Saturday, 17 May 2025
TheStatesTimes

เชียงใหม่-เปิดกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้น ม. 4 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน ปี 2567

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยนายสำเร็จ ไกรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ประธานศูนย์เครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน จัดกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน ประจําปีการศึกษา 2567 โดยมีนายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย นายบุญเสริญ สุริยา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ นายสมบัติ คำบุญสูง รองผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวรายงาน ผู้ประสานงานห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ฯ เครือข่ายภาคเหนือตอนบน คณะวิทยากร คณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู แขกผู้มีเกียรติ และนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ฯ  ร่วมเปิดกิจกรรม ณ.ห้องประชุมดารารัศมี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 

นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ เพราะในชีวิตประจำวันของนักเรียนและของมนุษย์ทุกคน จะต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา วิวัฒนาการทางด้านความรู้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหล่อหลอมให้คนในสังคม 

โดยเฉพาะเยาวชนได้รู้จักวิธีการคิดอย่างมีเหตุผล มีวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา โดยใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว เป็นกระบวนการที่สร้างคนให้มีเหตุผล มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผ่านการวิเคราะห์สภาพการณ์ หรือปัญหาในชีวิตประจำวัน ให้อยู่ในแนวทางของเหตุและผลตามหลักตรรกะทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของพลเมืองในสังคมยุคปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต 

นายบุญเสริญ สุริยา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้เจริญก้าวหน้า มีพัฒนาการด้านคุณภาพ   ในการจัดการศึกษาอันมีรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นโรงเรียน แม่ข่ายหรือศูนย์การเรียนรู้ในโครงการพิเศษต่าง ๆ มากมาย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ รวมถึงยังได้รับเป็นศูนย์ประสานงานโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน อีกด้วย 

ซึ่งในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับนี้ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจึงได้ประสานความร่วมมือกับโรงเรียน ในเครือข่าย รวมถึงองค์กรภาคีเครือข่ายของโรงเรียน และหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ในการระดมสรรพกำลังของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ มาช่วยกันขับเคลื่อนงานโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งตรงสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน  

การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มั่นใจว่านอกเหนือจากได้รับความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว นักเรียนและครูผู้ประสานงานโครงการทุกท่าน ยังจะได้รับประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องด้วยในแต่ละโรงเรียนอาจมีข้อดีและข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถต่อยอดและเพิ่มพูนศักยภาพให้แก่นักเรียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากแต่เมื่อได้เดินทางมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อาจจะเป็นการจุดประกายความคิดให้ทุกท่าน นำไปต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการผลิตผลงาน หรือสร้างโครงงานทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนได้จริง ในวงกว้างต่อไป

ด้านนายสมบัติ คำบุญสูง รองผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า กิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนในเครือข่ายโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน หรือกลุ่มโรงเรียน S.M.T.E. ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ข่าย รับหน้าที่ดำเนินการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2551 ถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม รวมถึงจุดประกายแนวคิดในการทำโครงงาน และงานวิจัยสำหรับนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ ของโรงเรียนในเครือข่าย ให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และเกิดประสิทธิผล ที่เป็นรูปธรรม
 
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนในเครือข่ายกลุ่มภาคเหนือตอนบน จำนวน23โรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น  694 คน โดยดำเนินการจัดกิจกรรมระหว่างวันที่  23-25 มิถุนายน พุทธศักราช 2567 ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจาก สพฐ. รวมถึงคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้มาให้ความรู้ และบรรยายพิเศษเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยให้แก่นักเรียน 

ตลอดจนมีกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ตัวอย่างงานวิจัย จากแหล่งเรียนรู้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้เพิ่มพูนประสบการณ์ ในการ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และได้พบกับนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ เพื่อเป็นการจุดประกายในการเขียนหัวข้อโครงร่างงานวิจัยของนักเรียนต่อไป  

พัฒนชัย/เชียงใหม่

ปทุมธานี ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ ขอบคุณผู้สนับสนุนละครเวทีการกุศลจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอบคุณผู้สนับสนุนละครเวที การกุศลจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้  

