Tuesday, 22 April 2025
ฝุ่นPM25

รัฐบาลเปิด ‘ปฏิบัติการฝนหลวง’ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน ‘เชียงใหม่-แม่สอด’

(3 มี.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ใน 5 ภูมิภาค 7 ศูนย์ เพื่อเข้าแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีค่าเกินมาตรฐาน รวมถึงเข้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ซึ่งทุกหน่วยมีความพร้อมขั้นสูงสุด และสามารถออกปฏิบัติการในทุกโอกาสเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม โดยเมื่อ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับเรื่องขอรับบริการจากพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดกําแพงเพชร ตาก ลําปาง อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ และภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา และระยอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกปฏิบัติการได้ เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม เช่น ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยระดับปฏิบัติการมีค่าต่ำกว่า 60% อากาศมีเสถียรภาพส่งผลให้เมฆไม่ก่อตัวในพื้นที่เป้าหมาย หรือกลุ่มเมฆในพื้นที่เป้าหมายไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการ

ห่วงประชาชน!! ‘บิ๊กตู่’ สั่งเข้มทุกฝ่าย ยกระดับแก้ปัญหา PM 2.5 บังคับใช้ กม. ‘ติดตาม-ประเมิน-ปรับแผน’ ลดผลกระทบทุกด้าน

(13 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประเทศไทย ห่วงใยประชาชนที่อาศัยและทำกิจกรรมในพื้นที่ที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรง กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งแก้ไขปัญหา PM 2.5 ตามแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญ คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ รวมทั้งแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566  

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ยกระดับเชิงปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้น ทั้งการปรับแผนเพิ่มตรวจสกัดรถควันดำ เข้มงวดเรื่องการก่อสร้าง ตรวจโรงงาน การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นจริงจัง ควบคู่ส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงงดการเผาในที่โล่งทุกชนิด (เช่น พืชทางการเกษตร วัชพืชต่าง ๆ ขยะ และการเผาป่า) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ หากเผา มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้มีการประกาศห้ามเผา ปี 2566 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือแล้วจนถึง 30 เม.ย. 66 ยกเว้นจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ประกาศห้ามเผาที่ในโล่งถึง 16 เม.ย. 66 อีกทั้งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command ในการยกระดับการลดการเผาอย่างเด็ดขาดในช่วงวิกฤต รวมทั้งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านโปรแกรม Burn Check เพื่อให้สามารถควบคุมจุดความร้อนได้ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้ค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานจนสูงเกินไป เพราะเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อน เป็นอีกปัจจัยและสาเหตุสำคัญของปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนและการปฏิบัติให้สอดคล้องทันกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนให้มากที่สุด 

นายอนุชา กล่าวว่า จากรายงาน GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) (วันที่ 11 มีนาคม 2566) ระบุไทยพบจุดความร้อนจำนวน 1,061 จุด ซึ่งส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 383 จุด  พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 278 จุด พื้นที่เกษตร 192 จุด พื้นที่เขต สปก. 123 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 78 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือแม่ฮ่องสอน 127 จุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา พบจุดความร้อนจำนวน 4,363 จุด สปป.ลาว 2,868 จุด กัมพูชา 1,182 จุด เวียดนาม 647 จุด และมาเลเซีย 32 จุด โดยสถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ซึ่งปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 นอกจากส่งผลกระทบกับสุขภาพประชาชนแล้วยังส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ด้วย ทั้งระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคม เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและ PM 2.5 นอกจากการบูรณาการร่วมมือร่วมใจกันภายในประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนผ่านกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด 

นายอนุชา กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ฝึกซ้อมระดมพล ดับไฟป่าและจัดทำแนวกันไฟ 2 แผ่นดิน โดยส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันกับประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับพื้นที่บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านให้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและ PM 2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เช่น ประสานขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการใช้รถไฟฟ้า รวมถึงการปรับใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นและลดใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของทั่วโลกในการที่จะร่วมมือกันลดโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไปสู่การพัฒนาและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน

