Sunday, 20 April 2025
TikTok

TikTok กลับมาแล้ว ขอบคุณทรัมป์ พร้อมตั้งบริษัทร่วมทุนถือหุ้น 50%

(20 ม.ค. 68) TikTok ออกแถลงการณ์ว่า กำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูการให้บริการในสหรัฐอเมริกา ตามข้อตกลงกับผู้ให้บริการ หลังจากถูกคำสั่งแบนมีผลบังคับใช้ราว 12 ชั่วโมง พร้อมแสดงความขอบคุณต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มอบความชัดเจนและการรับรองที่จำเป็น เพื่อช่วยให้ TikTok สามารถให้บริการแก่ชาวอเมริกันกว่า 170 ล้านคนได้โดยไม่มีอุปสรรค รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กกว่า 7 ล้านแห่งในประเทศ  

TikTok ระบุเพิ่มเติมว่านี่เป็นการปกป้องสิทธิตามบทบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 (First Amendment) และเป็นการยืนหยัดต่อต้านการเซนเซอร์ที่ไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประธานาธิบดีทรัมป์ในการหาทางออกระยะยาว เพื่อให้ TikTok สามารถดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกาได้อย่างยั่งยืน  

หนึ่งในแนวทางที่ถูกเสนอเพื่อรักษาการดำเนินงานของ TikTok ในสหรัฐฯ คือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ซึ่งจะมีบริษัทสัญชาติอเมริกันถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% โดยขณะนี้มีรายงานว่า ผู้ที่แสดงความสนใจถือหุ้นใน TikTok อาจรวมถึงบุคคลและองค์กรชื่อดัง เช่น อีลอน มัสก์ และบริษัท Amazon  

ทั้งนี้ TikTok ยังคงเดินหน้าหารือและแสวงหาทางเลือกที่จะช่วยรักษาการให้บริการแก่ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ และสนับสนุนการเติบโตของชุมชนธุรกิจต่อไป

Instagram เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่คล้าย TikTok เพิ่มความยาว Reels เป็น 3 นาที พร้อมแอป Edits

(20 ม.ค. 68) อินสตาแกรม (Instagram) ก้าวสู่การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ที่ดูเหมือนจะได้รับแรงบันดาลใจจากคู่แข่งอย่างติ๊กต๊อก (TikTok) โดยเพิ่มความยาวของวิดีโอ Reels เป็น 3 นาที พร้อมทั้งเปิดตัวแอปพลิเคชันตัดต่อวิดีโอใหม่ชื่อ Edits ที่มีลักษณะคล้ายกับแอปยอดนิยมอย่าง CapCut ซึ่งเป็นของบริษัทแม่ติ๊กต๊อก ไบต์แดนซ์ (ByteDance) การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อนาคตของติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ ยังคงคลุมเครือ

อดัม มอสเซอรี ผู้บริหารสูงสุดของอินสตาแกรม เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 มกราคมว่า ทางบริษัทกำลังปรับการแสดงผลของรูปโปรไฟล์จากแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งคล้ายกับรูปโปรไฟล์ในติ๊กต๊อก โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ มอสเซอรียังได้โพสต์ผ่านอินสตาแกรมในวันที่ 18 มกราคม ว่าการเพิ่มความยาววิดีโอ Reels จาก 90 วินาทีเป็น 3 นาที เป็นผลมาจากคำขอของผู้ใช้งานที่ต้องการพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวมากขึ้น “เดิมทีเราจำกัดความยาวของ Reels ไว้ที่ 90 วินาที เพื่อเน้นวิดีโอสั้น แต่เราได้รับฟีดแบ็กจากผู้ใช้ว่าความยาวดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการเล่าเรื่องที่มีรายละเอียดมากขึ้น” มอสเซอรีกล่าว