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมเชิญชวนผู้มีอุปการะคุณร่วมบริจาคสมทบทุนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ ผ่านการชมละครเวที ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล รอบการกุศล ในวันที่ 22 มิถุนายน 2567 ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์  โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม ดังนี้ 1. เพื่อระดมทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นและเพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วยผ่าตัด 3. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รายได้จากการจำหน่ายบัตรละครเวทีการกุศลในครั้งนี้มียอดรวมทั้งสิ้น 10,936,598 บาท  (สิบล้านเก้าแสนสามหมื่นหกพันห้าร้อยเก้าสิบแปดบาทถ้วน)  โดยวัตถุประสงค์ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้กล่าวข้างต้นจะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้  หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากผู้มีอุปการะคุณ ทุกท่าน ในนามโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้มีอุปการะคุณ ผู้บริจาคทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่าเพื่อรับชมละครเวที ฟ้าจรดทราย รอบการกุศล และขอขอบคุณเงินบริจาคของทุกท่านที่ “ช่วยเรา เพื่อให้เราได้ช่วยคนอื่นต่อไป”

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

จาก 24 มิถุนายน 2475 ถึง 24 มิถุนายน 2567 ตลกร้าย 92 ปี ที่ 'โจรห้าร้อย' บางคนสร้างไว้

คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูง ก็คงจะแปลความหมายของคนที่เป็น 'โจรห้าร้อย' กับ 'นักปฏิวัติ' ได้ง่าย ๆ ด้วยความหมายของคนสองประเภทนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว 

'นักปฏิวัติ' คือ คนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบตามความเชื่อของตนเองที่คิดว่าจะดีกว่า เช่น การปฏิวัติระบอบการปกครอง เพื่อยกเลิกระบอบเดิมไปใช้ระบอบใหม่ 

สำหรับประเทศไทย เกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียวนั่นคือ ‘การปฏิวัติสยาม’ โดยเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการปกครองโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแทน 

อย่างไรเสีย ตามความเชื่อของนักปฏิวัติแต่ละยุคสมัย จะถูกหรือผิด? จะทำสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่? นักปฏิวัติที่ดีจริงก็จะไม่มีทางมีพฤติกรรมเช่น 'โจรห้าร้อย' ยกเว้นจะอาศัยการปฏิวัติเป็นฉากหน้า แต่พฤติกรรมลับ ๆ ต่ำ ๆ อันแสนจะไร้เกียรติที่ซ่อนเนียน ๆ อยู่ฉากหลังคือ 'ความโลภ' การกระหายในทรัพย์สินเงินทอง เพชรนิลจินดา รวมถึงที่ดินของบุคคลอื่น

'โจรห้าร้อย' จะมีแต่ความตะกละตะกลาม ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง มองหาแต่ความมั่งคั่งร่ำรวยจากการปล้นสมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน 

นานถึง 92 ปีแล้ว ที่เราต่างเข้าใจกันดีว่าประเทศไทยของเราถูก 'นักปฏิวัติ' กลุ่มหนึ่งร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบอบการปกครองของไทยมาจนถึงปัจจุบัน และแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้แบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองฝั่งตลอดมา ทั้งฝั่งที่เห็นดีงามกับนักปฏิวัติ กับอีกฝั่งที่คิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่น่าให้อภัย 

แต่สิ่งที่สามารถสรุปได้ในทันทีก็คือ คนเรา ถ้าคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ดี และเราอยากรื้อถอนทำลาย เราก็ต้องทำเป็นให้เห็นว่า 'เราดีกว่า' โดยมิให้สังคมกังขาว่าเรานั้นดีจริงหรือไม่? แต่เท่าที่เห็นเป็นหลักฐานชัดที่สุดก็คือ การแฝงเป็นโจร เพื่อปล้นเอาทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของเราใส่กระเป๋าของตัวเองเสียมากกว่า  

92 ปี แม้บางคน อาจจะคิดว่ามาจากน้ำมือของนักปฏิวัติที่คิดดีเพื่อชาติ แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อย มันเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่ อยากมั่ง อยากมี และอยากใหญ่ เหมือนคนที่สูงศักดิ์กว่า แต่ดันเกิดมาแล้ว 'มีบุญไม่เท่าเขา' เท่านั้น

