Thursday, 24 April 2025
TodaySpecial

23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ‘Airport Rail Link’ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เชื่อม 'พญาไท-สุวรรณภูมิ' ด้วยเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Airport Rail Link) หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบพิเศษ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยปัจจุบันต้นสถานีของ ARL คือ ‘พญาไท’ และปลายสถานี คือ ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ โดยใช้ระยะเวลาการเดินทาง 25 นาที

โดยในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘AERA1’ (เอราวัน) ภายใต้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่มซี.พี. และพันธมิตร จากผู้รับสัมปทานรายเดิม คือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ในอนาคต ‘รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์’ จะมีการรวมรถไฟฟ้าสายนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา โดยใช้เส้น Airport Rail Link เดิมเป็นส่วนต่อขยาย โดยแนวเส้นทางส่วนที่ต่อขยายคือ สถานีพญาไท เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ- รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน และจะเชื่อมต่อไปยังสถานีดอนเมือง

ทั้งนี้ หากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน ระยะเวลาที่ใช้เดินทางจาก สถานีพญาไทไปสนามบินดอนเมืองจะใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การเดินทางสู่สองสนามบินเป็นเรื่องง่ายดาย ทั้งลดระยะเวลาการเดินทางและมีความสะดวกสบายที่มากขึ้น

24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

หากย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

ประกาศราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

จึงทรงพระราชดำริว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

25 สิงหาคม พ.ศ. 2375 ‘นิวยอร์กซัน’ รายงานข่าวหลอกลวง จนหนังสือพิมพ์ขายดีเทน้ำเทท่า หลังอ้างพบสิ่งมีชีวิตบน ‘ดวงจันทร์’ หนักสุด!! มนุษย์มีปีกบินได้

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2375 หนังสือพิมพ์ ‘นิวยอร์กซัน’ ที่ออกในเมืองแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา ได้สร้างความตื่นตะลึงให้คนอ่าน โดยเริ่มลงบทความการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ อ้างว่า ‘เซอร์ จอห์น เฮอร์เซล’ นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ไปส่องกล้องโทรทัศน์ขนาดมหึมาดูดวงจันทร์ที่แหลมกู๊ดโฮป พบสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้น ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงลงบทความเรื่องนี้ติดต่อกันถึง 6 ตอน

ทั้งนี้ บทความดังกล่าวได้บรรยายว่า ได้พบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ นอกจากมีมหาสมุทร ชายหาด ต้นไม้ และเทวสถาน มีอารยธรรมเกิดขึ้นแล้ว ยังมีสัตว์ อย่าง แพะ วัวไบซัน หนูยักษ์บีเวอร์ ยูนิคอร์นซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานของกรีก และสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ แต่มีปีกเหมือนค้างคาว สามารถบินได้ พร้อมกับเขียนภาพที่เห็นจากกล้องนี้มาประกอบเรื่อง

เมื่อมีคนตื่นเต้นข่าวนี้มาก ต่างก็สนใจติดตามหลักฐานของเรื่องมากขึ้น เดอะซันเลยต้องจบลงด้วยการอ้างว่า เนื่องจากเลนส์มหึมาที่ใช้ดูดวงจันทร์จนเห็นทะลุปรุโปร่งนี้ พอเจอแสงอาทิตย์เข้า เลนส์ก็รวมแสงทำให้เกิดไฟไหม้หอสังเกตการณ์จนมอดไปหมด

ถึงแม้ต่อมาคนจำนวนมากจะรู้ว่าข่าวนี้เป็นเรื่อง ‘แหกตา’ แต่ยอดขายของ นสพ.เดอะซันก็ยังครองอันดับสูงตลอดมาเพราะข่าวนี้ แสดงว่าคนเราแม้จะรู้ว่าเป็นข่าวปลอม ข่าวเท็จ ก็ยังสนใจมากกว่าข่าวจริง

