Tuesday, 29 April 2025
วันเหมายัน

22 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ‘วันเหมายัน’ หรือ ‘ตะวันอ้อมข้าว’ เวลากลางคืนยาวนานสุดในรอบปี

วันนี้ นับเป็นวัน ‘เหมายัน’ หรือ ‘ตะวันอ้อมข้าว’ เวลากลางวันสั้น ส่วนเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เป็นวันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ตะวันอ้อมข้าว’ 

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่แตกต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางวันที่สั้นที่สุด และเวลากลางคืนยาวนานที่สุด สำหรับวันเหมายันในปี 2565 ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:55 น. รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที นอกจากนี้ วันเหมายันยังถือเป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวสำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ แต่สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้นั้นจะนับเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูร้อน

เปิดฤกษ์วันไหว้ขนมบัวลอย 07.19 - 17.56 น. ตรง 22 พฤหัสบดี มีทั้ง 'เหมายัน' และ 'ตังโจ่ย'

นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้เงยหน้ามองสิ่งที่แขวนอยู่ตรงฝาผนังแทบทุกบ้าน 'ปฏิทิน' รายเดือนพิมพ์สองสี (แดง - น้ำเงิน) บนกระดาษปอนด์ขาว แสดงตารางวันเต็มแผ่น (หน้า) ละเดือน แต่ละวันระบุข้างขึ้นข้างแรม (ทางจันทรคติ) วันธรรมสวนะ (วันพระ) และวันสำคัญต่างๆ ตลอดทั้งปี ยิ่งเฉพาะช่องวันที่ 1 และ 16 จะมีตัวเลขยึกยือไว้ให้ส่องตีความกันด้วย

นิวาสสถานบ้านใดมีปฏิทินแบบที่กล่าวมาก็จะสังเกตเห็นว่า วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565 นี้ (แรม 14 ค่ำ เดือน 1) ซ่อนความสำคัญอยู่สองนัยยะ หนึ่ง คือเป็น 'วันเหมายัน' (อ่านออกเสียง เห - มา - ยัน) ตามความเชื่ออย่างฮินดูคติ พร้อมกันนี้ตำราดาราศาสตร์ฝรั่งยังเรียกวันนี้ว่า 'Winter Solstice' (วินเทอร์ ซอลส์ทิซ) ส่วนไทยบ้านเราบอกต่อๆ กันมา 'ตะวันอ้อมข้าว' ซึ่งความหมายโดยรวมก็คือ…

"...วันที่แกนโลกทางซีกโลกเหนือเอียงออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ส่งผลให้ประเทศทางซีกโลกเหนือ (รวมถึงประเทศไทยเรา) มีกลางวันสั้น และกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี" นั่นเอง

อีกหนึ่งนัยยะแบบบูรพาวิถี จะถือเอา 22 ธันวาคม ของทุกปี (แต่บางปีก็ก่อนหน้าหนึ่งวัน) เป็น 'วันไหว้ขนมบัวลอย' หรือ 'เทศกาลตังโจ่ย' (冬至) อันหมายถึง 'เทศกาลเหมันตฤดู' จุดเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นเทศกาลสุดท้ายของชาวไทยเชื้อสายจีนในรอบหนึ่งปีปฏิทินผ่านมา

ในเทศกาลนี้จะมีการทำ 'ขนมบัวลอย' หรือ 'ขนมอี๋' มาไหว้คารวะฟ้าดิน ปึงเถ่ากง ตี่จู๋เอี๊ย (เจ้าที่เจ้าทาง) เพื่อขอบคุณที่ได้ช่วยให้การดำรงชีวิตของสมาชิกของแต่ละครอบครัวสามารถดำเนินมาอย่างราบรื่นตลอดสามร้อยหกสิบห้าวัน และยังเพื่อขอพรให้ช่วยคุ้มครองทุกๆ คนต่อไป

ขนมบัวลอยหรือขนมอี๋ที่ใช้ในการไหว้ ทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำสุกจนเข้าที่ ปั้นเป็นเม็ดกลมเล็ก นิยมผสมสีชมพูหรือสีขาว โดยทรง 'กลม' ของขนมนั้นหมายถึง 'ความกลมเกลียว' กันในหมู่ญาติพี่น้อง ส่วนสีชมพูก็คือความโชคดี โดยของสักการะอื่นๆ ก็ประกอบด้วย กระถางธูป, เทียนแดง 1 คู่, ธูป 3 (หรือห้า) ดอก, ผลไม้, น้ำชา 5 ถ้วย วางพร้อมขนมบัวลอย 5 ถ้วย

ทั้งนี้ตามหลักของปฏิทินจีนเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย จะไม่ได้ระบุวันอย่างตายตัว แต่จะยึดเอาวันซึ่งตรงกับเดือน 11 หรือเดือนธันวาคม หรือ 'เกี๋ยวง๊วย' แต่ตามปฏิทินทางสากล (สุริยคติ) วันตังโจ่ยจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ของทุกปีพอดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top