Tuesday, 22 April 2025
พระอาจารย์ต้น

‘พระอาจารย์ต้น’ ให้แง่คิด คติสอนใจ เมื่อสังคมยุคใหม่เปลี่ยนผัน แนะ พ่อแม่รับมืออย่างไร เมื่อลูกไม่เห็นความสำคัญของการกตัญญู

ท่านพระอาจารย์ จารุวณฺโณ ภิกฺขุ หรือ ‘พระอาจารย์ต้น’ ได้โพสต์คลิปผ่านติ๊กต็อก ชื่อ ‘ajahnton’ ตอบคำถาม ถึงเรื่อง มุมมองของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ที่มองว่าความกตัญญู ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ไม่จำเป็นที่จะต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดู แนวคิดแบบนี้จะทำให้ลูก มีวิบากหรือไม่? โดยพระอาจารย์ต้นได้ให้แง่คิดไว้ว่า…

“การที่พ่อแม่ถามแบบนี้ คือการถามเพื่อทวงบุญคุณ หรือเพื่ออะไร? เพราะหากยึดตามหลักการทางพุทธศาสนา การที่คิดว่า มารดาบิดาไม่มีคุณสำหรับลูกนั้น จัดอยู่ใน ‘มิจฉาทิฐิ’ หมายถึง ‘ความเห็นผิดจากความเป็นจริง หรือผิดจากทำนองคลองธรรม’ ซึ่งจริงๆ แล้ว หลักคำสอนนี้ไม่ใช่หลักคำสอนเพื่อที่จะสอนให้บังคับลูกตอบแทนบุญคุณมารดาบิดา แต่หลักคำสอนนี้ เป็นการสอนเพื่อให้ได้รู้ว่า จิตสำนึกของคนคนหนึ่งที่ควรจะมีต่อมารดาบิดา ที่จะต้องแสดงออกในเรื่องของความกตัญญู เป็นการพูดถึงจิตใต้สำนึกที่เขาควรจะมี ไม่ใช่เรื่องของการบังคับ หรือไม่บังคับ เพราะแม้จะบอกว่า บุตรควรพึงตอบแทนบุญคุณมารดาบิดา ถึงจะพูดไปเท่าไร หากคนคนนั้น ไม่มีความคิดที่จะตอบแทน ไม่มีจิตสำนึกภายในจิตใจ เขาก็ไม่ตอบแทนอยู่ดี เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่จิตใต้สำนึกจากภายใน”

เพราะฉะนั้น หลักคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึง คือ การสะท้อนถึงมุมมองเกี่ยวกับจิตสำนึกของคน ที่ควรจะมีความกตัญญูอยู่แล้วภายในตัวของมนุษย์ เพราะหากมนุษย์ไม่ได้แสดงออกถึงความกตัญญู มนุษย์จะแสดงออกถึงความแตกต่างของตนเองออกมา ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่แตกต่างจากสัตว์อย่างไร? เพราะสัตว์ก็ไม่มีจิตสำนึกของความกตัญญูเช่นกัน แต่ก็ยังมีสัตว์บางชนิดที่มีความกตัญญูต่อตัวผู้เลี้ยงอยู่ เช่น สุนัข นั่นหมายความว่า สุนัขดีกว่ามนุษย์ในเรื่องของความกตัญญูใช่หรือไม่

ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับว่าเขาจะตอบแทน หรือไม่ตอบแทนอะไรทั้งสิ้น มันเกี่ยวกับจิตสำนึก แต่การที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า คนที่มีความกตัญญู ตั้งอยู่ในฐานะแห่งความเจริญได้ เพราะมูลเหตุปัจจัยของความกตัญญูจะทำให้คนคนนั้นเข้าถึงความเจริญ ฉะนั้น การกตัญญู จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำ ซึ่งคำว่า ‘พึงกระทำ’ นั้น ไม่ใช่ ‘ข้อบังคับ’ เพราะคำว่า ‘พึง’ นั้นหมายถึง ‘สิ่งที่เหมาะสม’ หรือเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ

แต่หากจะมองว่า ไม่จำเป็นต้องตอบแทนบุญคุณก็ได้ และไม่จำเป็นต้องกตัญญูก็ได้ พ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณกับเรา มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พ่อแม่ต้องเลี้ยงดู ก็ย่อมมองได้ แต่สิ่งนั้นจะทำให้คนคนนั้นไม่ได้สร้างเหตุแห่งความเจริญแก่ตัวเขาเอง