นี่เป็นข่าวลวงหรือข่าวปลอมเมื่อ 192 ปีก่อน เดี๋ยวนี้มนุษย์ฉลาดขึ้นแต่ก่อนมาก ข่าวประเภทนี้น่าจะหมดยุคไปได้แล้ว เพราะหลอกคนฉลาดไม่ได้ แต่กลับตรงกันข้าม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในขณะนี้ กลับเกลื่อนไปด้วยข่าวลวง ข่าวปลอม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการล้อเลียน เสียดสี หรือเพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดความเชื่อ และเป็นการสร้างรายได้ จนเห็นอยู่เป็นประจำและทำกันเป็นขบวนการ

ได้อ่านบทความพิเศษเรื่อง ‘Fake News ข่าวลวง ข่าวปลอม’ ของ มานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ได้กล่าวถึงข่าวลวง ข่าวปลอมที่แพร่ระบาดอยู่ในสื่อออนไลน์อย่างยากต่อการแยกแยะ ส่งผลกระทบต่อบุคคลในด้านความคิด ความเชื่อ อารมณ์ และความรู้สึก ที่น่าวิตกคือ ข่าวลวง ข่าวปลอม แพร่ได้เร็วและกว้างขวางกว่าข่าวจริงถึง 100 เท่า อาจจะเป็นเพราะน่าตื่นเต้นเร้าใจกว่า

ในบทความนี้ยังได้นำข่าวลวง ข่าวปลอมทั้งของไทยและต่างประเทศมากล่าวไว้หลายเรื่อง อย่างเช่น

ระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 31 กรกฎาคม 2563 ที่มีการเริ่มระบาดของโควิด-19 นั้น พบข่าวลวงมากกว่า 19,008 ข้อความ ทั้งช่วงก่อนและหลังมีมาตรการปิดเมือง ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด อันอาจเป็นผลเสียต่อชีวิต

หรือภาพที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินถือพระพุทธรูป แล้วบอกว่า ประธานาธิบดีรัสเซียเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธแล้ว ความจริงเป็นภาพทหารเรือคนหนึ่งถือพระพุทธรูป แต่เปลี่ยนเอาปูตินมาแทนทหารเรือ เจตนาสร้างข่าวปลอมขึ้นอย่างชัดเจน

ข่าวที่ประเทศอิตาลีกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ความเป็นจริงแค่รับรองว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาหนึ่งในบรรดาศาสนาทั้งหลายที่มีผู้นับถือเท่านั้น

คราวที่มี ‘ข่าวเสือดำ’ โด่งดัง ก็มีภาพรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยกมือไหว้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเศรษฐีใหญ่อย่างนอบน้อม แล้วบรรยายภาพว่า ‘งานนี้รอดแหง๋ๆ’ ทำให้มีการก่นด่าตำรวจกันอย่างถล่มทลาย แต่ต่อมาก็มีคลิปวิดีโอให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการรับไหว้ตามปกติธรรมดาของคนไทยเท่านั้น

นอกจากนั้น ในสื่อออนไลน์ยังเนืองแน่นไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ชวนให้เสียเงินมากมาย อย่างไฟฉายชนิดหนึ่งกระบอกสั้น ๆ แต่อธิบายสรรพคุณราวกับส่องไปถึงดาวอังคาร หรือกระทะทำอาหารจากเกาหลียี่ห้อหนึ่ง บอกว่าไม่มีขายในประเทศผู้ผลิต ส่งมาให้คนไทยใช้โดยเฉพาะ ทำอะไรก็น่ากินไปทุกอย่างเหมือนอาหารทิพย์

ส่วนในอเมริกาที่อ้างว่าเป็นแบบอย่างประชาธิปไตย พยายามจะให้ทั้งโลกเป็นแบบตัว ก็สร้างแบบอย่างที่ดีงามไว้ไม่ใช่ย่อย เป็นที่เปิดเผยว่า ในการชิงชัยระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับ นางฮิลลารี คลินตัน ทรัมป์เห็นว่าแม้จะหาเสียงด้วยการพูดจริงบ้างเท็จบ้างคะแนนก็ยังเป็นรองนางฮิลารี อีกทั้งสื่อหลักที่จ้างไว้เชียร์ คนก็ไม่ค่อยเชื่อถือแล้ว จึงใช้นักสร้างข่าวปลอมรายหนึ่ง มีชื่อว่า นายคาเมรอน แฮร์ริส เป็นบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ไปซื้อเว็บไซต์เก่า ๆ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาสร้างข่าว fake news ปล่อยข่าวแรกว่าเป็นข่าวด่วน พบบัตรลงคะแนนปลอมให้ฮิลลารีหลายแสนใบในโกดังเก็บของที่รัฐโอไฮโอ พร้อมอุปโลกน์ช่างรับจ้างทั่วไปรายหนึ่งเป็นผู้เข้าไปพบ มีภาพประกอบคนยืนอยู่ข้างกล่องใส่บัตรเลือกตั้งด้วย แต่ความจริงเอาภาพนี้มาจากหนังสือพิมพ์ที่เมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ คนละเรื่องกันเลย สร้างข่าวเท็จกระหึ่มไปทั่ว แม้วันรุ่งขึ้น กกต.รัฐโอไฮโอจะรีบเข้าไปตรวจโกดังแล้วปฏิเสธว่าข่าวนี้ไม่มีความจริง ก็สายไปแล้ว มีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก

