Tuesday, 22 April 2025
วีระศักดิ์โควสุรัตน์

ถอดรหัสโอกาสจาก ‘ผืนป่า’ ผ่านมุมมอง ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ หากมนุษย์รู้จักบริบาลป่า ป่าก็พร้อมบริบาลมนุษย์กลับคืน

จากรายการทันข่าววุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 ได้เชิญ 'อาจารย์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' รองประธาน กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา มาร่วมพูดคุยถึงประเด็น ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ แบบเจาะลึก โดยเนื้อหาดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้…

อ.วีระศักดิ์ มองว่า ในสมัยหนึ่ง มนุษย์มองเรื่องของ ‘ป่า’ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยมนุษย์จะบริบาลหรือดูแลรักษาป่าไว้เพื่อรักษาความชื้น เพื่อให้เป็นที่อยู่ให้สัตว์ป่า หรือก็คือ…มองป่าในเชิงของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติดังกล่าวมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างป่า กับ มนุษย์ ค่อย ๆ เกิดช่องว่าง ป่าจะเป็นได้เพียงแค่ผู้ช่วยที่ทำให้เกิดอากาศดี และเป็นที่ธำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพบางประเภทให้กับมนุษย์เท่านั้น

ทว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์เริ่มเข้าไปรุกล้ำป่ามากขึ้น หรือก็คือ…แทบจะไม่มีพื้นที่ไหน ที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากป่า และเริ่มมองหา ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ อย่างจริงจัง แต่เป็นการหาประโยชน์ที่ขาดซึ่งบริบาลป่าควบคู่กันไป ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะองค์ความรู้ และบุคลากรที่พร้อมจะช่วยบริบาลป่าได้อย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนกับสังคมปัจจุบันที่เข้าสู่ ‘ยุคสูงวัย’ แต่ขาดระบบในการดูแลจัดการคนกลุ่มนี้ รวมถึงคนที่มีความชำนาญในการมาดูแลพวกท่าน เป็นต้น

ทั้งนี้ เหตุผลที่เทียบ ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ กับ ‘ยุคสูงวัย’ นั้น เพราะ อ.วีระศักดิ์ พยายามจะเน้นย้ำให้เห็นถึงมิติของการบริบาล หรือการดูแล เพื่อให้ป่าพร้อมที่จะกลับมาดูแลมนุษย์คืนกลับต่อไป ไม่ใช่มองป่าเป็นเพียงเศรษฐกิจที่เอาไว้กอบโกย แต่ไม่เคยคืนหรือดูแลป่าไม้กลับ

“เดิม ‘ชาวตะวันตก’ ที่เข้ามาได้สัมปทานป่าไม้ในประเทศไทยในยุคช่วงหลังล่าอาณานิคม เคยแนะนำให้ประเทศไทยสร้าง ‘กลุ่มป่าไม้’ หรือ หน่วยงานราชการที่ว่าด้วยเรื่องป่าไม้กันมาแต่ก็ตั้งแต่ช่วงนั้น เพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้ป่าถูกบุกรุกและถูกทำลาย เพราะเขามองเห็นว่าในอนาคตกลุ่มคนที่เข้ามาทำลาย และเข้าไปได้เศรษฐกิจจากป่ากลับไปนั้น จะทำให้ป่าไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย และนานวันป่าก็ยิ่งมีแต่ต้องมอบเศรษฐกิจให้แก่มนุษย์ฝ่ายเดียวมากขึ้น ผ่านการมอบสัมปทานให้กับภาคเอกชน ที่ตัดป่าไม้ไปเพื่อการส่งออกไม้ในเชิงของอุตสาหกรรม ไปทำเฟอร์นิเจอร์ ไปต่อเรือ รวมไปถึงกลุ่มที่ลักลอบตัดไม้ไปขาย ซึ่งปัจจุบันก็คงเห็นแล้วว่าป่าไม้ในไทยถูกตัดกันจนเหี้ยนแล้วจริง ๆ” 

จากจุดนี้ อ.วีระศักดิ์ จึงมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมาสนทนากันอย่างจริงจังถึง ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่าในยุคปัจจุบัน’ โดยระหว่างช่วงแรมปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้มีการไปร่วมพูดคุยกันอย่างจริงจังที่จังหวัดแพร่ โดยต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จะฟื้นฟูให้ ‘โรงเรียนป่าไม้แพร่’ ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นสะพานไปสู่เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่าแห่งยุคปัจจุบัน

