'ดร.สุวินัย' มอง!! กระแสต้าน 'พระอาจารย์ต้น' แพร่ธรรมละยึดโยงพระไตรปิฎก ชี้!! สิ่งที่สอนถูก ก็ต้องบอกว่าถูก สิ่งที่สอนผิด ก็ต้องบอกว่าผิด "นี่คือธรรม"

(20 ก.ย. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'การแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้าตามแนวทางพระพุทธศาสนา' ระบุเนื้อหา ดังนี้...

๑. ตั้งจิตระลึกถึงพระรัตนตรัยให้บ่อยที่สุดในแต่ละวัน หรือระลึกทั้งวันก็ได้ ด้วยบทระลึกถึงพระรัตนตรัยว่า...

“พุทโธ เม นาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า 
ธัมโม เม นาโถ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า 
สังโฆ เม นาโถ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า” 

>> ให้ 'ระลึก' ย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ไว้เรื่อย ๆ อยู่เสมอ
>
๒. หากมีอารมณ์ใดเกิดกระทบจิตในแต่ละครั้ง ให้ทักอารมณ์นั้นตรง ๆ ไปเลย เช่น หากเกิดความเครียดขึ้นมาให้ทักว่า...

“นี่คือความเครียด 
ความเครียดกำลังเกิดขึ้นกับจิต 
จิตกำลังมีความเครียด 
ความเครียดมีอยู่ในจิต 
จิตกำลังถูกความเครียดปรุงแต่ง 
ความเครียดกำลังปรุงแต่งจิต”  

>> ให้ฝึก 'ทักอารมณ์' อยู่บ่อย ๆ

๓. หากอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นมามากจนควบคุมไม่ได้ ก็ให้ทักอาการซึมเศร้านั้นตรง ๆ ว่า...

“นี่คืออาการซึมเศร้า 
อาการซึมเศร้าเกิดขึ้นกับจิต 
จิตมีอาการซึมเศร้า 
อาการซึมเศร้ามีอยู่ในจิต 
จิตถูกอาการซึมเศร้าปรุงแต่ง 
อาการซึมเศร้ากำลังปรุงแต่งจิต” 

>> ทักอาการซึมเศร้าไว้เรื่อย ๆ จนกว่าจะคลายไป หากเกิดอีกก็ให้ทักอีกอยู่เรื่อย ๆ

๔. ให้แผ่เมตตาก่อนนอนทุกคืน 

๕. สวดพระปริตร ๒ บทคือ รัตนปริตรกับอาฏานาฏิยปริตร ทุก ๆ วัน

~ จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)

*********

เหตุที่ กรรมฐานนี้ได้ผลในการแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้ เพราะ...

(1) กรรมฐานนี้สอนให้ 'เจริญสติ' ด้วยการให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหัดตั้งจิตระลึกถึงพระรัตนตรัยให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในแต่ละวันทุกวัน

เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเป็น 'อกุศลจิต'  ขณะที่การระลึกถึงพระรัตนตรัย เป็น 'กุศลจิต' ... กรรมฐานนี้คือ อุบายใช้ 'น้ำดี' (กุศลจิต) เข้ามาแทนที่ 'น้ำลาย' ในจิตนั่นเอง แม้จะเป็นครั้ง ๆ คราว ๆ ก็ตาม อุปมาดั่งสภาวะจิตที่อยู่ในความมืด (อุกศลจิต) แล้วทำการจุดเทียน (กุศลจิต) ส่องความสว่างขึ้นมาท่ามกลางความมืดเพื่อมาแทนความมืดชั่วคราวนั่นเอง

หัวใจจึงอยู่ที่การทำได้บ่อย ๆ เพื่อให้จิตที่ซึมเศร้าได้สัมผัสแสงสว่างบ้าง และบ่อยขึ้น มากขึ้น นานขึ้น จนกระทั่งจิตที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ากลับมาสู่จิตปกติของปุถุชนที่ทุกข์น้อยลงจากโรคซึมเศร้า

(2) กรรมฐานนี้สอนให้ 'ดูจิต' 'ดูอารมณ์' โดยตรง โดยใช้วิธี 'ทักอารมณ์นั้นตรง ๆ' ... การทักอารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตตรง ๆ เช่น ความเครียดกับอาการซึมเศร้า ... มันคือการทำให้จิต 'รู้ตัว' และหลุดออกจากอารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตนั้นได้ชั่วคราว ครั้งพออารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตนั้นกลับมาใหม่อีก ก็ให้ "ทักอารมณ์" นั้นอีกเรื่อย ๆ ทุกครั้งไป เมื่อทำเช่นนี้บ่อยครั้ง อุศลจิตที่ว่าจะตั้งอยู่ไม่ได้ มันจะคลายอำนาจการครอบงำจิตได้น้อยลงหรืออ่อนแรงลง  เพราะจิตเป็นอนิจจัง

ผมจะไม่พาดพิงเรื่องที่ มติเถรสมาคมสั่ง 'พระอาจารย์ต้น' (ผู้สอนกรรมฐานข้างต้นเพื่อแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้า) ให้แก้ไขแนวคิด-การเผยแพร่ว่าต้องยึดพระไตรปิฎก ... เพราะผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว และผมเองก็ไม่ได้สนใจติดตามคำสอนของพระอาจารย์ต้นมาก่อนจนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านขึ้นมาจนกลายเป็นประเด็น 

เวลาจะให้คำตอบในเรื่องนี้เอง เพราะความจริงมีหนึ่งเดียว

อะไรที่สอนถูก ก็ต้องบอกว่าถูก  ... นี่คือธรรม
อะไรที่สอนผิด ก็ต้องบอกว่าผิด ... นี่คือธรรม
สิ่งที่สอนถูก ไม่สามารถเอามาหักล้างสิ่งที่สอนผิดได้ ... นี่คือธรรม

"พระไตรปิฎกบกพร่อง 20% ...จริงหรือไม่?"
"พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ยังมีความโกรธอยู่ ...จริงหรือไม่?"
"พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยการนั่งคิดทั้งคืน ...จริงหรือไม่?"

เวลาจะให้คำตอบเอง เพราะความจริงมีหนึ่งเดียว

ด้วยความปรารถนาดี