แม้ในครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ แพ้ โจ ไบเดน ในวันที่ไบเดนสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ก็ไม่ยอมไปร่วมตามประเพณี ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ มีเอกสารที่ประทับตราประธานาธิบดี มีลายมือปลอมของทรัมป์แพร่ไปตามสื่อทั่วโลก มีข้อความบรรทัดเดียวว่า ‘โจ คุณก็รู้ว่าผมชนะ’ เป็นทำนองว่าแพ้เพราะถูกโกง เป็นข่าวปลอมบันลือโลกอีกชิ้นหนึ่ง

นี่คือการเมืองแบบอเมริกัน…

ข่าวปลอมได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสังคมมากขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และอินเทอร์เน็ตทำให้การสร้างข่าวปลอมทำได้ง่าย เผยแพร่ได้รวดเร็ว และมีผู้คอยรับสารอยู่ตลอดเวลา นักวิจัยจาก MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา) พบว่า ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 100 เท่า

ส่วนในประเทศไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ของ อสมท. พบว่า ตลอดปี 2559 สามารถเก็บข้อมูลได้ว่า มีข่าวปลอมกว่า 300 หัวข้อ แต่ละหัวข้อมีการไลก์และแชร์บนเฟซบุ๊กรวมกันอยู่ในหลักแสน

จากการสำรวจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. พบว่า ในปี 2561 คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึงวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที และเชื่อถือข้อมูลที่ได้รับทางโซเชียลมีเดียร้อยละ 40 นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้อ่านที่ค่อนข้างสูงอายุเป็นกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้เพิ่งจะเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตตอนอายุมากแล้ว ไม่ทันยุคทันสมัย ขาดความรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่คิดว่าภาพ เสียง และวิดีโอสมัยนี้ตัดต่อให้ดูเสมือนจริงได้ และเชื่อโดยสนิทใจว่าข่าวทุกข่าวที่นำเสนอได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว โดยไม่ทันคิดว่าจะมีผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวปลอมขึ้นเพื่อหลอกลวง

ที่น่าห่วงอย่างยิ่งในเรื่องข่าวลวง ข่าวปลอมก็คือ เยาวชนของไทยเข้าถึงโลกออนไลน์เร็วเกินไป จากการสำรวจของมูลนิธิสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาของไทยเปิดรับสื่อออนไลน์ถึงวันละ 6-8 ชั่วโมง ใช้เพื่อการศึกษา 61% เพื่อเล่นเกม ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น 39% และผู้ปกครองส่วนใหญ่อนุญาตให้บุตรหลานใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบเท่านั้น ผลการศึกษาของ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้ประเมินสมรรถภาพของนักเรียนอายุ 15 ปี จาก 77 ประเทศทั่วโลก พบว่า ความสามารถในการรับมือกับ fake news ของเด็กไทยอยู่ในลำดับที่ต่ำมาก เป็นลำดับที่ 76 โดยมีเด็กอินโดนีเซียรั้งท้าย ส่วนความสามารถเด็กในการรับมือกับ fake news ประเทศที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

นี่คือเรื่องน่าเป็นห่วงของข่าวลวง ข่าวปลอม

26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ‘ในหลวง ร.7’ ทรงอภิเษกสมรส กับ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ พร้อมมีการ 'จดทะเบียนสมรส-แจกของชำร่วย’ เป็นครั้งแรกในสยาม

