Thursday, 24 April 2025
TodaySpecial

13 สิงหาคม พ.ศ. 2536 โศกนาฏกรรม ‘โรงแรมรอยัลพลาซ่า’ จ.โคราช พังถล่ม หนึ่งในภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย

‘โรงแรมรอยัลพลาซ่า’ เป็นโรงแรมขนาด 6 ชั้นในจังหวัดนครราชสีมา ที่ถล่มลงมาภายในเวลาไม่ถึงสิบวินาที เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536 เวลา 10.12 น. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 137 ราย และบาดเจ็บ 227 ราย โดยอาคารทั้ง 6 ชั้นพังทลายหมด เหลือเพียงโถงลิฟท์โดยสารซึ่งสร้างแยกออกมาจากโครงสร้างอาคารที่เหลือที่ไม่ถล่มลงมาเท่านั้น 

สำหรับสาเหตุเกิดจากการถล่มของโครงสร้างอาคารอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเกิดจากการคืบของดิน จนเสารับน้ำหนักในชั้นดินเกิดถล่มตาม ๆ กันจนหมด อันเป็นผลให้อาคารเกือบทั้งหมดถล่มลงมา ผู้รอดชีวิตบางส่วนได้รับการกู้ภัยหลังติดอยู่ภายใต้ซากอาคารจากการโทรศัพท์มือถือติดต่อ ผลสรุปเหตุการณ์ระบุความผิดเกิดจากการฝ่าฝืนข้อบังคับในการก่อสร้างและความไม่เป็นมืออาชีพของวิศวกรโครงสร้าง 

ภายหลังเหตุการณ์ เจ้าของอาคารและบุคคลอื่นอีก 5 คนถูกตำรวจจับกุม ปฏิบัติการกู้ภัยดำเนินไปเป็นเวลา 20 วัน จนกระทั่งสิ้นสุดในวันที่ 3 กันยายน เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย

9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 สิ้น ‘ยอดรัก สลักใจ’ พระเอกลูกทุ่งไทยตลอดกาล เจ้าของเพลง '30 ยังแจ๋ว' เพลงฮิตที่คนไทยรู้จักกันดี

‘ยอดรัก สลักใจ’ มีชื่อเล่นคือ แอ๊ว เกิดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เป็นบุตร นายบุญธรรม และ นางบ่าย ไพรวัลย์ มีพี่น้อง 8 คน ชาย 7 คน หญิง 1 คน โดยยอดรักเป็นคนสุดท้อง

ยอดรักจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหาดแตงโม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียค่าเล่าเรียน บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยอดรักอายุได้ 7 ขวบ มารดามีฐานะยากจนและมีพี่น้องหลายคน จึงได้ออกเร่ร่อนร้องเพลงที่บาร์รำวง ได้เงินคืนละ 5-10 บาท ได้เงินมาก็หาซื้อหนังสือมาอ่านเอง และเรียนด้วยตนเอง จนกระทั่งได้เรียนที่โรงเรียนถาวรวิทยา อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ และสอบเทียบจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ยอดรักได้มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2534 และศึกษาต่อจนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 ได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.บ.) สาขาศิลปศาสตร์ สายดนตรีและศิลปะ การแสดง วิทยาลัยครูธนบุรี

เมื่อยอดรักยังเด็ก เขาไปสมัครร้องเพลงกับคณะรำวง ‘เกตุน้อยวัฒนา’ ซึ่งได้เงินมาครั้งละ 5 - 10 บาท และต่อมามีโอกาสไปร้องเพลงในห้องอาหารที่ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้ใช้เพลงของไพรวัลย์ ลูกเพชร, ชาย เมืองสิงห์, สุรพล สมบัติเจริญ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ‘เด็ดดวง ดอกรัก’ นักจัดรายการของสถานีวิทยุ ท.อ.04 ตาคลี ได้มาฟังเพลงที่ห้องอาหาร และประทับใจยอดรักที่ร้องเพลง 'ใต้เงาโศก' ของ 'ไพรวัลย์ ลูกเพชร' จึงได้มาชักชวนเข้าสู่วงการ โดยนำมาฝากกับ ‘อาจารย์ ชลธี ธารทอง’ ยอดรักก็ได้อยู่เลี้ยงลูกให้อาจารย์ชลธีเกือบหนึ่งปี และตั้งชื่อให้ว่า ‘ยอดรัก ลูกพิจิตร’ และได้บันทึกแผ่นเสียง 3 เพลงคือ สงกรานต์บ้านนา, น้ำสังข์หลั่งน้ำตาริน, เต่าหมายจันทร์

ต่อมาปี พ.ศ. 2550 ยอดรักถูกตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งตับระยะแรก และได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 01.05 น. ณ โรงพยาบาลพระรามเก้า แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครด้วยวัย 52 ปี พิธีศพของยอดรักได้จัดขึ้นไว้ ณ วัดไร่ขิง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดหาดแตงโม ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

อย่างไรก็ตาม แม้ยอดรัก จะจากไป แต่เขาก็ยังเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง, ลูกกรุง, ป๊อป, บัลลาดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเมืองไทย หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘พระเอกลูกทุ่งไทยตลอดกาล’ มีผลงานที่สร้างชื่อหลากหลายเพลง หรือที่รู้จักกันดี ได้แก่เพลง ‘30 ยังแจ๋ว’

