คืนที่ดาวครองฟ้า!! ชวนดูปรากฏการณ์ 'ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี' เมื่อ 'เทวีแห่งความรัก' เคียงคู่ 'ครูของปวงเทวดา'

ห้วงท้องฟ้าดาราศาสตร์ไทยในระหว่างหัวค่ำวันที่ 1-3 มีนาคม พ.ศ. 2566 นี้ จะเกิดมีปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม 'ดาวศุกร์' เคียง 'ดาวพฤหัสบดี' ทางทิศตะวันตก อวดความสวยงามของวัตถุท้องฟ้าดังกล่าว ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณสองทุ่ม สว่างเด่นสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT เผยแพร่องค์ความรู้ผ่านเพจเฟสบุ๊ก @NARITpage มีเนื้อหาโดยย่อว่า "...ช่วงวันที่ 1 ถึง 3 มีนาคม 2566 จะเกิดปรากฏการณ์ 'ดาวเคราะห์ชุมนุม' ดาวศุกร์ปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ทางทิศตะวันตกบริเวณกลุ่มดาวปลาคู่ (Pisces) หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่เหนือดาวศุกร์ ห่างประมาณ 0.8 องศา  จากนั้นวันที่ 2 มีนาคม 2566 ดาวศุกร์จะเปลี่ยนตำแหน่งมาปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 0.6 องศา และในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่เหนือดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 1.4 องศา และค่อย ๆ ทำมุมห่างออกจากกันมากขึ้นหลังจากนี้"

'ดาวศุกร์' (Venus) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในลำดับที่ 2 ชื่อละตินของดาวศุกร์ Venus (วีนัส) ยืมมาจาก 'เทพีแห่งความรัก' ของโรมัน โดยชาวบาบิโลนโบราณรู้จักดาวศุกร์มาตั้งแต่ราว 1,600 ปีก่อนคริสตกาล แต่ด้วยความสว่างสุกใสของดาวศุกร์ จึงเชื่อว่าดาวศุกร์น่าจะเป็นที่รู้จักมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์แทนดาวศุกร์ คือ ♀ หรือสัญลักษณ์แทนสตรีเพศนั่นเอง

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์หินซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโลก จนหลายครั้งถูกเรียกว่า 'น้องสาว' ของโลก แม้วงโคจรของดาวเคราะห์เกือบทุกดวงจะเป็นวงรี แต่วงโคจรของดาวศุกร์จัดว่า 'เกือบเป็นวงกลม' โดยมีความเยื้องศูนย์กลาง (ความรี) น้อยที่สุด ประกอบกับการที่มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์กว่าโลก เราจึงมองเห็นดาวศุกร์ได้เฉพาะยามเช้ามืดหรือหัวค่ำเท่านั้น หากขณะปรากฏในท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตก จะเรียกว่า 'ดาวประจำเมือง' และเมื่อปรากฏเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออก จะเรียกว่า 'ดาวประกายพรึก' หรือ 'ดาวรุ่ง'

ทางด้าน 'ดาวพฤหัสบดี' ดาวเคราะห์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบสุริยะจักรวาล มีขนาดใหญ่กว่าโลก 11 เท่า! หมุนรอบตัวเองใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง แต่กลับโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลานาน 12 ปี และยังมีดวงจันทร์เป็นบริวารถึง 79 ดวง

ดาวพฤหัสบดีมีลักษณะเป็น 'ดาวแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียม' สีส้มแดง เอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีสอดคล้องกับความเชื่อทางฮินดูคติเทวะ คือ 'พระพฤหัสบดี' หรือ 'พฤหสฺปติ' ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่ง พระพฤหัสบดีถูกสร้างขึ้นมาจากพระศิวะทรงนำฤๅษี ๑๙ ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเหลืองส้ม ประพรมด้วยน้ำอมฤต แล้วเสกได้เป็นพระพฤหัสบดี มีพระวรกายสีส้มทอง ประจำอยู่ทิศตะวันตก นับถือกันในฐานะ 'ครูของเทวดาทั้งหลาย' (เทวคุรุ, เทวาจารย์) ดังนั้นไทยเราจึงนิยมทำพิธีไหว้ครูตรงวันพฤหัสบดี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ 'ดาวเคราะห์ชุมนุม' ครั้งนี้อีกว่า "...หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไป ปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี  ดังนั้น การที่ดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์"

ผู้สนใจชมปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถสังเกตเห็นได้โดยง่าย เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองมีความสว่างโดดเด่นมากบนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ


เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์

ที่มา: https://www.facebook.com/100064816535612/posts/575177767986103/?flite=scwspnss