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้นำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ มีพิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม และมีการพระราชทานของชำร่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเป็นแม่แบบพิธีแต่งงานของไทยที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็น ‘พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม’

หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461 ความตอนหนึ่งว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรําไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แล้ว…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น ‘ผู้สู่ขอตกแต่ง’ และ ‘ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน’ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน รวม 12 พระองค์

นับว่าเป็น ‘ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์’ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาร่วมงาน และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น ‘ของชำร่วยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม’

30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดเป็น ‘วันผู้สูญหายสากล’ รำลึกถึงเหตุการณ์ ‘บังคับสูญหาย-อุ้มหาย’ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์และตระหนักถึงสถานการณ์การบังคับสูญหายหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ การบังคับให้สูญหาย หรือที่เรารู้จักทั่วไปว่า ‘การอุ้มหาย’ ถูกพิจารณาเป็น ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง’ และถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CPED) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้กำหนดนิยามของ ‘การอุ้มหาย’ ไว้ว่า หมายถึง การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

การบังคับให้สูญหายมักถูกใช้เป็นกลยุทธ์สร้างความหวาดกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ได้แก่ สิทธิในการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิต่อครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย เช่น สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ อันเกิดจากการที่ขาดบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ สิทธิในการมีสุขภาพดี เนื่องจากความวิตกกังวล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CPED) เมื่อปี 2555 แต่การลงนามดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนของประเทศไทย ได้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองทุกคนมิให้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายอีกต่อไป

29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ‘ตึกมหานคร’ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ อดีตแชมป์ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในประเทศไทย

รู้หรือไม่? วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ตึกที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศ (ระหว่างปีพ.ศ. 2559-2561) หรือ ‘ตึกมหาคร’ ถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการวันแรก และในเวลาต่อมาถูกทำลายสถิติในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561 โดยอาคารแมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสสิเดนซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการไอคอนสยาม ด้วยความสูง 317.95 เมตร

จึงทำให้ปัจจุบันตึกมหาครแห่งนี้ เป็นตึกที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยความสูง 314.2 เมตร

สำหรับตึกมหานคร หรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘คิง เพาเวอร์ มหานคร’ เป็นตึกที่ประกอบไปด้วยส่วนโรงแรม ร้านค้า และส่วนห้องชุดสำหรับพักอาศัย ในส่วนของชั้นตั้งแต่ 74-78 ขึ้นไปเป็นที่ตั้งของภัตตาคาร มหานครแบงค็อกสกายบาร์ และมหานครสกายวอล์ก จุดชมทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกโค่นอันดับอาคารสูงที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว แต่ความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ที่มีลักษณะแหว่งเสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้น 3 มิติ หรือพิกเซล ก็ทำให้ตึกมหานคร กลายเป็นภาพจดจำอย่างหนึ่งของคนกรุงเทพฯ เช่นกัน

27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ภูเขาไฟ ‘กรากาตัว’ ในอินโดนีเซียระเบิดครั้งรุนแรงที่สุด เกิดเสียงดังกึกก้องไกลถึงออสเตรเลีย คร่าชีวิตกว่า 3.6 หมื่นคน

ภูเขาไฟ ‘กรากาตัว’ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะชวา และเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเซีย บนแนววงแหวนแห่งไฟ ภูเขาไฟแห่งนี้เคยระเบิดครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2426 โดยเริ่มจากการระเบิดรุนแรงในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 แต่เหตุการณ์ก็สงบ แม้จะมีการระเบิดในระดับไม่รุนแรงอีกหลายครั้งซึ่งไม่มีใครคิดว่านี้เป็นสัญญานเตือนภัย…

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง และการระเบิดระดับกลางติดต่อกันอีกหลายครั้ง และในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ก็เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เถ้าถ่านจำนวนหลายล้านตันบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิด เสียงระเบิดดังกึกก้องไปไกลถึงออสเตรเลีย ผลจากการระเบิดยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงกว่า 30 เมตร ซากปะการัง, เศษหิน และวัสดุต่าง ๆ ประมาณ 600 ตัน ถูกคลื่นหอบขึ้นฝั่ง มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ประมาณ 36,000 คน

