Wednesday, 3 July 2024
ดาวศุกร์

คืนที่ดาวครองฟ้า!! ชวนดูปรากฏการณ์ 'ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี' เมื่อ 'เทวีแห่งความรัก' เคียงคู่ 'ครูของปวงเทวดา'

ห้วงท้องฟ้าดาราศาสตร์ไทยในระหว่างหัวค่ำวันที่ 1-3 มีนาคม พ.ศ. 2566 นี้ จะเกิดมีปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม 'ดาวศุกร์' เคียง 'ดาวพฤหัสบดี' ทางทิศตะวันตก อวดความสวยงามของวัตถุท้องฟ้าดังกล่าว ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณสองทุ่ม สว่างเด่นสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT เผยแพร่องค์ความรู้ผ่านเพจเฟสบุ๊ก @NARITpage มีเนื้อหาโดยย่อว่า "...ช่วงวันที่ 1 ถึง 3 มีนาคม 2566 จะเกิดปรากฏการณ์ 'ดาวเคราะห์ชุมนุม' ดาวศุกร์ปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ทางทิศตะวันตกบริเวณกลุ่มดาวปลาคู่ (Pisces) หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่เหนือดาวศุกร์ ห่างประมาณ 0.8 องศา  จากนั้นวันที่ 2 มีนาคม 2566 ดาวศุกร์จะเปลี่ยนตำแหน่งมาปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 0.6 องศา และในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่เหนือดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 1.4 องศา และค่อย ๆ ทำมุมห่างออกจากกันมากขึ้นหลังจากนี้"

'ดาวศุกร์' (Venus) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในลำดับที่ 2 ชื่อละตินของดาวศุกร์ Venus (วีนัส) ยืมมาจาก 'เทพีแห่งความรัก' ของโรมัน โดยชาวบาบิโลนโบราณรู้จักดาวศุกร์มาตั้งแต่ราว 1,600 ปีก่อนคริสตกาล แต่ด้วยความสว่างสุกใสของดาวศุกร์ จึงเชื่อว่าดาวศุกร์น่าจะเป็นที่รู้จักมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์แทนดาวศุกร์ คือ ♀ หรือสัญลักษณ์แทนสตรีเพศนั่นเอง

‘NARIT’ ชวนดู ‘ดาวศุกร์’ ช่วง 1-3 ทุ่ม 10 ก.ค.นี้ ชี้ ส่องสว่างที่สุดในรอบปี สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า

(10 ก.ค. 66) เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความเรื่อง ‘10 กรกฎาคมนี้ ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี’ ช่วงหัวค่ำ ระบุว่า วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ‘ดาวศุกร์สว่างที่สุด’ ครั้งแรกของปีนี้ ปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันตก ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 19:00 ถึง 21:09 น. สังเกตด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ คาดว่ามีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12)

เมื่อ #สังเกตดาวศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ นอกจากนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวยังมีดาวเรกูลัสเคียงดาวอังคารปรากฏเหนือดาวศุกร์ขึ้นไปอีกด้วย หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดีสามารถชมได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนทั่วประเทศ

#ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) คือช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ จึงปรากฏสว่างมากบนท้องฟ้า สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

การที่เราเห็น #ดาวศุกร์เป็นเสี้ยวอยู่เสมอ เนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ โคจรรอบดวงอาทิตย์ใกล้กว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฏสว่างเต็มดวง เมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์ ดังนั้น คนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก

ทั้งนี้ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า ‘ดาวประจำเมือง’ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า ‘ดาวประกายพรึก’ ในปี 2566 นี้ ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ช่วงหัวค่ำ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 21:09 น. และ ครั้งที่ 2 ช่วงเช้ามืด ในวันที่ 18 กันยายน 2566 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03:25 น. จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า

‘NARIT’ โชว์ภาพ ‘ดาวศุกร์’ ช่วงเช้าก่อนรุ่งสาง สว่างที่สุดเป็นครั้งที่ 2 และครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้

(18 ก.ย.66) เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า…

ดาวศุกร์ หรือ ดาวประกายพรึก รุ่งเช้าวันนี้ครับ สวยงามและสว่างมาก 18 กันยายน 2566 ช่วงเช้าก่อนรุ่งสาง ดาวศุกร์ ปรากฏสว่างที่สุดครั้งที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้ ทางใต้ฟ้าดี #ทีมสงขลา เก็บภาพมาให้ชมกันครับ สว่างสวยงามมากกก ในขณะที่หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องเลย ที่ไหนมองเห็นบ้างครับมาแชร์กันได้

ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม อาจมีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก และขนาดปรากฏที่ลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า ‘ดาวประจำเมือง’ แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นคนไทยจะเรียกว่า ‘ดาวประกายพรึก’

ปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 10 มกราคม 2568 ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top