จมในละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ ภาพสะท้อนจากอดีต ด้วยความคิดเอาแต่ได้
ในวันที่ผมนั่งพิมพ์เรื่องจริง เรื่องนี้อยู่ กรุงเทพฯ และหลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยคงพ้นจากวิกฤติฝุ่น PM2.5 กันไปบ้างแล้วหลังจากเผชิญหน้ากันมาเกือบ 2 สัปดาห์ เนื่องจากอิทธิพลของลมกำลังแรงพัดมาจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือทำให้อุณหภูมิลดลง และฝุ่นพิษถูกพัดไปทางด้านประเทศเมียนมา
ในประวัติศาสตร์ โลกของเราได้เผชิญปรากฏการณ์จากละอองฝุ่นควันพิษมาแล้วหลายครั้ง โดยฝุ่นและควันพิษเหตุแรก ๆ นั้นเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น บันทึกของชาวบาบิโลเนียนกว่า 2,500 ปี ระบุว่าพวกเขาเผาน้ำมันแทนไม้ ชาวจีนในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นชนชาติแรกที่ทำเหมืองถ่านหินและขุดบ่อก๊าซธรรมชาติ แต่ชาติที่ต้องเผชิญมหันตภัยจากฝุ่นพิษอย่างหนักหน่วงที่สุดชาติแรกในโลกคือ สหราชอาณาจักร
ต้องยอมรับก่อนว่าในฤดูหนาวนั้นสหราชอาณาจักรค่อนข้างสาหัสพอสมควร การเผาเพื่อสร้างความอบอุ่นหรือประโยชน์ในด้านพลังงานอื่น ๆ เป็นสิ่งจำเป็น จนกระทั่งพวกเขาได้มารู้จักถ่านหินซึ่งให้ความร้อนสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ แต่ใช่ว่าในเบื้องแรกพวกเขาจะไม่ตระหนักถึงหมอกควันที่เกิดจากการเผาถ่านหิน เพราะมีบันทึกว่าในปี ค.ศ. 1272 ได้มีประกาศจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ห้ามเผาถ่านหินเนื่องจากหมอกและควันที่เกิดขึ้นนั้นสร้างมลภาวะให้เกิดขึ้นกับชาวลอนดอน โดยคาดโทษถึงประหารชีวิต แต่นั่นก็ไม่สามารถควบคุมได้จริง เพราะประชาชนจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่น
จนมาในศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักร ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลก เพราะในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ่านหินคือพลังงานปัจจัยหลักที่อยู่ในเกือบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องจักรไอน้ำ เป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร เครื่องทำความร้อนในบ้าน ผสมกับภาพปกติของกรุงลอนดอนนั้นมักจะถูกหมอกปกคลุมทั่วเมืองเป็นที่คุ้นเคย ยิ่งอากาศหนาวเย็นลงเท่าไหร่ บ้านเรือนต่าง ๆ ก็โหมใช้ถ่านหินมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการนำเอาถ่านหินคุณภาพต่ำมาใช้กันเป็นวงกว้าง ซึ่งถ่านหินเหล่านี้มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในปริมาณสูง และยังมีคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ รวมไปถึงสารพิษต่างๆ เมื่อหมอกผสานกับละอองฝุ่นพิษจึงไม่เป็นที่สนใจหรือระแวดระวัง เพราะมันค่อย ๆ สะสมที่ละเล็กน้อยยังไม่เห็นเป็นภาพใหญ่อย่างชัดเจน อีกทั้งละอองฝุ่นและหมอกควันพิษตามปกติก็จะลอยไปในอากาศ ก่อนจะถูกลมพัดพาไปที่อื่น
จนมาถึงในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1952 ลอนดอนในเวลานั้นต้องเผชิญกับภาวะความกดอากาศสูง 'anticyclone' ก่อให้เกิดความผกผันของอุณหภูมิ อากาศร้อนถูกดันขึ้นด้านบน แทนที่ด้วยอากาศเย็นที่ควบแน่นไอน้ำเกิดเป็นหมอก ปกคลุมกรุงลอนดอนเหมือนถูกครอบด้วยโดมขนาดใหญ่ ด้านบนก็ไม่มีลมพัด ทำให้อากาศและสารพิษต่างๆ ถูกกดกักไว้ ไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าด้านบน ทำให้เกิดอนุภาคคงค้างอยู่ในอากาศผสมกับหมอกปกติเกิดเป็นหมอกฝุ่นพิษสีอมเหลืองที่เรียกว่า 'หมอกซุปถั่ว' (Pea-Soupers) ที่สร้างปัญหาทางระบบหายใจให้ผู้คนในลอนดอน อีกทั้งยังเกิดเป็นหมอกปกคลุมจนลดวิสัยทัศน์เหลือเพียงแค่การมองเห็นเพียงไม่กี่เมตร ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 ธันวาคม ค.ศ. 1952 เพียงแค่ 5 วัน แต่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 12,000 คน เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า 'Great Smog of London' ซึ่งส่งผลกระทบต่อสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี
'Great Smog of London' เกิดขึ้นในยุคของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ว่ากันว่าก่อนจะเกิดเหตุ เอกสารรายงานที่เตือนถึงสถานการณ์ไม่ได้ถูกส่งถึงเชอร์ชิล แต่กลับถูกส่งไปยังผู้นำฝ่ายค้านโดยหนึ่งในทีมงานเลขาที่เปหนอนบ่อนไส้ของเชอร์ชิล เพื่อหวังจะใช้โจมตีเขาให้ลงจากตำแหน่ง ขณะนั้นเขาอายุ 78 ปีแล้ว แต่ยังกุมอำนาจการบริหารไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเอาสถานการณ์นี้มาใช้ลดแรงสนับสนุนจึงเป็นอาวุธสำคัญ เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีเฒ่าแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทาง ซึ่งมันก็ได้ผล เพราะนักการเมืองในสภา บุคลากรทางสาธารณสุข ประชาชนบางส่วน เริ่มตั้งคำถามซ้ำเติมด้วยการโจมตีของสื่อ และนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ว่าตัวเขาน่าจะแก่จนทำให้เชื่องช้า เงอะงะ เกินกว่าจะมาแก้ไขสถานการณ์แล้วกระมัง
แต่มีเรื่องเล่ากันว่าหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปอยู่หลายวัน เจ้าหน้าที่หลายคนของเชอร์ชิลได้หายหน้าไปจากบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเขาได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่หลายคนต้องไปโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และบางคนได้ประสบอุบัติเหตุจากสภาพวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทีมเลขาของเขาที่ต้องเสียชีวิตลงเพราะอุบัติเหตุ เขาจึงได้เดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง เพื่อไปให้เห็นกับตาว่าเจ้าฝุ่นพิษจากหมอกควันที่เขามองว่าธรรมดานั้นเป็นตัวการก่อให้เกิดมหันตภัยกับผู้คนจริงหรือไม่?
นับว่าการตัดสินไปโรงพยาบาลของเชอร์ชิลในครั้งนั้นได้ตอบคำถามให้กับเขา เพราะเขาได้ไปพบความโกลาหลของแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการสูดละอองฝุ่นพิษเข้าไป และผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากอุบัติเหตุ การปล้นจี้ ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงร่างของผู้เสียชีวิตที่มีอยู่จำนวนมาก จากภาพที่ประสบต่อหน้า ทำให้เขาตัดสินใจแถลงข่าวในทันที โดยเขาได้สั่งการให้เพิ่มงบประมาณและจำนวนบุคลากรภายในสถานพยาบาล ยุติการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยฝุ่นควันสู่อากาศชั่วคราว ปิดโรงเรียน และหยุดสถานประกอบการในบางส่วนเพื่อให้ลดการสูญเสีย
อ่านกันเพลิน ๆ เหมือน วินสตัน เชอร์ชิล จะเป็นฮีโร่ ซึ่งในข้อมูลหลายชุดก็ไม่ได้ชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรีของอังกฤษท่านนี้รู้หรือไม่รู้ถึงปัญหา ถ้าไม่รู้ก็น่าจะพิจารณาได้จากปัญหาอยู่ตรงหน้า แต่กลับเลือกที่จะเมินเฉยเพราะมองว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรง ถ้ารู้ซึ่งผมเชื่อว่าคนระดับนี้เขาน่าจะรู้เรื่องของละอองฝุ่นและหมอกควันพิษมาตั้งแต่เริ่ม แต่กำลังดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากไปแก้ไขแล้วแก้ไม่ถูกจุด แก้ไม่ได้ก็อาจจะทำให้เขากลายเป็นเป้าของนักการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเอาสุขภาพของประชาชนมาเป็นตัวประกัน หรือถ้าสถานการณ์มันคลี่คลายไปก่อนที่เขาจะทำอะไร ก็เท่ากับไปสร้างปัญหากับเรื่องธรรมดาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สรุปคือเมื่อเวลาสุกงอมจนได้ที่เขาก็เลยมาจัดการปัญหา ซึ่งปัญหาที่เขาจัดการคือเรื่องของ 'จิตใจ' ที่จัดการด้วยธรรมชาติไม่ได้ ไม่ใช่ 'ละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ' ที่เขาน่าจะรู้แล้วว่า 'ลม' จะมาจัดการให้หายไป
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมาย Clean Air Act (1956) เพื่อควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น มีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหิน จำกัดการเผาถ่านหินในเขตเมือง ส่งเสริมการให้เกิดการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทางเลือก แต่กระนั้นผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็สั่นคลอนเสถียรภาพด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี