Friday, 9 May 2025
มหาวิทยาลัยรังสิต

‘ม.รังสิต’ ระดมความคิด ดึง ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง-ภาคประชาชน’ ถก!! วาระประเทศไทย อนาคตที่ต้องมองให้ไกลกว่าการเลือกตั้ง

(6 พ.ค. 66) สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) จัดงานเสวนา ‘วาระประเทศไทย ไปให้ไกลกว่าเลือกตั้ง’ ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ก่อตั้ง สถาบันปฏิรูปประเทศไทย เป็นประธาน ซึ่งภายในงานมีการพูดคุยเรื่องแนวทางการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ในหัวข้อ ‘ประเทศไทยกับภัยคุกคามใหม่ ที่ประชาชนต้องรู้’ โดยมี นายสำราญ รอดเพชร เป็นพิธีกรดำเนินรายการ 

โดยในงานนี้ ยังได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมารวมปาฐกถาในการเสวนาในครั้งนี้ รวมถึงตัวแทนประชาชนจากหลายหน่วยงานมาร่วมฟังการเสวนา เพื่อหาทางออกให้ประเทศร่วมกันในครั้งนี้ 

ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า การเมืองจะเป็นสิ่งที่ดีงาม และเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคม ถ้าการเมืองทำทุกวิถีทางเพื่อประโยชน์ของประชาชน หากต้องการเห็นบ้านเจริญรุ่งเรืองและประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น การเมืองก็ต้องดีด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันการเมืองที่เราเห็นเป็นการเมืองสามานย์ระบบ ที่ล้มเหลวในทุกระดับ ขาดจิตสำนึกที่ดีและขาดความรับผิดชอบในบ้านเมือง ทำให้ประชาชนต้องกลายเป็นทาสอีกครั้งหนึ่ง คำถามคือ ทำไมเราถึงต้องยอมตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังเช่นนี้ สภาพการเมืองที่มีแต่การแบ่งพรรคแบ่งพวก มีแต่ความขัดแย้งแตกแยกแย่งชิงผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง

“ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาร่วมกันปฎิรูป เพื่อพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ เราต้องปฏิรูปประเทศให้เป็นสังคมธรรมาธิปไตย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด เพราะประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ เราต้องสร้างสังคมแบ่งปัน ลดความขัดแย้ง ต้องรวมพลังประชาชนโดยยึดถือประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งทุกคนต้องตระหนักว่าประเทศชาติจะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยคนไทยทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง บนผืนแผ่นดินเดียวกันนี้ ผลักดันประเทศชาติสู่ความสำเร็จและความมั่งคั่งประชาชนทุกคนทุกกลุ่มทุกส่วนในทุกภูมิภาคภาค ซึ่งเป็นการปฏิรูปประเทศที่บรรลุผลอย่างแท้จริง” ดร.อาทิตย์ กล่าว

หลังจากนั้น ด้าน ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ โดยเผยว่า ท่ามกลางการเลือกตั้งที่มีการเอาประเทศเป็นเดิมพัน แข่งกันแทงหวยว่าเราจะเลือกพรรคไหนเป็นรัฐบาลโดยปราศจากข้อเท็จจริง เพราะการเลือกตั้งเป็นต้นทางของการสร้างประชาธิปไตย สถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้มีการร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อจัดงานในครั้งนี้ขึ้นมา 

“การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดทุกเรื่อง การเลือกตั้งอาจจะได้รัฐบาล แต่ปัญหาจะหยุดได้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของประชาชน เพราะนักการเมืองมาแล้วก็ไปตามวาระของรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาไม่ได้มาแล้วก็ไป จะมีก็แต่ประชาชนที่ต้องแบกรับปัญหาต่อไป นี่จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องสรรสร้างทางออกที่แท้จริงและยั่งยืน ภายใต้เครือข่ายภาคประชาชนในฐานะส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดเวทีนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นเป็นเวทีประชาธิปไตยของประชาชนโดยแท้จริง”

