‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 แนะแต่ละจังหวัดควรมี ‘Mr.ฝุ่น’ ช่วยอ่านทิศทางลม

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ตั้ง 'คณะกรรมการลุ่มอากาศ'- กลไกการตลาดรวมพลังผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าเชื่อมแหล่งกำเนิดมลพิษ - ยกเว้นภาษีที่ดินให้พื้นที่ใช้พักฟาง แนะควรมี 'Mr.ฝุ่น' ในเมืองและเขตต่าง ๆ ถ้าทุกคนอ่านทิศเป็น เข้าใจเชื้อเพลิงได้ รู้ว่าแต่ละจังหวัดเป็นได้ทั้งเมืองต้นลมและปลายลม จะได้คุยหาทางออกร่วมกัน

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา Policy Forum : Policy Dialogue ฝ่าทางตัน 'วาระฝุ่น' 2568 ( 11 ก.พ. 68) โดยได้นำเสนอ 6 มาตรการในการแก้ปัญหาที่มองว่าสามารถทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ประกอบด้วย

1.ข้อมูลการตลาด ภาคประชาสังคมและพลังผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง ด้วยการช่วยกันค้นหาเปิดเผยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดPM 2.5 และไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้น เป็นการลดแหล่งกำเนิดจากการเผาต่าง ๆ เช่น จากโรงงานน้ำตาล 60 แห่งมี 20 แห่งที่ยังรับซื้ออ้อยที่มีการเผา ก็เปิดเผยชื่อโรงงานและยี่ห้อน้ำตาล เป็นต้น 

2.ลดแหล่งกำเนิดจากการใช้รถ เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันEURO 5 เป็น EURO 6 ในราคาที่ไม่แพงมากนัก ร่วมกับการกวดขันและติดตามรถควันดำร่วมกับภาคประชาชนยกเว้นภาษีที่ดี พื้นที่พักฟาง

3.ภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีการพูดน้อยถึงว่าเป็นแหล่งก่อ PM 2.5 ควรมีการนำโดรนมาบินปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อวัดปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมาแทนการใช้วิศวกรปีนขึ้นไปวัด

4.ขอให้กระทรวงการคลัง ออกระเบียบเรื่องภาษีที่ดิน ในการกำหนดพื้นที่ยกเว้นภาษีที่ดิน ให้กับพื้นที่พักฟาง ก็จะได้พื้นที่ว่างของภาคเอกชนมาให้เกษตรกรพักฟางทุกตำบลทั่วประเทศจะได้ไม่ต้องมีการเผาพื้นที่เกษตร แต่จะต้องมีการดูแลที่ดีไม่ให้ฟางเกิดไฟไหม้ และรอให้ผู้มาซื้อฟางไปทำอาหารสัตว์ หรือโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

5.จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มอากาศ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนจังหวัดที่อยู่ในทิศทางลมทั้ง 3 แบบคือ ลมหนาว, ลมตะวันตกเฉียงใต้ และลมตะเภาที่ส่งผลต่อการพัดพาฝุ่น PM2.5 โดยก่อนที่จะถึงช่วงเวลาของสภาพอากาศและทิศทางลมแต่ละแบบที่จะเกิดขึ้น คณะกรรมการนี้ก็มาบริหารจัดการร่วมกันภายใต้สูตร 8/3/1 โดยร่วมวางแผนลดปัญหาล่วงหน้า 8 เดือน ส่วนช่วง 3 เดือนที่สภาพอากาศปิดเป็นฝาชีก็ไม่ให้มีการเผา และ 1 เดือนหลังจากนั้นใช้ในการถอดบทเรียนเพื่อปรับในปีต่อไป

และ6.ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งสภาลมหายใจให้เกิดขึ้นทุกจังหวัด ลงลึกถึงระดับพื้นที่ และนำไปสู่การจัดตั้งสภาลมหายใจCLMV เพื่อร่วมขับเคลื่อนปัญหาระหว่างประเทศ 

"สภาลมหายใจ เราเสนอว่าควรมี 'Mr.ฝุ่น' ในเมือง และเขตต่าง ๆ เพราะลมเปลี่ยนทิศ และป่าแห้งตามช่วงเวลา ซึ่งแต่ละจังหวัดเป็นได้ทั้งเมืองต้นลมและเมืองปลายลม ในขณะเดียวกัน ต้องทำให้ทุกคนรู้ด้วยว่า ถ้าเขาอ่านทิศทางเป็น เข้าใจเชื้อเพลิงได้ อย่างฝุ่นของเราเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาจากหมู่บ้านนั้นอำเภอนี้ จังหวัดนั้น แล้วที่จังหวัดนั้นเขาปลูกอะไร หรือเป็นช่วงเทศกาลอะไรอยู่ ทำให้เราต้องรับฝุ่นแบบนี้ จะได้คุยกับเมืองต้นลมถูก

ในเดือนมกราคม, มีนาคม และเมษายน อย่างน้อยทิศทางลมจะเปลี่ยน 3 หน จึงอยากชวนรัฐบาลกลางพิจารณาว่าควรจะตั้งคณะกรรมการที่ให้จังหวัดปลายลมและข้างเคียงรวมตัวเป็นฝ่ายหัวโต๊ะ แล้วชวนจังหวัดต้นลม ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงมา มานั่งหัวโต๊ะ อธิบายให้เข้าใจว่าท่านกำลังปลูกอะไร แล้วอยากให้เมืองปลายลมช่วยอะไร เพราะถ้าจังหวัดปลายลมไม่อยากรับลมนั้น จะได้ระดมพลังประชาชนมาช่วยแก้กัน โดยต้องดำเนินตามหลัก '8-3-1'