ในวันที่ 19 มกราคม มอสเซอรีได้กล่าวถึงแอปพลิเคชัน Edits ในวิดีโอบนอินสตาแกรมว่า “เราต้องการสร้างเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนที่ทำวิดีโอ ไม่ใช่แค่เพื่ออินสตาแกรมเท่านั้น แต่รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย” โดยแอปนี้สามารถดาวน์โหลดได้แล้วในแอปสโตร์ แต่จะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์

การเปลี่ยนแปลงของอินสตาแกรมเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ติ๊กต๊อกกำลังเผชิญกับวิกฤตสำคัญ เมื่อคืนวันที่ 20 มกราคม ติ๊กต๊อกและ CapCut ถูกปิดการเข้าถึงในสหรัฐฯ ชั่วคราว ก่อนที่กฎหมายเตรียมแบนแอปจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่กี่ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม แม้ติ๊กต๊อกจะถูกแบนเป็นระยะเวลานาน ผู้ใช้งานก็ไม่ได้เปลี่ยนมาใช้อินสตาแกรมแทนในทันที ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าที่ติ๊กต๊อกจะปิดตัว แอปพลิเคชันทางเลือก เช่น เรดโน้ต (RedNote) และ เสี่ยวหงชู (Xiaohongshu) ซึ่งเป็นแอปจากจีน กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ยอดดาวน์โหลดของอินสตาแกรมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทรัมป์ลงนามคำสั่ง เลื่อนแบน TikTok อีก 75 วัน

(21 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อขยายระยะเวลาบังคับใช้คำสั่งแบนแอปพลิเคชัน TikTok ออกไปอีก 75 วัน จากกำหนดเดิมที่จะมีผลในวันที่ 19 มกราคม  

ตามรายงานจากรอยเตอร์ ทรัมป์ระบุว่า คำสั่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายบริหารของเขามีเวลาเพิ่มเติมในการตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการที่เหมาะสมสำหรับจัดการกับ TikTok โดยเขากล่าวว่า “เราต้องใช้เวลาพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้”  

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมส่งหนังสือถึงบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น แอปเปิ้ล (Apple) กูเกิล (Google) และออราเคิล (Oracle) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ TikTok เพื่อยืนยันว่า การดำเนินการของพวกเขาในช่วงเวลานี้จะไม่ถือว่าละเมิดกฎหมายหรือมีความผิดใด ๆ  

ทรัมป์ยังเสริมว่า การเลื่อนเวลาครั้งนี้ทำให้เขามีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าจะขายกิจการ TikTok ให้กับบริษัทอื่นหรือดำเนินการปิดตัวแอปพลิเคชันนี้ในอนาคต โดยเขาย้ำว่า “ผมต้องเป็นคนตัดสินใจในเรื่องนี้เอง”

'จีน-สหรัฐฯ' ไม่ขัด หากเศรษฐีมะกันซื้อหุ้น TikTok 50% แต่ต้องพร้อมแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐบาล

(22 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขายินดีให้อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดังที่สนับสนุนเขา หรือแลร์รี เอลลิสัน ประธานบริษัท Oracle เข้าซื้อกิจการ TikTok โดยผ่านการร่วมทุนกับรัฐบาลสหรัฐฯ  

ทรัมป์กล่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร (21 ม.ค. 68) ว่า “ผมมีสิทธิ์ที่จะทำข้อตกลงนี้ สิ่งที่ผมจะพูดคือ ซื้อเลย แล้วแบ่งผลประโยชน์ครึ่งหนึ่งให้กับสหรัฐฯ เราจะอนุญาต และคุณก็จะมีพันธมิตรที่ยอดเยี่ยม”  

รายงานจากบลูมเบิร์กระบุว่า TikTok ได้ระงับการให้บริการชั่วคราวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ทรัมป์จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันจันทร์ (20 มกราคม) ซึ่งเป็นวันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เพื่อเลื่อนการแบน TikTok ออกไป 75 วัน  

