ดาวเทียมฝีมือคนไทย ‘THEOS-2’ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ และถือเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ไทย หลังจากดาวเทียม ‘THEOS-2’ ทะยานขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ ท่ามกลางความตื่นเต้นและยินดีของผู้คนที่จับตามองทั่วทั้งโลก 

สำหรับดาวเทียมสำรวจโลก หรือ ดาวเทียม ‘THEOS-2’ (Thailand Earth Observation Satellite 2) เป็นโครงการของหน่วยงาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเป็นรุ่นพัฒนาต่อยอดมาจาก ดาวเทียม THEOS-1 หรือ ไทยโชต (Thaichote) ที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การพัฒนาดาวเทียม ‘THEOS-2’ เพื่อใช้เป็นดาวเทียมทรัพยากรดวงใหม่ที่ยกระดับเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศในทุก ๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

นอกจากนี้ ดาวเทียม ‘THEOS-2’ ยังเป็นเทคโนโลยีดาวเทียมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย และถือเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade ที่วิศวกรดาวเทียมไทยได้มีส่วนสำคัญในการออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศอีกด้วย

สำหรับคุณประโยชน์ของดาวเทียมดวงนี้ก็มีอยู่หลายด้านด้วยกัน ได้แก่

1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ปริมาณพื้นที่ป่าที่เคยมีและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าที่เกิดขึ้นว่ามีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ในพื้นที่ไหนบ้าง และประเทศไทยควรมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

2. ด้านการจัดการภัยพิบัติ เพื่อส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง และ PM 2.5 สามารถวางแผนความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์และทันท่วงที

3. ด้านการจัดการเกษตร เพื่อติดตามและคาดการณ์การปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและราคาพืชผล รวมถึงการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของพืช เพื่อการใส่ปุ๋ยที่แม่นยำ หรือการแก้ปัญหาการระบาดของแมลงและโรคพืช เป็นต้น

4. ด้านการแบ่งปันข้อมูล โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าของข้อมูล ที่แบ่งปันกันได้ทั้งในแวดวงวิชาการ แวดวงธุรกิจ และความมั่นคง ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ภาครัฐเท่านั้นแต่ยังรวมถึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการเทคโนโลยีอวกาศทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

5. ด้านการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยที่สนใจในด้านวิทยาศาสตร์และอยากทำงานสายวิทยาศาสตร์ โดย GISDA ได้วางแผนระยะยาว เรื่องการส่งเสริมบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