Monday, 17 June 2024
ดาวเทียม

‘จีน’ ส่งดาวเทียมแฝด ‘เทียนฮุ่ย-6’ ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ ใช้สำหรับภารกิจสำรวจพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

(10 มี.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมแฝดเทียนฮุ่ย-6 (Tianhui-6) ขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของประเทศ ตอน 06.41 น. ของวันศุกร์ (10 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

ระบุว่า ดาวเทียมเทียนฮุ่ย-6 เอ (Tianhui-6 A) และเทียนฮุ่ย-6 บี (Tianhui-6 B) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดขนส่งลองมาร์ช-4ซี (Long March-4C) และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดแล้ว

ดาวเทียมแฝดดังกล่าวจะถูกใช้ในการสำรวจทางภูมิศาสตร์ การสำรวจทรัพยากรที่ดิน การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และภารกิจอื่น ๆ

สุดล้ำ!! ‘จีน’ ลุยส่ง ‘ดาวเทียม’ สู่ห้วงอวกาศจำนวน 4 ดวง ใช้รับข้อมูล-บริการเชิงพาณิชย์-การสื่อสารผ่านดาวเทียม

(24 ก.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ค.) จีนปล่อยจรวดขนส่งลองมาร์ช-2ดี (Long March-2D) พร้อมส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรที่กำหนด จำนวน 4 ดวง

รายงานระบุว่าจรวดขนส่งลองมาร์ช-2ดี ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน ตอน 10.50 น. ตามเวลาปักกิ่ง

ดาวเทียมสามดวงจะถูกใช้รับข้อมูลการสำรวจระยะไกลและให้บริการสำรวจระยะไกลเชิงพาณิชย์ ส่วนดาวเทียมอีกดวงหนึ่งจะใช้ตรวจสอบเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียม

อนึ่ง การส่งดาวเทียมดังกล่าวนับเป็นภารกิจครั้งที่ 479 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช

'จีน' ส่ง 'เกาเฟิน-12 04' ดาวเทียมสำรวจโลกดวงใหม่สู่วงโคจร ลุยภารกิจ 'สำรวจที่ดิน-วางแผนผังเมือง-รับมือภัยพิบัติ'

(21 ส.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนได้ส่งดาวเทียมสำรวจโลกดวงใหม่ขึ้นสู่อวกาศจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

รายงานระบุว่า จรวดขนส่งลองมาร์ช-4ซี (Long March-4C) ซึ่งบรรทุกดาวเทียมเกาเฟิน-12 04 (Gaofen-12 04) ทะยานออกจากศูนย์ฯ ตอน 01.45 น. ตามเวลาปักกิ่ง และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดสำเร็จ

ดาวเทียมดวงนี้จะถูกใช้งานหลายด้าน อาทิ การสำรวจที่ดิน การวางผังเมือง การออกแบบโครงข่ายถนน การประเมินผลผลิตทางการเกษตร และการบรรเทาภัยพิบัติ

อนึ่ง การส่งดาวเทียมดวงนี้นับเป็นภารกิจที่ 484 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.66 จีนได้ส่งดาวเทียมสำรวจโลกเกาเฟิน-12 03 (Gaofen-12 03) ขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดขนส่งลองมาร์ช-4ซี (Long March-4C) เมื่อเวลา 23.46 น. ตามเวลาปักกิ่ง และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดสำเร็จไปแล้ว

‘THEOS-2’ ดาวเทียมดวงแรกของไทย เตรียมขึ้นสู่อวกาศ ต.ค.นี้ ตอกย้ำความก้าวหน้าในเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมอวกาศ

(5 ก.ย. 66) ‘ดาวเทียม THEOS-2’ สร้างและทดสอบระบบเสร็จเรียบร้อย ขณะนี้ ถูกขนส่งจากบริษัท Airbus Defence and Space เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ถึงท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ จะทำการตรวจสอบทุกขั้นตอนและประกอบดาวเทียมเข้ากับส่วนหัวของจรวด Rocket Fairing พร้อมขึ้นสู่อวกาศช่วงเดือนตุลาคม 2566

‘THEOS-2’ เป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสานต่อภารกิจของไทยโชต หรือ ‘ดาวเทียม THEOS-1’ (ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551) ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งาน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศ

THEOS-2 มีน้ำหนัก 425 กิโลกรัม สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง 50 เซนติเมตร เป็นดาวเทียมปฏิบัติการ เพื่อใช้งานติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอวกาศ, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และการพัฒนาบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

รวมทั้ง ยกระดับการให้บริการด้านภูมิสารสนเทศ 6 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนที่, ด้านการจัดการเกษตรและอาหาร, ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม, ด้านการจัดการภัยพิบัติ, ด้านการจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ

#พร้อมขึ้นสู่อวกาศ #GISTDA #จิสด้า #THEOS2 #ดาวเทียมสำรวจโลก #AirbusDefenceandSpace #เทคโนโลยีอวกาศ #เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ #การพัฒนาดาวเทียม #อวกาศ #อุตสาหกรรมอวกาศ #RocketFairing