>> ความรุนแรงครั้งนั้นส่งผลกระทบไปไกลเพียงใด

ในประเทศไทยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพขณะดำรงพระยศเป็น ‘พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร’ ทรงบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ใน ‘ประวัติอาจารย์’ (พระนิพนธ์ประวัติของพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ (อ่อน โกมลวรรธนะ) ซึ่งเคยเป็น เจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ) ขณะนั้นพระองค์ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และประทับที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน อยุธยา ว่า…

“เมื่อเดือนสิงหาคมจะเป็นวันใดข้าพเจ้าไม่ได้จดไว้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ 27 จนถึงวันที่ 30 เวลาบ่าย ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ตำหนักได้ยินเสียงดังเหมือนยิงปืนใหญ่ไกลหลายนัด นึกในใจว่าคงยิงสลุตรับแขกเมืองที่เข้ามากรุงเทพฯ ครั้นเวลาเย็นลงไปนั่งเล่นที่สะพานท่าน้ำตามเคย ไปพูดขึ้นกับพระที่อยู่มาก่อน ท่านบอกว่าที่วัดนิเวศน์ฯ ไม่เคยได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นการสำคัญก็ไม่ค้นหาเหตุผลต่อไป

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เห็นแสงแดดเป็นสีเขียวตลอดวัน คนทั้งหลายพากันพิศวงทั่วไปในท้องถิ่น ที่ตื่นตกใจก็มี แต่ในวันต่อมาก็กลับเป็นปกติตามเดิม เป็นหลายวันจึงทราบข่าวว่าภูเขาไฟระเบิดที่เกาะกระกะเตา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา คนตายหลายหมื่น เสียงภูเขาไฟระเบิดและไอที่ออกบังแสงแดด ทั้งละลอกน้ำในท้องทะเลแผ่ไปถึงนานาประเทศ ไกลกว่าที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน”

28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 วันก่อตั้ง ‘โตโยต้า’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น สู่ก้าวสำคัญแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่ทั่วโลกต่างรู้จัก

แบรนด์รถยนต์อันดับต้น ๆ ที่ครองใจคนไทยและทั่วโลกปฏิเสธไม่ได้เลยว่าย่อมมีชื่อของ ‘โตโยต้า’ (Toyota) อยู่ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนทราบหรือไม่ว่า วันนี้เมื่อ 87 ปีก่อน หรือวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คือวันก่อตั้ง ‘โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน’ บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการก่อตั้งโดย ‘คิอิจิโร โทโยดะ’

โตโยต้า มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโทโยตะ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพนักงานในเครือบริษัททั่วโลกรวมแล้วกว่า 338,875 คน และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 12 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกวัดตามรายได้ และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 เป็นต้นมา โตโยต้ายังเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วัดตามจำนวนคันผลิต) แซงหน้า ‘โฟล์กสวาเกน กรุ๊ป’ และ ‘เจเนรัลมอเตอร์’ ซึ่งในปีนั้นโตโยต้ารายงานว่าได้ผลิตรถยนต์คันที่ 200 ล้าน นับแต่ก่อตั้งบริษัท 

นอกจากนี้ โตโยต้ายังเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีกำลังการผลิตรถยนต์เกิน 10 ล้านคันต่อปี และยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทุนญี่ปุ่นที่ใหญ่และมีรายได้มากที่สุดของญี่ปุ่น ห่างจากอันดับสองคือ SoftBank กว่าสามเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน เป็นการแตกบริษัทออกมาจาก ‘โตโยต้า อินดรัสทรีส์’ ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดย ‘ซากิจิ โทโยดะ’ ซึ่ง 3 ปีก่อนหน้าในปีพ.ศ. 2477 ในช่วงที่ยังเป็นแผนกหนึ่งในโตโยต้า อินดรัสทรีส์ โตโยต้าก็ได้ผลิตสินค้าอย่างแรกเป็นของตนเองคือ เครื่องยนต์ Type A และในปีพ.ศ. 2479 ก็ได้ทำการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันแรกคือ Toyota AA ในปัจจุบัน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ผลิตรถยนต์ภายใต้ 5 เครื่องหมายการค้า อันประกอบด้วย Toyota, Hino, Lexus, Ranz และ Scion และยังถือหุ้น 51.2% ในไดฮัทสุ, ถือหุ้น 16.66% ในฟุจิเฮวี่อินดรัสทรีส์, ถือหุ้น 5.9% ในอีซูซุ และ ถือหุ้น 0.27% ในเทสลา

