เปิดฤกษ์วันไหว้ขนมบัวลอย 07.19 - 17.56 น. ตรง 22 พฤหัสบดี มีทั้ง 'เหมายัน' และ 'ตังโจ่ย'

นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้เงยหน้ามองสิ่งที่แขวนอยู่ตรงฝาผนังแทบทุกบ้าน 'ปฏิทิน' รายเดือนพิมพ์สองสี (แดง - น้ำเงิน) บนกระดาษปอนด์ขาว แสดงตารางวันเต็มแผ่น (หน้า) ละเดือน แต่ละวันระบุข้างขึ้นข้างแรม (ทางจันทรคติ) วันธรรมสวนะ (วันพระ) และวันสำคัญต่างๆ ตลอดทั้งปี ยิ่งเฉพาะช่องวันที่ 1 และ 16 จะมีตัวเลขยึกยือไว้ให้ส่องตีความกันด้วย

นิวาสสถานบ้านใดมีปฏิทินแบบที่กล่าวมาก็จะสังเกตเห็นว่า วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565 นี้ (แรม 14 ค่ำ เดือน 1) ซ่อนความสำคัญอยู่สองนัยยะ หนึ่ง คือเป็น 'วันเหมายัน' (อ่านออกเสียง เห - มา - ยัน) ตามความเชื่ออย่างฮินดูคติ พร้อมกันนี้ตำราดาราศาสตร์ฝรั่งยังเรียกวันนี้ว่า 'Winter Solstice' (วินเทอร์ ซอลส์ทิซ) ส่วนไทยบ้านเราบอกต่อๆ กันมา 'ตะวันอ้อมข้าว' ซึ่งความหมายโดยรวมก็คือ…

"...วันที่แกนโลกทางซีกโลกเหนือเอียงออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ส่งผลให้ประเทศทางซีกโลกเหนือ (รวมถึงประเทศไทยเรา) มีกลางวันสั้น และกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี" นั่นเอง

อีกหนึ่งนัยยะแบบบูรพาวิถี จะถือเอา 22 ธันวาคม ของทุกปี (แต่บางปีก็ก่อนหน้าหนึ่งวัน) เป็น 'วันไหว้ขนมบัวลอย' หรือ 'เทศกาลตังโจ่ย' (冬至) อันหมายถึง 'เทศกาลเหมันตฤดู' จุดเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นเทศกาลสุดท้ายของชาวไทยเชื้อสายจีนในรอบหนึ่งปีปฏิทินผ่านมา

ในเทศกาลนี้จะมีการทำ 'ขนมบัวลอย' หรือ 'ขนมอี๋' มาไหว้คารวะฟ้าดิน ปึงเถ่ากง ตี่จู๋เอี๊ย (เจ้าที่เจ้าทาง) เพื่อขอบคุณที่ได้ช่วยให้การดำรงชีวิตของสมาชิกของแต่ละครอบครัวสามารถดำเนินมาอย่างราบรื่นตลอดสามร้อยหกสิบห้าวัน และยังเพื่อขอพรให้ช่วยคุ้มครองทุกๆ คนต่อไป

ขนมบัวลอยหรือขนมอี๋ที่ใช้ในการไหว้ ทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำสุกจนเข้าที่ ปั้นเป็นเม็ดกลมเล็ก นิยมผสมสีชมพูหรือสีขาว โดยทรง 'กลม' ของขนมนั้นหมายถึง 'ความกลมเกลียว' กันในหมู่ญาติพี่น้อง ส่วนสีชมพูก็คือความโชคดี โดยของสักการะอื่นๆ ก็ประกอบด้วย กระถางธูป, เทียนแดง 1 คู่, ธูป 3 (หรือห้า) ดอก, ผลไม้, น้ำชา 5 ถ้วย วางพร้อมขนมบัวลอย 5 ถ้วย

ทั้งนี้ตามหลักของปฏิทินจีนเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย จะไม่ได้ระบุวันอย่างตายตัว แต่จะยึดเอาวันซึ่งตรงกับเดือน 11 หรือเดือนธันวาคม หรือ 'เกี๋ยวง๊วย' แต่ตามปฏิทินทางสากล (สุริยคติ) วันตังโจ่ยจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ของทุกปีพอดี

นอกเหนือจากความเชื่อจากทั้งฝั่งอินเดียและจีนแล้ว ทางโหราศาสตร์ของไทยก็มีความเชื่อว่าวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม ปีนี้ ถือเป็น 'วันดี' โดย อ.สุทธิธรรม พากเพียร ผู้เชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ไทย และโหราศาสตร์สากล ได้เผยแพร่การคำนวณฤกษ์ครั้งนี้ไว้อีกว่า "...เป็นวันดีในการทำพิธีขอขมากรรม ถอนคำบนบานศาลกล่าว คำสาบาน คำสัญญา คำสาปแช่ง ไม่ว่าคำกล่าวจะจริงหรือเล่น กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งบางครั้งเราไม่รู้เลยว่า สัจจะวาจาที่เราได้กล่าวออกไป มันย่อมผูกมัด ผูกพัน ทำให้ดวงชะตาชีวิตเราต้องเผชิญกับสิ่งติดๆ ขัดๆ ทั้งในชีวิต ทั้งในจิตใจเราตลอดเวลา" ท่านใดกระทำเข้าข่ายดังที่ว่าให้พร้อมจุดธูป 19 ดอก (กลางแจ้งหรือในร่ม - คำนึงถึงความปลอดภัยของสถานที่เป็นสำคัญ) หันหน้าบูชาทางทิศตะวันออก

ฤกษ์ทำพิธีอยู่ระหว่างเวลา 07.19 - 17.56 น.

คนส่วนหนึ่งยังหวังพึ่งพิธีกรรมเพียงเพื่ออยากจะผ่านพ้นปี พ.ศ. 2565 ไปอย่างสงบร่มเย็น ไม่ติดค้างกรรมใดใด ทั้งอดีตและปัจจุบันกาล เสมือนเตรียมพร้อมเดินเข้าสู่ปีหน้าฟ้าใหม่อย่างมั่นคงปลอดภัย

รายละเอียดพิธีฯ >> https://www.facebook.com/astrologyman


เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์