อย่างไรก็ตาม ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ยังคงปฏิเสธที่จะขายกิจการ แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากคำตัดสินของศาลฎีกาและการปิดตัวชั่วคราวของ TikTok ที่อาจทำให้บริษัทต้องพิจารณาขายใหม่  

ทรัมป์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณมีทรัพย์สินที่อาจไม่มีมูลค่าเลย หรือมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะอนุญาตให้ดำเนินกิจการต่อหรือไม่”  

มีรายงานว่านักลงทุนชาวอเมริกันหลายกลุ่มต่อคิวรอเข้าซื้อกิจการ TikTok รวมถึงเจสซี ทินส์ลีย์ ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี, มิสเตอร์บีสต์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดัง, แฟรงก์ แมคคอร์ต อดีตเจ้าของทีมลอสแอนเจลิสดอดเจอร์ส และเควิน โอเลียรี นักลงทุนจากรายการ Shark Tank 

ท่าทีของทรัมป์สอดคล้องกับทางปักกิ่งโดยเว็บไซต์เซาธ์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า จีนไม่ขวางการซื้อกิจการ แต่ควรเป็นเรื่องที่บริษัทต่างๆ ตัดสินใจเองอย่างอิสระ  

เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า “เรายึดมั่นว่าการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทควรเป็นไปตามหลักการตลาดอย่างเสรี และหากบริษัทจีนมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของจีน”  

โฆษกจีนยังชี้ให้เห็นว่า TikTok ได้ดำเนินกิจการในสหรัฐฯ มาเป็นเวลาหลายปี และได้รับความนิยมจากผู้ใช้ชาวอเมริกัน พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ จัดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติสำหรับธุรกิจจากทุกประเทศ  

แจกโบนัส 1.7 แสน ดึงครีเอเตอร์ทิ้ง 'TikTok' มาร่วมเฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม

เมื่อวันที่ (21 ม.ค. 68) เมตา (Meta) ประกาศแผนการแจกโบนัสด้วยเป้าหมายดึงดูดใจนักสร้างเนื้อหาออนไลน์ ซึ่งเรียกกันว่า “ครีเอเตอร์” (creator)  จากติ๊กต็อก (TikTok)

รายงานระบุว่าครีเอเตอร์จากติ๊กต็อกที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์จะได้รับโบนัสสูงถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 แสนบาท) ในระยะเวลา 3 เดือน สำหรับการโพสต์รีล (Reel) หรือคลิปวิดีโอสั้นบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

นอกจากนั้นครีเอเตอร์จากติ๊กต็อกเหล่านี้ยังจะเข้าถึงโปรแกรมสร้างรายได้จากคอนเทนต์บนเฟซบุ๊ก (Facebook Content Monetization) ซึ่งช่วยให้มีรายได้จากการโพสต์วิดีโอ รูปภาพ และข้อความบนเฟซบุ๊ก

ขณะเดียวกันเมตาจะมอบข้อเสนอด้านเนื้อหาแก่ครีเอเตอร์จากติ๊กต็อกบางส่วนเพื่อช่วยพวกเขาเพิ่มจำนวนผู้ชมบนอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ทั้งยังจะปรับปรุงรูปแบบของรีลให้ดึงดูดใจครีเอเตอร์จากติ๊กต็อกมากขึ้นด้วย

อนึ่ง เมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อชะลอการแบนติ๊กต็อกเป็นระยะเวลา 75 วัน และแจ้งกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ไม่ให้บังคับใช้บทลงโทษของการแบน

อย่างไรก็ดี แอปพลิเคชันติ๊กต็อกยังคงไม่ได้กลับมาอยู่ในร้านค้าแอปพลิเคชันของแอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google)

การเมืองโลกในมือ Elon Musk : ชายผู้สร้างระเบียบใหม่ด้วยวิสัยทัศน์แห่ง ‘Tony Stark’ สร้างนวัตกรรม!! การใช้เทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนแปลง เกมการเมืองระดับโลก