‘อ.เจษฎา’ โพสต์ติง เชียงราย ‘ฉีดน้ำขึ้นฟ้า’ หวังฝนตกลด PM2.5 แนะทางออกที่ต้องรีบทำ หยุด!! การเผาไหม้ในเชียงราย-พื้นที่ข้างเคียง

(27 มี.ค. 66) จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบค่าฝุ่น PM2.5 สูงถึง 480 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 32 เท่า

ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก นครเมืองเชียงราย เผยภาพ ฉีดน้ำขึ้นฟ้า โดยระบุว่า 

“ชาวเชียงรายร่วมมือร่วมใจ คนเชียงรายสร้างฝน ร่วมกันวันละ 2 เวลา 9.00 น. และ 14.00 น. เอาน้ำรดต้นไม้และถนนหน้าบ้านของท่าน จากการจังหวัด เทศบาล อบจ. อบต. ทุกพื้นที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำมาโดยตลอด ตอนนี้ขึ้นอยู่กับประชาชนจะร่วมมือร่วมใจกันจะได้ไม่ครับ เรามาช่วยสร้างบรรยากาศให้ชุ่มชื้น ทำให้ฝนตกกันดีกว่าครับ”

ล่าสุด นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรืออาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 

“หลงทางกันใหญ่แล้วครับท่าน ! การรดน้ำต้นไม้และถนนหน้าบ้าน อาจจะทำให้พื้นที่ดินตรงนั้นชุ่มชื้นขึ้นบ้าง แต่มันก็ไม่ได้จะทำให้เกิดฝนตก

และการฉีดน้ำพ่นขึ้นฟ้า ก็ไม่ได้จะช่วยลดฝุ่น PM2.5 ลงด้วย เหมือนเอาน้ำขวด ไปเทลงคลองแสนแสบ ก็ไม่ได้ทำให้คลองมันสะอาดขึ้น  (แถมฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กจิ๋วมาก หยดน้ำมีผลในการจับฝุ่นได้ค่อนข้างน้อย แต่กระแสลมมีผลกระทบมากที่สุดในการพัดพาฝุ่นครับ) 

ทางออกที่ต้องรีบทำ คือต้องหยุดการเผาไหม้ทุกจุดในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดข้างเคียง ให้ได้ต่างหากครับ ตอนนี้ใครๆ ก็ดูออกว่า ฝุ่นจากควันของการเผาไหม้ มันเต็มเมืองเต็มจังหวัดไปหมดแล้วต่างหาก

‘ยิ่งลักษณ์’ ห่วงใยเด็กเชียงใหม่ รับฝุ่น PM2.5 จี้รัฐบาลเร่งแก้ไขระยะยาว หวั่นเด็กๆ ป่วยสะสม

(28 มี.ค. 66) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า สมัยเด็ก ๆ ตอนที่ดิฉันอยู่เชียงใหม่ ไม่เคยมีฝุ่นเยอะขนาดนี้ อย่างน้อยก็แค่ควันไฟธรรมดา แต่ตอนนี้มีเยอะมากไม่ใช่ควันไฟทั่วไปแต่เป็นควันพิษ PM 2.5 ซึ่งทางวิชาการเป็นอันตรายและเป็นอันตรายในระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะในปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่าห่วงใยคือเด็ก ๆ ที่ฝุ่นจะสะสมและเห็นผลในอีก 5 -10 ปีข้างหน้า 

‘พณ.’ เผย ‘เครื่องฟอกอากาศ’ เริ่มขาดตลาด เหตุค่าฝุ่นสูง โดยเฉพาะภาคเหนือ จ่อคุมเข้มผู้ประกอบการ ไม่ให้กักตุน-ขึ้นราคา 

(31 มี.ค.66) ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงนี้พบว่าความต้องการซื้อ เครื่องฟอกอากาศ มีสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ

ร้อยตรีจักรากล่าวว่า จากการหารือกับผู้นำเข้า ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศ ยืนยันว่ามีการผลิต หรือนำเข้าตามปกติ ไม่มีการขาดแคลนแน่นอน แต่บางพื้นที่ความต้องการสูงกว่าปกติ อาจใช้เวลาโยกสินค้าจากพื้นที่ความต้องการไม่มากไปทดแทน และไม่มีการปรับราคา ตรงกันข้ามกำลังแข่งขันจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษ

“เอกชนระบุว่า ความต้องการเกิดขึ้นสูงกว่าเท่าตัวในพื้นที่มีค่าฝุ่นสูง ภาคเหนือก็จะมากกว่าพื้นที่ไม่มีค่าฝุ่นสูงๆ ส่วนพื้นที่ที่มีป่าไหม้จากแล้งตอนนี้ สินค้าป้องกันฝุ่นยังมีความต้องการปกติ ขณะเดียวกันหน้ากากอนามัยแม้ยังใช้ปกติก็ยังมีเพียงพอและราคาต่ำลงแล้ว” ร้อยตรีจักรากล่าว

ด้าน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ออกติดตามสถานการณ์หน้ากากอนามัย N-95 และเครื่องฟอกอากาศ พร้อมกวดขันผู้ประกอบการไม่ให้กักตุนและฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า โดย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ และนางภูษณิศ ไชยมณี หัวหน้ากลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้านปริมาณและราคาสินค้าของหน้ากากอนามัย N-95 และเครื่องฟอกอากาศ ณ ห้างโมเดิร์นเทรด และร้านขายยา ในพื้นที่ อ.เมือง

ผลการตรวจสอบพบว่า หน้ากากอนามัย N-95 มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ราคาจำหน่าย 21-30 บาท/ชิ้น สถานการณ์ราคาทรงตัว ไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา

มาตรการเด็ดสู้ PM2.5!! ให้ปชช.นั่งรถไฟฟ้า-ขสมก.ฟรี 7 วัน 25-31 ม.ค. นี้ คาดใช้งบกว่า 100 ล้าน ชดเชยผู้ประกอบการ

(24 ม.ค.68) รัฐบาลขอแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเร่งด่วน! นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมาตรการใหม่ในการลดมลพิษฝุ่นในกรุงเทพมหานครที่ได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี โดยตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม – 31 มกราคมนี้ จะให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าทุกสายและรถขนส่ง ขสมก. ฟรีตลอด 7 วัน!

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังได้เตรียมงบกลางมูลค่า 140 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้กับผู้ประกอบการรถไฟฟ้า เช่น BTS และ BEM ตามรายได้ที่สูญเสียจากการให้บริการฟรีในช่วงนี้ ซึ่งมาตรการนี้ถือเป็นความพยายามในการกระตุ้นให้ประชาชนเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดฝุ่นควันในอากาศ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับทุกคนในสังคม

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้จัดตั้งจุดตรวจจับควันดำทั้งหมด 8 จุด เพื่อควบคุมและลดมลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวด โดยมีจุดตรวจในหลายพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ เช่น หน้าพิวเจอพาร์ครังสิต, ท่าเรือคลองเตย, หน้าสวนจตุจักร, และอีกหลายจุดสำคัญ รวมถึงการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีที่ท่าเรือคลองเตยในวันนี้ เวลา 15.30 น.

ทางกระทรวงคาดการณ์ว่า มาตรการนี้จะช่วยเพิ่มการใช้บริการรถสาธารณะได้ถึง 20-30% และจะมีการประเมินผลหลังจาก 7 วัน ว่าจะขยายเวลาออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 และการตอบรับจากประชาชน

‘ดร.เอ้’ โพสต์เฟซ!! เสนอแนะ วิธีปราบฝุ่นพิษ PM2.5 ย้ำ!! เคยเสนอ ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ และ ‘ขอเสนออีกครั้ง’

(25 ม.ค. 68) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก …

ฝุ่น PM2.5 วิกฤตเเล้ว! ผมเคยเสนอ ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ และ ขอเสนออีกครั้ง...

‘การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ 6 ข้อ’  ให้มลพิษ PM2.5 ลดลง คือ

1.ประชาชนทุกคนต้องรับรู้ข้อมูลและอันตรายของ PM2.5 
วันนี้เราสามารถเช็กค่าฝุ่นเบื้องต้นเพื่อทราบข้อมูล จากแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ต่างๆ เพื่อตรวจเช็กค่าฝุ่นจากจุดใกล้ตัว ว่าค่าฝุ่นที่แสดงมีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรา ทราบค่าฝุ่นได้แม่นยำมากขึ้น ก็ต้องมาจาก ‘จำนวนจุดวัดคุณภาพอากาศ ที่มากเพียงพอ’ ซึ่งควรมีอย่างน้อย ‘2000 จุดทั่วกรุงเทพ’ เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบค่าได้อย่างแม่นยำ และต้องแสดงปริมาณฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง เพื่อการปกป้องสุขภาพ และเพื่อการควบคุมฝุ่น ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ ขอประเมินคุณภาพอากาศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องเเนะนำให้ประชาชน ‘ป้องกัน’ ตัวเองด้วยหน้ากากอย่างจริงจัง  ในปัจจุบันหน้าการที่ป้องกันโควิดบางแบบสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้บ้างถึงแม้จะไม่ดีเท่า N95 โดยเมื่อเรารู้ว่าตัวเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ใส่หน้าเพื่อป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย  โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ ประมาทไม่ได้เลย ฝุ่น PM2.5 อันตรายถึงชีวิต แต่ที่เห็น เรายังไม่สนใจที่จะป้องกันตัวเอง และคนที่เรารักเท่าที่ควร

2.กำจัดฝุ่นที่ ‘ต้นกำเนิด’ อย่างจริงจัง 
วันนี้เรายังเห็นรถเมล์เก่า รถบรรทุกควันดำ วิ่งเต็มกรุงเทพ อยู่ทุกวัน จริงไหมครับ แสดงว่า เราไม่เคยจริงจังกับเรื่องฝุ่นพิษเลย รถควันดำ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ปล่อยมลพิษ จะต้องไม่มีในกรุงเทพอีกต่อไป ไม่ใช่ปล่อย PM2.5 ตลอดเวลา แล้วเมื่อไหร่ อากาศจะดีขึ้น ไม่มีทาง ‘รถบรรทุกควันดำ’ เป็นส่วนใหญ่ วิ่งเข้าออก ‘ไซต์งานก่อสร้าง’ ทุกวัน วันละไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเที่ยว  กทม.มีข้อบัญญัติความปลอดภัย ความสะอาด และป้องกันสิ่งแวดล้อมในมือ จัดการได้ทันที ถึงระงับใบอนุญาตก่อสร้างได้ เป็นการแก้ปัญหาถึง ‘ต้นตอ’

3.กฎหมายต้อง ‘เข้มแข็ง จัดการผู้กระทำความผิด’
แน่นอนครับการปลูกฝังจิตสำนึกเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา เเต่การใช้กฎหมาย ปรับให้เหมาะสมและต้องบังคับให้ใช้จริงเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้เรากำลังจะมี ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยยึดหลักมาตรฐานสากล กฎหมายอากาศสะอาด จะกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศ ตามหลักสุขภาพสากล กฎหมายอากาศสะอาดจะเน้นการกระจายอำนาจในการควบคุม ประเมิน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ กฎหมายอากาศสะอาดจะใช้มาตรการ 'ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม' กับการปลอดมลพิษอย่างไร้ความรับผิดชอบของบุคคลและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการรักษา เยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีและโบนัสแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ กฎหมายอากาศสะอาดจะส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด
ทั้งหมดนี้ ผู้มีอำนาจจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในต่างประเทศที่เคยประสบวิกฤตฝุ่นพิษ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เขาใช้ กฎหมายอากาศสะอาด เป็นเครื่องมือที่ได้ผลที่สุด ในการต่อสู้กับมลพิษ เเละเขาจริงจังเเละเข้มงวด ใครทำผิดเขาจัดการทันที เเต่ประเทศไทยยังไม่เข้มงวดมากพอ

