Tuesday, 22 April 2025
ทะเลเดือด

‘ดร.ธรณ์’ ห่วง!! อากาศเลวร้าย ทำ ‘ทะเลเดือด’ รับ!! แก้ตอนนี้ไม่ทันแล้ว สะสมมานานเกินไป

(22 เม.ย.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า…

สวัสดีวัน Earth day ด้วยความร้อน 43 องศา ทะเลร้อนเกิน 32 องศาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไม่รักโลกตอนนี้ ก็ไม่มีเวลาเหลือให้รักแล้วครับ

โดยก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ เอาไว้ว่า เวลานี้ หลายสิ่งอย่างในธรรมชาติ โดยเฉพาะในท้องทะเลเริ่มมีอาการผิดปกติ เรียกว่าทะเลเดือดก็ไม่ผิด เพราะตอนนี้อุณหภูมิในอ่าวไทย สูงถึง 32 องศาเซลเซียสกว่า ๆ อาจจะถึง 32.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่ง 1.5 องศาที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถือว่าสูงมาก เน้นว่าสูงมาก ๆ เพราะแม้กระทั่งช่วงเวลาตี 1 ถึงตี 3 ซึ่งปกติช่วงเวลานี้อุณหภูมิของน้ำทะเลจะลดลงแล้ว แต่เวลานี้ ตี 3 อุณหภูมิยัง 32 องศาเซลเซียสอยู่เลย ทั้งที่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่ผ่าน ๆ มา อุณหภูมิจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่าผิดปกติมาก ๆ

“ซึ่งการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นมามากขนาดนี้ จะมีผลปรากฏการณ์อื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง เช่น ปรากฏการณ์แพลงตอนบลูม น้ำทะเลสีเขียว โดยเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ที่ จ.ตรัง ก็เกิดปรากฏการณ์แพลงตอนบลูมนี้ โดยเมื่อมีแพลงตอนเยอะเมื่อไหร่ ก็จะมีแมงกะพรุนเข้ามากิน เพราะแมงกะพรุนนั้นกินแพลงตอนเป็นอาหาร อีกทั้งเมื่อน้ำร้อน ปลาทะเลก็จะว่ายหนีน้ำร้อนไปออกทะเลลึก หรือส่วนที่มีน้ำเย็นกว่า ผลก็คือ ชาวประมงจับปลาไม่ได้ หรือต้องออกเรือไปไกล ๆ กว่าเดิมเพื่อให้ได้ปลามา” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ที่สำคัญคือ หากอุณหภูมิของน้ำทะเลยังสูงต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้อีก 2-3 สัปดาห์จะเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า บางแห่งเริ่มมีความซีดเล็ก ๆ แล้ว

เมื่อถามว่า เรามีวิธีแก้ปัญหาทะเลเดือด ทะเลร้อนไหม ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวว่า แก้ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ไม่มีวิธีแก้ เพราะมันสะสมมานานเกินไป ต่อให้นักวิทยาศาสตร์ 10 รางวัลโนเบลล์ก็ไม่มีใครแก้ได้ แต่ก็ชะลอไม่ให้เกิดไปมากกว่านี้ได้ นั่นคือ ลดปริมาณการสะสมของก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นชาวประมงก็ให้ไปประกอบอาชีพอื่น เพราะน้ำทะเลร้อนอย่างนี้ ทำการประมงไม่รุ่งแน่นอน

“อย่างไรก็ตาม เวลานี้ ทางกรมทะเล กับทางคณะประมง ก็กำลังช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องปะการังฟอกขาวโดยเก็บพ่อแม่พันธุ์ไว้ให้มากที่สุด เอาไปปลูกในพื้นที่ที่เย็นกว่าที่เกิด รวมทั้งหาดีเอ็นเอของปะการังที่ทนร้อนมาขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มด้วย เรื่องอื่น ๆ ต้องทำใจกันเอาเอง” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

โดยในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2513 ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) โดยผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา

จุดเริ่มต้นนั้นมาจากในปี พ.ศ.2505 เนลสันได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีเห็นด้วยและได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2506 ต่อมาเนลสันได้ผลักดันให้มีการชุมนุม แสดงความคิดเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน ประชาชนชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก

ซึ่งผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น ‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day)

'อ.ธรณ์' เผย!! อุณหภูมิน้ำทะเลกลับสู่ภาวะปกติ สิ้นสุดปะการังฟอกขาว แนะ!! ต่อจากนี้คือการประเมินความเสียหายและวางแผนรับมือ

(17 ก.ค.67) มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านแฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า…

อุณหภูมิน้ำทะเลกลับสู่ภาวะปกติ สิ้นสุดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว 🥳 ต่อจากนี้คือการประเมินความเสียหายและวางแผนรับมือสำหรับคราวหน้า

หากเพื่อนธรณ์ดูกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลทั้ง 2 ฝั่ง จะเห็นว่าตอนนี้ลดต่ำลงมาเท่ากับปี 23 และอยู่ต่ำกว่าเส้นวิกฤตปะการังฟอกขาว

หมายถึงเราผ่านทะเลเดือดมาแล้ว ปะการังที่ฟอกขาวอยู่ตอนนี้ อีกไม่นานคงจะฟื้น แต่ย่อมมีปะการังตายจากการฟอกขาว จะเยอะจะน้อย ต้องรอการประเมินอีกครั้ง แต่ละที่ไม่เท่ากัน

เมื่อประเมินเสร็จ เราจะรู้ว่าตรงไหนหนักสุด การอนุรักษ์ฟื้นฟูแต่ละพื้นที่ควรเป็นอย่างไร นั่นเป็นอีกงานหนัก แต่จำเป็นมาก เพราะเราจะได้รู้ว่าการตายกับการฟอกขาวสัมพันธ์กันไหม ? 