รวมทั้งยังดำเนินกิจการร่วมค้าผลิตรถยนต์กับอีกสองบริษัทในจีน (GAC Toyota และ Sichuan FAW Toyota Motor), กับหนึ่งบริษัทในอินเดีย (Toyota Kirloskar), กับหนึ่งบริษัทในสาธารณรัฐเช็ค (TPCA) และบริษัทผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่อื่น ๆ อีกมากมาย

31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ‘เจ้าหญิงไดอานา’ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ สิ้นพระชนม์ ในวัย 36 ปี สร้างความเศร้าโศกแก่ประชาชนชาวอังกฤษ และชาวโลกต่อเหตุการณ์นี้

‘เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ มีพระนามเดิมว่า ‘ไดอานา ฟรานเซส’ สกุลเดิม ‘สเปนเซอร์’ เป็นพระชายาองค์แรกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์

โดย ไดอานา ถือกำเนิดในตระกูลขุนนางที่สืบทอดเชื้อสายจากราชวงศ์อังกฤษในสมัยกลางและทรงเป็นญาติห่าง ๆ กับ แอนน์ บุลิน เป็นบุตรีคนที่ 3 ของพระชนกจอห์น สเปนเซอร์ ไวเคานต์อัลธอร์พ และพระชนนีฟรานเซส โรช ในวัยเด็กไดอานาพักอาศัยที่คฤหาสน์พาร์กเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน ตำหนักซานดริงแฮม ไดอานาเข้าศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษ และต่อมาได้เข้าศึกษาต่อช่วงเวลาสั้น ๆ ที่โรงเรียนการเรือน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะอายุได้ 14 ปี ไดอานาได้รับบรรดาศักดิ์ ‘เลดี’ เมื่อบิดาสืบทอดฐานันดรศักดิ์ เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ เธอเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเป็นเข้าพิธีหมั้นหมายกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ใน พ.ศ. 2524

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างไดอานา สเปนเซอร์ และเจ้าชายแห่งเวลส์ จัดขึ้น ณ อาสนวิหารนักบุญเปาโล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 โดยมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีและมีผู้รับชมทางโทรทัศน์มากกว่า 750 ล้านคนทั่วโลก ไดอานาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ดัชเชสแห่งรอธเซย์ และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ หลังจากพระราชพิธีอภิเษกสมรสได้ไม่นานก็มีพระประสูติการเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสพระองค์แรก และเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสพระองค์ที่สองในอีก 2 ปีถัดมา ทั้งสองพระองค์อยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ในระหว่างที่ทรงดำรงพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกปฏิบัติพระกรณียกิจมากมายแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมทั้งเสด็จเยือนต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอ พระกรณียกิจที่สำคัญในบั้นปลายพระชนม์ชีพ คือ การรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด นอกจากนี้ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการและมูลนิธิอื่น ๆ มากกว่าหลายร้อยแห่งจนถึง พ.ศ. 2539 

ตลอดพระชนม์ชีพของไดอานา ทั้งก่อนอภิเษกสมรสและภายหลังหย่าร้าง สื่อมวลชนทั่วโลกต่างเกาะติดชีวิตของไดอานาและนำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพระองค์อยู่ตลอดเวลา และพระองค์ทรงหย่าขาดจากพระสวามีในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2539 

จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ภายหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ภายในอุโมงค์ทางลอดสะพานปองต์เดอลัลมา กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดดี ฟาเยด เพื่อนชายคนสนิท และอ็องรี ปอล คนขับรถ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ เทรเวอร์ รีส์-โจนส์ ผู้ทำหน้าที่องครักษ์ 