อ.วีระศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า นี่เป็นเสมือนการชุบชีวิตโรงเรียนป่าไม้แพร่ให้ฟื้นกลับมาใหม่ ในฐานะของ ‘สถาบันการศึกษา’ โดยจะมีกิจกรรมหลักสูตรที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนเพื่อรับเป็นเครดิตในระดับปริญญาได้เป็นครั้งแรก หลังโรงเรียนป่าไม้แพร่ของกรมป่าไม้ถูกปิดตัวไปกว่า 30ปี

ทั้งนี้ หลักสูตรที่เปิด นอกจากการเรียนเรื่องการปลูกป่า รักษาป่า การพัฒนาพันธุ์ไม้ป่า การใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เก็บได้จากป่ามาทำมูลค่าเพิ่ม เช่น ทำถ่านกัมมันต์จากเปลือกไม้ จากฟาง จากขี้เลื่อยแล้ว ยังมีหลักสูตรรุกขกรตัดแต่งกิ่งไม้ การออกแบบผลิตภัณฑ์จากไม้ การตรวจพิสูจน์ไม้ การสกัดสารสำคัญทางชีวภาพจากพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์ การบริหารป่าชุมชน การทำสวนป่า การทำฝายในป่า ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ตั้งโรงเรียนป่าไม้แพร่ได้กลับมามีชีวิตชีวา และสามารถถ่ายทอดความรู้ความชำนาญจากผู้มีทักษะความรู้กระจายให้ผู้มาเข้าหลักสูตรได้หลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่ว่าด้วยการเพาะพันธุ์กล้าไม้ ทั้งไม้ทั่วไป ไม้เฉพาะ ไม้เศรษฐกิจ (ไม้สัก-ไม้พะยูง) และไม้หายากด้วย ซึ่งเดิมหน่วยงานไหน สถาบันการศึกษาใดจะเพาะ แล้วไปจำหน่ายก็ตามแต่บทบาทของแต่ละหน่วย เพียงแต่ถ้าถามว่าแล้ว ความรู้ในการ การเพาะพันธุ์นั้น พอจะสอนกันได้หรือไม่ ก็นำมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันแห่งนี้ เพื่อช่วยให้เกิดการต่อยอดสร้างเศรษฐกิจจากผืนป่า ที่นำไปพัฒนาต่อทางอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์ เชื้อเพลิง และอื่น ๆ ได้ต่อไป

ในอดีตแต่ดั้งเดิมนั้น โรงเรียนป่าไม้แพร่เคยถูกสร้างมาเพื่อสร้างข้าราชการที่จะบรรจุมาทำงานด้านการทำไม้ การชักลากไม้ ซึ่งเน้นการตัดสางเพื่อเปิดพื้นที่ให้ไม้ป่าสามารถเติบโตให้ลำต้นอ้วนพีมากขึ้น แต่ภายหลังเมื่อทางการไทยเปลี่ยนมาใช้การให้สัมปทานตัดไม้แก่เอกชน จึงปิดโรงเรียนป่าไม้แพร่ไป ปรากฏว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานกลับเน้นการตัดไม้ในพื้นที่ให้หมด เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนที่สุด และยังมักลักลอบตัดไม้นอกแปลงสัมปทานไว้ด้วย จนเมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หลังพายุไต้ฝุ่นเกย์ทำให้เกิดซุงถล่มไหลลงจากเขา ทับหมู่บ้านที่อยู่ตอนล่างมากมาย รัฐบาลจึงสั่งเปลี่ยนนโยบายให้ปิดป่าเลิกสัมปทานทำไม้ทั้งหมดนับแต่นั้น

นั่นจึงทำให้โรงเรียนป่าไม้แพร่ไม่ได้รับเหตุจูงใจให้เปิดขึ้นมาอีก จนภายหลังจากปี 2562 มีการแก้ไขกฎหมายให้คนอยู่กับป่าได้ ยกเลิกการห้ามตัดไม้หวงห้าม ทำให้มีประชาชนปลูกไม้มีค่าเพิ่มขึ้นในที่ดินตนเอง แต่องค์ความรู้ในการบำรุงรักษา และการทำไม้เริ่มหายไป ดังนั้น การฟื้นฟูหลักสูตรทักษะการจัดการป่า การดูแลต้นไม้ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากป่า จึงเป็นฐานความรู้ที่จะทวีความสำคัญต่อการรักษาและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีคุณภาพได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อ ๆ ไป