จุดที่ฟอกขาวเยอะคือตายเยอะหรือเปล่า อาจมีปัจจัยอื่น ๆ มาทำให้ฟอกเยอะแต่ตายน้อย หรือฟอกน้อยแต่ % ตายสูง ฯลฯ

ยังรวมถึงความทนทานของปะการัง (resilience) สัมพันธ์กับการฟอกขาวหรืออัตรารอด/ตายหรือไม่ เพราะเรื่องนั้นจะเกี่ยวโดยตรงกับแผนอนุรักษ์ในอนาคต

อีกอย่างที่ต้องตามดูคือความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศหลังจากนี้ แนวปะการังจะโทรมลงไหม จะมีอะไรเข้ามาแทน การฟื้นคืนของปะการังจะใช้เวลากี่เดือนกี่ปี ฯลฯ

ทั้งหมดที่เล่ามา จะเห็นเลยว่า เรามีงานยักษ์รออยู่ ปัญหาคือเราจะมีเงินทำไหม? เพราะตอนนี้อะไรก็เดือดร้อนไปหมด

ก็คงได้แต่บอกว่า ต้องพยายามให้ดีที่สุด เพราะทุกเรื่องที่ทำในวันนี้ หมายถึงความอยู่รอดของปะการังในวันหน้า เพราะทะเลเดือดจะกลับมาพร้อมกับเอลนีโญอีกครั้ง ในอนาคตอันใกล้ ตราบใดที่โลกยังร้อนขึ้นเช่นนี้ครับ 🌏

ข้อมูลน้ำ - กรมทะเล 🙏

'ดร.ธรณ์' ชี้ 'โลกร้อน-ทะเลเดือด' ทำให้เกิด 'ซอมบี้เฮอริเคน' เข้าฝั่งแล้วอ่อนแรง แต่เด้งลงทะเล เร่งความแรงแล้วกลับเข้ามาใหม่

(29 ก.ย. 67) เฟซบุ๊ก 'Thon Thamrongnawasawat' หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ระบุข้อความว่า...

“โลกร้อนทะเลเดือดทำให้เกิดซอมบี้เฮอริเคน 

'zombie herricane' เป็นศัพท์ทั่วไป ใช้อธิบายถึงพายุที่ไม่ยอมตาย เข้าฝั่งแล้วอ่อนแรง แต่เด้งลงทะเลและเร่งความแรงกลับเข้ามาใหม่ เฮอริเคนจอห์น ที่เพิ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้เม็กซิโก คือพายุซอมบี้ล่าสุด พายุหมุนเกิดในทะเล ได้พลังจากความร้อนของผิวน้ำ น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิด 2 ปรากฏการณ์ของพายุในยุคโลกร้อน

ข้อแรกคือพายุทวีความแรงขึ้นอย่างเร็ว ยางิใช้เวลา 48 ชม. จากโซนร้อนเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น จอห์นที่เป็นแค่ดีเปรสชั่นในบ่ายวันที่ 22 กลายเป็นเฮอริเคนระดับ 3 ในวันที่ 24 ก่อนเข้าฝั่งเม็กซิโกด้วยความเร็วลม 195 กม./ชม. แต่จอห์นยังมีข้อ 2 ข้อสองคือจอห์นไม่ยอมสลายทั้งที่เข้าฝั่งแล้ว บางส่วนของพายุกลับไปสู่ทะเล น้ำที่ร้อนจัดทำให้กลายเป็นเฮอริเคนอีกครั้งอย่างรวดเร็ว ก่อนเข้าฝั่งเป็นหนสอง

จอห์นจึงเป็นเสมือนซอมบี้ พายุไม่ยอมตาย เพื่อนธรณ์ลองดูภาพประกอบ จะเห็นจุดสีฟ้าเป็นแค่โซนร้อน ไล่เข้าไปหาฝั่ง กลายเป็นจุดสี หมายถึงเฮอริเคนระดับต่าง ๆ ชนฝั่ง พายุกลับออกมาเป็นโซนร้อน ก่อนเร่งเป็นจุดสี แปลว่ากลายเป็นเฮอริเคนอีกครั้ง ก่อนจะเข้าฝั่งในระดับ 1 

Acapulco คือเมืองที่โดนหนสอง เกิดน้ำท่วมหลายแห่ง สร้างความเสียหายให้กับเมืองที่เพิ่งฟื้นจาก Otis เมื่อปีก่อน Otis คือพายุที่เร่งความแรงเร็วสุด ๆ จากโซนร้อนกลายเป็นเฮอริเคนระดับ 5 ถล่มเมืองแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยความเร็วลมถึง 266 กม./ชม. (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วครับ ปลายเดือนตุลา ปีก่อน)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศบอกว่า ความร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก มากกว่า 90% ถูกดูดซับโดยทะเล จนทะเลอั้นไม่ไหว ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ยอมหยุด จะทำให้พายุผิดปรกติเกิดมากขึ้นในอนาคต 

ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 น้ำทะเลที่ทำให้เกิดพายุซอมบี้จอห์น ร้อน 32 องศา Speedy Zombie และ Rain bomb คือศัพท์ใหม่ที่เราไม่อยากได้ยิน แต่มันจะมีมาบ่อยขึ้น เพราะเราหยุดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ ขอแสดงความเสียใจกับทุกความสูญเสียในเม็กซิโกครับ

วันนี้ผมจะไปเล่าให้ฟังเพิ่มที่ FM99 ตอนเที่ยงครึ่ง และก็ไปเล่าบนเวที SX (ศูนย์สิริกิติ์) บ่ายห้าโมง เพื่อนธรณ์สนใจติดตามได้ครับ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top