กฟผ. กับภารกิจรักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ด้วยหัวใจของทีมผู้เชี่ยวชาญและนักประดาน้ำ
(2 ก.ค.68) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่เพียงแต่มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งต่อพลังงานสู่บ้านเรือนและภาคเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่เบื้องหลังพลังงานเหล่านี้ ยังเต็มไปด้วยภารกิจที่ท้าทาย และทีมงานที่ทุ่มเทดูแล 'เขื่อน' ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด
เพราะเขื่อนไม่ใช่แค่ที่เก็บน้ำ...
เขื่อนไม่ใช่เพียงแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในด้านชลประทาน การเกษตร อุปโภคบริโภค หรือการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงสร้างที่มีผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานโดยตรง น้ำที่ระบายจากเขื่อนเป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้คนไทยใช้ทุกวัน
ดังนั้น ความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยของเขื่อน จึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญของ กฟผ. ซึ่งแบ่งหน้าที่ตรวจสอบออกเป็นหลายด้าน ทั้งบนบก ใต้ดิน และใต้น้ำ
ตรวจสอบแม่นยำด้วยเทคโนโลยี
การตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนแต่ละแห่ง ดำเนินการอย่างเป็นระบบ เช่น ที่เขื่อนศรีนครินทร์ ทีมผู้เชี่ยวชาญจะเริ่มตรวจด้วยสายตา โดยการเดินสำรวจแนวหินถมบนสันเขื่อน ซึ่งสูงกว่า 140 เมตร เพื่อดูการทรุดตัวของแนวหินและสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงเข้าสู่การตรวจสอบทางเทคนิคด้วยระบบฐานข้อมูล DS-RMS (Dam Safety – Remote Monitoring System) ระบบนี้สามารถวัดพฤติกรรมเขื่อนได้แบบเรียลไทม์ โดยจะเก็บข้อมูลจากเครื่องมือต่าง ๆ ที่ติดตั้งไว้ทั้งในตัวเขื่อนและบริเวณโดยรอบ แล้วแสดงผลออกมาเป็นกราฟ โดยสามารถตรวจสอบครอบคลุมทั้งสภาวะปกติ สภาวะแผ่นดินไหว และสภาวะน้ำหลาก โดยแบ่งสถานะความปลอดภัยเป็น 3 ระดับ คือ
• ปกติ
• แจ้งเตือน
• เฝ้าระวัง
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ทีมวิศวกรสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำว่าควรเข้าดำเนินการหรือไม่
ภารกิจใต้ดินในอุโมงค์ความมั่นคง
นอกจากภายนอกเขื่อนแล้ว ภายในก็ต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดเช่นกัน โดยเฉพาะ 'อุโมงค์ตรวจสอบเขื่อน' ซึ่งเป็นพื้นที่อับอากาศ มีความชื้นสูง และบางจุดมีความแคบมาก เช่น ที่เขื่อนศรีนครินทร์ มีความกว้างของรากฐานกว่า 586 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องลงบันไดชันที่สูงเทียบเท่าตึก 15 ชั้น และต่อด้วยบันไดเวียนอีกกว่า 250 ขั้น
ภารกิจนี้ไม่เพียงแต่ใช้ความแข็งแรงทางร่างกาย แต่ยังต้องมีความละเอียดและชำนาญสูง เพื่อสำรวจสภาพคอนกรีตและโครงสร้างภายในอย่างละเอียดที่สุด
เบื้องหลังใต้น้ำ : ทีม 'นักประดาน้ำ กฟผ.'
ภารกิจสำคัญอีกด้านที่ไม่อาจมองข้าม ก็คือ 'งานใต้น้ำ' ซึ่งต้องพึ่งพาทีมนักประดาน้ำ กฟผ. โดยตรง ซึ่งนักประดาน้ำ กฟผ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานเฉพาะทางขององค์กร ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2519 และในปัจจุบันมีเพียง 48 คนทั่วประเทศ หน้าที่ของพวกเขาคือการ ดำดิ่งลงไปลึกกว่า 50–60 เมตร เพื่อบำรุงรักษาอุปกรณ์ใต้น้ำที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อน
ภารกิจที่ต้องทำในความมืดมิด เช่น
• เชื่อมและตัดต่ออุปกรณ์ใต้น้ำ
• ขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
• ตรวจสอบหอหล่อเย็นในพื้นที่แคบ
• ดูแลอุปกรณ์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายขึ้นมาซ่อมบนบกได้
ประสาทสัมผัสจากมือ ความชำนาญเฉพาะด้าน และการตัดสินใจภายใต้แรงดันน้ำมหาศาล จึงเป็นสิ่งที่ทีมนี้ต้องฝึกฝนอย่างเข้มข้น
ความเสี่ยงที่ต้องซ้อมซ้ำทุกปี
เพื่อให้มั่นใจว่า 'นักประดาน้ำ กฟผ.' พร้อมปฏิบัติงานได้ทุกสถานการณ์ จึงได้จัดฝึกอบรมและทดสอบสมรรถภาพนักประดาน้ำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งในด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่านักประดาน้ำมีความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และความรู้ด้านงานช่างตลอดเวลา
เมื่อมนุษย์ไม่อาจเข้าถึง... กฟผ. จึงใช้ ‘ยานใต้น้ำ’
ในบางจุดที่ลึกเกินไปหรือมีความเสี่ยงเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าถึง กฟผ. ยังมีการใช้ 'ยานสำรวจใต้น้ำ' (ROV – Remotely Operated Vehicle) ซึ่งสามารถบันทึกภาพแบบวิดีโอเพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนบำรุงรักษาต่อไปได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำยิ่งขึ้น
ความปลอดภัยของเขื่อน คือ ความมั่นคงของชาติ
ทุกฟันเฟืองที่ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ผู้ตรวจสอบ นักประดาน้ำ หรือผู้วิเคราะห์ข้อมูล ล้วนมีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญในการรักษาความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน และส่งต่อความมั่นคงทางพลังงานให้คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน
