ยังให้ความร่วมมือไปกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะเขาก็อยากจะได้ข้อมูลแบบนี้เหมือนกัน เขาก็อยากจะระบายลมของเขา และอยากจะช่วยทําให้ลดการเผาในบ้านเขาเหมือนกัน เพราะสุขภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมของเขาก็สําคัญเช่นกัน เพียงแต่เขาอาจจะไม่มีเทคโนโลยี วิทยาการ และความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีแม้กระทั่งกฎหมาย ตลอดจนกระทั่งผู้ที่จะอ่านดาวเทียม ซึ่งถ้าเราทําแล้วเชื่อมกับเขาด้วย คิดว่าได้ทั้งมิตร ทั้งสุขภาพ และก็ได้พลังในการทํางานร่วมมือภาคประชาสังคมที่ดี

>> คำถามที่ 4 ประเด็นอื่น ๆ ที่มีความประสงค์อยากจะแนะนำเพิ่มเติม

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเรื่อง ‘การสื่อสาร’ ซึ่งภาษาราชการในยุคน้ำท่วมปี 54 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาษาราชการคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง…และภาษากฎหมายยิ่งไปกันใหญ่ เพราะภาษากฎหมายยากกว่าภาษาราชการ การมีร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ยังไงก็เป็นภาษากฎหมาย และถูกใช้ด้วยระบบราชการ ต้องแปลภาษาเหล่านี้ให้ได้ มาสู่ภาษาที่เป็นทั้งความหวัง เป็นทั้งเครื่องมือในการทําให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตัดสินใจกล้าที่จะลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเขาเอง จากการเป็นผู้สร้างมลพิษ กลายเป็นผู้ช่วยแก้มลพิษ แล้วก็ทําให้รู้สึกว่าคนเมืองต้องสนใจคนต่างจังหวัด เพราะเมื่อคนต่างจังหวัดเผา ควันมันมาถึงคนเมือง คนเมืองมีพลังมากกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ และทางธุรกิจ ช่วยกันส่งเสริมพลังนั้นไปไหม อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของงบประมาณแผ่นดินท่าเดียว คนเมืองอยากจะได้อากาศสะอาด เพราะคนเมืองเองแม้เขาไม่เผา ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศในเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนเมืองมาช่วยกันเถอะ

"เงินที่มีในระบบต่าง ๆ เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, บริษัทขนาดใหญ่, กิจการอันเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง, ขยะ และสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อหรือผู้เก็บออก ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีพลังที่จะช่วยทําให้ปัญหาที่มันเคยเชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้ มันถูกหลอมรวมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และถ้าทําเช่นนั้นได้พระราชบัญญัติอาจจะมีผลน้อยมากก็ได้ แต่การมีพระราชบัญญัติไม่ได้เป็นเครื่องมือหรือการันตีที่จะบอกว่า…แล้วมันจะดีขึ้นเองเลย" นายวีระศักดิ์ ทิ้งท้าย

‘อ.วีระศักดิ์’ บรรยายสร้างแรงบันดาลใจ ‘ขรก.สำนักเลขาฯ สภาฯ’ แนะใช้ ‘ทัศนคติที่ดี - ทักษะ - ความรู้’ พัฒนางานให้มั่นคง

(11 มิ.ย.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรผู้บรรยายสร้างแรงบันดาลใจให้กับข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในหัวข้อ ‘ข้าราชการรุ่นใหม่กับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง’ ตามโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรรุ่นใหม่ เพื่อความเป็นมืออาชีพในการปฏิบัติงาน ที่อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน

โดยนายวีระศักดิ์ได้ยกตัวอย่าง เกี่ยวกับทักษะที่สำคัญมากในยุคนี้ ต้องเรียงลำดับความสำคัญมาจากเรื่อง ทัศนคติที่ดีนำหน้า ตามด้วยทักษะการเรียนรู้ สื่อสาร ส่งพลัง แล้วตามด้วยความรู้ ที่มนุษย์กำลังต้องค้นคว้าเพิ่มมารับมือกับยุควิกฤตใหม่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และการหลอมละลายแตกหักในระดับสังคม จนถึงการล่มสลายของระบบนิเวศทางชีวภาพ ซึ่งมนุษย์ไม่อาจใช้ทัศนคติ ความเคยชินเดิม ๆ ที่เคยพามนุษย์ พาทุกสิ่งเข้าสู่ยุคการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนมาในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาได้อีกแล้ว 

ข้าราชการประจำฝ่ายรัฐสภามีโอกาสสำคัญยิ่งที่ได้ร่วมงานกับฝ่ายการเมือง ซึ่งมีทั้งมิติพื้นที่ มิติภาค มิติระดับภาค มิติระหว่างประเทศ ทั้งในงานออกแบบกลั่นกรองกฎหมาย การตรวจสอบกำกับฝ่ายบริหาร งบประมาณ การสื่อสารสังคมและการพัฒนานโยบายสาธารณะของฝ่ายการเมือง 

ดังนั้นการใช้โอกาสเหล่านี้ที่มีพร้อมด้วยทักษะงาน ความรู้รอบ และทัศนคติที่เป็นบวก จะช่วยให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมได้อย่างดี มีหลักการและความต่อเนื่อง เพราะไม่ว่านักการเมืองจะมาหรือไปกี่ครั้ง แต่ฝ่ายประจำจะยังคงอยู่ อย่างมืออาชีพที่มั่นคงและช่วยประคองการเปลี่ยนผ่านได้อย่างต่อเนื่องเสมอ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top