ดังนั้นโรงเรียนป่าไม้แพร่ ก็จะเป็นต้นแบบหนึ่ง ที่เชื่อว่าหลักสูตรและความรู้เหล่านี้ เมื่อนำไปขยายกระจายต่อ จะสร้างความตระหนักรู้ และประโยชน์เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนและผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ใกล้ป่าหันกลับมาอยากจะปลูกป่ากันมากขึ้น

แม้เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่ายุคใหม่ จะดูน่าสนใจเพียงใด แต่ อ.วีระศักดิ์ เชื่อว่า บางคนที่พอได้ฟังแบบนี้แล้ว ก็อาจจะมีบางมุม เช่น ถ้าการตัดไม้ทำลายป่า เป็นเรื่องไม่ดี เขาก็จะไม่ตัด แต่เช่นเดียวกันเขาก็จะไม่ปลูกด้วย ฉะนั้นเศรษฐกิจว่าด้วยผืนป่านี้ยุคใหม่นี้ จึงต้องมีการผลักดันเพื่อให้คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นคุณค่า และเข้าใจว่าป่านั้นสามารถเป็นเศรษฐกิจได้ โดยที่ไม่กระทบและทำลายป่า แถมยังช่วยรักษ์โลกไปในเวลาเดียวกัน เช่น ในยุโรป จะมีการอนุญาตให้ตัดไม้ในป่าที่มีการกำหนดขอบเขตปลูก เพื่อไปต่อยอดเศรษฐกิจการค้าไม้ในตลาดโลก พร้อมกระตุ้นให้เกิดการใช้งานไม้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อลดโลกร้อน อาทิ การก่อสร้างที่ใช้ไม้ทดแทน ‘ปูนซีเมนต์’ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน เนื่องจากกระบวนการผลิตประกอบไปด้วยการเผาในอุณหภูมิหลายพันองศา แถมต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากมาย เพื่อให้ได้ปูนสำเร็จออกมา และผลกระทบจากกระบวนการเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น กลับกันถ้าผู้คนหันมาสร้างอาคารสูงที่ทำด้วยไม้มากขึ้น ผลลัพธ์ที่ว่าไปก็จะหายไป แถมมีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่า การก่อสร้างด้วยไม้ให้น้ำหนักที่เบากว่า แต่ทนทาน แถมไม่ก่อให้เกิดโลกร้อน ทั้งในเชิงโครงสร้างและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เหมือนกับที่ IKEA กำลังทำอยู่กับการสร้างพื้นที่ป่าไม้ของตนเองในสวีเดน ซึ่งมีมากกว่าพื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้สวีเดน ถึง 5 เท่า เป็นต้น 

ดังนั้นสำหรับประชาชนที่สนใจที่จะมองหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผืนป่า อ.วีระศักดิ์ ได้แนะนำให้เริ่มจากการเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับป่า ศึกษาดูว่าในพื้นที่ของท่าน ดินอยู่ในจุดไหน โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาได้ในเว็บไซต์ของกลุ่มพัฒนาที่ดิน / กรมอุทยาน / กระทรวงเกษตร และมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้-ต้นไม้ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ไม่ยาก

“เราบริบาลป่า ป่าก็จะบริบาลเราครับ” อ.วีระศักดิ์ ทิ้งท้าย

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์‘ ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสถานที่จัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)” เฉลิมพระเกียรติฯ

เมื่อวันที่ (20 พ.ย.67) ณ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการบริหารมูลนิธิ อาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในฐานะ ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดงาน "เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)" เฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมีกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 5-10 ธันวาคม 2567นี้ 

เข้าตรวจสถานที่การจัดงานฯ 

- บริเวณสเฟียร์ฮอลล์ ชั้น 5 สำหรับพิธีรับเข็มฯ 
- บริเวณเอ็มกลาสและเอ็มยาร์ด สำหรับการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ 
- พร้อมร่วมประชุมกับประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ อาทิ ฝ่ายร้านค้า, ฝ่ายการแพทย์, ฝ่ายรักษาความปลอดภัย, ฝ่ายประชาสัมพันธ์, ฝ่ายพิธีการ และฝ่ายสถานที่  เป็นต้น 