สิ่งนี้ไม่ได้พูดเพื่อจะด้อยค่าให้คนคนนั้นตกต่ำ แต่พูดเพื่อชี้ตามเหตุปัจจัย และเหตุผลที่เขาจะได้รู้จักว่า ทิศทางของชีวิต ไม่ใช่การอยากจะได้ อยากจะทำสิ่งใดก็ทำไปเลย ตามอำเภอใจของตัวเอง แล้วจะได้สิ่งนั้นจริงๆ แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งการกระทำที่เขาได้กระทำลงไป กล่าวคือ หากคนคนนั้นทำในเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ ผู้นั้นก็จะได้ความเจริญ ความกตัญญู คือส่วนหนึ่งของเหตุแห่งความเจริญ หากผู้นั้นไม่ได้ทำเหตุแห่งความเจริญ แม้ว่าจะปรารถนาความเจริญ ผู้นั้นก็ไม่ได้เข้าถึงความเจริญ เพราะถ้าผู้นั้นไม่ไดสร้างความกตัญญู ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่จะนำเขาไปสู่ความเจริญ ผู้นั้นก็จะเจริญไม่ได้ แม้จะอยากให้ชีวิตเจริญแค่ไหนก็ตาม ผู้นั้นย่อมถึงความตกต่ำ และเมื่อถึงความตกต่ำแล้ว ท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดการแสดงออกถึงภาวะความเดือดร้อน และเรียกร้องให้ผู้อื่นมาช่วยเหลือตนเอง

เมื่อถามว่า หากมองว่า การมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ นับว่าเป็นการทำความดีขั้นต้นที่ควรจะต้องทำเลยใช่หรือไม่ พระอาจารย์ต้นตอบว่า “ก็ขึ้นอยู่กับคนที่เขาจะคิดได้ ต้องดูว่า เด็กบางคนก็ไม่ได้เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำให้เขาได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่ดี ที่ทำให้เขาจะต้องไปดึงเอาสำนึกที่ดีมาแสดงออกถึงความกตัญญู แต่หากบอกว่า มารดาบิดาให้การเลี้ยงดูมาอย่างดีแล้ว แต่ความสำนึกนั้นยังไม่ดี ก็ไม่เป็นอะไร ขอพ่อแม่ อย่าไปทวงบุญคุณจากลูก แต่อยากให้พ่อแม่กลับมาเรียนรู้กับตัวเองให้ดีว่า เมื่อเราไม่สามารถที่จะพึ่งพาลูกได้แล้ว เราจะต้องพึ่งพาตัวเอง”

'ดร.สุวินัย' มอง!! กระแสต้าน 'พระอาจารย์ต้น' แพร่ธรรมละยึดโยงพระไตรปิฎก ชี้!! สิ่งที่สอนถูก ก็ต้องบอกว่าถูก สิ่งที่สอนผิด ก็ต้องบอกว่าผิด "นี่คือธรรม"

(20 ก.ย. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'การแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้าตามแนวทางพระพุทธศาสนา' ระบุเนื้อหา ดังนี้...

๑. ตั้งจิตระลึกถึงพระรัตนตรัยให้บ่อยที่สุดในแต่ละวัน หรือระลึกทั้งวันก็ได้ ด้วยบทระลึกถึงพระรัตนตรัยว่า...

“พุทโธ เม นาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า 
ธัมโม เม นาโถ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า 
สังโฆ เม นาโถ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า” 

>> ให้ 'ระลึก' ย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ไว้เรื่อย ๆ อยู่เสมอ
>
๒. หากมีอารมณ์ใดเกิดกระทบจิตในแต่ละครั้ง ให้ทักอารมณ์นั้นตรง ๆ ไปเลย เช่น หากเกิดความเครียดขึ้นมาให้ทักว่า...

“นี่คือความเครียด 
ความเครียดกำลังเกิดขึ้นกับจิต 
จิตกำลังมีความเครียด 
ความเครียดมีอยู่ในจิต 
จิตกำลังถูกความเครียดปรุงแต่ง 
ความเครียดกำลังปรุงแต่งจิต”  

>> ให้ฝึก 'ทักอารมณ์' อยู่บ่อย ๆ

๓. หากอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นมามากจนควบคุมไม่ได้ ก็ให้ทักอาการซึมเศร้านั้นตรง ๆ ว่า...

