Wednesday, 26 June 2024
ดาวเทียม

GISTDA จับมือ สำนักงานฯ นโยบายที่ดินแห่งชาติ ใช้ข้อมูลจากอวกาศช่วยชุมชนจัดการที่ดินทำกิน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและแผน ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ณ ห้องวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลแปลงที่ดินในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนผ่านการจัดทำระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อให้มีภูมิสารสนเทศ (Geo- Informatics) ที่มีความพร้อมสำหรับใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ ตลอดจนใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองหน่วยงาน

การนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในครั้งนี้จะเน้นการใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมากของประเทศไทยมาสนับสนุนในการจัดทำแผนที่ในโครงการ one map รวมถึงจะมีการบูรณาการข้อมูลจากดาวเทียมดวงอื่นของหน่วยงานพันธมิตรมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดิน และติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากข้อมูลดาวเทียมมีคุณสมบัติในการจำแนก วิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นโลก สามารถแยกแยะการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดให้มีระบบภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังช่วยติดตามความเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามแนวทางของนโยบายของรัฐบาล 

MOU ในวันนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างกัน หลังจากที่ปัจจุบัน สคทช. และ GISTDA อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ คทช. นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานอย่างเป็นทางการ เพื่อยกระดับการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงพื้นที่จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงจากการลงทุนของประเทศไทย เนื่องจากการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของ สคทช. ทั้งการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) การพิสูจน์สิทธิในเขตที่ดินของรัฐ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ต้องอาศัยการมีข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ ซึ่ง สคทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ GISTDA มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสำหรับเป็นฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชัน Dragonfly ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางแผนและบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ คทช. ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนถึงจำหน่ายผลผลิตอย่างครบวงจร

ดาวเทียมฝีมือคนไทย ‘THEOS-2’ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ และถือเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ไทย หลังจากดาวเทียม ‘THEOS-2’ ทะยานขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ ท่ามกลางความตื่นเต้นและยินดีของผู้คนที่จับตามองทั่วทั้งโลก 

สำหรับดาวเทียมสำรวจโลก หรือ ดาวเทียม ‘THEOS-2’ (Thailand Earth Observation Satellite 2) เป็นโครงการของหน่วยงาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเป็นรุ่นพัฒนาต่อยอดมาจาก ดาวเทียม THEOS-1 หรือ ไทยโชต (Thaichote) ที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การพัฒนาดาวเทียม ‘THEOS-2’ เพื่อใช้เป็นดาวเทียมทรัพยากรดวงใหม่ที่ยกระดับเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศในทุก ๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

นอกจากนี้ ดาวเทียม ‘THEOS-2’ ยังเป็นเทคโนโลยีดาวเทียมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย และถือเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade ที่วิศวกรดาวเทียมไทยได้มีส่วนสำคัญในการออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศอีกด้วย

สำหรับคุณประโยชน์ของดาวเทียมดวงนี้ก็มีอยู่หลายด้านด้วยกัน ได้แก่

1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ปริมาณพื้นที่ป่าที่เคยมีและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าที่เกิดขึ้นว่ามีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ในพื้นที่ไหนบ้าง และประเทศไทยควรมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

2. ด้านการจัดการภัยพิบัติ เพื่อส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง และ PM 2.5 สามารถวางแผนความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์และทันท่วงที

3. ด้านการจัดการเกษตร เพื่อติดตามและคาดการณ์การปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและราคาพืชผล รวมถึงการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของพืช เพื่อการใส่ปุ๋ยที่แม่นยำ หรือการแก้ปัญหาการระบาดของแมลงและโรคพืช เป็นต้น

4. ด้านการแบ่งปันข้อมูล โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าของข้อมูล ที่แบ่งปันกันได้ทั้งในแวดวงวิชาการ แวดวงธุรกิจ และความมั่นคง ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ภาครัฐเท่านั้นแต่ยังรวมถึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการเทคโนโลยีอวกาศทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

5. ด้านการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยที่สนใจในด้านวิทยาศาสตร์และอยากทำงานสายวิทยาศาสตร์ โดย GISDA ได้วางแผนระยะยาว เรื่องการส่งเสริมบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘SpaceX’ ลุยส่ง ‘ดาวเทียม’ ชุดแรกขึ้นวงโคจร หวังส่งสัญญาณโทรศัพท์มาสู่สมาร์ทโฟนโดยตรง

(4 ม.ค. 67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ โพสต์ข้อความ ‘SpaceX’ ส่งดาวเทียมชุดแรกขึ้นสู่วงโคจร เพื่อเตรียมส่งสัญญาณโทรศัพท์สู่สมาร์ทโฟนโดยตรง โดยมีเนื้อหาดังนี้…