4.ใช้เทคโนโลยี ‘มีดาวเทียม รู้ทันที ใครเผา’
เทคโนโลยีดาวเทียม ‘ไม่โกหก’ เมื่อปีก่อน ไทยเราส่ง ‘ดาวเทียมธีออส 2’ ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ เวียนมา ‘สอดส่องดู’ พื้นที่ประเทศไทย ใครเผาป่า เผ่าไร่ ตรงจุดไหน ที่แปลงใด รู้ทันที ‘ใครต้องรับผิดชอบ’ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้ดูแลดาวเทียม ระบุว่าข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส 2 มีรายละเอียดภาพหรือขนาดพิกเซล 50 เซนติเมตร ถือว่า ‘ความละเอียดสูงมาก’  ไม่มีอะไรรอดพ้นสายตา จะใช้หรือไม่ ก็เท่านั้นเอง เมื่อเทคโนโลยี ‘มีแล้ว’ เราต้องใช้แก้ปัญหา ให้คุ้มค่า

5.กำหนดเขตมลพิษต่ำ ‘Bangkok Low Emission Zone’
นี่คือ 'เป้าหมาย' และ 'วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม' ที่เราต้องทำทันที รอไม่ได้ เพราะกรุงเทพมี 'ความหนาแน่นขึ้น' ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นตาม ปัญหาการจราจรติดขัด และ มลพิษทางอากาศก็ตามมา โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพลเมือง

การประกาศ 'เขตมลพิษต่ำ' จะทำให้สามารถจำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงที่จะเข้ามาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกเก่าควันดำ รถเมล์ควันโขมง หรือรถอื่น ๆ ที่ปล่อยมลพิษอันตรายน่ากลัว โดยจะมีการมีกำหนดอัตราค่าธรรมตามปริมาณมลพิษรถที่ปล่อยออกมา เมื่อผ่านเขตที่กำหนด ยิ่งรถปล่อยมลพิษสูง ค่าธรรมเนียมยิ่งแพง ส่วนรถที่ปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้าพลังสะอาด จะไม่มีค่าธรรมเนียม เข้าได้ฟรี ขับได้ตามปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาดูแลรักษารถยนต์ให้มีมาตรฐาน ปล่อยมลพิษน้อยลง ใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน ทำให้สามารถลดมลพิษจากท้องถนนได้

สำหรับกทม. ผมขอเสนอให้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ 'Bangkok Low Emission Zone' นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาได้ครับ

ทำไมต้อง 16 เขต กรุงเทพชั้นใน?

เพราะเขตชั้นในนี้ มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน ที่มีโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด จึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก

เพราะพื้นที่นี้มีการก่อสร้างมากที่สุด มีปัญหามากที่สุดและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนกรุงเทพ

และเพราะพื้นที่นี้อยู่ในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่พร้อมที่สุด ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากว่าพื้นที่อื่น

6.กำหนด ‘เป้าหมาย’ ลดฝุ่นอย่างจริงจัง ต้องชัดเจน
ผมไม่เห็นใครออกมา 'ตั้งเป้าหมาย' เลยว่า อีกกี่เดือน กี่ปี ฝุ่นพิษ PM2.5 จะลดลง ให้อากาศกรุงเทพกลับมาสะอาดพอ ให้ลูกหลานเราจะหายใจได้อย่างปลอดภัย

เมื่อบ้านเมืองไร้เป้าหมาย สุดท้ายคือ อยู่ไปวันๆ ตายผ่อนส่ง ไม่มีอนาคต จริงไหมครับ ?