จำได้ไหม? ‘หม่อง ทองดี’ อดีตแชมป์เครื่องบินกระดาษ สู่ ‘บัณฑิตเกียรตินิยม’ ม.ดัง ผลสัมฤทธิ์ของความเพียร

หากยังจำกันได้ กับ ‘เครื่องบินกระดาษ’ ของเด็กชายคนหนึ่ง ที่มีความใฝ่ฝันที่จะได้ไปแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่น ทว่าประสบกับปัญหาด้านเงื่อนไขสัญชาติ แต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จนได้ไปแข่งขันและได้รับชัยชนะกลับมา กระทั่งสุดท้าย ‘หม่อง ทองดี’ และครอบครัวได้รับสัญชาติไทยในที่สุด หลังต่อสู้นานเกือบทศวรรษ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ‘มหาวิทยาลัยรังสิต’ ได้โพสต์ภาพหม่อง ทองดี กับเครื่องบินกระดาษ โดยเผยว่า…

‘หม่อง ทองดี’ ผู้มาไกลและไปได้ไกล… บนความตั้งใจเเละความพากเพียร

จากเด็กน้อยที่เฝ้ามองท้องฟ้า สู่การได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เปิดขอบฟ้าให้กว้างกว่าเดิม โดยได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรในระดับปริญญาตรี จาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต และจากความตั้งใจที่ใฝ่ฝันอยากจะมีภาพยนตร์ที่บอกเล่าเส้นทางสู่ฝันของตัวเอง ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

ด้วยหัวใจของความมานะพากเพียร วันนี้ ‘หม่อง ทองดี’ เรียนสำเร็จ โดยจบการศึกษาปริญญานิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล เกียรตินิยมอันดับ 2 ซึ่งจะเข้าพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2566 ในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 ณ อาคารนันทนาการ (อาคาร 14) มหาวิทยาลัยรังสิต

ทั้งนี้ ปัจจุบัน หม่องทำงานเป็นพนักงานประจำที่บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ในตำแหน่งตากล้องประจำกองถ่ายละครสั้น

“ในส่วนของความฝันที่เคยตั้งใจไว้ว่า อยากนำความความรู้ความสามารถด้านการทำหนัง มาถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของตัวเองและเด็กไร้สัญชาติ อยากนำเสนอในมุมมองของเด็กที่มีปัญหาเหมือนกับตนเอง ให้สังคมได้รู้ว่าปัญหาของเด็กเหล่านี้มีอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่แนวทางการช่วยเหลือต่อไป ก็สามารถสานฝันนั้นให้เป็นจริงได้แล้ว โดยเรื่องราวชีวิตของผมได้ถูกหยิบยกขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘A Time To Fly…บินล่าฝัน’ ซึ่งมีโอกาสได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ช่วงหลายเดือนก่อนหน้าที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ” น้องหม่อง กล่าว

หม่องยังกล่าวด้วยว่า สำหรับชีวิตปัจจุบันตนได้รับสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการ และได้บัตรประชาชนมาเรียบร้อยแล้ว และจะทำทุกหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เป็นคนดีของสังคม ผมเชื่อเสมอว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น การที่เราพยายามจะทำอะไร เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด โดยไม่ต้องกลัวว่าผลที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เพราะการที่คิดแล้วทำก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่ตั้งใจไว้แล้ว

สำรวจผลโพล ‘วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต’ ประเด็นนโยบายรัฐ ‘แลนด์บริดจ์’ ฉลุย!! คนอยากให้เดินหน้า ส่วน ‘แจกเงินดิจิทัล’ อยากให้ระงับ

(3 ก.พ. 67) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดตัวโครงการ ‘Leadership Poll’ ภายในงานมีการแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นลีดเดอร์ชิพโพล ครั้งที่ 1/2567 โดย รองศาสตราจารย์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ในฐานะหัวหน้าลีดเดอร์ชิพโพลล์ นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ 

สำหรับ Leadership Poll หรือ โพลผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง จัดทำโดยวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน 

โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 543 ตัวอย่างในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 จากกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ...