‘GISTDA’ เตรียมส่ง 'THEOS-2' ฝีมือคนไทยพิชิตอวกาศ 7 ต.ค.นี้ ชี้ เป็นดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูงมากดวงแรกของประเทศ

(27 ก.ย.66) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า-GISTDA) นายเรมี ล็องแบร์ อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และนายโอลิวิเย่ร์ ชาร์ลเวท จากบริษัท AIRBUS ร่วมแถลงข่าวความพร้อมของดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส2) ก่อนขึ้นสู่อวกาศ

น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า ประเทศไทย มีกำหนดการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 08.36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้ โดยดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite หนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ที่ดำเนินการโดยจิสด้า ซึ่งมีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และข้อมูลจากดาวเทียมจะถูกใช้ในการปรับปรุง (Update) ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการจัดการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐมนตรี อว.กล่าวว่า สำหรับข้อมูล THEOS-2 นี้ GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อจะได้นำไปต่อยอดหรือการบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนักพัฒนานวัตกรรมทุกระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน startup SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ตามนโยบายของ อว. ที่มุ่งเน้นในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ

น.ส.ศุภมาสกล่าวอีกว่า สำหรับการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเป็นการนำส่งดาวเทียมที่จะนำมาสู่การยกระดับรูปแบบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในฐานะผู้แทนของรัฐบาลที่กำกับดูแลหน่วยงานกิจการอวกาศของประเทศและคนไทย จะร่วมเดินทางไปปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับความสำเร็จในการนำดาวเทียมความละเอียดสูงมากของไทยดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศ ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้กับทีมงาน GISTDA และประเทศไทยในการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เพราะการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลกครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมความละเอียดสูงมากครั้งแรกของประเทศไทย

เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้วจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 วัน ในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ที่จะทดสอบระบบต่างๆ ก่อนเปิดให้บริการ ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS-2 จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยกระทรวง อว. จะผลักดันนโยบายเรื่องเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยให้เป็นจริงโดยเร็ว

ด้าน ดร.ปกรณ์กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อีกด้วย สำหรับการนำข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 มาใช้ในการพัฒนาประเทศ สามารถเป็นไปได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1:1000

“การจัดการเกษตรและอาหาร ดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร เป็นต้น”

ดร.ปกรณ์ยังกล่าวอีกว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทยในรอบ 15 ปี หลังจากส่งไทยโชตเมื่อปี 2551 ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เพราะ ‘เศรษฐกิจ’ คือปากท้องของประชาชน จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ GISTDA ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมดวงนี้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และมิติของการพัฒนาพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

'รมว.อว.' ชี้แจง ปมเลื่อนส่ง 'THEOS-2' ดาวเทียมสำรวจโลกกะทันหัน เหตุพบสัญญาณผิดปกติในจรวดนำส่ง ส่วนกำหนดการใหม่รอแจ้งอีกครั้ง

(7 ต.ค.66) กรณีการส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ของไทยขึ้นสู่วงโคจรในช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค.ที่ ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ และปรากฏว่าระบบมีการแจ้งเตือนว่าพบปัญหาจากอุปกรณ์บางอย่างจึงเลื่อนการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรออกไปก่อนนั้น

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยหลังจาก Arianespace แจ้งเลื่อนการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ก่อนนับถอยหลังเพียง 14 วินาที เนื่องจากระบบตรวจสอบได้พบค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (threshold) ที่อุปกรณ์ Safety Management Unit ของจรวดนำส่ง ระบบจึงตัดการทำงานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียดจาก Arianespace ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในช่วงเช้าวันที่ 8 ตุลาคม (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือ คืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย ส่วนกำหนดการส่งใหม่อีกครั้งจะเป็นวันและเวลาใด ทาง GISTDA จะแจ้งให้ทราบต่อไป

‘THEOS-2’ ทะยานขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ พร้อมเริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก ด้าน ‘นายกฯ’ ร่วมยินดี หนุนใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยขับเคลื่อนประเทศ

ดาวเทียม ‘THEOS-2’ ประสบความสำเร็จขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก นายกฯ เศรษฐา ร่วมยินดี ขอบคุณกระทรวง อว. ขณะที่ ‘ศุภมาส’ ชี้ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกนำมาวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 5 – 8 วันจากนี้

(9 ต.ค. 66) มีการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก ‘THEOS-2’ (Thailand Earth Observation Satellite 2) ขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ มี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ ‘GISTDA’ รวมทั้งสักขีพยานจากประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศสรวมถึงประชาชนทั่วโลก ที่สนใจในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้

โดยเมื่อถึงเวลา 08.36 น.ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกนำส่งด้วย จรวด ‘VEGA’ พร้อมมีการให้สัญญาณนับถอยหลังใน 10 วินาทีสุดท้ายหลังจากนั้นดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจ หลังจากลุ้นระทึก โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญต่างพากันจับมือแสดงความยินดี

ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส กล่าวภายหลังจากดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรของอวกาศว่า รู้สึกดีใจและโล่งใจที่การปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ราบรื่น ประสบความสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการ

โดยขณะนี้ สามารถกล่าวได้ว่าดาวเทียม THEOS-2 ได้เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลกแล้ว โดยหลังจากปล่อยดาวเทียมในเวลา 08:36 น. จะใช้เวลากว่า 52 นาทีในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราวๆ 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5 – 8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร

“ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของกระทรวง อว.และประเทศไทย หลังจากนี้จะมีการต่อยอดยกระดับด้านต่างๆ ของประเทศรวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนให้รู้ว่าดาวเทียม THEOS-2 มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกใช้ในการปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดที่ถูกต้อง ช่วยให้ทุกการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.กระทรวง อว.กล่าว

ในโอกาสนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดี ว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ขอแสดงความยินดีที่วันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จสามารถส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นมาตลอดว่าจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาสร้างประโยชน์ได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การบริหารจัดการเกษตร การบริหารจัดการเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ซึ่งจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงของพี่น้องประชาชน

“ผมขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ GISTDA ที่จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันวงการอวกาศของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า” นายเศรษฐา กล่าว

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า “หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดิน เพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป”

'ไทย' ไปต่อ!! เตรียมส่งดาวเทียมแนคแซท 2 สู่อวกาศต้นปี 67 มุ่งภารกิจเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมอวกาศ

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดงานแถลงข่าวพิธีส่งดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ซึ่งเป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30 x 10 x 10 ซม.) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีรูปแบบเป็น Ride Sharing Platform หรือการแชร์พื้นที่ใช้สอยบนดาวเทียมร่วมกัน

โดยดาวเทียม KNACKSAT-2 มีพื้นที่ในการบรรจุเพย์โหลด (Mission Payload) หรืออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติภารกิจถึง 7 ระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศให้สามารถเข้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการนี้ได้รับการจัดสรรทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และมีบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้ร่วมทุนในการวิจัยและพัฒนาระบบ IoT เป็นหนึ่งความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ซึ่งนอกจากใช้ประโยชน์ในภาคการศึกษาพัฒนาบุคลากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแล้ว KNACKSAT-2 ยังสามารถขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ

โดย มจพ. มีกำหนดนำดาวเทียม KNACKSAT-2 ออกจากประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำส่งเข้าสู่วงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ช่วงต้นปี 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง มจพ. บริษัท NBSPACE มหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)

‘จีน’ ช่วย ‘อียิปต์’ ส่งดาวเทียมสำรวจดวงใหม่ สู่วงโคจรสำเร็จ พัฒนาความร่วมมือเทคโนโลยีการบิน-อวกาศระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, จิ่วเฉวียน รายงานข่าว ‘จีน’ ช่วย ‘อียิปต์’ ส่งดาวเทียมสำรวจระยะไกลขึ้นสู่วงโคจร จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

รายงานระบุว่า ‘ดาวเทียมมิสร์แซท-2’ (MISRSAT-2) ถูกขนส่งด้วยจรวด ‘ลองมาร์ช-2ซี’ (Long March-2C) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 12.10 น. ตามเวลาปักกิ่ง และจะถูกใช้เพื่อประโยชน์ด้านที่ดินและทรัพยากร การอนุรักษ์น้ำ การเกษตร และอื่นๆ ของอียิปต์

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เผยว่า ดาวเทียมดวงนี้ เป็นโครงการสำคัญของความร่วมมือเชิงลึกระหว่างจีนและอียิปต์ ในด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศขั้นสูง และถือเป็นหมุดหมายสำคัญของความร่วมมือด้านการบินและอวกาศระหว่างสองประเทศ

อนึ่ง การส่งดาวเทียมครั้งนี้นับเป็นภารกิจการบินที่ 499 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช โดยมีดาวเทียมสำรวจระยะไกล ‘สตาร์พูล 02-เอ’ (Starpool 02-A) และ ‘สตาร์พูล 02-บี’ (Starpool 02-B) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงเวลาเดียวกัน

‘จีน’ ปล่อย ‘ลองมาร์ช-2ดี’ ส่งดาวเทียมสำรวจสู่อวกาศสำเร็จ นับเป็นการบินครั้งที่ 500 ของจรวดขนส่งในตระกูลลองมาร์

(10 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ซีชาง รายงานว่า จีนปล่อยจรวดขนส่ง ‘ลองมาร์ช-2ดี’ (Long March2D) ซึ่งขนส่งดาวเทียมสำรวจระยะไกลดวงหนึ่งขึ้นสู่อวกาศ

‘จรวดลองมาร์ช-2ดี’ ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ ตอน 09.58 น. (ตามเวลาปักกิ่ง) และส่งดาวเทียม ‘เหยาก่าน-39’ (Yaogan-39) เข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ การขนส่งดาวเทียมดังกล่าวนับเป็นภารกิจการบินครั้งที่ 500 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top