เมื่อ PM2.5 คือ อันตราย ตายจริง และขอย้ำ 'ปล่อยฝุ่นว่าโหดร้าย ปล่อยไว้โหดยิ่งกว่า' หากเป็นเช่นนี้ต่อไป แสดงว่าเราไม่ได้ห่วงลูกหลานคนไทยเลย

ด้วยความห่วงใยมากครับ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

จมในละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ ภาพสะท้อนจากอดีต ด้วยความคิดเอาแต่ได้

ในวันที่ผมนั่งพิมพ์เรื่องจริง เรื่องนี้อยู่ กรุงเทพฯ และหลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยคงพ้นจากวิกฤติฝุ่น PM2.5 กันไปบ้างแล้วหลังจากเผชิญหน้ากันมาเกือบ 2 สัปดาห์ เนื่องจากอิทธิพลของลมกำลังแรงพัดมาจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือทำให้อุณหภูมิลดลง และฝุ่นพิษถูกพัดไปทางด้านประเทศเมียนมา 

ในประวัติศาสตร์ โลกของเราได้เผชิญปรากฏการณ์จากละอองฝุ่นควันพิษมาแล้วหลายครั้ง โดยฝุ่นและควันพิษเหตุแรก ๆ นั้นเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น บันทึกของชาวบาบิโลเนียนกว่า 2,500 ปี ระบุว่าพวกเขาเผาน้ำมันแทนไม้ ชาวจีนในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นชนชาติแรกที่ทำเหมืองถ่านหินและขุดบ่อก๊าซธรรมชาติ แต่ชาติที่ต้องเผชิญมหันตภัยจากฝุ่นพิษอย่างหนักหน่วงที่สุดชาติแรกในโลกคือ สหราชอาณาจักร 

ต้องยอมรับก่อนว่าในฤดูหนาวนั้นสหราชอาณาจักรค่อนข้างสาหัสพอสมควร การเผาเพื่อสร้างความอบอุ่นหรือประโยชน์ในด้านพลังงานอื่น ๆ เป็นสิ่งจำเป็น จนกระทั่งพวกเขาได้มารู้จักถ่านหินซึ่งให้ความร้อนสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ แต่ใช่ว่าในเบื้องแรกพวกเขาจะไม่ตระหนักถึงหมอกควันที่เกิดจากการเผาถ่านหิน เพราะมีบันทึกว่าในปี ค.ศ. 1272 ได้มีประกาศจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ห้ามเผาถ่านหินเนื่องจากหมอกและควันที่เกิดขึ้นนั้นสร้างมลภาวะให้เกิดขึ้นกับชาวลอนดอน โดยคาดโทษถึงประหารชีวิต แต่นั่นก็ไม่สามารถควบคุมได้จริง เพราะประชาชนจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่น 

จนมาในศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักร ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลก เพราะในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ่านหินคือพลังงานปัจจัยหลักที่อยู่ในเกือบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องจักรไอน้ำ เป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร เครื่องทำความร้อนในบ้าน ผสมกับภาพปกติของกรุงลอนดอนนั้นมักจะถูกหมอกปกคลุมทั่วเมืองเป็นที่คุ้นเคย ยิ่งอากาศหนาวเย็นลงเท่าไหร่ บ้านเรือนต่าง ๆ ก็โหมใช้ถ่านหินมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการนำเอาถ่านหินคุณภาพต่ำมาใช้กันเป็นวงกว้าง ซึ่งถ่านหินเหล่านี้มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในปริมาณสูง และยังมีคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ รวมไปถึงสารพิษต่างๆ เมื่อหมอกผสานกับละอองฝุ่นพิษจึงไม่เป็นที่สนใจหรือระแวดระวัง เพราะมันค่อย ๆ สะสมที่ละเล็กน้อยยังไม่เห็นเป็นภาพใหญ่อย่างชัดเจน อีกทั้งละอองฝุ่นและหมอกควันพิษตามปกติก็จะลอยไปในอากาศ ก่อนจะถูกลมพัดพาไปที่อื่น 

จนมาถึงในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1952 ลอนดอนในเวลานั้นต้องเผชิญกับภาวะความกดอากาศสูง 'anticyclone' ก่อให้เกิดความผกผันของอุณหภูมิ อากาศร้อนถูกดันขึ้นด้านบน แทนที่ด้วยอากาศเย็นที่ควบแน่นไอน้ำเกิดเป็นหมอก ปกคลุมกรุงลอนดอนเหมือนถูกครอบด้วยโดมขนาดใหญ่ ด้านบนก็ไม่มีลมพัด ทำให้อากาศและสารพิษต่างๆ ถูกกดกักไว้ ไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าด้านบน ทำให้เกิดอนุภาคคงค้างอยู่ในอากาศผสมกับหมอกปกติเกิดเป็นหมอกฝุ่นพิษสีอมเหลืองที่เรียกว่า 'หมอกซุปถั่ว' (Pea-Soupers) ที่สร้างปัญหาทางระบบหายใจให้ผู้คนในลอนดอน อีกทั้งยังเกิดเป็นหมอกปกคลุมจนลดวิสัยทัศน์เหลือเพียงแค่การมองเห็นเพียงไม่กี่เมตร ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 ธันวาคม ค.ศ. 1952 เพียงแค่ 5 วัน แต่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 12,000 คน เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า 'Great Smog of London' ซึ่งส่งผลกระทบต่อสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี 

'Great Smog of London' เกิดขึ้นในยุคของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ว่ากันว่าก่อนจะเกิดเหตุ เอกสารรายงานที่เตือนถึงสถานการณ์ไม่ได้ถูกส่งถึงเชอร์ชิล แต่กลับถูกส่งไปยังผู้นำฝ่ายค้านโดยหนึ่งในทีมงานเลขาที่เปหนอนบ่อนไส้ของเชอร์ชิล เพื่อหวังจะใช้โจมตีเขาให้ลงจากตำแหน่ง ขณะนั้นเขาอายุ 78 ปีแล้ว แต่ยังกุมอำนาจการบริหารไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเอาสถานการณ์นี้มาใช้ลดแรงสนับสนุนจึงเป็นอาวุธสำคัญ เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีเฒ่าแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทาง ซึ่งมันก็ได้ผล เพราะนักการเมืองในสภา บุคลากรทางสาธารณสุข ประชาชนบางส่วน เริ่มตั้งคำถามซ้ำเติมด้วยการโจมตีของสื่อ และนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ว่าตัวเขาน่าจะแก่จนทำให้เชื่องช้า เงอะงะ เกินกว่าจะมาแก้ไขสถานการณ์แล้วกระมัง 

แต่มีเรื่องเล่ากันว่าหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปอยู่หลายวัน เจ้าหน้าที่หลายคนของเชอร์ชิลได้หายหน้าไปจากบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเขาได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่หลายคนต้องไปโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และบางคนได้ประสบอุบัติเหตุจากสภาพวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทีมเลขาของเขาที่ต้องเสียชีวิตลงเพราะอุบัติเหตุ เขาจึงได้เดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง เพื่อไปให้เห็นกับตาว่าเจ้าฝุ่นพิษจากหมอกควันที่เขามองว่าธรรมดานั้นเป็นตัวการก่อให้เกิดมหันตภัยกับผู้คนจริงหรือไม่? 

นับว่าการตัดสินไปโรงพยาบาลของเชอร์ชิลในครั้งนั้นได้ตอบคำถามให้กับเขา เพราะเขาได้ไปพบความโกลาหลของแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการสูดละอองฝุ่นพิษเข้าไป และผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากอุบัติเหตุ การปล้นจี้ ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงร่างของผู้เสียชีวิตที่มีอยู่จำนวนมาก จากภาพที่ประสบต่อหน้า ทำให้เขาตัดสินใจแถลงข่าวในทันที โดยเขาได้สั่งการให้เพิ่มงบประมาณและจำนวนบุคลากรภายในสถานพยาบาล ยุติการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยฝุ่นควันสู่อากาศชั่วคราว ปิดโรงเรียน และหยุดสถานประกอบการในบางส่วนเพื่อให้ลดการสูญเสีย 