1.) ผู้นำภาคธุรกิจ : ตัวแทนนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
2.) ภาคประชาสังคม : ตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย
3.) ภาคการเมือง : นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกและรองนายก อบจ. นายกและรองนายก อบต. ในทุกภูมิภาคของประเทศ
4.) ภาคการศึกษา : นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน

สำหรับสาระสำคัญในการสอบถามความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล ประกอบไปด้วยประเด็นดังต่อไปนี้...

1.) ความคิดเห็นต่อนโยบาย ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ ของรัฐบาล ผลการสำรวจพบว่า...
- 62.20 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
- 21.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 13.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 3.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น)
(ไม่แน่ใจ)
(ไม่ค่อยสนใจ)

2.) ความคิดเห็นต่อโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า...

- 36.70 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 29.60 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
- 28.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 5.70 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่ทราบรายละเอียด)
(ต้องการข้อมูลที่ศึกษา)
(ไม่แน่ใจ)

3.) ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า...
- 41.10 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 37.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 14.50 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
-1.40 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่ทราบรายละเอียด)
(เห็นด้วยเป็นบางอย่าง)
(ยังเข้าใจไม่ชัดเจน)

4.) ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลสำรวจพบว่า...
- 52.40 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา
- 28.8 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
- 14.5% ไม่เห็นด้วย
- 4.3% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112)
(แก้ไขบางมาตราที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ)
(นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้และพิจารณาปรับปรุงหลักการในบางมาตรา)

5.) ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผบ.สำรวจพบว่า...
- 51.20 % ยังคงขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินการ
- 34.90 % มีความมุ่งมั่นแต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
- 9.40 % มีความมุ่งมั่น
- 4.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น)
(ไม่ทราบแน่ชัด)
(ไม่แน่ใจ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังน้อยเกินกว่าที่จะประเมิน)

>> สำหรับข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ได้จากการสำรวจ...
1.) เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร อย่างน้อยนโยบายที่ใช้หาเสียงก็ควรมีการดำเนินการตามที่เคยพูดไว้ยังมองไม่ออกว่าอะไรที่ทำไปแล้ว และอะไรที่ยังไม่ได้ทำก็ควรชี้แจง

2.) รัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย เป็นตัวอย่างของการรักษาความยุติธรรม ไม่ให้อภิสิทธิ์ใครให้อยู่เหนือกฎหมาย

3.) การพัฒนาประเทศควรใช้สิ่งที่ไทยได้เปรียบเป็นสารตั้งต้นสำคัญ นโยบายสาธารณะที่ดีบางครั้งเกิดจากนวัตกรรมทางกระบวนการ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการก็อาจมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล
 
4.) รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา ในเรื่องของยาเสพติด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเร่งด่วน

5.) รัฐบาลควรลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริต การศึกษาและการทำงานของข้าราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน

6.) รัฐบาลยังคงกังวลเรื่องคะแนนเสียงมากกว่าการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ

7.) โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดูไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องขนของจากเรือที่ฝั่งอ่าวไทย ขนขึ้นรถไฟ แล้วขนลงเรืออีกครั้งที่ฝั่งอันดามัน ไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติจริง ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ต้องขนของขึ้นๆลงๆ จากเรือ คือให้เรือทั้งลำแล่นผ่านไปได้เลย

8.) ควรให้ความสนใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมและการศึกษาในระดับแรกๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อนาคตของประเทศไทยดูแล้วมีแต่ถอยหลังเพราะเยาวชนของชาติไม่มีคุณภาพ คนไทยไม่ชอบใช้เหตุผล ใช้อารมณ์และความชอบส่วนตัวในการตัดสินใจปัญหา สนใจไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์

9.) เข้าใจว่าผู้นำหลายท่านกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติความขัดแย้งที่เป็นผลเรื้อรังมานับสิบปีก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากไม่มีแผนการดำเนินงานดังกล่าว ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะตกอยู่ในภาวะ Burnout และเลือกที่จะชะลอการสร้างผลผลิต (Productivity) หรือเลือกที่จะไม่พัฒนาศักยภาพ (Capacity) ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต โดยอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หรือสร้างความภูมิใจร่วมที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้

10.) เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ประเทศเกิดภาวะที่จะเรียกว่าวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ถ้าจะแจก ควรกำหนดกลุ่มผู้เดือดร้อนให้ชัดเจน และเมื่อเป็นเงินกู้ เหตุใดจึงต้องจ่ายเป็นเงินดิจิทัล ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินบาท ใครเป็นผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการแลกเปลี่ยน และมีค่าใช้จ่ายในการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร

ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ชี้แนวทางการใช้ AI วงการข่าวอย่างมีจริยธรรม พร้อมสร้างความเข้าใจงานสื่อในงานสัมมนา ‘FUTURE JOURNALISM 2025’

เมื่อวันที่ (14 มี.ค.68) ณ อาคาร Student Center มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “AI กับสื่อวารศาสตร์ยุคใหม่” ภายใต้งาน THE FUTURE JOURNALISM 2025 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นวิทยากรหลักในการบรรยายเกี่ยวเรื่อง “ทิศทางการนำเสนอข่าวยุค AI”

โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษา อาจารย์ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับแนวโน้มของวงการข่าวในอนาคต ซึ่ง AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อมวลชนอย่างรวดเร็ว

ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ได้กล่าวถึงบทบาทของ AI ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงานข่าวในหลายมิติ ตั้งแต่ การสรุปข่าว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) ไปจนถึงการสร้างผู้ประกาศข่าวเสมือนจริง (AI Anchors) ซึ่งช่วยให้กระบวนการนำเสนอข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมที่มาพร้อมกับ AI เช่น Deepfake, ข่าวปลอม (Fake News), และอคติของอัลกอริทึม (Algorithmic Bias) ซึ่งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข่าวสารได้ นักข่าวและองค์กรสื่อจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อรักษามาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน

“ในยุคที่ AI ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการสื่อมวลชน นักข่าวและสำนักข่าวต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี AI สามารถช่วยให้การสืบค้น วิเคราะห์ และนำเสนอข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หัวใจสำคัญของวารสารศาสตร์ยังคงอยู่ที่ 'ความจริง' และ 'จรรยาบรรณ' ของผู้สื่อข่าว” ผศ.อนุสรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.อนุสรณ์ได้เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสายงานสื่อ เช่น การใช้ AI เพื่อช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก (Big Data Journalism) การพัฒนา Chatbot เพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน การใช้ AI ตรวจสอบแหล่งข่าว รวมถึงการใช้ AI สร้างเนื้อหาที่ปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะบุคคล (Personalized News)

วิทยากรเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่นักข่าว แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสื่อมวลชน นักข่าวควรพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบข่าวปลอม การทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ และการนำเสนอข่าวที่เจาะลึกและสร้างคุณค่าให้กับสังคม

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับ การปรับตัวของวงการข่าวในยุค AI รวมถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดย ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ได้เน้นให้เห็นว่าการผสมผสาน AI เข้ากับการทำข่าวอย่างเหมาะสม จะช่วยให้วงการสื่อสารมวลชนสามารถก้าวเข้าสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“แม้ว่า AI จะช่วยเขียนข่าวได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ คือ วิจารณญาณของมนุษย์ การตั้งคำถาม และความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น นักข่าวยุคใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ละทิ้งจริยธรรมของวิชาชีพ” ผศ.อนุสรณ์ กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ การสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งของงาน THE FUTURE JOURNALISM 2025 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาวงการข่าวในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาเข้าร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของแวดวงสื่อสารมวลชนไทยในการก้าวสู่อนาคตของข่าวสารในปี 2025 และต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top