การปล้นจึงเป็นทางออกของเหล่า 'โจรห้าร้อย' บางคน 

ไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องคอยนึกย้อน 'สดุดี'

'โซเชียล' วิจารณ์ยับ!! 'แก้ว ธิษะณา' ไลฟ์สดไฟไหม้บ้าน  โวย!! จนท.มาช้า เจอหน้าตะคอกสั่งไม่ยั้ง ล่าสุดลบคลิปเกลี้ยง

(24 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เต็มโซเชียล หลังจากที่ นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล หลานของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ธิษะณา ชุณหะวัณ – แก้วตา – Tisana Choonhavan’ โดยระบุเกิดเหตุไฟไหม้ในบ้านของตัวเอง ซึ่งอยู่ที่ซอยพหลโยธิน 5 หรือซอยราชครู เขตพญาไท กทม. พร้อมอ้างว่า “เรียกรถดับเพลิงไปนาน 20 นาที แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย เดินทางมาควบคุมเพลิงเลย” อีกทั้งในบางช่วงยังอ้างอีกว่า “ฝากช่วยกันเรียกรถดับเพลิงมาเพิ่มด้วย เพราะว่าเรียกไปนานเป็นชั่วโมง ยังไม่มีใครมาเลย จนระเบิดไปทั้งหลังแล้ว ขนาดนี้ดิฉันเป็นสส.นะ ดิฉันยังทำอะไรไม่ได้เลย”

ต่อมาในโลกออนไลน์ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงกรณีดังกล่าว อาทิ 

‘ขนาดนี้ยังไม่รู้จักกาลเทศะเลยเหรอว่าต้องทำอะไรที่มันสำคัญก่อนหลัง โลกในโซเชียลฯนะเพลาๆบ้างก็ได้’

‘ดับเพลิงมาตามปกติ ไปตะคอกใส่เขาอีก ไม่ฟังเหตุผลนักดับเพลิงบ้างไฟฟ้าก็ยังไม่ตัดจะให้เขารีบฉีดน้ำ จะให้เขาตายไง อยากจะมาเปลี่ยนแปลงประเทศแต่นิสัยมีอำนาจแล้วเป็นแบบนี้’

‘เราอยู่ในซอยนั้นพอดี ทานข้าวอยู่ พอเห็นไฟอยู่ ไม่เกิน 10-15 นาที ดับเพลิงก็มานะ มาเยอะด้วยทั้งแบบเล็กแบบใหญ่ ณ ตอนนั้นลุ้นอยู่ว่าจะลามมั้ย แต่ก็จะเข้าออกลำบากหน่อยเพราะเป็นซอยแคบ และรถเจ้าหน้าที่ต่างๆ มาเยอะมาก เลยพยายามไม่ขับรถหนีออกเพราะกลัวไปขวางการจราจรเค้า เพราะแรกๆเลยคิดว่าเจ้าหน้าที่ต้องเคลียร์ถนนให้รถที่ขับหนีออกไปก่อนล่ะ แต่เจ้าหน้าที่คุมไฟได้เร็วมาก เพราะมาถึง แปบนึงตัดไฟฟ้า แล้วคุมเพลิง ค่อนข้างไวเลย’

ขณะที่ นางสาวธิษะณา ลบไลฟ์สดดังกล่าวแล้ว ล่าสุดโพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ขอบพระคุณทุกคนสำหรับกำลังใจจากทุกท่าน ทุกหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พญาไท ผอ.เขตพญาไท จนท. สำนักงานเขตพญาไท ญาติๆทุกคนที่มาที่เกิดเหตุช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือค่ะ”

“ขอบพระคุณ ส.ส. กัณตภณ ดวงอัมพร แรมโบ้ ก้าวไกล พญาไท ดินแดง ส.ส. ปวิตรา จิตตกิจ – Pavitra Jittakit ส.ส. กานต์ ภัสริน รามวงศ์ – Patsarin Ramwong ส.ส. เอกราช อุดมอำนวย – ทนายจอจาน – Ekkarach Udomumnouy ส.ส.ฟลิ้นท์ ที่มาหาแก้วถึงที่เกิดเหตุ”“ขอบพระคุณหัวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ส.ส. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ – ทนายแจม – Sasinan Thamnithinan ที่โทรหาคนแรกๆและทุกหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือค่ะ”

“ตอนนี้ทุกชีวิตปลอดภัย แต่บ้านส่วนที่เป็นไม้ถูกไฟไหม้ประมาณ 50% ค่ะ”

คำประกาศสละราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗

“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…”

คำประกาศสละราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

'รัดเกล้า' เผย!! 'นายกฯ-สุริยะ' มั่นใจความคืบหน้าท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3  ทุกแผนงานเสร็จทันกำหนด มิ.ย.69 พร้อมรับนักลงทุน-ลดต้นทุนขนส่งไทย

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะร่วมลงพื้นที่ และมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้แทนกิจการการค้าร่วม CNNC ร่วมให้การต้อนรับ

นางรัดเกล้า เปิดเผยอีกว่า การมาติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการติดตามความคืบหน้าของนายกฯ หลังจากการตรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้เดินทางมาตรวจ พบว่ามีความล่าช้า แต่ภายใต้การนำของนายสุริยะ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้เหลือร้อยละ 4 และจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีหน้า ทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้คือเดือนมิถุนายน 2569 ซึ่งทางทีมงานมีความกระตือรือร้น และตนเองให้กำลังใจ ทุกคน พูดคุยปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และทราบว่าการนำหินเข้ามามีปัญหา ซึ่งนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้เพราะทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา

ด้านผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนงานที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล มีกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างานรวม 21,320 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยงานถมทะเลทั้งหมดประมาณ 2,846 ไร่ หรือ 4.5 ล้านตารางเมตร งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือให้มีระดับความลึก 18.5 เมตร และงานเขื่อนกันคลื่น ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมามีความคืบหน้าเพียง 13.26%  ซึ่งหลังจากที่นายกฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามและได้มีข้อสั่งการให้ กทท. เร่งรัดการก่อสร้างให้ทันตามแผน  ทาง กทท. ได้กวดขัน ติดตามการบริหารสัญญาและควบคุมการทำงานของผู้รับจ้างตามข้อสั่งการ สามารถเร่งรัดได้เนื้องานเพิ่มขึ้นกว่า 17%

ผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลอีกด้วยว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ดำเนินงานได้ 31.12% จากแผนปฏิบัติงาน 35.11% แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินงานอย่างเต็มที่ แต่ยังคงล่าช้ากว่าแผน 3.99% ซึ่งผู้ควบคุมงานได้จัดทำแผนเร่งรัดการปฏิบัติงาน โดยเพิ่มเครื่องจักรทางบก ทางน้ำ และแรงงานให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้สามารถขุดลอก ได้มากกว่า 2,000,000 ลบ.ม. ต่อเดือน ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ได้กำกับดูแลและควบคุมเร่งรัดการทำงานให้ผู้รับจ้างมีผลงานโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3% ต่อเดือน

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากปัจจุบันผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้างยังมีความล่าช้ากว่าแผนฯ   แต่ก็มีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมั่นใจว่าการก่อสร้างงานทางทะเลจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในมิถุนายน 2569 รวมถึงจะไม่กระทบกับสัญญาของบริษัทเอกชนคู่สัญญาบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ที่ กทท. จะต้องมีการส่งมอบเฉพาะพื้นที่งานถมทะเลท่าเทียบเรือ F1 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการถมไปกว่า 97% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2567 นี้ หลังจากนั้นจะมีเวลาอีกประมาณ 1 ปีเศษ ที่จะต้องการตรวจสอบการปรับปรุงคุณภาพพื้นที่ เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับบริษัท จีพีซี ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2568 

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวต่อไปว่า งานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้โดยบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ที่วงเงิน 7,298 ล้านบาท ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณ 160 ล้านบาท กทท. สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในต้นกรกฎาคม 2567 สำหรับงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ มูลค่า 799 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบประกอบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสำหรับบริหารท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2,257 ล้านบาท ทั้งสองส่วนอยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 นี้ 

“โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้น  หากโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านทีอียูต่อปี ประกอบด้วยท่าเรือ F1 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ F2 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปีท่าเรือ E จำนวน 3 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถเดิมของท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี  จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี  ในส่วนนี้จะทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟและท่าเรือชายฝั่ง รวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางกับท่าเรือบกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศอย่างมหาศาล จะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์มุ่งให้ไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป” นางรัดเกล้า ย้ำ

‘อ.ไชยันต์’ ย้อนคำพูดทูตอังกฤษวิจารณ์บางคนใน ‘คณะราษฎร’ “มีความสามารถ อยากตั้งสาธารณรัฐ แต่ดิบและขาดประสบการณ์”

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Chaiyan Chaiyaporn' ระบุว่า…

“ทูตอังกฤษเป็นสลิ่ม (วาทะ ลุงมะเขือ) ว่าด้วยวาทกรรม ต่อต้าน 2475 : ใครเอ่ย กล่าวในปี 2475 ถึง “บางคน” ในคณะราษฎรว่า”

“ส่วนกลุ่มหัวรุนแรงนั้นเชื่อกันว่า ต้องการจัดตั้งสาธารณรัฐ ระบบโซเวียต หรือระบบที่ใกล้เคียงอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเป็นไปได้ คนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อย และแม้บางคนจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถมากกว่าคนทั้งปวง แต่ก็มีลักษณะ “ดิบ” (raw) และขาดประสบการณ์?”

“เฉลย : นายซีซิล ดอร์เมอร์ (Cecil Dormer) อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระหว่าง พ ศ 2472-2477”

“อ้างอิง ( [F 7857/4260/40] “Mr. Dormer to Sir John Simon, 7 October 1932, British Documents.)”

“แม้แต่ทูตอังกฤษก็ร่วมขบวน “แซะ” ไปกับเขาด้วยหรือ ?!”

‘สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Beam’ เตรียมยุติกิจการในไทย 30 มิ.ย.นี้ พร้อมให้บริการ 27 มิ.ย.วันสุดท้าย หลังดำเนินงานมา 3 ปี

(24 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Beam Thailand ของ บริษัท บีม โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกประกาศถึงผู้ใช้งานในประเทศไทย ว่า Beam Thailand จะยุติกิจการในวันที่ 30 มิ.ย. 67 ขอขอบคุณลูกค้าสำหรับความร่วมมือและการสนับสนุนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หากมีเครดิตการขับขี่ กรุณาใช้เครดิต Beam ภายในวันที่ 27 มิ.ย. 67 ซึ่งจะเป็นวันสุดท้ายของการให้บริการ

โดยหากลูกค้าที่มีเครดิตที่ซื้อด้วยเงินของตัวเอง (USER PURCHASED) กรุณาใช้เครดิตเหล่านั้นภายในวันที่ 27 มิ.ย. 67 เครดิตที่ไม่ได้ใช้ภายในวันที่กำหนดจะได้รับการคืนเงินจาก Beam โดยสามารถติดต่อภายในวันที่ 10 ก.ค. 67 ได้ที่อีเมล [email protected] ส่วนเครดิตที่ได้รับจาก Beam ในรูปแบบของโปรโมชันหรือการชดเชย จะไม่มีสิทธิ์ได้รับการคืนเงิน

"เราขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านสำหรับการสนับสนุน และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้บริการลูกค้าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ... ขอบคุณจากใจสำหรับความร่วมมือและการสนับสนุนของท่าน หวังว่าจะได้พบกันใหม่ในอนาคต" ข้อความจาก Beam Thailand ระบุ

สำหรับ Beam เป็นแพลตฟอร์มสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจากประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดยมีแอปพลิเคชัน Beam สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อปลดล็อก เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางภายในพื้นที่บริการ เปิดให้บริการครั้งแรกในไทยที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2564 ก่อนขยายบริการไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา

นอกจากนี้ ยังมีให้บริการในมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สำหรับบริษัท บีม โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท มีนายอลัน จูเลียน เจียง และนายเดบ เซการ์ กันโกพาดิห์เย่ เป็นกรรมการบริษัท 