อ่านกันเพลิน ๆ เหมือน วินสตัน เชอร์ชิล จะเป็นฮีโร่ ซึ่งในข้อมูลหลายชุดก็ไม่ได้ชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรีของอังกฤษท่านนี้รู้หรือไม่รู้ถึงปัญหา ถ้าไม่รู้ก็น่าจะพิจารณาได้จากปัญหาอยู่ตรงหน้า แต่กลับเลือกที่จะเมินเฉยเพราะมองว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรง ถ้ารู้ซึ่งผมเชื่อว่าคนระดับนี้เขาน่าจะรู้เรื่องของละอองฝุ่นและหมอกควันพิษมาตั้งแต่เริ่ม แต่กำลังดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากไปแก้ไขแล้วแก้ไม่ถูกจุด แก้ไม่ได้ก็อาจจะทำให้เขากลายเป็นเป้าของนักการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเอาสุขภาพของประชาชนมาเป็นตัวประกัน หรือถ้าสถานการณ์มันคลี่คลายไปก่อนที่เขาจะทำอะไร ก็เท่ากับไปสร้างปัญหากับเรื่องธรรมดาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สรุปคือเมื่อเวลาสุกงอมจนได้ที่เขาก็เลยมาจัดการปัญหา ซึ่งปัญหาที่เขาจัดการคือเรื่องของ 'จิตใจ' ที่จัดการด้วยธรรมชาติไม่ได้ ไม่ใช่ 'ละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ' ที่เขาน่าจะรู้แล้วว่า 'ลม' จะมาจัดการให้หายไป 

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมาย Clean Air Act (1956) เพื่อควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น มีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหิน จำกัดการเผาถ่านหินในเขตเมือง ส่งเสริมการให้เกิดการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทางเลือก แต่กระนั้นผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็สั่นคลอนเสถียรภาพด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี

ปักกิ่งจับมือกรุงเทพฯ มอบแนวทางสู้ PM2.5 เดินหน้าความร่วมมือ 3 ปี ฉลอง 50 ปีสัมพันธ์จีน-ไทย

(21 ก.พ.68) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเฝ้าติดตามและจัดการคุณภาพอากาศ ระยะ 3 ปี ซึ่งลงนามโดยสำนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเทศบาลกรุงปักกิ่งของจีน และสำนักสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าปักกิ่งจะแบ่งปันแนวทางปฏิบัติในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศแก่เมืองพี่เมืองน้องอย่างกรุงเทพฯ

บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ระบุว่าปักกิ่งจะแบ่งปันแนวทางปฏิบัติในการจัดการกับมลพิษทางอากาศแก่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการเฝ้าติดตามและลดฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5 (PM2.5) รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเยือนซึ่งกันและกัน และจัดการฝึกอบรมและสนับสนุนกรุงเทพฯ ในการดำเนินโครงการนำร่องต่าง ๆ

อนึ่ง ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย

กรุงปักกิ่งของจีนได้ปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นอย่างมากหลังจากดำเนินแผนริเริ่มขจัดมลพิษทางอากาศตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5 อยู่ที่ 30.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2024 ซึ่งผ่านมาตรฐานระดับชาติติดต่อกัน 4 ปีแล้ว

ความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5 พีเอ็ม10 ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของกรุงปักกิ่งในปี 2024 ลดลงร้อยละ 65.9 ร้อยละ 50 ร้อยละ 57.1 และร้อยละ 88.7 เมื่อเทียบกับปี 2013

ปตท. มอบน้ำแข็งแห้ง 350,000 กก. แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อหนุนปฏิบัติการบินลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการทำฝนหลวงทั่วประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ - บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มอบน้ำแข็งแห้ง ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 350,000 กิโลกรัม สนับสนุนปฏิบัติการบินลดฝุ่นและทำฝนหลวงทั่วประเทศ ปี 2568 ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จังหวัดระยอง 

น้ำแข็งแห้งดังกล่าว เกิดจากการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ โดยมี นายสรไนย เลิศอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบ และ นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับมอบ 

ทั้งนี้ ปตท. ได้สนับสนุนน้ำแข็งแห้งเพื่อทำฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 14,275,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาภัยแล้งของภาคเกษตรกรรม การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมถึงช่วยบรรเทาสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และประเทศต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top