‘ดร.ธรณ์’ ห่วง!! อากาศเลวร้าย ทำ ‘ทะเลเดือด’ รับ!! แก้ตอนนี้ไม่ทันแล้ว สะสมมานานเกินไป

(22 เม.ย.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า…

สวัสดีวัน Earth day ด้วยความร้อน 43 องศา ทะเลร้อนเกิน 32 องศาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไม่รักโลกตอนนี้ ก็ไม่มีเวลาเหลือให้รักแล้วครับ

โดยก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ เอาไว้ว่า เวลานี้ หลายสิ่งอย่างในธรรมชาติ โดยเฉพาะในท้องทะเลเริ่มมีอาการผิดปกติ เรียกว่าทะเลเดือดก็ไม่ผิด เพราะตอนนี้อุณหภูมิในอ่าวไทย สูงถึง 32 องศาเซลเซียสกว่า ๆ อาจจะถึง 32.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่ง 1.5 องศาที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถือว่าสูงมาก เน้นว่าสูงมาก ๆ เพราะแม้กระทั่งช่วงเวลาตี 1 ถึงตี 3 ซึ่งปกติช่วงเวลานี้อุณหภูมิของน้ำทะเลจะลดลงแล้ว แต่เวลานี้ ตี 3 อุณหภูมิยัง 32 องศาเซลเซียสอยู่เลย ทั้งที่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่ผ่าน ๆ มา อุณหภูมิจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่าผิดปกติมาก ๆ

“ซึ่งการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นมามากขนาดนี้ จะมีผลปรากฏการณ์อื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง เช่น ปรากฏการณ์แพลงตอนบลูม น้ำทะเลสีเขียว โดยเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ที่ จ.ตรัง ก็เกิดปรากฏการณ์แพลงตอนบลูมนี้ โดยเมื่อมีแพลงตอนเยอะเมื่อไหร่ ก็จะมีแมงกะพรุนเข้ามากิน เพราะแมงกะพรุนนั้นกินแพลงตอนเป็นอาหาร อีกทั้งเมื่อน้ำร้อน ปลาทะเลก็จะว่ายหนีน้ำร้อนไปออกทะเลลึก หรือส่วนที่มีน้ำเย็นกว่า ผลก็คือ ชาวประมงจับปลาไม่ได้ หรือต้องออกเรือไปไกล ๆ กว่าเดิมเพื่อให้ได้ปลามา” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ที่สำคัญคือ หากอุณหภูมิของน้ำทะเลยังสูงต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้อีก 2-3 สัปดาห์จะเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า บางแห่งเริ่มมีความซีดเล็ก ๆ แล้ว

เมื่อถามว่า เรามีวิธีแก้ปัญหาทะเลเดือด ทะเลร้อนไหม ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวว่า แก้ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ไม่มีวิธีแก้ เพราะมันสะสมมานานเกินไป ต่อให้นักวิทยาศาสตร์ 10 รางวัลโนเบลล์ก็ไม่มีใครแก้ได้ แต่ก็ชะลอไม่ให้เกิดไปมากกว่านี้ได้ นั่นคือ ลดปริมาณการสะสมของก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นชาวประมงก็ให้ไปประกอบอาชีพอื่น เพราะน้ำทะเลร้อนอย่างนี้ ทำการประมงไม่รุ่งแน่นอน

“อย่างไรก็ตาม เวลานี้ ทางกรมทะเล กับทางคณะประมง ก็กำลังช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องปะการังฟอกขาวโดยเก็บพ่อแม่พันธุ์ไว้ให้มากที่สุด เอาไปปลูกในพื้นที่ที่เย็นกว่าที่เกิด รวมทั้งหาดีเอ็นเอของปะการังที่ทนร้อนมาขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มด้วย เรื่องอื่น ๆ ต้องทำใจกันเอาเอง” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

โดยในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2513 ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) โดยผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา

จุดเริ่มต้นนั้นมาจากในปี พ.ศ.2505 เนลสันได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีเห็นด้วยและได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2506 ต่อมาเนลสันได้ผลักดันให้มีการชุมนุม แสดงความคิดเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน ประชาชนชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก

ซึ่งผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น ‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day)