“นี่คืออาการซึมเศร้า 
อาการซึมเศร้าเกิดขึ้นกับจิต 
จิตมีอาการซึมเศร้า 
อาการซึมเศร้ามีอยู่ในจิต 
จิตถูกอาการซึมเศร้าปรุงแต่ง 
อาการซึมเศร้ากำลังปรุงแต่งจิต” 

>> ทักอาการซึมเศร้าไว้เรื่อย ๆ จนกว่าจะคลายไป หากเกิดอีกก็ให้ทักอีกอยู่เรื่อย ๆ

๔. ให้แผ่เมตตาก่อนนอนทุกคืน 

๕. สวดพระปริตร ๒ บทคือ รัตนปริตรกับอาฏานาฏิยปริตร ทุก ๆ วัน

~ จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)

*********

เหตุที่ กรรมฐานนี้ได้ผลในการแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้ เพราะ...

(1) กรรมฐานนี้สอนให้ 'เจริญสติ' ด้วยการให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหัดตั้งจิตระลึกถึงพระรัตนตรัยให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในแต่ละวันทุกวัน

เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเป็น 'อกุศลจิต'  ขณะที่การระลึกถึงพระรัตนตรัย เป็น 'กุศลจิต' ... กรรมฐานนี้คือ อุบายใช้ 'น้ำดี' (กุศลจิต) เข้ามาแทนที่ 'น้ำลาย' ในจิตนั่นเอง แม้จะเป็นครั้ง ๆ คราว ๆ ก็ตาม อุปมาดั่งสภาวะจิตที่อยู่ในความมืด (อุกศลจิต) แล้วทำการจุดเทียน (กุศลจิต) ส่องความสว่างขึ้นมาท่ามกลางความมืดเพื่อมาแทนความมืดชั่วคราวนั่นเอง

หัวใจจึงอยู่ที่การทำได้บ่อย ๆ เพื่อให้จิตที่ซึมเศร้าได้สัมผัสแสงสว่างบ้าง และบ่อยขึ้น มากขึ้น นานขึ้น จนกระทั่งจิตที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ากลับมาสู่จิตปกติของปุถุชนที่ทุกข์น้อยลงจากโรคซึมเศร้า

(2) กรรมฐานนี้สอนให้ 'ดูจิต' 'ดูอารมณ์' โดยตรง โดยใช้วิธี 'ทักอารมณ์นั้นตรง ๆ' ... การทักอารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตตรง ๆ เช่น ความเครียดกับอาการซึมเศร้า ... มันคือการทำให้จิต 'รู้ตัว' และหลุดออกจากอารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตนั้นได้ชั่วคราว ครั้งพออารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตนั้นกลับมาใหม่อีก ก็ให้ "ทักอารมณ์" นั้นอีกเรื่อย ๆ ทุกครั้งไป เมื่อทำเช่นนี้บ่อยครั้ง อุศลจิตที่ว่าจะตั้งอยู่ไม่ได้ มันจะคลายอำนาจการครอบงำจิตได้น้อยลงหรืออ่อนแรงลง  เพราะจิตเป็นอนิจจัง

ผมจะไม่พาดพิงเรื่องที่ มติเถรสมาคมสั่ง 'พระอาจารย์ต้น' (ผู้สอนกรรมฐานข้างต้นเพื่อแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้า) ให้แก้ไขแนวคิด-การเผยแพร่ว่าต้องยึดพระไตรปิฎก ... เพราะผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว และผมเองก็ไม่ได้สนใจติดตามคำสอนของพระอาจารย์ต้นมาก่อนจนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านขึ้นมาจนกลายเป็นประเด็น 

เวลาจะให้คำตอบในเรื่องนี้เอง เพราะความจริงมีหนึ่งเดียว

อะไรที่สอนถูก ก็ต้องบอกว่าถูก  ... นี่คือธรรม
อะไรที่สอนผิด ก็ต้องบอกว่าผิด ... นี่คือธรรม
สิ่งที่สอนถูก ไม่สามารถเอามาหักล้างสิ่งที่สอนผิดได้ ... นี่คือธรรม

"พระไตรปิฎกบกพร่อง 20% ...จริงหรือไม่?"
"พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ยังมีความโกรธอยู่ ...จริงหรือไม่?"
"พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยการนั่งคิดทั้งคืน ...จริงหรือไม่?"

เวลาจะให้คำตอบเอง เพราะความจริงมีหนึ่งเดียว

ด้วยความปรารถนาดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top