ขบวนช่างภาพปาปารัสซีที่ติดตามไดอานาตกเป็นจำเลยสังคมทันที เนื่องจากมีการนำเสนอข่าวว่าช่างภาพปาปารัสซีเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ แต่การสืบสวนของหน่วยงานยุติธรรมของฝรั่งเศสซึ่งใช้เวลานานกว่า 18 เดือน สรุปผลว่า นายอ็องรี ปอล อยู่ในอาการมึนเมาขณะขับรถยนต์และไม่สามารถควบคุมรถซึ่งขับมาด้วยความเร็วสูงได้ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในคืนนั้น อ็องรี ปอล นั้นเป็นรองหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยโรงแรมริตซ์ และก่อนเกิดอุบัติเหตุเขาได้ท้าทายกลุ่มช่างภาพปาปารัสซีที่คอยอยู่หน้าโรงแรม เจ้าหน้าที่นิติเวชยังตรวจพบยาต้านอาการทางจิต และยาต้านโรคซึมเศร้าในตัวอย่างเลือดของอ็องรี ปอล และอีกหนึ่งข้อสรุปก็คือ กลุ่มช่างภาพปาปารัสซีไม่ได้อยู่ใกล้รถเบนซ์ในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 โมฮัมเหม็ด ฟาเยด บิดาของโดดี และเจ้าของโรงแรมริทซ์ กล่าวอ้างว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในคืนนั้นเป็นแผนลอบสังหาร ซึ่งปฏิบัติการโดยหน่วยสืบราชการลับ MI6 ตามคำพระบัญชาของพระราชวงศ์ แต่คำกล่าวอ้างของโมฮัมเหม็ดขัดแย้งกับผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส และปฏิบัติการแพเจต ของตำรวจนครบาลอังกฤษ พ.ศ. 2549

2 ตุลาคม พ.ศ. 2550 มีการเบิกความคดีการสิ้นพระชนม์อีกครั้งหนึ่งโดยผู้พิพากษา สกอต เบเกอร์ ณ ศาลอุทธรณ์ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีต่อเนื่องมาจากครั้งแรกใน พ.ศ. 2547

7 เมษายน พ.ศ. 2551 คณะลูกขุนแถลงคำตัดสินปิดคดีว่า การสิ้นพระชนม์ของไดอานาและการเสียชีวิตของโดดีเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของอ็องรี ปอล และความประมาทอย่างร้ายแรงกลุ่มช่างภาพปาปารัสซีที่ไล่ติดตาม นอกจากนี้คณะลูกขุนยังระบุถึงปัจจัยอื่นเพิ่มเติมที่มีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ 1) คนขับรถบกพร่องในการตัดสินใจเนื่องจากตกอยู่ภายใต้ฤทธิ์แอลกอฮอล์ 2) ข้อเท็จจริงที่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยอาจเป็นเหตุหรือมีส่วนทำให้ถึงแก่ความตาย 3) ข้อเท็จจริงที่รถเบนซ์พุ่งชนตอม่อภายในถนนลอดอุโมงค์สะพานปองต์เดอลัลมา และไม่ได้พุ่งชนวัตถุหรือสิ่งอื่นใด

1 กันยายน ของทุกปี รำลึกถึง ‘สืบ นาคะเสถียร’ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้เสียสละเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกต่อปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

หากกล่าวถึงเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตนด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ นั่นคือ ‘สืบ นาคะเสถียร’ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 โดยเขาได้เขียนข้อความในจดหมายไว้ว่า ‘ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น’

หลังจากนั้นวันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสืบ นาคะเสถียร เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และที่สำคัญเพื่อให้ทุกคนหวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์สืบต่อมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบันครบรอบ 34 ปี ที่ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ได้จากโลกนี้ไป

สำหรับประวัติของ สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า ‘สืบยศ’ เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม โดยสืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ซึ่งสืบเป็นบุตรชายคนโต สำหรับชีวิตส่วนตัว สืบได้สมรสกับนางนิสา นาคะเสถียร มีทายาท 1 คน คือ น.ส.ชินรัตน์ นาคะเสถียร

ด้านการศึกษาเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

เมื่อเรียนจบสืบสามารถสอบเข้าทำงานที่กรมป่าไม้ได้ แต่เขาเลือกทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี

ต่อมาในปีพ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทอีกครั้ง ในสาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก British Council โดยสืบสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ.  2524


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top