ทั้งนี้ทุกฝ่ายรายงานการทำงานให้ประธานทราบ และทุกฝ่ายพร้อมรับปฏิบัติในส่วนที่รับผิดชอบ

‘วีระศักดิ์’ ร่วมประชุมหารือ!! เรื่องฝุ่น ในระดับนานาชาติ ภายใต้!! โครงการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ในภูมิภาคอาเซียน

(25 ม.ค. 68) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้โพสต์ข้อความ โดยได้ระบุว่า ... 

วันนี้ผมมาในนาม ‘สภาลมหายใจกรุงเทพฯ’ เพื่อร่วมประชุมกับกลุ่มนักวิชาการนานาชาติที่ทำงานเรื่องฝุ่น ที่ศาลาการจังหวัดเชียงใหม่ทั้งวัน

ภายใต้ ‘โครงการปรับปรุงคุณภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน : แนวทางสู่อนาคต’

กิจกรรมนี้เป็นการประชุม work shop แบ่งปันประสบการณ์ และความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน จัดโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส AFD สถานทูตฝรั่งเศส และจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเป็นประธานเปิด มีรองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจกรุงเทพฯ เครือข่ายนักวิชาการในไทย นักวิชาการฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สกสว. AIT มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

อัตราลมพัดดีกำลังจะมาถึงในอีกสองสามวันครับ

ต้นอาทิตย์หน้า ค่าฝุ่นควรจะลดลงได้มากครับ

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ซัดคนบางกลุ่มไร้จิตสำนึก เผาป่า อช.ดอยสอยมาลัยฯ หวังเพียงได้หญ้าใหม่ไว้เลี้ยงวัว

(3 ก.พ. 68) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไฟป่าในเขตพื้นที่ภาคเหนือของไทย ว่า ขณะนี้ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน มีไฟป่ามากที่สุดในประเทศแล้ว เนื่องจากมีการจุดเผา ร่วมสิบกองในเวลาใกล้ ๆ กัน

ถึงแม้ว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ จะสนธิกำลังกัน 75 นาย แต่หน้าผาสูงชันมาก เป็นอุปสรรคที่จะเข้าไปถึงจุดที่ไฟไม้ได้อย่างยากลำบาก

นายวีระศักดิ์ ระบุว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น ได้รับแจ้งข่าวว่ามาจากการเผาป่าเอาหญ้าใหม่ในหน้าฝน เพื่อนำไปเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้จิตสำนึก เพราะส่งผลให้ฝุ่นพิษกระจายไปทั่ว เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน รวมถึงจังหวัดในภาคเหนือและอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง และขอประณามการกระทำของกลุ่มคนดังกล่าวที่เลี้ยงวัวบนปอดคน โดยไม่สนใจผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมา

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 แนะแต่ละจังหวัดควรมี ‘Mr.ฝุ่น’ ช่วยอ่านทิศทางลม

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ตั้ง 'คณะกรรมการลุ่มอากาศ'- กลไกการตลาดรวมพลังผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าเชื่อมแหล่งกำเนิดมลพิษ - ยกเว้นภาษีที่ดินให้พื้นที่ใช้พักฟาง แนะควรมี 'Mr.ฝุ่น' ในเมืองและเขตต่าง ๆ ถ้าทุกคนอ่านทิศเป็น เข้าใจเชื้อเพลิงได้ รู้ว่าแต่ละจังหวัดเป็นได้ทั้งเมืองต้นลมและปลายลม จะได้คุยหาทางออกร่วมกัน

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา Policy Forum : Policy Dialogue ฝ่าทางตัน 'วาระฝุ่น' 2568 ( 11 ก.พ. 68) โดยได้นำเสนอ 6 มาตรการในการแก้ปัญหาที่มองว่าสามารถทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ประกอบด้วย