T-Mobile บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในสหรัฐฯ ประกาศว่าจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ได้ส่งดาวเทียม 6 ดวง ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งเป็นดาวเทียมชุดแรกที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณโทรศัพท์ตรงสู่พื้นโลกไปที่อุปกรณ์สมาร์ทโฟน

เป้าหมายคือการเชื่อมต่อผู้ใช้งานแบบ Direct to Cell (D2C) ให้ได้ทุกที่ในโลก แม้อยู่ในจุดที่ไม่มีสัญญาณ โดยนอกจาก T-Mobile แล้ว SpaceX ยังร่วมทดสอบบริการนี้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์อีก 6 ราย ใน 6 ประเทศ ได้แก่ Optus (ออสเตรเลีย), Rogers (แคนาดา), One NZ (นิวซีแลนด์), KDDI (ญี่ปุ่น), Salt (สวิตเซอร์แลนด์) และ Entel (ชิลี)

D2C ในช่วงแรกจะทดสอบด้วยการส่งข้อความตัวหนังสือก่อน จากนั้นจึงขยายมาทดสอบบริการคุยเสียง และการรับส่งข้อมูล ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ด้าน ‘Elon Musk’ CEO ของ SpaceX ให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน X ของเขาว่า การส่งลำแสงจากดาวเทียมแต่ละครั้งรองรับข้อมูลประมาณ 7Mb ทำให้เป็นทางออกที่ดีในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แต่ยังห่างไกลจากการเป็นคู่แข่งผู้ให้บริการเครือข่ายภาคพื้น

‘จีน’ ส่งดาวเทียม ‘Long March-5 Y7’ สู่วงโคจรสำเร็จ สานต่อการทดลอง-พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูง

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 67 สำนักข่าวซินหัว, เหวินชาง รายงานข่าวว่า จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมทดลองเทคโนโลยีการสื่อสาร จากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของประเทศขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เมื่อช่วงค่ำของวันศุกร์ที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ‘จรวดขนส่งลองมาร์ช-5 วาย7’ (Long March-5 Y7) นำส่งดาวเทียมข้างต้นสู่วงโคจรที่กำหนดไว้ โดยดาวเทียมดวงนี้จะถูกใช้ทดลองเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูง และหลายย่านความถี่เป็นหลัก ส่วนการส่งดาวเทียมครั้งนี้นับเป็นภารกิจที่ 509 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช

อนึ่ง ‘ลองมาร์ช-5’ เป็นจรวดขนส่งแบบอุณหภูมิต่ำขนาดใหญ่ที่สุดที่ใช้งานในจีน พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งประเทศจีน ตัวแกนหลักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไฮโดรเจน-ออกซิเจนวายเอฟ-77 (YF -77) 2 ตัว และเครื่องยนต์ออกซิเจนเหลวและน้ำมันก๊าดวายเอฟ-100 (YF-100) 8 ตัว พร้อมแรงขับทะยานมากกว่า 1,000 ตัน

‘โหลวลู่เลี่ยง’ รองหัวหน้านักออกแบบ กล่าวว่า ปีนี้มีแนวโน้มปล่อยจรวดขนส่งลองมาร์ช-5 ราว 4-5 ครั้ง และจะรักษาความถี่นี้ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าต่อไป

‘จีน’ ทดสอบการสื่อสาร ‘ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2’ สำเร็จ หนุนเพิ่มขีดความสามารถสำรวจ ‘ดวงจันทร์’ ในอนาคต

(12 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนรายงานว่า ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 (Queqiao-2) ได้เสร็จสิ้นการทดสอบการสื่อสารในวงโคจรเมื่อไม่นานนี้ โดยแพลตฟอร์มและอุปกรณ์บนดาวเทียมสามารถทำงานเป็นปกติ

ทั้งนี้ องค์การฯ ระบุว่า การทำงานและประสิทธิภาพของดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 เป็นไปตามข้อกำหนดของภารกิจ และสามารถให้บริการการสื่อสารสำหรับระยะที่ 4 ของโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน และภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีนและประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 ประสบความสำเร็จในการทดสอบการสื่อสารกับยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 (Chang’e-4) ซึ่งปัจจุบันกำลังทำภารกิจสำรวจบนด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. และดำเนินการทดสอบการสื่อสารกับยานฉางเอ๋อ-6 ซึ่งยังอยู่บนโลก เมื่อวันที่ 8-9 เม.ย.

อนึ่ง ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. หลังจากปรับทิศทางการโคจร หยุดอยู่ใกล้ดวงจันทร์ และเคลื่อนตัวในวงโคจรรอบดวงจันทร์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top