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ ยุติลงอย่างเป็นทางการ หลัง ‘ญี่ปุ่น’ ประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

วันนี้เมื่อ 79 ปีก่อน ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ (หากนับตามเวลาในญี่ปุ่นจะเป็นวันที่ 15) โดย พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกว่าพันปี ที่คนญี่ปุ่นได้ยินเสียงจักรพรรดิของตน) ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ส่งผลให้ฝ่ายญี่ปุ่นบาดเจ็บและเสียชีวิตนับล้านคน บ้านเมืองเสียหายยับเยิน

พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ทรงเรียกร้องให้คณะรัฐบาลญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อรักษาชาติพันธุ์ญี่ปุ่น ให้ยอมรับ ‘ข้อตกลงพอตสดัม’ (Potsdam Declairation) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาโมรุ ชิเกะมึทซึ (Mamoru Shigemitsu) กับ นายพล โยชิจิโร คุเมซุ (Yoshijiro Umezu) ลงนามในสัญญาสงบศึก (Japanese Instrument of Surrender) กับ นายพล แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) ท่ามกลางสักขีพยานจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ บนดาดฟ้าเรือประจัญบาน มิสซูรี (USS Missouri) เหนืออ่าวโตเกียวในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภาพไปทั่วโลกด้วย

15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ‘อร-อุดมพร พลศักดิ์’ คว้าเหรียญทองยกน้ำหนัก ในโอลิมปิก ครั้งที่ 28 นับเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญอันทรงเกียรตินี้ได้

พันโทหญิง อุดมพร พลศักดิ์ หรือชื่อเล่น อร เป็นอดีตนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย และเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของราชอาณาจักรไทย ที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อน โดยได้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 28 ณ กรุงเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ในการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่นไม่เกิน 53 กก. โดยยกในท่าสแนชได้ 97.5 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 125 กก. รวม 222.5 กก. โดยเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิก ในท่าคลีนแอนด์เจิร์กของประเภทนี้ด้วย

ก่อนขึ้นยกน้ำหนักและคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน น้องอรตะโกนคำว่า "สู้โว้ย" ออกมาดัง ๆ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ จนกลายเป็นฉายาประจำตัว และเป็นวลีติดปากคนไทยมาจนปัจจุบัน ซึ่งเวลาผ่านมา 20 ปีเต็มพอดิบพอดี

อุดมพร เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดนครราชสีมา เริ่มเข้ารับการศึกษาในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสวนหม่อน และศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนบุญวัฒนา และโรงเรียนเทพลีลา ก่อนจะมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพจนจบปริญญาตรี

สำหรับในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2003 ที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา อุดมพรทำได้สองเหรียญทอง โดยทำน้ำหนักได้ 100 กก. ในท่าสแนช และ 222.5 กก. ในน้ำหนักรวม

16 สิงหาคม ของทุกปี คนไทยร่วมรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยวันนี้ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันสันติภาพไทย’ ด้วย

‘วันสันติภาพไทย’ คือ วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทย โดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าวด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงคราม (ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484) โดยที่ประเทศไทยประกาศว่าจะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้ ประกาศสันติภาพนี้มีนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงตั้งชื่อถนนภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่เชื่อมระหว่างประตูถนนพระอาทิตย์กับประตูท่าพระจันทร์และผ่านหน้าตึกโดมว่า ถนน 16 สิงหาคม

17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกลางกรุงเทพมหานคร คนร้ายวางระเบิดบริเวณ ‘ศาลท้าวมหาพรหม’ คร่าชีวิต 20 ราย

เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.50 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ในขณะที่เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างปกติ จู่ ๆ ก็เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว บริเวณรอบศาลท้าวมหาพรหม หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 130 คน และมีผู้เสียชีวิต 20 คน เป็นชาวไทย 6 คน และชาวต่างชาติอีก 14 คน

ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนเป้, ชิ้นส่วนลูกเหล็กกลม และชิ้นส่วนของท่อเหล็ก ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชิ้นสำคัญ นั่นคือ ภาพจากกล้องวงจรปิด ยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยเป็นชายใส่เสื้อสีเหลือง

วันต่อมา 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ยังมีระเบิดเกิดขึ้นอีกครั้งบริเวณท่าเรือย่านสาทร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแกะรอยเพิ่มเติม จนเข้าทำการจับกุม นายอาเดม คาราดัก และนายเมียไรลี ยูซุฟู ชายชาวอุยกูร์ พร้อมหลักฐาน อาทิ อุปกรณ์ประกอบระเบิด สารเคมีเอทีพี รวมทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุ

ในเวลาต่อมา ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีกกว่า 17 คน ในจำนวนนั้นมีคนไทยร่วมขบวนการด้วยอยู่สองคน โดยการก่อเหตุรุนแรงถูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องการก่อการร้ายข้ามชาติ แต่ต่อมามีประเด็นเรื่องความขัดแย้งในธุรกิจค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ปัจจุบัน ผ่านมาแล้วกว่า 9 ปี เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ควรเป็นบทเรียนครั้งสำคัญต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในเรื่องการดูแลความปลอดภัย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไป

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 'พสกนิกรไทย' ร่วมส่งเสด็จฯ 'ในหลวง ร.9' พร้อมตะโกนก้อง ขออย่าละทิ้งพวกเขา พระองค์ทรงนึกตอบในใจ “ถ้าปชช.ไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งปชช.อย่างไรได้”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สืบต่อไป

แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

เดิมทีรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แค่ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบรมเชษฐาธิราชเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน แต่ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ที่ทรงจดจำไม่มีวันลืม คือ…

พระราชนิพนธ์บันทึกประจำวันบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ระหว่างวันเสด็จพระราชดำเนิน จากสยามสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คงพอจะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของประชาชน ที่พร้อมใจส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 

“...วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย และขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสียมีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย

พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริง ๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพรได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดัง ๆ เข้าพระกรรณ์ ว่า…”

“ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน...”

พระองค์จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “...ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้...”

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระอิสริยยศ ขณะนั้น) ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก

20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 ประหาร ‘นางล้วน’ นักโทษหญิง คดีฆ่าสามีแล้วเผาทั้งบ้าน ด้วยวิธีการ ‘ตัดศีรษะ’ เป็นรายสุดท้ายของประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 มีการประหารชีวิตนักโทษหญิง ด้วยการตัดศีรษะเป็นครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ที่วัดหนองจอก ริมคลองแสนแสบ อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร)

โดยมีการบันทึกไว้ว่า มีการประหารชีวิตนักโทษหญิง ชื่อ ‘นางล้วน’ ด้วยวิธีตัดหัวเป็นรายสุดท้ายของประเทศไทย แต่เป็นรายสุดท้ายสำหรับผู้หญิง ส่วนรายสุดท้ายที่ถูกประหารด้วยวิธีตัดหัวเป็นผู้ชาย ก็คือนายบุญเพ็ง นักโทษผู้โด่งดัง เจ้าของฉายา ‘บุญเพ็งหีบเหล็ก’ ที่ได้ก่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ฆ่าชิงทรัพย์ตั้งแต่ขณะอยู่ในผ้าเหลือง สุดท้ายถูกประหารที่วัดภาษี คลองตัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2462

สำหรับนางล้วน นักโทษหญิงรายสุดท้ายที่ถูกตัดหัวนั้น ไม่มีเรื่องราวที่พูดถึงกันมากนัก จึงถูกบันทึกไว้เพียงสั้น ๆ ว่า ต้องโทษด้วยข้อหาว่าฆ่าผัวตายแล้วเผาทั้งบ้าน ถูกประหารที่วัดหนองจอก ริมคลองแสนแสบ มีนบุรีหลังจากเพิ่งคลอดลูกในคุกได้เพียง 1 เดือน ก่อนเข้าหลักประหาร นางล้วนได้มีโอกาสให้นมลูกเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่าน้ำวัดหนองจอก ส่วนลูกของนางนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งได้รับไปอุปการะ

21 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 5’ ประกาศใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรกในไทย กำหนด 100 สตางค์เท่ากับ 1 บาท กลายเป็นมาตรฐานเงินบาทในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 156 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการออกประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

โดยก่อนหน้านี้ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ประเทศไทยใช้หน่วยเงินเป็น ทศ พิศ พัดดึงส์ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งถือเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและการแลกเปลี่ยนในการใช้จ่ายต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม 100 สตางค์ มีการกำหนดค่าให้เท่ากับ 1 บาท และนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของหน่วยสากลที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

22 สิงหาคม พ.ศ. 2407 วันก่อตั้ง 'กาชาดสากล' 12 ชาติยุโรปลงนามในอนุสัญญาเจนีวา มุ่งหวังเป็นองค์กรกลาง ช่วยดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม

วันนี้เมื่อ 160 ปีก่อน เป็นวันที่ ‘สภากาชาดสากล’ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากประเทศในยุโรป 12 ชาติ ลงนามในอนุสัญญาเจนีวา

โดยหากย้อนกลับไป ซึ่งก็คือวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2407 อองรี ดูนังต์ (Henri Dunant) นักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการร่างสัญญาฉบับหนึ่งขึ้นมา เพื่อร่วมลงนามกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเป็นจำนวน 12 ประเทศ เพื่อเสนอให้มีการก่อตั้งองค์กรกลางเพื่อดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม ซึ่งถูกเรียกว่า อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ฉบับที่ 1 และเกิดเป็นการก่อตั้ง ‘กาชาดสากล’ ขึ้น

โดยสัญลักษณ์ที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือจะใช้เป็นรูปกากบาทสีแดงบนพื้นที่มีสีขาว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของธงประจำชาติสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง นอกจากนี้ ยังถือเป็นกฎหมายมนุษยธรรมฉบับแรกของโลกอีกด้วย

และด้วยการทำงานขององค์กรกาชาดนี้ ที่เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างดี ส่งผลให้ นายอังรี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2444 อีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top