(26 ม.ค. 68) ในยุคที่ระเบียบโลกเดิมกำลังสั่นคลอน แนวคิดใหม่ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี ความเป็นผู้นำ และการปรับโครงสร้างประชากรกำลังก้าวขึ้นมาแทนที่ ในศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ Elon Musk ผู้ถูกขนานนามว่า "Tony Stark ในชีวิตจริง" ด้วยความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกมการเมืองระดับโลก

การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก: จากเสรีนิยมสู่ประชานิยม

ยุคที่เสรีนิยมครองโลกกำลังถูกท้าทายจากแนวคิดประชานิยมและชาตินิยมที่กลับมามีบทบาทอีกครั้ง Musk ไม่ใช่แค่ผู้นำทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการเมืองของฝ่ายขวาในโลกตะวันตก เขาได้แสดงการสนับสนุนต่อ Donald Trump และความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายขวาในยุโรป เช่น พรรค Alternative für Deutschland (AfD) ในเยอรมนี ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม X (ชื่อเดิม Twitter) ซึ่ง Musk เป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ Musk ยังใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อสนับสนุน "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" ซึ่งช่วยให้เสียงของฝ่ายขวาโดดเด่นขึ้นในเวทีการเมืองโลก ขณะเดียวกัน แนวคิดนี้ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้แนวคิดเสรีนิยมดั้งเดิมเริ่มเสื่อมถอยลง

ประชากรศาสตร์: กุญแจสำคัญในระเบียบโลกใหม่

Musk เน้นว่าการแก้ปัญหาประชากรโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เขาสนับสนุนนโยบายที่กระตุ้นอัตราการเกิด เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ครอบครัวที่มีลูก ขณะเดียวกัน Musk ยังเคยวิพากษ์แนวคิด "Woke Culture" ที่รวมถึงประเด็น LGBTQ+ ว่าอาจส่งผลทางอ้อมต่อการลดลงของอัตราการเกิด

แนวคิดของ Musk คือการผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมครอบครัวและสร้างโครงสร้างประชากรที่มั่นคง เพื่อสร้างรากฐานสำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

การรุกสู่ TikTok: ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ และโอกาสของ Elon Musk

สถานการณ์ของ TikTok ในสหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมยอดนิยมที่มีเจ้าของคือ ByteDance บริษัทสัญชาติจีน ได้เผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกแบนในสหรัฐฯ เนื่องจากข้อกังวลด้านความมั่นคง

ล่าสุด ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้กำหนดเส้นตายให้ ByteDance ต้องขายกิจการในสหรัฐฯ ภายในเดือนมกราคม 2025 หากไม่ปฏิบัติตาม TikTok จะถูกแบนจากตลาดอเมริกา ท่ามกลางสถานการณ์นี้ มีการคาดการณ์ว่า Elon Musk อาจเป็นผู้ซื้อ TikTok เพื่อหลีกเลี่ยงการแบน ข้อมูลจากรายงานยังระบุว่า จีนเองก็กำลังพิจารณาขายกิจการ TikTok ให้กับ Musk หรือบุคคลสำคัญอื่นๆ เช่น Larry Ellison เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแพลตฟอร์มในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า Musk ได้มีการเสนอซื้อ TikTok แต่นี่คือสัญญาณชัดเจนถึงบทบาทของ Musk ในการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางเทคโนโลยีและการเมือง

เทคโนโลยี: เครื่องมือเปลี่ยนเกมการเมือง

นวัตกรรมที่ Musk สร้างขึ้น เช่น ดาวเทียม Starlink หรือโครงการยานอวกาศ SpaceX ไม่ได้มีแค่บทบาทด้านเทคโนโลยี แต่ยังส่งผลต่อการเมืองโลกโดยตรง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการใช้ Starlink ในสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งช่วยให้การสื่อสารยังคงดำเนินต่อได้ในพื้นที่สงคราม

เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงศักยภาพของ Musk ในฐานะนักนวัตกรรม แต่ยังสะท้อนถึงความสามารถของเขาในการสร้างผลกระทบต่อระเบียบโลก

การวางรากฐานระเบียบใหม่

Elon Musk ไม่ใช่แค่นักนวัตกรรม แต่เขาคือผู้วางแผนระเบียบโลกใหม่ที่เน้นการรวมพลังของประชากร เทคโนโลยี และการเมือง การสนับสนุนของเขาต่อแนวคิดประชานิยมและการท้าทายเสรีนิยมทำให้ระเบียบโลกเก่ากำลังถูกเขย่า ขณะเดียวกัน เขาได้สร้างภาพลักษณ์ของผู้นำที่ไม่เพียงแค่แก้ปัญหา แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืน

บทสรุป
Elon Musk ไม่ได้เป็นเพียง ‘Tony Stark’ ของโลกเทคโนโลยี แต่ยังเป็นสถาปนิกแห่งระเบียบโลกใหม่ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากแนวคิดที่เน้นการปรับโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนสมดุลอำนาจทางการเมือง และการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง Musk กำลังเขียนอนาคตของโลกด้วยมือของเขาเอง

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวลงทุน 1.7 แสนล้านบาท เผย TikTok เตรียมสร้าง Data Center มูลค่า 126,790 ลบ.

(29 ม.ค.68) บอร์ดบีโอไอ ชิงจังหวะเร่งเครื่องต่อเนื่อง ประเดิมปี 68 อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท บิ๊กโปรเจกต์ TikTok และ Siam AI ทุ่มทุนปักหลักโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล – AI ในไทย พร้อมเดินหน้าส่งเสริมกิจการเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) และนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ เร่งขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ ดึงลงทุนปี 2568 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนัดแรกของปี 2568 ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการสำคัญ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วยกิจการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Data Hosting ของบริษัทในเครือ TikTok Pte. Ltd. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์ยอดนิยม โดยจะลงทุนติดตั้ง Server และอุปกรณ์ต่าง ๆ ใน Data Center ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุนรวม 126,790 ล้านบาท และกิจการ AI Cloud Service ของบริษัท สยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ได้รับเลือกให้เป็น NVIDIA Cloud Partner (NCP) จะตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีและปทุมธานี มูลค่าลงทุนรวม 3,250 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการลงทุนผลิตโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่าลงทุนรวม 40,400 ล้านบาท

“ปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่าง Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย รวม 16 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะมีบริษัทชั้นนำระดับโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI รวมทั้งการจัดเก็บและประมวลผล Big Data การลงทุนของทั้งสองโครงการนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็น Digital Hub ของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

ดึงศักยภาพการเกษตร - หนุนลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพ

นอกจากนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศมากขึ้น บอร์ดบีโอไอ ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้

1. เปิดส่งเสริม 'กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)' ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตร เศษวัสดุหรือของเสียจากการเกษตร เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานระหว่างประเทศ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และ 'กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนแบบผสม' ซึ่งจะนำ SAF มาผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (JET Fuel) เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทันที โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

2. ปรับปรุงกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ให้เป็น “กิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ” เพื่อให้มีขอบข่ายธุรกิจที่กว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งด้านเกษตร อาหาร พลังงานทดแทน และบริการสนับสนุน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนปี 2568 มุ่งสู่ Hub 5 ด้าน

บอร์ดบีโอไอ ยังได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนปี 2568  โดยมุ่งยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคใน 5 ด้านสำคัญที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง ได้แก่ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้าน BCG (Bio-Circular-Green Industries Hub) ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Tech Hub) ซึ่งจะครอบคลุมหลายสาขา เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล  ศูนย์รวมบุคลากรทักษะสูงจากทั่วโลก (Talent Hub) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และธุรกิจระหว่างประเทศ (Logistics & International Business Hub) และศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Soft Power and Creative Hub)