1.ข้อมูลการตลาด ภาคประชาสังคมและพลังผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง ด้วยการช่วยกันค้นหาเปิดเผยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดPM 2.5 และไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้น เป็นการลดแหล่งกำเนิดจากการเผาต่าง ๆ เช่น จากโรงงานน้ำตาล 60 แห่งมี 20 แห่งที่ยังรับซื้ออ้อยที่มีการเผา ก็เปิดเผยชื่อโรงงานและยี่ห้อน้ำตาล เป็นต้น 

2.ลดแหล่งกำเนิดจากการใช้รถ เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันEURO 5 เป็น EURO 6 ในราคาที่ไม่แพงมากนัก ร่วมกับการกวดขันและติดตามรถควันดำร่วมกับภาคประชาชนยกเว้นภาษีที่ดี พื้นที่พักฟาง

3.ภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีการพูดน้อยถึงว่าเป็นแหล่งก่อ PM 2.5 ควรมีการนำโดรนมาบินปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อวัดปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมาแทนการใช้วิศวกรปีนขึ้นไปวัด

4.ขอให้กระทรวงการคลัง ออกระเบียบเรื่องภาษีที่ดิน ในการกำหนดพื้นที่ยกเว้นภาษีที่ดิน ให้กับพื้นที่พักฟาง ก็จะได้พื้นที่ว่างของภาคเอกชนมาให้เกษตรกรพักฟางทุกตำบลทั่วประเทศจะได้ไม่ต้องมีการเผาพื้นที่เกษตร แต่จะต้องมีการดูแลที่ดีไม่ให้ฟางเกิดไฟไหม้ และรอให้ผู้มาซื้อฟางไปทำอาหารสัตว์ หรือโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

5.จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มอากาศ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนจังหวัดที่อยู่ในทิศทางลมทั้ง 3 แบบคือ ลมหนาว, ลมตะวันตกเฉียงใต้ และลมตะเภาที่ส่งผลต่อการพัดพาฝุ่น PM2.5 โดยก่อนที่จะถึงช่วงเวลาของสภาพอากาศและทิศทางลมแต่ละแบบที่จะเกิดขึ้น คณะกรรมการนี้ก็มาบริหารจัดการร่วมกันภายใต้สูตร 8/3/1 โดยร่วมวางแผนลดปัญหาล่วงหน้า 8 เดือน ส่วนช่วง 3 เดือนที่สภาพอากาศปิดเป็นฝาชีก็ไม่ให้มีการเผา และ 1 เดือนหลังจากนั้นใช้ในการถอดบทเรียนเพื่อปรับในปีต่อไป

และ6.ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งสภาลมหายใจให้เกิดขึ้นทุกจังหวัด ลงลึกถึงระดับพื้นที่ และนำไปสู่การจัดตั้งสภาลมหายใจCLMV เพื่อร่วมขับเคลื่อนปัญหาระหว่างประเทศ 

"สภาลมหายใจ เราเสนอว่าควรมี 'Mr.ฝุ่น' ในเมือง และเขตต่าง ๆ เพราะลมเปลี่ยนทิศ และป่าแห้งตามช่วงเวลา ซึ่งแต่ละจังหวัดเป็นได้ทั้งเมืองต้นลมและเมืองปลายลม ในขณะเดียวกัน ต้องทำให้ทุกคนรู้ด้วยว่า ถ้าเขาอ่านทิศทางเป็น เข้าใจเชื้อเพลิงได้ อย่างฝุ่นของเราเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาจากหมู่บ้านนั้นอำเภอนี้ จังหวัดนั้น แล้วที่จังหวัดนั้นเขาปลูกอะไร หรือเป็นช่วงเทศกาลอะไรอยู่ ทำให้เราต้องรับฝุ่นแบบนี้ จะได้คุยกับเมืองต้นลมถูก

ในเดือนมกราคม, มีนาคม และเมษายน อย่างน้อยทิศทางลมจะเปลี่ยน 3 หน จึงอยากชวนรัฐบาลกลางพิจารณาว่าควรจะตั้งคณะกรรมการที่ให้จังหวัดปลายลมและข้างเคียงรวมตัวเป็นฝ่ายหัวโต๊ะ แล้วชวนจังหวัดต้นลม ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงมา มานั่งหัวโต๊ะ อธิบายให้เข้าใจว่าท่านกำลังปลูกอะไร แล้วอยากให้เมืองปลายลมช่วยอะไร เพราะถ้าจังหวัดปลายลมไม่อยากรับลมนั้น จะได้ระดมพลังประชาชนมาช่วยแก้กัน โดยต้องดำเนินตามหลัก '8-3-1' 