ข้อมูลการเงินมีดังนี้

ปี 2564 มีรายได้รวม 402,820 บาท ขาดทุนสุทธิ 7,113,974 บาท
ปี 2565 มีรายได้รวม 11,405,235 บาท ขาดทุนสุทธิ 9,466,254 บาท
ปี 2566 มีรายได้รวม 26,476,532 บาท ขาดทุนสุทธิ 12,556,201 บาท

อนึ่ง นอกจากประเทศไทยแล้ว สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Beam ยังให้บริการในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และตุรกี

‘พล.ท.นันทเดช’ มอง!! ‘ประเทศไทย’ ไปได้ไกลกว่านี้ แต่กลับถูกบอนไซ ด้วยการปกครองแบบที่คณะราษฎรตั้งใจ

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 67) พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

“ประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ถ้าไม่มีคณะราษฎร (ตอนที่1)”

“ในสมัยรัชกาลที่ 1 อาณาเขตของสยามได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุม กัมพูชา ลาว เวียดนามบางส่วน จนไปถึงอ่าวตังเกี๋ย และหัวเมืองมลายูทั้งหมด ทำให้ ‘สยาม’ มีประเทศกันชน ป้องกันข้าศึกรุกรานอยู่ทุกด้าน เป็นประเทศที่น่าเกรงขาม สุขสงบ และมากมายด้วยเกียรติยศ แต่สยามก็ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากของขุนทหารทุกระดับ ทั้งที่มาจาก วังหน้า วังหลวง และ วังหลัง ที่ต้องผลัดเวียนกันออกไปรบพุ่ง ปกป้องรักษาประเทศราชเหล่านั้น ไม่รู้จบสิ้น”

“ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามกลายสภาพเป็นเสมือน ประเทศกันชน ระหว่างอำนาจฝรั่งเศส ทางทิศตะวันออก และ อำนาจอังกฤษ ทางทิศตะวันตก ในขณะที่สงครามแบบเก่า ที่ใช้ความเก่งกล้าจากขุนทหารของสยามก็กำลังเริ่มหมดไป การล้อมปราบด้วยปืนไฟ และเรือปืน ได้เข้ามาแทนที่”

“ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศอาณาเขตสยามอย่างชัดเจนขึ้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งกับมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ และทรงมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ทุกด้านอย่างรวดเร็ว ปฏิรูประบบทหารให้เป็นแบบยุโรป ทรงเลิกทาส โดยให้ทาสทุกคนได้เรียนหนังสือก่อน แล้วจึงมอบที่ดินให้ทำมาหากิน นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียน ที่ประเทศต่าง ๆ ทางตะวันตก ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาสยาม (สมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่กำเนิดมาจากนักเรียนทุนหลวง)”

“อย่างไรก็ตาม แม้สยามจะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาแทบทุกด้าน แต่สยามก็ยัง ติดปัญหาเรื่องสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เคยทำไว้กับประเทศตะวันตก ซึ่งทำให้สยามเสียเปรียบประเทศตะวันตก ทั้งด้านการค้า และความเท่าเทียมในฐานะที่สยามเป็นประเทศเอกราช ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงตัดสินพระทัย ไม่ฟังคำคัดค้านของกลุ่มทหารที่จบจากเยอรมัน (พ.อ.พระยาพหลฯเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้นด้วย ) เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร ประกาศสงครามกับเยอรมัน ทำให้สยามได้รับชัยชนะ สามารถแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ กับประเทศตะวันตกได้ทุกฉบับ (นายปรีดี เองก็ยังกล่าวชมเชยพระองค์ในเรื่องนี้ไว้)”

“หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงขยาย การพัฒนาประเทศต่อยอดจาก ในหลวงรัชกาลที่ 5 เพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ พระองค์จึงทรงกู้เงินมาจากประเทศทางยุโรป เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการชลประทาน อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลผลิตทางเกษตร ก็ออกมาอย่างท่วมท้น การขนส่งพืชผล ออกสู่ท้องตลาด ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว เงินกลับคืนมาล้นท้องพระคลัง ในต้นรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 พระองค์ก็ทรงใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจนหมดสิ้น และทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้กับประชาชน แต่ก็ถูกทักท้วงไว้จากที่ปรึกษาชาวตะวันตก คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอภิมนตรี ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีความรู้เพียงพอ” ให้ชะลอไว้ก่อน”

“พระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหาร นั้นเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่บอกอาจารย์ ปรีดี เพราะอาจารย์ปรีดี ผู้นำคณะราษฎร สายพลเรือน บอกว่า เพิ่งมารู้หลังจากทำปฏิวัติไปแล้ว”

“ปัญหาจึงน่าสนใจตรงที่ว่า ทำไมพระยาพหลฯ ผู้เป็นเสมือนหัวใจของ คณะราษฎรในตอนนั้น ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ร่างรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว และเตรียมที่จะพระราชทานอยู่แล้ว ถึงไม่บอกสมาชิก คณะราษฎรคนอื่น ๆ ให้รู้ หรือทำไมไม่กราบบังคมทูลขอเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายข้อเสนอแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่พวกตนต้องการ ซึ่งแนวทางนี้ พระองค์เจ้าบวรเดช ก็เคยพูดคุยกับ พระยาพหลฯมาก่อนที่คณะราษฎรจะปฏิวัติ ดังนั้น การใช้วิธีปฏิวัติล้มล้าง ซึ่งไม่ใช่วิธีการตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็หยุดไม่ได้ จึงทำให้การปฏิวัติกลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของเหล่าสมาชิกคณะราษฎร ทั้งในสายทหาร และสายพลเรือน และยังเป็นโมเดลของการรัฐประหารครั้งต่อ ๆ มาภายหลัง”

“บ้านเมืองจึงเสมือนถูกบอนไซ การปกครองแบบประชาธิปไตยตามที่คณะราษฎรตั้งใจไว้ จนกลายมาเป็นการปกครองแบบเผด็จการทางสภาบ้าง เผด็จการทางทหารบ้าง สลับกันไป เป็นแบบนี้มาตลอด 25 ปี ของการครองอำนาจ”

ตำรวจปราบปรามยาเสพติด ทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาปรับภูมิทัศน์พื้นที่ โดยรอบหน่วยงาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  3 มิถุนายน 2567

วันนี้ 24 มิ.ย.67 เวลา 09.45 น. พล.ต.ท.คีรีศักดิ์  ตันตินวะชัย ผบช.ปส. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมบูรณ์    เทียนขาว รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.พรพิทักษ์  รู้ยืนยง รอง ผบช.ปฏิบัติราชการ บช.ปส., พล.ต.ต.ธนรัชน์ สอนกล้า ผบก.ปส.2, พล.ต.ต.อดิศ เจริญสวัสดิ์ ผบก.ปส.3, พล.ต.ต.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร ผบก.ขส., พล.ต.ต.อาทร ชิ้นทอง ผบก.ประจำ บช.ปส., พ.ต.อ.วรพงษ์  ภวเวส รอง ผบก.ปส.1, พ.ต.อ.หญิง แจ่มศรี  สุรัสสนันท์ รอง ผบก.ปส.4, พ.ต.อ.บุญส่ง สนทยานานนท์ รอง ผบก.สกส., พ.ต.อ.หญิง บุศรา  จงรัชอบ รอง ผบก.ขส., พ.ต.อ.วันชนะ  บวรบุญ รอง ผบก.ขส. และข้าราชการตำรวจในสังกัดจำนวน 80 นาย ร่วมกันทำกิจกรรมอาสาพัฒนาปรับภูมิทัศน์พื้นที่ ทาสีตีเส้นจราจร เก็บกวาดขยะ โดยรอบหน่วยงาน และพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิม พระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2567 และ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งเพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับขี่ให้แก่ประชาชนและข้าราชการตำรวจ ที่สัญจรผ่านไปมา ณ บริเวณแห่งนี้ 

ทั้งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ด้วยทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า มีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ ประกอบกิจกรรมสาธารณะนี้ ยังประโยชน์สุขแก่ชุมชนส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top