นายนฤตม์ กล่าวว่า สถานการณ์ความผันผวนของโลก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการช่วงชิงฐานการลงทุน บีโอไอจึงได้มีแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และพร้อมรับกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแผนดำเนินงาน 5 ด้านสำคัญ ดังนี้

1) เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งดึงดูดการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย อุตสาหกรรม BCG, ยานยนต์ไฟฟ้า (xEV), เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง, ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยการบูรณาการผ่านคณะกรรมการระดับชาติ ทั้งบอร์ดอีวี บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ และคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ด้านซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน และเตรียมขยายสำนักงานบีโอไอเพิ่มอีก 2 แห่งที่นครเฉิงตู ประเทศจีน และสิงคโปร์

2) ยกระดับผู้ประกอบการไทย และสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs และสร้างโอกาสในการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศ และการจัดกิจกรรมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม

3) พัฒนาบุคลากรทักษะสูง โดยบีโอไอทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภาคเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะด้าน Semiconductor, PCB, ดิจิทัล และ AI ทั้งการจัดทำ Roadmap ที่ชัดเจนและการกำหนดมาตรการสนับสนุน นอกจากนี้ จะดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ ผ่านมาตรการ LTR Visa และSmart Visa รวมทั้งการขยายการให้บริการของศูนย์ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศการลงทุน โดยส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและดิจิทัลที่สำคัญเพื่อรองรับการลงทุน พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาและเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการลงทุน และพัฒนาเครื่องมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Global Minimum Tax) ร่วมกับกระทรวงการคลัง

5) การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมยั่งยืน ด้วยการเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การรีไซเคิล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อการลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ บีโอไอจะทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการออกแบบกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งกลไก Utility Green Tariff (UGT) และการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA)

ไม่ง้อ TikTok โดนแบน? จีนดัน RedNote แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขึ้นแท่น

​จากประเด็นการแบน TikTok ในสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจนนำมาถึงการหยุดใช้งานชั่วคราว ผู้ใช้งานจำนวนมากจึงต้องพากันมองหาแอปพลิเคชันทางเลือกใหม่เพื่อมาทดแทน จนทำให้วันที่ 14 มกราคม 2025 RedNote กลายเป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดบน App Store ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก นี่ถือเป็นการข้ามวัฒนธรรมครั้งสำคัญของแพลตฟอร์มที่เคยเป็นแค่ของจีน แต่กำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก

​RedNote (หรือที่รู้จักในชื่อ Xiaohongshu ในประเทศจีน) กำลังกลายเป็นแพลตฟอร์มยอดฮิต และมันไม่ใช่แค่กระแสชั่วคราว แต่มันคือการปฏิวัติวงการ แม้ TikTok จะครองพื้นที่ข่าว แต่ RedNote กลับค่อยๆ สร้างอาณาจักรของตัวเอง โดยผสมผสานเนื้อหาไลฟ์สไตล์ อีคอมเมิร์ซ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบที่สดใหม่และน่าดึงดูด Rednote ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดยผู้ร่วมก่อตั้ง Miranda Qu และ Charlwin Mao โดยเริ่มต้นจากแอปเล็กๆ ที่ให้ผู้ใช้งานแชร์คำแนะนำเกี่ยวกับการช็อปปิ้ง แต่ปัจจุบันได้เติบโตเป็นแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่มีผู้ใช้งานกว่า 300 ล้านคนต่อเดือน ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ RedNote ก็คือส่วนผสมระหว่าง Instagram, Pinterest และ Amazon ที่ทุกโพสต์เหมือนเป็นคำแนะนำพิเศษ และทุกการเลื่อนหน้าจอก็มักจะให้แรงบันดาลใจใหม่ๆ เสมอ Rednote สร้างความแตกต่างด้วยการเชื่อมโยงผู้คนผ่านเนื้อหาที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเคล็ดลับแฟชั่นและความงาม ไดอารี่การเดินทาง หรือรีวิวสูตรอาหาร มันเป็นการเล่าเรื่องราวของผู้ใช้งาน การแบ่งปันความคิดเห็นที่จริงใจเกี่ยวกับสินค้า ประสบการณ์ส่วนตัว ความน่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือการผสมผสานระบบอีคอมเมิร์ซเข้าไปในแอป ผู้ใช้งานไม่เพียงแต่เห็นสินค้าที่ชอบ แต่ยังสามารถซื้อได้ทันทีภายในแอป สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งที่รวดเร็วและน่าพึงพอใจ