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ จับมือ ‘AFD’ จากฝรั่งเศส เดินหน้า!! แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้คนไทย มีลมหายใจที่สะอาด

(16 ก.พ. 68) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการบริหาร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ยามยาก สภากาชาดไทย ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ ได้ร่วมกับ AFD หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เดินหน้าทำโครงการร่วมพัฒนาคุณภาพอากาศในอาเซียน โดยนำคณะทำงานของอาเซียนมาร่วมกันศึกษาการพยายามแก้ไขมลพิษทางอากาศในไทย ร่วมงานกับทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม อย่างสภาลมหายใจกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนได้มีอากาศสะอาด

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ นำคณะนักธุรกิจไทยเยือนบรูไน ศึกษาโอกาสการลงทุนด้านผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากปลา

(28 ก.พ. 68) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงการนำคณะนักธุรกิจไทย เดินทางเยือนประเทศบรูไน ว่า การเดินทางเยือนบรูไนในครั้งนี้ เพื่อดูงานด้านการผลิตโปรตีนคุณภาพสูง และน้ำมันปลาที่สกัดจากปลาซาร์ดีน ทูน่าและแมคคาเรลที่ปกติสะพานปลาและตลาดปลาส่วนมากคัดส่วนที่ไม่ต้องการออก เพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบสกัดทางวิทยาศาสตร์โมเลกุลในอุณหภูมิต่างๆ ให้กลายเป็นผงโปรตีนชงดื่มสำหรับผู้กำลังสร้างกล้ามเนื้อ ผงโปรตีนเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่แพทย์ต้องการให้ได้รับสารอาหารเฉพาะทาง หรือนำไปผสมเป็นผงปลาป่นในการผสมอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งพิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์ว่าจะทำให้เซลของสัตว์ได้รับสารโปรตีนคุณภาพสูง ใช้เป็นหัวอาหารเลี้ยงปลาไหลในญี่ปุ่น ใช้เลี้ยงไก่ไข่ให้ออกไข่ที่มีไข่ขาวเป็นวุ้นหนาขึ้น เปลือกไข่แข็งแรงขึ้น และไข่แดงแสดงความสมบูรณ์กว่า โดยตลาดญี่ปุ่นรับซื้อในราคาสูงมาก และยังเป็นที่ต้องการในตลาดโปรตีนคุณภาพสูงทั่วโลก

โดยนายวีระศักดิ์ นำคณะเดินทางไทยมาสำรวจกิจกรรมด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบรูไนและนอกชายฝั่งเกาะบอร์เนียวเป็นเวลา 3 วัน ทั้งนี้เป็นไปตามคำเชิญของทางการบรูไนที่สนใจดึงดูดผู้มีเทคโนโลยีอาหารระดับสูงและต้องการสำรวจความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน และศึกษาลู่ทางการร่วมลงทุน โดยได้จัดให้คณะได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบรูไนอีกตำแหน่งหนึ่ง ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลบรูไน จัดให้เข้าพบและประชุมร่วมกับอธิบดีกรมประมงของบรูไน  จัดให้เข้าประชุมร่วมกับรักษาการเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจของบรูไน ตลอดจนจัดให้ไปเยี่ยมชมกิจการแพปลา ท่าขึ้นลงเรือสินค้า กิจการห้องเย็นและการเพาะเลี้ยงปลาด้วยระบบปิดที่ทันสมัย สามารถผลิตปลากะพงขาวผสม 3 สายพันธุ์ คือกะพงออสเตรเลีย ผสมกะพงบรูไนและกะพงอ่าวไทยที่มีจุดเด่นที่แตกต่างกันให้กลายเป็นลูกปลาเพาะเลี้ยงไฮบริดที่เหมาะกับความเป็นไปของน้ำทะเลของบรูไน เพื่อใช้เวลาขุนจนโตเหมาะกับการนำขึ้นสู่ภัตตาคารชั้นสูง ในเครือโรงแรมใหญ่ของโลก เช่น เครือไฮแอท เครือแมริออต หรือบรรดาร้านอาหารมิชลินสตาร์ และมารีน่าเบย์แซนด์ ในสิงคโปร์เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ฯพณฯเอกอัครราชทูตไทย บุศรา กาญจนาลัย ได้เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารมื้อกลางวันต้อนรับคณะเดินทางไทย ก่อนคณะจะออกเดินทางกลับไทย โดยมีรักษาการเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจของบรูไนและคณะผู้บริหารกองทุนดารุสซาราม ซึ่งแสดงความประสงค์จะขอร่วมลงทุนในกิจการอาหารระดับสูงของไทยครั้งนี้ รวมทั้งมีผู้แทน Bank of Singapore บินจากสิงคโปร์มาเข้าร่วมใน working lunch ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบันดาร์เสรีเบกาวานด้วย

‘ดร.วีระศักดิ์’ ร่วมถก กสม. หาแนวทางแก้ไขปัญหา PM2.5 ก่อนจัดทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาลนำไปแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

กสม. จัดประชุมรับฟังข้อมูลและความเห็นประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5

เมื่อวันที่ (6 มี.ค. 68) ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ พลเพชร และนางสาวมณีรัตน์ มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำ กสม. นางสาวหรรษา หอมหวล เลขาธิการ กสม. รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ประชุมรับฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 โดยรับฟังข้อมูลจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ รวมทั้งภาคประชาสังคม ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมอาเซียน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ณ ห้องประชุม 709 สำนักงาน กสม.

ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงานในปีที่ผ่านมาเพื่อรับมือสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นละออง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับฝุ่นละอองสำหรับปี 2568 เช่น การกำหนดนโยบายหรือมาตรการเพื่อควบคุมและลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด แนวทางแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหา การมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดการและแจ้งเตือนข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งการป้องกันและดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ กสม. จะรวมรวบข้อมูลและความเห็นที่ได้จากการประชุมเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 ในภาพรวมเสนอรัฐบาลต่อไป

เราจะร่วมกันลดฝุ่นโรงงาน โรงไฟฟ้า ไฟป่า ไฟไร่ ฝุ่นเมือง และฝุ่นการจราจร ช่วยเพื่อนบ้าน ลดฝุ่นข้ามแดน แบบไม่ชี้นิ้วใส่ใคร โดยไม่รู้จักทิศทางของลม

ไทยเราควบคุมให้ลดจุดความร้อนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่เราคงต้องช่วยเพื่อนๆให้มากๆขึ้นด้วย

สภาลมหายใจภาคประชาชนในทุกท้องที่ท้องถิ่น จะเป็นทางออกที่เจ้าของปอด เข้าถึงความรู้ความรอบและความจริง รายสัปดาห์

เพราะว่าลมใหญ่เปลี่ยนทิศทาง
ลมย่อยประจำถิ่นก็เปลี่ยนตามบริบทของตัวเอง

ช่วยกันเชียร์ให้สถาบันการศึกษาประจำพื้นที่โดดเข้ามาเป็นแกนช่วยเหลือทางหลักวิชา
เชิญให้สื่อประจำพื้นที่ได้เข้ามาติดตามรายงานเผยแพร่ต่อ

เพื่อปลุกและแนะให้เจ้าของปอดทุกคน มีความรู้และสู้ร่วมกันอย่างมีความหวังและเท่าทัน

ใช้สูตร 1เดือนหลังฤดูฝุ่นมาถอดบทเรียนว่าเราน่าจะทำอะไรในพื้นที่ให้เกืดผลที่ดีขึ้นในฤดูฝุ่นหน้า

แล้วลงมือลุยทำไปต่อตลอด8เดือนถัดมา

เมื่อ3เดือนแห่งฝุ่นขึ้นฟ้ามาอีกครั้ง

เราจะได้ลดค่าความอันตรายลงไปได้ต่อเนื่องทุกๆปีนับแต่นี้

สูตรทำงานสู้ฝุ่น #1-3-8

เราจะร่วมกันลดฝุ่นโรงงาน โรงไฟฟ้า ไฟป่า ไฟไร่ ฝุ่นเมืองและฝุ่นการจราจร

และช่วยเพื่อนบ้านลดฝุ่นข้ามแดนแบบไม่ชี้นิ้วใส่ใครโดยไม่รู้จักทิศทางของลม

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top