​การเติบโตของ RedNote ไม่ได้สะท้อนแค่ในจำนวนผู้ใช้งาน แต่ยังรวมถึงมูลค่าทางการเงินอีกด้วย ณ เดือนกรกฎาคม 2024 บริษัทมีมูลค่าประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่สำคัญในวงการโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ การประเมินมูลค่านี้ยังสะท้อนถึงความสำเร็จของแพลตฟอร์มในการเปลี่ยนเนื้อหาให้เป็นรายได้ ดึงดูดการลงทุนมหาศาลจากยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent

​ส่วน RedNote จะล้ม TikTok ได้หรือไม่ยังคงเป็นคำถามอยู่ค่ะ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ มันไม่ใช่แค่แอปธรรมดา แต่มันคือแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงวัฒนธรรม กำหนดรูปแบบโซเชียลคอมเมิร์ซใหม่ และนำเสนอสิ่งที่แตกต่างในตลาดที่แออัด สำหรับอินฟลูเอนเซอร์ แบรนด์ และผู้ใช้งานทั่วไป มันคือสนามเด็กเล่นใหม่ที่น่าตื่นเต้นและควรลองสัมผัสประสบการณ์นี้ค่ะ

TikTokกลับมาแล้ว!! ดาวน์โหลดได้อีกครั้งในสหรัฐฯ หลังถูกถอดออกจากแอปสโตร์

(14 ก.พ.68) หลังจากที่ถูกถอดออกจากแอปสโตร์ของแอปเปิ้ล (Apple) และเพลย์สโตร์ของกูเกิล (Google) เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ติ๊กต๊อก (TikTok) ได้กลับมาพร้อมให้ดาวน์โหลดอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่แอปถูกถอดออกตามการบังคับใช้กฎหมายห้ามแอปจากจีนที่ได้รับการอนุมัติเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม อนาคตของติ๊กต๊อกยังไม่ชัดเจน เนื่องจากกฎหมายที่บังคับให้ไบต์แดนซ์ (ByteDance) เจ้าของแอปต้องขายกิจการเพื่อตอบสนองข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา

แต่แล้วการกลับมาของติ๊กต๊อกเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลื่อนการบังคับใช้คำสั่งห้ามดังกล่าว โดยในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ผู้นำสหรัฐฯ ลงนามขยายเวลาบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวออกไปอีก 75 วัน จนถึงวันที่ 5 เมษายน

แม้ติ๊กต๊อกจะถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งสองแห่งนานเกือบเดือน แต่ข้อมูลจากคลาวด์แฟลร์ (Cloudflare Radar) ระบุว่าแอปสามารถฟื้นคืนยอดการเข้าชมได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้

‘ผู้ว่าฯ นครพนม’ เป็นงง!! เจอ ‘TikTok’ ปลอม ลั่น!! ยังรักกันดีกับภรรยา รบกวนช่วยรายงานให้ด้วย

(22 ก.พ. 68) นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม โพสต์ข้อความระบุว่า ...

แจ้งข่าว TikTok ปลอม  

ผมกับภรรยายังรักกันดีอยู่ ยังไม่ได้เลิกกันนะครับ

เคยเจอแต่ Facebook และ Line ปลอม คราวนี้เจอ TikTok ปลอม รบกวนเพื่อน ๆ ช่วยรายงานให้ด้วยครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top